พ่อแม่หลายคนเลือกที่จะนอนกับลูกน้อย เพื่อที่จะได้ขับกล่อม และโอบกอดลูกนอนหลับอย่างมีความสุข พ่อแม่ทราบไหมว่า นอนกับลูกก็อาจได้รับความอันตรายได้เช่นกัน วันนี้ theAsianparent จะพาไปดูกันว่า นอนกับลูกดีอย่างไร มีอะไรที่พ่อแม่ควรรู้เกี่ยวกับการนอนของลูกบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
เด็กแต่ละวัยนอนแตกต่างกันอย่างไร?
การนอนเป็นอาหารสมอง เพราะการนอนจะช่วยทำให้ร่างกายได้พักผ่อน สร้างภูมิต้านทานโรค สดชื่นแจ่มใสอารมณ์ดี คิดอ่านอะไรได้หลักแหลม จดจำสิ่งต่าง ๆ ที่เรียนรู้ไปได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นการนอนเป็นเรื่องสำคัญของคนทุกคน และควรสนับสนุนให้เด็ก ๆ นอนให้เพียงพอ เรามาดูกันว่าเด็กแต่ละวัย นอนแตกต่างกันอย่างไร
- วัยทารก วัยนี้จะมีภาวะหลับตื่นสลับกันไปตลอดทั้งวัน แต่เมื่ออายุได้ประมาณ 4 เดือนจะเริ่มหลับกลางคืนได้ยาวประมาณ 6 ชั่วโมง และเมื่ออายุ 6 เดือนจะสามารถหลับได้นานถึง 10 ชั่วโมงแต่ก็ยังสามารถตื่นได้ในระหว่างการนอนหลับ ซึ่งทารกบางคนสามารถกลับไปหลับต่อได้ด้วยตัวเอง แต่บางคนต้องการการกล่อมจึงจะหลับต่อได้
- วัยเรียน วัยนี้ต้องการการนอนประมาณ 9 – 12ชั่วโมง ซึ่งเด็กแต่ละคนอาจต้องการจำนวนชั่วโมงในการนอนแตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตว่าลูกนอนพอหรือไม่ได้จากพฤติกรรมของลูกระหว่างวัน เช่น สามารถปลุกตื่นได้ง่าย ไม่ผล็อยหลับตอนกลางวัน (ถามได้จากคุณครู) และเมื่อเข้านอนสามารถหลับได้ภายใน 15 – 30 นาที
- วัยรุ่น วัยนี้ต้องการเวลานอน 8 -10 ชั่วโมง แต่ลักษณะการนอนของเด็กวัยนี้จะเปลี่ยนไปจากวัยเรียน โดยที่วัยรุ่นจะเข้านอนดึกและตื่นสายซึ่งเป็นภาวะปกติเมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น ดังนั้นในช่วงเปิดเทอมที่วัยรุ่นต้องมาโรงเรียนในตอนเช้าจะมีผลทำให้วัยรุ่นนอนไม่พอได้บ่อย และอาจกระทบต่อการเรียนของเขา และวัยรุ่นมักจะมานอนชดเชยในวันหยุด
ทางสถาบัน American Academy of Pediatrics (AAP) ได้ออกมาแนะนำพ่อแม่ที่ต้องการนอนร่วมกับทารกเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ลูกน้อยมากขึ้น เนื่องจาก เตียงนอนไม่ได้ออกแบบมาให้สำหรับทารก รวมถึงวิธีการลดความเสี่ยงของโรคใหลตาย (SIDS) ด้วย โดยมีวิธีการ ดังนี้
- ที่นอนของพ่อแม่ต้องมีความแน่น และเรียบแบน
- บนที่นอนต้องไม่มีร่องหรือซอกระหว่างเตียงนอนกับผนัง หรือซอกบนหัวเตียง
- ผ้าห่มที่ใช้ควรมีน้ำหนักที่เบา
- อย่าให้อุณหภูมิภายในห้องร้อนเกินไป ควรเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับอุณหภูมิ
- ลูกต้องนอนในท่านอนหงาย
- วัสดุที่นำมากันเตียงควรเป็นผ้าทอบางที่ทารกสามารถหายใจผ่านไปได้
