ลูกเป็น โรคธาลัสซีเมีย ดูแลอย่างไร
โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจาง ที่พบได้ไม่น้อยในประเทศไทย แม้ว่าจะมีผู้ป่วยที่เป็นโรคอย่างชัดเจนไม่มาก แต่ผู้ที่เป็น พาหะ ของโรคนี้พบในประเทศไทย สูงถึงหนึ่งในสามของประชากรเลยทีเดียว แล้วถ้า ลูกเป็นโรคธาลัสซีเมีย ควรจะทำอย่างไร เราจะมาทำความรู้จักกับ โรคธาลัสซีเมีย กันค่ะ
โรคธาลัสซีเมีย คืออะไร?
ธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของฮีโมโกลบิน ( สารสีแดงในเม็ดเลือดแดง ) มีสาเหตุจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างฮีโมโกลบิน โดยอาจจะมีลักษณะ ของฮีโมโกลบินที่ผิดปกติ หรือ มีการสร้างโปรตีน อันเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินได้น้อย มีผลทำให้เม็ดเลือดแดง มีลักษณะที่ผิดปกติและแตกง่าย
หากเป็นพาหะของโรค คือ มียีนผิดปกติเพียงตัวใดตัวหนึ่ง ก็อาจจะไม่มีอาการ แต่ผู้ที่เป็นพาหะ จะสามารถถ่ายทอด ยีน ให้กับรุ่นต่อไปได้ หากทั้ง พ่อ และ แม่มียีนที่ผิดปกติ ตั้งแต่สองยีนขึ้นไป ก็จะทำให้เกิดโรคธาลัสซีเมีย
อาการของโรคธาลัสซีเมียเป็นอย่างไร?
โรคธาลัสซีเมีย มีหลายชนิด และ มีความรุนแรงที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ไม่มีอาการเลย หรือ มีอาการไม่มาก คือ เมื่อป่วยมีไข้ ก็จะซีดลง มีอาการรุนแรงปานกลาง คือ ซีดตั้งแต่อายุสองถึงสามเดือน หรือรุนแรงมาก คือ มีตับโตม้ามโต ตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย กระดูก ใบหน้าผิดปกติ การเจริญเติบโตช้า เจ็บป่วยบ่อยและ อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคข้อ โรคนิวในถุงน้ำดี มีการติดเชื้อง่าย เป็นไข้บ่อย จึงต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลเป็นประจำ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงมากจนเสียชีวิต ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือ หลังจากคลอดมาไม่นาน โดยที่คุณแม่อาจมีภาวะ ครรภ์เป็นพิษ บวม ความดันโลหิตสูง และ มีการตกเลือดหลังคลอดได้
คุณหมอจะวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมียได้อย่างไร?
หากผู้ป่วยมีอาการที่เข้าได้ กับโรคนี้ หรือ มีประวัติของโรคนี้ในครอบครัว คุณหมอจะวินิจฉัยโรคได้จาก การตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยเจาะเลือด ดูค่าความเข้มข้นของเลือด ลักษณะเม็ดเลือดแดง และ ดูชนิดของฮีโมโกลบิน รวมถึงการตรวจคัดกรอง พาหะธารัสซีเมีย ในผู้ที่ไม่มีอาการชัดเจน แต่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ก็สามารถทำได้ค่ะ
หากลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียคุณแม่ควรดูแลอย่างไร?
การดูแลรักษาโรคธาลัสซีเมีย ในปัจจุบันมีอยู่ 3 หลักการ คือ
1. การรักษาให้หายขาด : ในปัจจุบันมีวิธีที่สามารถรักษาโรคให้หายขาด ด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด และ การตัดต่อยีน ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าสามารถทำได้ หรือ ไม่ เพราะอาจมีข้อจำกัด สำหรับผู้ป่วยบางราย ต้องใช้ความรู้ความชำนาญอย่างสูง จากผู้เชี่ยวชาญ
2. การรักษาประคับประคอง : ในผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียบางรายคุณหมอจะให้ folic acid รับประทานวันละครั้ง และ ผู้ป่วยบางราย อาจต้องไปรับเลือดที่โรงพยาบาล และ ให้ยาขับธาตุเหล็กไปตลอดชีวิตอย่างสม่ำเสมอ
ตามข้อบ่งชี้
3. การดูแลทั่วไป : ผู้ป่วยที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย ควรมีสุขภาพที่ดี โดย
- การทานอาหารครบ 5 หมู่
- นอนหลับพักผ่อน ให้เพียงพอตามอายุ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มี ธาตุเหล็กสูง
- ออกกำลังกายได้แต่พอสมควร โดยไม่ออกกำลังกายที่มีการกระทบ กระแทกรุนแรง เพราะกระดูกอาจหักได้ง่าย
- ฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรคตามปกติ โดยฉีดให้ครบถ้วน
ทั้งนี้ผู้ป่วยเด็ก ที่เป็นโรคนี้ จะมีการติดเชื้อได้ง่าย และ หากติดเชื้อ ก็มักจะมีอาการรุนแรง และ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนั้น หากลูกเป็นโรคธาลัสซีเมีย มีอาการไม่สบาย มีไข้ ดูซีดลง หรือ มีความเจ็บป่วยต่าง ๆ คุณพ่อ คุณแม่ ไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ควรรีบพาไปหาคุณหมอโดยเร็ว ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
หากมีข้อสงสัย เกี่ยวกับโรคนี้ของลูก ควรปรึกษาคุณหมอ ที่เป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะ ผู้ป่วยโรคนี้ใน แต่ละรายอาจมีแนวทางในการดูแลรักษา ที่แตกต่างกัน ตามชนิด และ ความรุนแรงของโรคค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
8 อาหารบำรุงเลือด ที่มีธาตุเหล็กสูง ช่วยแก้โรคโลหิตจาง เลือดจาง เลือดน้อย
โรคชิคุนกุนยาระบาด โรคติดต่อที่มากับยุง เตือนพ่อแม่ให้ระวังลูกน้อยในช่วงนี้!!
เด็กป่วยหน้าฝน RSV ไข้หวัดใหญ่ เฮอร์แปงไจน่า โรคหน้าฝนที่ทารกเด็กเล็กต้องระวัง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!