คุณแม่หลายคนที่ให้นมลูกน้อยอาจต้องเผชิญกับปัญหา เจ็บหัวนม ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญที่อาจทำให้ต้องให้ลูกหยุดกินนมแม่ หรือหย่านมแม่ก่อนกำหนด แต่อย่าเพิ่งกังวลค่ะ เราจะชวนมาหาคำตอบกันว่า ให้นมลูก เจ็บหัวนม ต้องหยุดการให้นมไหม รวมถึงมีวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อย เพื่อให้การกินนมแม่ยังสามารถไปต่อได้อย่างมีความสุขและราบรื่นมากยิ่งขึ้น
สารบัญ
สาเหตุที่คุณแม่ ให้นมลูก เจ็บหัวนม
เชื่อว่าคุณแม่เกือบทุกคนให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และมีความตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานที่สุด เนื่องจาก นมแม่ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุที่มีคุณค่านั้นเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย แต่ปัญหาที่คุณแม่หลายคนมักพบบ่อยในช่วงให้นม คือ ให้นมลูก แล้ว เจ็บหัวนม ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยและอาจทำให้คุณแม่ท้อใจจนไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานตามที่ตั้งใจไว้ โดยมักเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
-
หัวนมแตกหรือร้าว
การที่ลูกน้อยดูดนมแรงเกินไป หรือดูดหัวนมเป็นเวลานาน อาจทำให้หัวนมคุณแม่แตกหรือร้าว จนมีอาการเจ็บที่บริเวณหัวนมและอาจมีเลือดไหลออกมา ซึ่งมักเกิดจากการเอาลูกเข้าเต้าไม่ถูกวิธี ท่าให้นมไม่ถูกต้อง ทำให้เวลาดูดนมลูกจะอมได้ไม่ถึงลานนม เมื่อดูดแล้วไม่ได้น้ำนมจึงเคี้ยวหัวนมแม่ ส่งผลให้หัวนมแตก เกิดแผล และมีเลือดออก
-
ท่อน้ำนมอุดตัน
ภาวะท่อน้ำนมอุดตันซึ่งทำให้มีน้ำนมค้างอยู่ในเต้านม น้ำนมไหลไม่สะดวก ลูกดูดไม่ออก หรือดูดได้เพียง 20% จนคุณแม่แทบไม่สามารถให้นมลูกน้อยได้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณแม่เจ็บเต้านม โดยอาจพบว่ามีก้อนแข็งบริเวณเต้านม กดแล้วเจ็บ หรือมีอาการบวมแดง ซึ่งบางกรณีหัวนมและลานหัวนมอาจมีลักษณะผิดรูปไป มีเส้นเลือดบริเวณเต้านมปูดขึ้น หรือมีจุดสีขาวที่หัวนมที่เรียกว่า White dot อาจเกิดจากลูกดูดนมไม่เกลี้ยงเต้าและคุณแม่ปล่อยให้น้ำนมค้างในเต้าเป็นเวลานาน รวมถึงการกินอาหารไขมันสูงด้วย
-
เต้านมอักเสบ
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในเต้านม ซึ่งเริ่มจากการคัดตึงเต้านม คลำพบก้อนแข็งและตึง เมื่อกดจะเจ็บและปวดกระจายไปทั่วเต้านม เกิดภาวะเต้านมบวมแดง โดยคุณแม่จะอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และอาจมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส เนื่องจากคุณแม่ปล่อยให้มีน้ำนมเก่าค้างในเต้านม หรือจากเหตุอื่น ๆ จนเชื้อโรคเข้าสู่เต้านมและเกิดการอักเสบ/ติดเชื้อผ่านทางแผลบริเวณรอยแตกที่หัวนม
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าคุณแม่อาจใช้เครื่องปั๊มนมที่มีแรงในการดูดสูงมากเกินไป ใช้ระยะเวลาในการปั๊มนมนานเกินไป หรือการเลือกใช้กรวยที่ปั๊มนมผิดขนาดกับหัวนม จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หัวนมได้เช่นกันค่ะ
แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา ให้นมลูก เจ็บหัวนม