ไม่แนะนำให้ทารกนอนร่วมกับผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นไข้ คนที่หลับลึก และผู้ที่ต้องใช้ยานอนหลับ รวมถึงสัตว์เลี้ยงด้วย ถ้าคุณแม่ลูกคนโตหรือเด็กคนอื่นอยู่ด้วย แนะนำให้คุณแม่นอนระหว่างเด็กเล็กกับเด็กโตจะดีกว่าค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : พ่อแม่นอนห้องเดียวกับลูก ดีไหม พ่อแม่นอนกับลูกหรือแยกห้องนอนกับลูก แบบไหนดีกว่า
ด้านพญ.นนธนวนัณท์ สุนทรา ผอ.สถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับเด็กอายุเกิน 1 ปี ที่เริ่มยืนได้นั้น เตียงต้องมีราวกันตกที่มีซี่ราวแนวตั้งตรง ห่างกันไม่เกิน 15 เซนติเมตร ราวกันตกจะต้องมีตัวยึดแน่น เด็กไม่สามารถเหนี่ยวให้เคลื่อนไหวได้เอง ไม่อ้า ไม่เผยอ จนเกิดช่องห่างจากเตียงจนลำตัวเด็กลอดตกได้ เบาะที่นอนต้องพอดีกับเตียง และไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับราวกันตก มุมเสาทั้งมุมต้องเรียบ มีส่วนนูนได้ไม่เกิน 1.5 มิลลิเมตร ผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าต้องไม่มีการตัดตกแต่งให้เกิดร่องและรู นอกจากนี้ จากขอบบนของเบาะที่นอนถึงราวกันตกด้านบนต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 65 เซนติเมตร
ทั้งนี้เด็กที่มีความสูงเกิน 89 เซนติเมตร มีความเสี่ยงปีนราวกันตกและตกจากที่สูงได้ดังนั้นต้องระวัง และหมั่นสังเกตหากพบว่าเด็กแน่นิ่ง ตัวซีดหรือเขียวคล้ำ ให้จับเด็กนอนหงาย พยายามปลุก เรียก สังเกตการหายใจโดยดูการเคลื่อนไหวของหน้าอก หน้าท้อง ถ้าเรียกไม่รู้ตัวลักษณะเหมือนไม่หายใจ ให้กดทรวงอกบริเวณสันอกทันที สลับกับการเป่าปากหรือเป่าจมูก-ปากเด็กในเวลาเดียวกันและรีบตามหน่วยฉุกเฉิน 1669 เพื่อนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
ส่วนท่านอนที่เหมาะสมคือ ท่านอนหงาย ไม่ใช่นอนคว่ำ เพราะอาจอุดกลั้นทางเดินหายใจ หากต้องการให้เด็กหัวทุย ก็จัดท่านอนตะแคงซ้าย และขวาสลับกันไป โดยให้เด็กนอนกอดหมอนข้างเพื่อป้องกันการคว่ำหน้า อย่างไรก็ตามต้องดูช่วงอายุด้วย เพื่อให้เด็กนอนหลับสบายที่สุด โดยเด็กแรกเกิด–4 เดือน ควรนอนตะแคงหรือนอนหงาย เป็นท่าที่เหมาะกับพัฒนาการของกล้ามเนื้อคอที่ยังไม่ค่อยแข็งแรง ทำได้เพียงหันซ้ายและขวา สามารถมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวและฝึกการมองได้
วัย 5–6 เดือน สามารถนอนคว่ำได้ และเด็กยกคอได้แล้วเพราะกระดูกคอเริ่มแข็ง แต่ยังต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพราะอาจเกิดการอุดกลั้นการหายใจได้ และวัย 7-12 เดือน สามารถนอนได้ทุกท่าเพราะเด็กพลิกตัวด้วยตนเองได้แล้ว ที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองต้องสังเกตตัวเด็กและสภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กอยู่เสมอ เช่น บนที่นอนของเด็กจะต้องไม่มีอะไรที่จะมาปิดหน้าได้ระหว่างที่นอนหลับอยู่ โดยเฉพาะเด็กที่มีนิสัยชอบคว้าสิ่งของรอบตัว
