ขโมยของ หยิบเล็กหยิบน้อย เป็นเรื่องที่ไม่แปลกนักสำหรับเด็กวัยกำลังเรียนรู้ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ควรมองข้าม ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญกับการอธิบาย หรือสอนผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ว่าการกระทำดังกล่าวผิดเช่นไร ทำไมจึงไม่ควรทำ และควรคอยสังเกตด้วยว่าลูกมีพฤติกรรมหยิบฉวยของชิ้นอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ของตนเองเกิดขึ้นซ้ำหรือไม่
ทำไมเด็กจึง ขโมยของ ?
สำหรับเด็กเล็กมีหลายเรื่องที่เขาต้องทำการเรียนรู้ ในบางเรื่องเด็กอาจมีความไม่เข้าใจในบริบทของสังคม ทำให้มีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง หรืออาจนับได้ว่าการที่เด็กหยิบของคนอื่นมาอาจเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องเจอ เมื่อเด็กเกิดความไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ของสังคม แน่นอนว่าต้องพึ่งการพูดคุย หรือการอธิบายจากคุณพ่อคุณแม่เพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากสังคมของตัวเด็กเองที่มองว่าการทำเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ
ทำไงดีเมื่อลูก ขโมยของ หยิบของคนอื่นโดยไม่บอก
การขโมยของที่เกิดขึ้นในเด็กมักมาจากแรงกระตุ้นของความต้องการบางสิ่งบางอย่าง และเด็กไม่สามารถควบคุมความรู้สึกนั้นได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องมีวิธีที่จะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจ และสามารถควบคุมแรงกระตุ้นดังกล่าวได้ หากพบเจอว่าเด็กทำการ ขโมยของ สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนได้ ดังนี้
- ทำการพูดคุยถามถึงสาเหตุ : ผู้ปกครองต้องถามลูกถึงสาเหตุที่ลูกหยิบของที่ไม่ใช่ของตนเองกลับมา เพื่อให้รู้ถึงความจริงว่าสิ่งใดเป็นแรงกระตุ้นให้ลูกทำเช่นนั้น มีตั้งแต่ความอยากได้ตามวัยของเด็กที่ต้องพึ่งการเรียนรู้ ไปจนถึงความตั้งใจจากสาเหตุอื่น ๆ พร้อมให้นำของมาคืน และกล่าวคำขอโทษ
- อธิบายว่าทำไมจึงไม่ควรขโมยของ : เมื่อรู้สาเหตุแล้วให้อธิบายถึงสาเหตุนั้น ๆ ว่าไม่ถูกต้อง และไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการหยิบของคนอื่น พร้อมบอกด้วยว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดอย่างไร หากโตขึ้นแล้วทำอีกจะเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก โดยการพูดคุยไม่ควรใช้น้ำเสียงดุ หรือดูรุนแรง เนื่องจากจะทำให้เด็กกลัว และกลายเป็นปมในใจได้
- ให้ความรู้เพิ่มเติม : เมื่ออธิบายไปแล้วว่าทำไมจึงไม่ควรทำ ควรให้ลูกเข้าใจปัญหาในมุมอื่นด้วย เช่น การยกตัวอย่างเหตุการณ์อื่นว่าก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน หรือการเจอของคนอื่นวางทิ้งไว้ หากไปเจอและเก็บมาควรนำไปประกาศหาเจ้าของมากกว่าจะเก็บเอาไว้เอง แล้วนึกว่าเจ้าของอาจไม่ต้องการแล้ว เป็นต้น
- คอยสังเกตพฤติกรรม : หลังได้พูดคุย และทำความเข้าใจแล้ว ก็ไม่ควรปล่อยเด็กซะทีเดียว เนื่องจากอาจเกิดปัญหาเดิม ๆ เกิดขึ้นซ้ำอีก แต่ลูกอาจไม่ยอมบอก หรือพยายามปกปิด หากเป็นแบบนี้อาจต้องแก้ไขด้วยวิธีที่จริงจังมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามดูว่าลูกมีของที่ไม่ใช่ของตัวลูกเองหรือไม่
- ชื่นชมเมื่อเด็กเข้าใจ : หากเด็กมีความเข้าใจในสิ่งที่ผู้ปกครองได้บอกไปจริง เช่น เมื่อเด็กเก็บเงินได้ก็เอามาบอกผู้ปกครองว่าเก็บเงินได้ต้องการนำไปคืนเจ้าของ เป็นต้น หากมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น นั่นหมายความว่าลูกมีความเข้าใจดีในทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งเด็กควรได้รับรางวัลบ้าง เพื่อให้เด็กเข้าใจว่าการกระทำของเขาเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และสังคมยอมรับ
บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 สิ่งที่ลูกอยากพูดกับพ่อ อ่านไว้ก่อนจะสายเกินไปนะจ๊ะคุณพ่อ!