จากสาเหตุของปัญหา ให้นมลูก เจ็บหัวนม ที่บอกไว้ข้างต้น แน่นอนว่าคุณแม่สามารถป้องกันไว้ก่อนได้ค่ะโดยเริ่มให้นมลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ ให้นมลูกโดยเร็วที่สุดหลังคลอด จะช่วยให้ทารกดูดนมได้ถูกวิธีและลดความเสี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถป้องกันรวมถึงแก้ไขจากสาเหตุของการเจ็บหัวนมขณะให้นมลูกได้ดังนี้ค่ะ
ป้องกันและดูแลหัวนมแตก
- เริ่มต้นให้ลูกดูดเต้าอย่างถูกวิธี โดยอุ้มลูกชิดตัวแนบกับท้อง ให้แก้ม จมูก และคางของลูกสัมผัสกับเต้านม
- ไม่ดึงหัวนมออกทันทีขณะที่ลูกยังออกแรงดูดอยู่ ควรค่อย ๆ ปลดหัวนมออกเบา ๆ แล้วค่อย ๆ ใส่นิ้วเข้าไปแทนที่จากนั้นจึงดึงหัวนมออก
- ไม่ควรทำความสะอาดเต้านมและหัวนมมากจนเกินไป และหลีกเลี่ยงการใช้สบู่หรือครีมทาที่หัวนม
- บีบน้ำนม 2- 3 หยดทาบริเวณหัวนมทิ้งไว้ให้แห้งทุกครั้งหลังให้นมลูก เนื่องจากน้ำนมแม่มีสารที่ช่วยลดการอักเสบ และช่วยในการสมานแผลได้ดี
- ระวังอย่าให้เต้านมคัด ถ้าเต้านมคัดให้คุณแม่บีบน้ำนมออกเล็กน้อยก่อน เมื่อเต้าเริ่มนิ่มขึ้นจึงค่อยให้ลูกเข้าเต้า
- ให้ลูกดูดนมจากเต้าที่เจ็บน้อยก่อน หากเจ็บเท่ากันให้หาผ้าชุบน้ำอุ่น ๆ มาประคบและนวดเต้านมเบา ๆ ก่อน กรณีเจ็บมากจนทนไม่ไหวให้พักเต้าแล้วเปลี่ยนเป็นการบีบหรือปั๊มนมให้ลูกแทน เมื่อหายเจ็บค่อยกลับมาดูดนมจากเต้าเหมือนเดิม
- ควรให้ลูกดูดนมในเวลาที่สั้นลง เหลือครั้งละประมาณ 10-15 นาที ทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง
ดูแลแก้ไขปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน
- ก่อนให้นมลูก ลองประคบเต้าด้วยผ้าอุ่นสักประมาณ 5-10 นาที
- เลือกใส่เสื้อชั้นในที่พยุงเต้านม ไม่หลวมหรือรัดแน่นเกินไป
- ให้ลูกดูดจากเต้าที่อุดตันก่อน และให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้นวันละ 8-12 ครั้ง ข้างละประมาณ 15-20 นาที
- จัดท่าให้ลูกน้อยดูดนมโดยให้คางของลูกชี้ไปบริเวณที่เป็นก้อน เพื่อให้ลิ้นของลูกช่วยรีดน้ำนมบริเวณที่เป็นก้อนได้ดีขึ้น
- นวดเต้านมเบา ๆ ไปด้วยขณะลูกเข้าเต้า โดยไล่จากบริเวณที่อุดตันไปจนถึงหัวนม เพื่อช่วยดันส่วนที่เป็นก้อนให้นิ่มลง
- หลังให้นมลูกควรประคบเย็นเพื่อลดอาการปวดและบวม
บรรเทาอาการเต้านมอักเสบ ป้องกันน้ำนมค้างเต้า
- ลดปัญหาน้ำนมค้างเต้าโดยให้ลูกดูดนมนานขึ้นอย่างน้อยข้างละ 15-20 นาที และให้ดูดบ่อย ๆ วันละ 8-12 ครั้ง
- แนะนำให้ลูกดูดจากเต้าที่มีปัญหาก่อน แรงดูดขณะหิวของลูกน้อยจะช่วยให้น้ำนมของคุณแม่ที่ค้างเต้าอยู่ระบายออกมาได้
- ปั๊มนมป้อนลูกแทนการให้ดูดนมประมาณ 3-4 มื้อ จนคุณแม่รู้สึกดีขึ้นจึงกลับมาให้ลูกดูดนมจากเต้าคุณแม่อีกครั้ง
แนะนำท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง
จะเห็นว่าปัญหาให้นมลูก เจ็บหัวนม ของคุณแม่นั้น มักมีต้นสายปลายเหตุแรกเริ่มมาจากการที่ลูกเข้าเต้าไม่ถูกวิธี ไม่ถูกท่า ดังนั้น ขอแนะนำท่าให้นมที่ถูกต้องซึ่งจะทำให้การให้นมของคุณแม่มีประสิทธิภาพ 4 ท่า ดังนี้
- อุ้มนอนขวาง (Cradle Hold Position) เป็นท่าพื้นฐานและเป็นที่นิยมค่ะ โดยคุณแม่ควรเริ่มจากเลือกมุมที่นั่งสบาย กรณีนั่งเก้าอี้ควรมีพนักพิงรองรับแผ่นหลัง มีที่พักแขน จากนั้นนั่งตัวตรง อุ้มลูกนอนในแนวขวาง ตะแคงลูกน้อยเข้าหาเต้านม จัดหน้าอกของลูกและแม่ให้อยู่ชิดกัน ใช้มืออีกข้างพยุงเต้านม วางศีรษะลูกให้อยู่บนข้อพับแขน ปลายแขนประคองหลัง และเอามือช้อนก้นลูกไว้
