ลูกขาลาย เพราะน้ำเหลืองไม่ดี จริงไหม? สาเหตุจริงๆ คืออะไร แก้ไขยังไงดี?

lead image

ขาลูกน้อยมีผื่นคัน ทิ้งรอยด่างดำไว้ ทำไงดี เป็นเพราะน้ำเหลืองไม่ดีหรือเปล่า เรามีคำตอบและวิธีดูแลมาฝากค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านอาจเจอปัญหา ขาของลูกน้อยมีรอยด่างๆ ดำๆ เต็มไปหมดทั้งสองข้าง ที่มาพร้อมรอยยุงกัด ใหม่บ้าง เก่าบ้าง มีตุ่มบวมแดง คัน มีรอยแผลถลอกจากการเกา มีน้ำเหลืองซึม หรือจับตัวเป็นสะเก็ดน้ำเหลืองบ้าง และแน่นอนว่าอาจมีคำพูดเข้าหูถึงสาเหตุที่ลูกขาลายว่าเกิดจาก “น้ำเหลืองไม่ดี” แล้วในความเป็นจริงภาวะน้ำเหลืองไม่ดีมีจริงไหม? สาเหตุจริงๆ ที่ ลูกขาลาย เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่อย่างเราจะรับมือและแก้ไขปัญหานี้ยังไงดี? เรามีคำตอบมาให้ค่ะ

ลูกขาลาย เพราะน้ำเหลืองไม่ดี

ลูกขาลาย เพราะน้ำเหลืองไม่ดี?

ความจริงแล้ว โรคน้ำเหลืองไม่ดี ไม่มีบัญญัติในทางการแพทย์ และไม่ได้หมายถึงโรคหรือภาวะใดภาวะหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นคำที่คนทั่วไปใช้เรียกอาการผิดปกติทางผิวหนัง เช่น ผื่นคัน ตุ่มน้ำใส หรือแผลเรื้อรัง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันหรือการไหลเวียนของน้ำเหลือง แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักของ ลูกขาลาย ค่ะ

โดยทางการแพทย์อาจใช้คำว่า “โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง” หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Impetigo เกิดจากเชื้อแบคที่เรียที่ชื่อว่า Staphylococcus aureus และ Streptococcus pyogenes ซึ่งเกิดได้กับทุกคน พบบ่อยในเด็กที่พัฒนาระบบภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับการติดเชื้อ เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง ซึ่งการลุกลามและเรื้อรังของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการดูแลและรักษาอาการ

การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังในเด็กนี้ อาจเกิดมาจากลูกได้รับเชื้อจากการสัมผัสสิ่งของ ทราย พงหญ้า หรือแมลงกัดต่อย และเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลหรือรอยแตกบนผิวหนัง ทำให้มีอาการบวมแดง เป็นตุ่ม คัน เจ็บปวด และอาจมีของเหลวไหลออกจากแผล เมื่อลูกเกาจนเกิดแผลและติดเชื้อจนบวมแดงมีน้ำเหลืองซึม ชั้นผิวหนังจะถูกทำลาย เกิดความแห้ง ลอก ทิ้งด่างขาว ด่างดำไว้ที่ผิวหนังได้อีกหลายเดือน ผิวหนังจะบอบบาง โดนยุงกัดก็จะบวมแดงมาก คันมาก ยิ่งทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมค่ะ

อาการ ลูกขาลาย เพราะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง

  • เป็นตุ่ม ผื่นแดง บวมบริเวณผิวหนัง แผลอาจกระจายออกอย่างรวดเร็ว
  • มีของเหลว จากแผลแห้งกลายเป็นสะเก็ดสีเหลืองปิดคลุมแผล
  • เจ็บปวด คัน และอาจคันรุนแรงขึ้น
  • อาจเกิดแผลเป็นถาวร สีผิวบริเวณแผลเปลี่ยนไป

ปัจจัยเสี่ยงลูกติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง

นอกจากภาวะการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจะพบบ่อยในเด็ก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว อาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ร่วมด้วย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  1. อากาศร้อนชื้น เชื้อโรคมักอาศัยและเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่อบอุ่นและชื้น
  2. เชื้ออาจแพร่กระจายได้ง่ายในครอบครัว พื้นที่คนพลุกพล่าน ได้รับเชื้อจากสัตว์ หรือสถานที่ต่างๆ เช่น พงหญ้า หนองน้ำ บ่อโคลน ทราย สนามเด็กเล่น
  3. มีรอยแผล ผิวแตกลาย หรือมีบาดแผลเล็กๆ จากแมลงกัดต่อย หรือมีผื่น

 