พูดอย่างไรช่วยเด็กเลี่ยงพฤติกรรมขโมยของ
การพูดกับเด็กไม่ใช่ต้องรอให้เด็กเกิดพฤติกรรมลักขโมยก่อนเสมอไป คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้สื่อที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเป็นแนวทางในการพูดคุย และอธิบายให้ลูกฟังได้ แต่ต้องระวังไม่พูดเยอะเกินไป เพราะเด็กอาจแสดงพฤติกรรมต่อต้านได้
- สนทนาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ : บางครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือกำลังนั่งดูทีวีก็สามารถหยิบยกประเด็นต่าง ๆ ขึ้นมาบอกลูกบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อให้เขาได้เข้าใจความซื่อสัตย์มากขึ้น วิธีนี้จะทำให้เขาคิดก่อนทำเสมอว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดหรือไม่
- พูดคุยเกี่ยวกับทรัพย์สิน : ควรหาโอกาสอธิบายเรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคลว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อคนคนนั้น หากคนนั้นทำของบางอย่างหายไป หรือถูก ขโมยของ จะส่งผลอย่างไรต่อไป และบอกเด็กเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของตนเองด้วย ว่าต้องดูแลอย่างไร หากของตนเองถูกขโมยตนเองจะรู้สึกอย่างไรบ้าง เป็นต้น
- เน้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากทำลงไป : การบอกลูกอาจต้องบอกมากกว่า 1 ครั้งตามแต่โอกาส ซึ่งอาจเห็นได้จากข่าว เพื่อให้ลูกตระหนักถึงโทษที่เกิดขึ้นเมื่อมีคนขโมยของ การให้ลูกได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จะทำให้ลูกเข้าใจบรรทัดฐานของสังคมว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
กิจกรรมเสริมความเข้าใจป้องกันลูกขโมยของ
เด็กแต่ละคนมีรูปแบบความเข้าใจที่แตกต่างกัน บางคนสามารถเข้าใจได้ด้วยการพูดคุย ในขณะที่เด็กบางคนอาจเข้าใจได้ผ่านการทำกิจกรรม ซึ่งมีกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับให้เด็กได้เรียนรู้ผลเสียของการขโมยของ
ใช้การ์ตูนเป็นสื่อกลางการสื่อสาร
การพูดกับเด็กโดยตรงบางครั้งอาจทำให้เกิดปัญหา หรือเด็กไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับฟังจากประเด็นที่ค่อนข้างมีความจริงจัง และมีความซับซ้อนสำหรับเด็ก ผู้ปกครองอาจเลือกใช้สื่ออื่น ๆ เป็นตัวช่วยได้ เช่น วิดีโอการ์ตูนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือการขโมยของ เพื่อเข้าถึงเด็กได้ง่ายขึ้น และอาจทำให้เด็กมีความเข้าใจมากกว่าการพูดคุยกับผู้ปกครอง
ช่องทางการรับชม
การ์ตูนโอวัลตินสมาร์ท ตอน โจรขโมยของอร่อย : Youtube
หมาป่าจอมขโมยของ เวิร์คบัสจอมซ่อม : Youtube
การ์ตูนธรรมะ จิตตนคร ตอน ผิดศีล ลักทรัพย์ ลักขโมย : Youtube
ใช่โจรปล้นบ้านรึเปล่านะ ถ้ำลึกลับ : Youtube
จอมโจรหมาป่าขโมยโดนัท : Youtube
การอ่านนิทานให้ลูกฟัง
