วันตรุษจีนประจำปี กำลังใกล้เข้ามาทุกวันแล้ว หลายคนต่างรอคอยเจ้าซองแดง ๆ ที่ให้คอยลุ้นกันว่า ด้านในจะเป็นแบงค์สีอะไร และมีกี่ใบกันบ้างนะ แต่ก็มีหลายคนที่เริ่มจะสับสนว่า อั่งเปา กับ แต๊ะเอีย สองคำนี้คือความหมายเดียวกันหรือไม่? แล้วทำไมต้องเรียกต่างกัน เรามาเจาะลึกเรื่องของเจ้าซองแดงอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวันตรุษจีนกันเลยค่ะ
อั่งเปา กับ แต๊ะเอีย แตกต่างกันอย่างไร?
ทุกครั้งที่พูดถึงวันตรุษจีน นอกจากชุดเสื้อผ้าสีแดงที่โดดเด่น ของไหว้เจ้า อาหารที่ตระเตรียมในวันปีใหม่ของชาวจีนแล้ว เราคงไม่พ้นที่จะพูดถึงเรื่องเจ้าซองแดง ๆ ที่จะต้องมีการแจก มีการรับกันทุกปี และเชื่อว่า หลายคนเฝ้ารอรับเจ้าซองแดงนี้อย่างใจจดใจจ่อเช่นกัน แต่เคยสงสัยมั้ยคะว่า คำว่า “อั่งเปา” กับคำว่า “แต๊ะเอีย” มีความหมายเหมือนหรือต่างกันยังไงบ้าง
- อั่งเปา : คำว่า “อั่ง” ถ้าจะแปลกันตรงตัว ก็จะหมายถึง “แดง” หรือ “สีแดง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ หรือสีหลักที่เรามักจะใช้กันในวันตรุษจีน เชื่อว่าจะนำมาซึ่งความปลอดภัย ความเฮง ความเจริญรุ่งเรือง ส่วนคำว่า “เปา” ก็จะหมายถึง “ซอง” หรือ “ถุง” (ที่มีลักษณะมัดแล้วพองเหมือนซาลาเปา) ดังนั้นถูกต้องแล้วค่ะ “อั่งเปา” ก็คือเจ้าซองแดง ที่เอาไว้ใส่เงินเพื่อมอบให้กัน ในช่วงวันตรุษจีนนั่นเอง
- แต๊ะเอีย : คำว่า “แต๊ะ” มีความหมายว่า “กด” หรือ “ทับ” ส่วนคำว่า “เอีย” จะหมายถึงบริเวณช่วง “เอว” หรือความหมายโดยรวมคือ ของที่กดทับบริเวณเอวนั่นเอง
ลองจินตนาไปถึงหนังจีนกำลังภายในหลาย ๆ เรื่อง เรามักจะเห็นว่าผู้คนมักจะนำเงินเหรียญมาร้อยใส่เชือก แล้วผูกติดไว้บริเวณช่วงเอว หรือใส่เป็นถุงสีแดงเล็ก ๆ นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า “แต๊ะเอีย” นั่นเอง สรุปคือ คำ ๆ นี้มีความหมายถึง “เงินที่อยู่ในซองสีแดง” นั่นเองค่ะ หรือสรุปง่าย ๆ ได้ดังนี้
- อั่งเปา หมายถึง ซองแดงที่เอาไว้ใส่เงิน
- แต๊ะเอีย หมายถึง เงินที่ใส่ในซองแดง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 100 คำคมวันตรุษจีน แคปชั่นตรุษจีน คำอวยพรวันตรุษจีน
ใครต้องให้อั่งเปา?
เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันบ่อยอยู่เหมือนกัน ว่าใครกันนะที่จะต้องเป็นคนแจกอั่งเปา แต่ที่แน่ ๆ สำหรับเด็ก ๆ อยู่เป็นผู้รับแบบชิล ๆ ไปเลยจ้า
สำหรับประเทศไทยเรานั้น ผู้ที่จะต้องเป็นคนให้อั่งเปา ก็สุดแท้แต่ละครอบครัวจะรังสรรค์กันเลยค่ะ แต่ถ้าตามธรรมเนียมที่เราถึงปฏิบัติกันมาก็คือ ผู้ใหญ่ คนที่มีมีรายได้ หรือสามารถหาเงินเองได้แล้ว ก็จะเป็นผู้ที่ต้องให้อั่งเปา กับคนที่อายุน้อยกว่านั่นเอง
แต่เท่าที่แอดเจอมาในประเทศอื่น ๆ เขาจะบอกว่า ผู้ที่แจกอั่งเปานั้น นอกจากจะหาเงินเอง หรือมีรายได้แล้ว คน ๆ นั้นจะต้องแต่งงานแล้ว ถึงจะเข้าเกณฑ์เป็นผู้แจกอั่งเปานะจ๊ะ
และที่สำคัญ ลูกหลานก็สามารถให้อั่งเปา หรือแต๊ะเอียตอบกลับผู้ใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน เช่น พ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ เพราะการให้อั่งเปานี้ เปรียบเสมือนเป็นการอวยพรกันและกัน
- คนแก่ให้เด็กน้อย ก็บอกว่าโตขึ้นสุขภาพแข็งแรง ฉลาด สามารถหาเงินได้เยอะ ๆ
- โตขึ้นมาหน่อยก็ขอให้ทำงานเก่ง ๆ สุขภาพดี ปลอดทุกข์ปลอดโศก
- เจ้านายให้ลูกน้อย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แสดงความขอบคุณที่ทำงานร่วมกันมาเป็นอย่างดี
- สำหรับคนอายุมากแล้ว ลูกให้พ่อแม่ก็ให้เพื่ออวยพรมีสุขภาพแข็งแรง อายุมั่นขวัญยืน และเป็นการแสดงความกตัญญู ขอบพระคุณที่เลี้ยงดูเรามาจนโตนั่นเอง
แต่ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ก็ไม่ได้ถืออย่างเคร่งครัดแต่อย่างใด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานะของครอบครัวนั้น ๆ นั่นเอง
ต้องใส่เงินอั่งเปาเท่าไหร่ดี?
ถ้าพูดตามจริงการใส่เงินอั่งเปานั้น แล้วแต่สถานะทางการเงินของแต่ละบุคคลเลยค่ะ จะน้อยจะมาก ก็ไม่ขัด เพราะเนื้อแท้ของอั่งเปานั้น ไม่ใช่จำนวน หรือปริมาณว่าจะมากจะน้อยแต่อย่างใด (แม้ในใจผู้รับจะไม่ได้คิดแบบนั้นก็ตาม 555) เอาเป็นว่า มีมากให้มาก มีน้อยให้น้อย ถ้าไม่มี ก็ให้เป็นผลส้มไปแทนก็ยังได้นะ
มาเข้าเรื่องกันต่อถึงเรื่องจำนวนเงินที่ใส่ในอั่งเปา โดยมากคนจีน มักจะเชื่อในเรื่องของความหมายดี ความเป็นมงคล ตัวเลข ก็ต้องเป็นมงคลเช่นกัน เขาจึงมักจะใส่แต๊ะเอีย ลงในซองอั่งเปา ด้วยจำนวนเลขคู่ เช่น 2, 6 หรือ 8 โดยจะเว้นเลข 4 เอาไว้ เพราะเลขนี้ไปพ้องเสียงกับภาษาจีนที่แปลว่า “ตาย” นั่นเอง
ดังนั้นเรามักจะเห็นว่าในซองอั่งเปานั้น มักจะมีเงินใส่ 20, 200, 600, 800 แล้วแต่สภาพเศรษฐกิจจะอำนวย โดยเลขคู่นี้ จะบ่งบอกถึง การทวีคูณ การได้โชคสองชั้น นั่นเอง ส่วนบ้านไหน จะให้อั่งเปาหลักพัน หลักหมื่อน อันนี้ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของแต่ละบ้านกันแล้วล่ะค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เช็คอิน! 15 ที่เที่ยวตรุษจีน โดดเด่นสวยงาม เด็ก ๆ ฟินแน่
เทคนิคการให้อั่งเปา เพิ่มโชคลาภในวันตรุษจีน
มอบอั่งเปาให้ผู้ใหญ่ในบ้าน
เมื่อเข้าสู่วันตรุษจีน หรือวันปีใหม่จีน คนจีนก็มีธรรมเนียมอยู่ว่า เราจะต้องให้อั่งเปาแก่ผู้สูงอายุในบ้านก่อน นั่นเป็นเพราะท่านไม่มีรายได้แล้ว และการมอบอั่งเปาให้กับท่านเป็นคนแรก เป็นการให้ความสำคัญในเรื่องของการกตัญญูที่ต้องมาเป็นอันดับต้น ๆ
การมอบอั่งเปาให้บุพการีเป็นการช่วยเสริมในเรื่องของโชคลาภ การอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข มีอายุยืน มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีครอบครัวที่อบอุ่น ซึ่งมีผลกับทุกคนในครอบครัวนั่นเอง
ให้อั่งเปากับเด็ก
การจะให้อั่งเปากับเด็กแต่ละคนนั้น ควรดูถึงความเหมาะสมทางด้านอายุ และที่สำคัญคือ ต้องสอนให้เด็กรู้จักที่จะเก็บหอมรอบริบ รู้จักการจัดระเบียบในการใช้เงิน ให้รู้จักคุณค่าของเงิน ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายโดยไม่จำเป็น การให้ความรู้เด็กในการใช้เงิน ออมเงินนั้น จะส่งผลให้เขาเติบโตขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ซองอั่งเปาแบบไหนถึงจะดี?
