การดิ้นของทารก ไม่ได้เป็นเพียงสัญญาณให้คุณแม่รู้สึกตื่นเต้นและดีใจเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกถึงสุขภาพของลูกน้อยในท้องได้ด้วย หนึ่งในคำถามที่คุณแม่มักจะสงสัยคือ “ ลูกดิ้นแบบไหนอันตราย ดิ้นบ่อย ดิ้นกระตุก แบบนี้อันตรายไหม ? ” บทความนี้จะไขข้อข้องใจและให้คำแนะนำกับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมการดิ้นของลูกน้อย และวิธีรับมือกับความกังวล
สารบัญ
ลูกน้อยจะเริ่มดิ้นตอนกี่เดือน ?
ช่วงเวลาที่คุณแม่จะเริ่มรู้สึกได้ถึงการดิ้นของลูกน้อยจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยทั่วไปแล้ว คุณแม่จะเริ่มรู้สึกได้ถึงการดิ้นของลูกน้อยอย่างชัดเจนในช่วงประมาณ 16-20 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ หรือประมาณ 4-5 เดือนนั่นเอง แต่ก็มีบางคนที่อาจรู้สึกได้ถึงการดิ้นเร็วกว่านี้ หรือช้ากว่านี้เล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น
- ตำแหน่งของรก หากรกเกาะอยู่ด้านหน้าท้อง อาจทำให้คุณแม่รู้สึกถึงการดิ้นของลูกน้อยได้ช้ากว่าปกติ
- ปริมาณน้ำคร่ำ หากมีน้ำคร่ำมาก อาจทำให้คุณแม่รู้สึกถึงการดิ้นได้ชัดเจนขึ้น
- ความอ้วนของแม่ คุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวมาก อาจรู้สึกถึงการดิ้นได้ช้ากว่าปกติเล็กน้อย
- ประสบการณ์การตั้งครรภ์ คุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาก่อน อาจรู้สึกได้ถึงการดิ้นของลูกน้อยได้เร็วกว่า
อาการลูกดิ้นเป็นอย่างไร ?
การดิ้นของลูกน้อยแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ทั้งในเรื่องความถี่ รูปแบบ และเวลาที่ดิ้น คุณแม่สามารถรู้สึกได้จากการขยับเขยื้อนในร่างกาย
- ความรู้สึก อาจรู้สึกเหมือนมีปลาตอด รู้สึกกระตุกเบาๆ หรือเหมือนมีอะไรมาดันๆ เบาๆ บริเวณท้อง เมื่อท้องมีขนาดใหญ่ขึ้น มดลูกขยายใหญ่ตามการเจริญเติบโตของลูกในท้อง ลักษณะการดิ้นก็จะแรงมากขึ้นบางครั้งอาจจะเห็นเป็นอวัยวะบางส่วนของลูก เช่น เท้า กำลังดันท้องคุณแม่อยู่
- ตำแหน่ง ในช่วงแรกๆ คุณแม่อาจรู้สึกได้ถึงการดิ้นบริเวณท้องส่วนล่าง แต่เมื่อลูกน้อยโตขึ้น การดิ้นอาจรู้สึกได้ทั่วทั้งท้อง
- ความถี่ การดิ้นของลูกน้อยจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 28-32 สัปดาห์
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการดิ้นของลูกน้อย
การดิ้นของลูกน้อยเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงสุขภาพที่ดี บ่งบอกว่าเขากำลังเติบโตและมีสุขภาพแข็งแรง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการดิ้นของลูกน้อยมีดังนี้
- อายุครรภ์ ในช่วงแรกๆ ลูกน้อยจะมีขนาดเล็ก การเคลื่อนไหวอาจยังไม่ชัดเจน แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ลูกน้อยจะมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวน้อยลง การดิ้นอาจจะดูถี่และแรงขึ้น
- อาหาร การที่คุณแม่กินอาหารที่มีน้ำตาลสูง หรือคาเฟอีน อาจทำให้ลูกน้อยดิ้นมากขึ้นได้
- เสียง เสียงดังหรือเสียงเพลงที่คุณแม่ฟัง อาจกระตุ้นให้ลูกน้อยดิ้น
- เวลา ลูกน้อยมักจะดิ้นมากขึ้นในช่วงที่คุณแม่พักผ่อน หรือหลังจากรับประทานอาหาร
- อุณหภูมิ อุณหภูมิร่างกายของคุณแม่ที่เปลี่ยนแปลงไป อาจส่งผลต่อการดิ้นของลูกน้อย
ลูกในครรภ์ควรดิ้นบ่อยแค่ไหน ?