- ท่าประยุกต์ลูกนอนขวางบนตัก (Modified Cradle Hold Position) เหมาะกับการให้ลูกอมหัวนม ควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะลูกได้ ท่านี้จะมีการเตรียมตัวและจัดท่าทางเหมือนกับท่าอุ้มนอนขวางเลยค่ะ แต่…จะมีการเปลี่ยนมือ โดยให้คุณแม่ใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกดูด ในการประคองเต้านม ส่วนมืออีกข้างหนึ่งรองต้นคอและท้ายทอยลูก
- ท่าอุ้มฟุตบอล (Football Hold Position) เหมาะกับคุณแม่ผ่าคลอด รวมถึงคุณแม่ที่ให้นมลูกแฝด 2 คนพร้อมกัน โดยนั่งเก้าอี้ที่มีความสะดวกสบาย หาหมอนวางข้างตัว จากนั้นวางลูกนอนลงบนหมอน ใช้ฝ่ามือประคองหลังและบ่าของลูก ปลายแขนรองแผ่นหลัง สอดขาของลูกไว้ที่ใต้แขน ให้ลูกนอนโดยใบหู ไหล่ สะโพก อยู่แนวเส้นตรงเดียวกัน เหมือนการถือลูกฟุตบอล
- ท่านอนตะแคง (Side Lying Position) โดยนอนตะแคงในท่าที่คุณแม่รู้สึกสบาย งอเข่าเล็กน้อย ใช้หมอนหนุนศีรษะให้สูงพอประมาณ วางลูกลงบนฟูกหรือเบาะ หันหน้ามาทางเต้านม จากนั้นคุณแม่ใช้ศอกดันตัวเองขึ้นเล็กน้อย ประคองต้นคอลูกน้อยด้วยมืออีกข้างเพื่อให้นม พอลูกเริ่มดูดนมได้ดีจึงค่อย ๆ นอนราบลงไป
ทั้งนี้ คุณแม่สามารถเลือกและปรับท่าให้นมตามความเหมาะสม โดยเลือกท่าที่ตัวเองอยู่ในลักษณะสบายที่สุด จะช่วยทำให้ลูกได้รับน้ำนมได้ปริมาณที่เพียงพอค่ะ
ให้นมลูก เจ็บหัวนม อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์
อาการหัวนมเจ็บ (Sore nipple) หรือหัวนมแตก (Cracked nipple) ของคุณแม่นั้น อาจจะยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมน Oxytocin ทำให้น้ำนมแม่ไม่ไหลหรือไหลน้อยลงได้นะคะ ซึ่งไม่เพียงส่งผลให้เกิดน้ำนมคั่งค้างในเต้านม เต้านมคัด ท่อน้ำนมอุดตัน และทำให้เกิดเต้านมอักเสบเท่านั้น แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดเป็นฝีได้ในที่สุดค่ะ
ซึ่งคุณแม่สามารถนำวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นที่เราแนะนำไปใช้ได้ แต่หากอาการยังไม่ทุเลาลงจนลุกลามกลายเป็นปัญหาการให้นมจนไม่สามารถให้ลูกกินนมแม่ต่อได้ หรือมีอาการเจ็บหัวนมอย่างรุนแรง หัวนมแตกจนมีเลือดไหล ควรหยุดให้นมข้างที่มีเลือดไหล และรีบไปปรึกษาแพทย์ ปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการให้นมบุตร เช่น แพทย์ พยาบาล คลินิกนมแม่ คลินิกสุขภาพหญิง เพื่อรับคำปรึกษาและดูแลแก้ไขอย่างถูกวิธี หรือรักษาจนหาย เพื่อกลับมาให้นมลูกอีกครั้งได้เร็วที่สุด และสามารถให้นมลูกต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา : pt.mahidol.ac.th , www.samitivejhospitals.com , www.bumrungrad.com , www.sikarin.com , www.ekachaihospital.com , premierehomehealthcare.co.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คุณแม่อัพไซส์ เสริมหน้าอก ให้นมลูกได้ไหม น้ำนมจะน้อยหรือเปล่า
ให้นมลูกกินหน่อไม้ได้ไหม ส่งผลอะไรต่อน้ำนมบ้าง ลูกกินนมได้หรือเปล่า
“นมแม่” สำหรับ ทารก 1 สัปดาห์ กินกี่ออนซ์