แน่นอนว่าสำหรับวันตรุษจีนนั้น ซองอั่งเปาจะต้องมีสีแดงตามตำนานโบราณ เพราะชาวจีนเชื่อกันว่า สีแดงนั้นเป็นสีนำโชค และหากบนซองสีแดงมีคำอวยพรที่เป็นมงคลด้วย ก็จะยิ่งดีขึ้นเป็นทวีคูณ
ซองอั่งเปาสำหรับเด็ก : สำหรับเด็กนั้น เราอาจจะเลือกซองที่ตกแต่งด้วยลวดลายการ์ตูนน่ารัก ที่มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่รักใคร่ หรือเป็นรูปดอกบัวก็ได้ ซึ่งแสดงถึงสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด
ซองอั่งเปาสำหรับผู้ใหญ่ : ซองที่เหมาะกับผู้ใหญ่ควรจะมีอักษรมงคลบนซองสีแดง ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “เฮง” ที่หมายถึงความโชคดี โชคลาภ หรือคำที่มีความหมายถึงสุขภาพที่ยั่งยืน แข็งแรง ก็ยังสามารถใช้เป็นรูปดอกไม้ก็ได้เช่นกัน
ความเชื่อในการรับอั่งเปา
แน่นอนว่า เมื่อมีขั้นตอนในการให้แล้ว มักจะมีข้อควรระวังที่จะต้องตระหนักเอาไว้ โดยเฉพาะหลังจากที่เราได้รับอั่งเปามาแล้ว และต้องเน้นย้ำว่า “ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง” นั่นก็คือ
- ห้ามเปิดซองต่อหน้าผู้ให้
- ห้ามกร่นด่า บ่นว่า ถึงเงินในซองเมื่อไม่ได้จำนวนเงินตามที่คาดหวัง
- ห้ามแสดงท่าทางไม่พอใจ หรือทำหน้าบูดบึ้ง
เพราะการให้อั่งเปานั้นถือว่าเป็นการอวยพร ให้มีความสิริมงคล กับตัวผู้รับ หากเกิดการกร่นว่า ด่าทอ หรือแม้แต่ความรู้สึกที่ไม่ดีอยู่ภายใน ก็ส่งผลให้ ปีนั้นตลอดทั้งปี คุณจะเกิดอารมณ์เช่นนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ต้องตระหนักเอาไว้ และบอกลูกหลานเอาไว้ล่วงหน้าว่า ธรรมเนียมปฏิบัติที่จริงควรเป็นอย่างไร และถ้าไม่อยากให้ปีนี้เป็นปีที่มีแต่เรื่องให้หงุดหงิดรำคาญใจ ก็ให้ตระหนักถึงคำอวยพรจากการรับอั่งเปาเป็นสำคัญ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ของไหว้เจ้าในวันตรุษจีน วิธีไหว้ในวันตรุษจีน ที่ควรรู้
ประวัติวันตรุษจีน ตำนานความเชื่อโบราณ และความสำคัญ
แจกคลิป! พับกระดาษเงินกระดาษทอง ไหว้เจ้าตรุษจีน พับตามได้ง่าย ๆ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!