ยังไม่มีเกณฑ์ตายตัวที่บอกว่าลูกน้อยควรดิ้นกี่ครั้งต่อวัน เพราะการดิ้นของลูกน้อยแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ทั้งในเรื่องความถี่ รูปแบบ และเวลาที่ดิ้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุครรภ์ ตำแหน่งของรก ปริมาณน้ำคร่ำ และลักษณะนิสัยของลูกน้อยเอง สิ่งที่สำคัญกว่าคือการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของลักษณะการดิ้น หากคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกน้อยดิ้นน้อยลงกว่าปกติ หรือมีรูปแบบการดิ้นที่เปลี่ยนไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที
วิธีนับลูกดิ้นทำยังไง ?
ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ จำนวนครั้งที่ลูกดิ้นแต่ละวันอาจไม่แน่นอน บางวันลูกอาจจะดิ้นมาก บางวันอาจจะดิ้นน้อย แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางของการตั้งครรภ์ช่วงหลัง 28 สัปดาห์เป็นต้นไป การดิ้นของลูกมักจะสม่ำเสมอและค่อนข้างคงที่ การนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นในช่วงนี้จึงเป็นวิธีที่ดีในการติดตามพัฒนาการของลูกน้อยค่ะ โดยที่นิยมจะมี 2 วิธี คือ
1. วิธีของ Cardiff (count-to-ten)
-
- นับการดิ้นหลังจากตื่นนอน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้า จนครบ 12 ชั่วโมง
- ถ้านับการดิ้นได้ น้อยกว่า 10 ครั้ง ภายใน 12 ชั่วโมง แปลว่าผิดปกติ ให้พบแพทย์
2. วิธีของ Sadovsky
-
- นับการดิ้นหลังทานอาหารแต่ละมื้อ (เช้า, กลางวัน, เย็น) โดยนับการดิ้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังกินอาหาร
- ถ้านับการดิ้นได้ 4 ครั้งขึ้นไป ภายใน 1 ชั่วโมง แปลว่าปกติ
- ถ้านับการดิ้นได้น้อยกว่า 4 ครั้ง ภายใน 1 ชั่วโมง ให้นับต่อไปอีกจนครบ 4-6 ชั่วโมง
- ถ้านับการดิ้นได้ 4 ครั้งขึ้นไป แปลว่าปกติ และติดตามการดิ้นหลังมื้ออาหารถัดไป
- ถ้านับการดิ้นได้น้อยกว่า 4 ครั้ง แปลว่าผิดปกติ ให้พบแพทย์
- ถ้านับการดิ้นทั้งหมดได้ น้อยกว่า 12 ครั้ง ต่อวัน แปลว่าผิดปกติ ให้พบแพทย์
ลูกดิ้นบ่อย ลูกดิ้นกระตุก ลูกดิ้นแบบไหนอันตราย ?