เด็กบางคนมีกิจวัตรประจำวันก่อนนอน เช่น ต้องฟังนิทานก่อนนอน หรือบางคนชอบอ่านนิทานในเวลาว่าง เป็นต้น การหยิบยกกิจกรรมเหล่านี้ที่เด็กมีความชอบอยู่แล้วมาเป็นส่วนหนึ่งของการสอนเรื่องการขโมยของ ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ทำได้ง่าย ด้วยการเล่านิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการขโมย และผลที่ได้รับ หรือสามารถแต่งนิทานสั้น ๆ เพื่อให้ลูกได้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ได้เช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : นิทานสั้น รวมนิทานอีสปที่มีคติสอนใจ เหมาะกับเด็ก อ่านสนุก เพลิดเพลิน
สวมบทบาทตำรวจกับโจร
การแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นผู้ร้ายวิ่งไล่จับขโมย อาจให้ลูกสวมบทเป็นทั้งผู้ร้ายที่ต้องหลบซ่อนไปตามมุมบ้านเพราะทำความผิดด้วยการขโมยของมา โดยให้คุณพ่อและคุณแม่เป็นตำรวจคอยออกตามหา หากจับได้ลูกจะแพ้ หรือให้ลูกเป็นตำรวจที่ต้องจับผู้ร้ายมาทำผิดให้ได้ เป็นการประยุกต์เกมซ่อนแอบเพื่อให้ลูกได้มีความเข้าใจมากขึ้น หลังเล่นแล้วยังสามารถบอกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อื่นได้ด้วย
ให้ลูกมีพื้นที่ของตัวเอง
เด็กหลายคนอาจชอบสะสมของ หรือมีของเล่น ของใช้อยู่มาก ของเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีค่าสำหรับตัวของเด็กเอง การสอนให้เด็กเก็บรักษาของอย่างเป็นระเบียบ จะทำให้เด็กเกิดความรักความเข้าใจในสิ่งของตนเอง ส่งผลให้เด็กเกิดความเข้าใจมากขึ้นได้เช่นกัน
ลูกไม่สามารถเลิกพฤติกรรมขโมยได้ ควรทำอย่างไร
หากการพูดคุย และการทำกิจกรรมกับเด็กไปแล้วหลายครั้ง แต่เด็กยังไม่มีความเข้าใจ หรือการที่เด็กบอกว่าตนเองเข้าใจแต่ยังแอบทำอยู่ การใช้วิธีเดิมอาจไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ได้ผล ในจุดนี้ควรพาลูกเข้าปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุ และทำการรักษาได้อย่างถูกวิธี เนื่องจากอาจเป็นอาการทางจิตที่สามารถเกิดขึ้นได้เรียกว่า “โรคอยากขโมย (Kleptomania)” ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการควบคุมตนเองไม่ได้
ขโมยของ หยิบเล็กหยิบน้อย ไม่ใช่ปัญหาที่ควรมองข้าม หากเกิดขึ้นควรปรับความเข้าใจของเด็กใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจติดเป็นนิสัย และยากที่จะแก้ไข หากจำเป็นต้องรักษาก็มีความจำเป็นต้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเด็กได้ในอนาคต
บทความที่น่าสนใจ
ทำนายนิสัยลูก 12 เดือนเกิด พร้อมทายอาชีพตอนโต
15 นิสัยพ่อแม่ที่ทำให้ลูกไม่ปกติ มีนิสัยแย่ๆอะไรบ้างที่อาจจะทำให้ลูกไม่ปกติ
อยากให้ทารกเข้าใจ พ่อแม่ต้องคุยกับลูกด้วยภาษาเด็กเล็ก แบบนี้!
ที่มาข้อมูล :paolohospital today.line aboutmom sanook
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!