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ลูกขาลาย

  • การติดเชื้อรา เช่น กลาก ทำให้เกิดผื่นแดง คัน และรอยด่าง
  • โรคผิวหนังอักเสบ เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก มักเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง เกิดได้แต่เด็กอายุ 3 เดือนขึ้นไปจนถึงช่วงวัยรุ่น หรือในผู้ใหญ่
  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) ในเด็กเล็กถึงประมาณ 1 ขวบ จะมีผื่นแดงที่หน้า คอ แขน/ขา ศอก/เข่า จะมีอาการคันมากขึ้น อาจมีสะเก็ดหรือน้ำเหลืองไหลเยิ้มที่ผื่นได้ และเกิดรอยแดงหรือรอยดำ ส่วนในเด็กโตจะเป็นผื่นแดงที่คอ ข้อพับแขนขา หรือลำตัว ถ้าเกามากก็จะเป็นปื้นหนาได้ ในบางรายอาจพบร่วมกับผิวหนังอื่นๆ ได้ เช่น กลากน้ำนม
  • โรคผิวหนังอักเสบจากการแพ้สัมผัส ทำให้เกิดผื่นคันและรอยแดงเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ 
  • รอยแผลเป็น ที่เกิดจากแมลงกัดต่อย รอยขีดข่วน หรือแผลอื่นๆ อาจทำให้เกิดรอยดำ หรือรอยแผลเป็นนูน
  • สาเหตุอื่นๆ อาทิ พันธุกรรม การโดนแสงแดดมากเกินไป โรคบางชนิดอย่างโรคเบาหวาน เป็นต้น

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ดูแลรักษายังไงดี? เมื่อมีปัญหา ลูกขาลาย

ลูกขาลาย ไม่ใช่เพราะ น้ำเหลืองไม่ดี นะคะ แต่เกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนั้น การดูแลรักษาจึงต้องเป็นไปตามสาเหตุค่ะ

  1. รักษาจากต้นเหตุ
  • หากลูกขาลายจากการติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ใช้ยารักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังทาโดยตรงที่แผล 2-3 ครั้ง/วัน ประมาณ 5-10 วัน
  • ก่อนใช้ยา ควรประคบผ้าชุบน้ำอุ่นที่แผล ซับให้แห้ง แล้วขจัดสะเก็ดแผลออก เพื่อให้ยาปฏิชีวนะสามารถซึมเข้าผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น หลังทายาให้ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซเพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่ม
  • หากแผลมีอาการรุนแรงขึ้น หรือไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน คุณหมออาจสั่งยาปฏิชีวนะชนิดกินเพิ่มเติม เพื่อกำจัดเชื้อจากภายในร่างกาย โดยต้องกินยาอย่างเคร่งครัดให้ครบตามที่คุณหมอสั่งแม้ว่าแผลจะหายดีแล้ว เพื่อป้องกันการดื้อยา
  1. วิธีดูแลด้วยตนเอง
  • รักษาความสะอาดร่างกายและสิ่งของภายในบ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยทำความสะอาดแผลเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำไหลผ่าน เพื่อป้องกันไม่ให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้น
  • ซักเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน และผ้าเช็ดตัวของลูกน้อยทุกวันด้วยน้ำร้อน เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจเกาะอยู่ตามเสื้อผ้าและของใช้
  • ตัดเล็บลูกให้สั้นอยู่เสมอเพื่อป้องกันเชื้อโรค และป้องกันการบาดเจ็บที่แผลหากลูกน้อยใช้มือเกาแผล
  • สวมถุงมือทุกครั้งก่อนทายาปฏิชีวนะที่แผลให้ลูก และล้างมือให้สะอาดหลังจากทายาเสร็จ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม และควรใช้ยาตามคุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด

ลูกขาลายจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง เป็นภาวะที่พบได้บ่อยนะคะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลป้องกันโดยรักษาความสะอาดร่างกายให้ลูกน้อยเสมอหลังการสัมผัสกับภาวะเสี่ยงในสถานที่ต่างๆ ทั้งในสวน สนามเด็กเล่น ฯลฯ หากมีอาการที่ทำให้กังวลใจควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีและตรงสาเหตุค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

 

ที่มา : เลี้ยงลูกตามใจหมอ , chaophya.com , www.paolohospital.com , ch9airport.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ทำไม ลูกเลือดกำเดาไหลบ่อย สัญญาณเตือนอะไร? วิธีดูแลและป้องกัน

นมสำหรับเด็กเป็น G6PD เลือกยังไง ปลอดภัยกับลูกที่มีภาวะพร่องเอนไซม์

ลูกแพ้ยุง แพ้มด ทำไง? สัตว์ตัวจิ๊ด อาจมีพิษต่อผิวลูกน้อยมากกว่าที่คุณรู้!

บทความโดย

จันทนา ชัยมี