การดิ้นของลูกถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้คุณแม่ทราบว่าลูกในท้องยังมีชีวิตอยู่ บอกได้ถึงสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ และบอกได้ว่าตอนไหนที่ลูกกำลังตื่นหรือหลับอยู่
- ลูกดิ้นบ่อย โดยทั่วไปแล้ว ถ้าลูกมีอาการดิ้นอยู่บ่อยๆ และดิ้นเป็นระยะๆ เพราะลูกในท้องจะมีช่วงหลับ ช่วงตื่นอยู่เหมือนกัน ในช่วงที่ลูกตื่นก็จะมีอาการดิ้นมากกว่า ซึ่งถือว่าปกติและไม่เป็นอันตรายอะไร แล้วถ้า ลูกดิ้นแบบไหนอันตราย ให้คุณแม่สังเกตจะมีสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติคือ ลูกจะดิ้นมากและดิ้นแรงอยู่ระยะหนึ่งแล้วหยุดดิ้นไปเลย และไม่มีอาการดิ้นอีกต่อไป แบบนี้ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที บางครั้งหากลูกดิ้นแรง แต่ยังคงดิ้นต่อไป ก็ไม่ต้องกังวล
- ลูกดิ้นกระตุก การที่ลูกน้อยดิ้นกระตุก อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การสะอึก เพราะลูกน้อยอาจกำลังฝึกหายใจ ทำให้เกิดการสะอึกได้ การยืดตัวหรือกำลังเปลี่ยนท่าทาง การบิด การหมุนตัว หรือการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น เช่นเสียง หรือการถูกสัมผัสจากภายนอกอย่างการลูบท้องของคุณแม่
แม่ท้องควรทำอย่างไรเมื่อลูกดิ้นบ่อย ?
การที่ลูกน้อยดิ้นบ่อยๆ เป็นเรื่องปกติและแสดงให้เห็นว่าลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรง การดิ้นของลูกน้อยแต่ละคนจะแตกต่างกันไป บางคนอาจดิ้นแรง บางคนอาจดิ้นเบาๆ แต่หากคุณแม่รู้สึกกังวลว่าลูกดิ้นมากเกินไป หรือมีรูปแบบการดิ้นที่ผิดปกติ สามารถทำตามคำแนะนำเหล่านี้ได้ค่ะ
- นับจำนวนการดิ้น คุณแม่สามารถนับจำนวนการดิ้นของลูกน้อยในแต่ละวัน เพื่อเปรียบเทียบกับวันอื่นๆ หากพบว่าจำนวนการดิ้นลดลงอย่างผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย และลูกน้อยก็จะดิ้นได้อย่างอิสระมากขึ้น
- กินอาหารที่มีประโยชน์ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ จะช่วยให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และเติบโตได้อย่างสมบูรณ์
- ออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพที่ดี และส่งผลดีต่อพัฒนาการของลูกน้อย
- หลีกเลี่ยงความเครียด ความเครียดอาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดไปยังรก ทำให้ลูกน้อยได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ดังนั้น คุณแม่ควรพยายามผ่อนคลาย และหาสิ่งที่ตนเองชอบทำ
- ปรึกษาแพทย์เป็นประจำ การไปพบแพทย์ตามนัดหมายเป็นประจำ จะช่วยให้คุณแม่มั่นใจได้ว่าทั้งคุณแม่และลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรง
สัญญาณ ลูกดิ้นแบบไหนอันตราย ที่ควรรีบพบแพทย์ ?
แม้ว่าการดิ้นของลูกน้อยจะเป็นเรื่องปกติ แต่คุณแม่ก็ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการดิ้นอย่างผิดปกติ เช่น
- ลูกดิ้นน้อยลงกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกน้อยได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หรือมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ
- ลูกดิ้นแรงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเป็นสัญญาณของการมีภาวะรกเกาะต่ำ หรือสายสะดือพันคอ
- ลูกดิ้นผิดปกติ เช่น ดิ้นเป็นจังหวะ หรือดิ้นเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่ง
การดิ้นของลูกน้อยเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงพัฒนาการและสุขภาพที่ดีของลูกน้อย แต่คุณแม่ก็ควรสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการดิ้นที่ผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสม การดูแลตัวเองและลูกน้อยอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้คุณแม่ผ่านช่วงเวลาแห่งการตั้งครรภ์ไปได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
ที่มา : Helloคุณหมอ , โรงพยาบาลเปาโล , Medthai
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
Do & Don’t คนท้องอ่อน ไม่ควรทำอะไร และเรื่องไหนแม่ท้องต้องใส่ใจ
แม่ท้องต้องรู้ สัญญาณบอกเหตุว่า คุณแม่ใกล้คลอดเต็มทีแล้ว
5 ครีมทาผิวที่แม่ท้องใช้ได้ ครีมทาตัวคนท้อง เลือกแบบไหนให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น