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่นอนกับลูก ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีในอนาคต
สิ่งที่ควรทำในการสอนให้ลูกมีนิสัยการนอนที่ดี
- สร้างกิจวัตรก่อนนอนให้เป็นเวลาพิเศษที่จะพูดคุยกับลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย และปลอดภัย
- ให้ลูกเข้านอน และตื่นนอนตรงเวลา
- บรรยากาศห้องนอน สำหรับเด็กเล็กสามารถใช้เสียงที่เป็นจังหวะสม่ำเสมอไม่ดัง ไม่กระตุ้น เป็นเสียงที่ช่วยกล่อมให้เด็กนอน
- สร้างกิจวัตรในระหว่างวันให้มีตารางเวลาสม่ำเสมอ
- ควรปิดไฟ หรือ หรี่แสงไฟในห้องนอน เมื่อถึงเวลานอนและควรให้เด็กได้เจอแสงแดดธรรมชาติในเวลากลางวัน
สิ่งที่ไม่ควรทำในการสอนให้ลูกมีนิสัยการนอนที่ดี
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่สร้างความตื่นเต้น หรือ กิจกรรมที่ต้องเผชิญกับแสงที่จ้ามากเกินในช่วงเวลา 2 – 3 ชั่วโมงก่อนนอน
- ในทารกควรเลี่ยงการให้เด็กหลับคาขวดนม
- อย่าให้การนอนเกิดจากการขู่ หรือ เป็นการลงโทษจากการทำความผิด ควรสอนให้เด็กรับรู้ว่าการนอนเป็นเวลาของความสุข
- หลีกเลี่ยงการเอาของเล่นมาให้เด็กเล่นเมื่อถึงเวลานอน
- หลีกเลี่ยงอาหารหนัก หรือ ชา กาแฟ น้ำอัดลมที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝึกลูกนอนยาว 6 วิธีฝึกลูกนอนยาว หมดปัญหา ลูกร้องตอนดึก
วิธีพาลูกนอนตอนกลางคืน
- อุ้มลูกวางบนที่นอน จัดท่านอนให้ลูกในท่านอนหงาย โดยปกติแล้วทารกจะสามารถจัดท่านอนของตนเองได้เมื่อมีอายุประมาณ 4-7 เดือน
- ห่มผ้าให้ลูกน้อย โดยที่ระวังอย่าให้ผ้าห่มคลุมใบหน้า เพราะอาจจะทำให้อุดทางเดินหายใจได้
- หยิบเอาตุ๊กตาหรือของเล่นออกจากเตียง
- ปรับแอร์ให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ 25-26 องศาเซลเซียส
- อาจจะหาจุกนมหลอกให้ลูกได้ดูด เพื่อให้ทารกหลับสบายขึ้น แถมยังช่วยให้หายใจได้สม่ำเสมออีกด้วย
พ่อแม่ นอนกับลูกดีอย่างไร
- ลูกจะเกิดความภูมิใจในตัวเอง ไม่ต้องกังวลว่าจะทำอะไรผิดพลาด
- ลูกจะเป็นที่รักของคนรอบข้าง เพราะเขาจะสามารถแสดงความรักกับทุกคนได้เต็มที่ เพราะเคยได้รับความอบอุ่นมาจากพ่อแม่
- ลูกสามารถพึ่งพาตัวเองได้ แถมยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตลูกด้วย
- ลูกจะเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และมีพลังมาก เพราะว่าลูกที่นอนกับพ่อแม่จะรู้สึกปลอดภัย ทำให้หลับสบายตลอดทั้งคืน
- ลูกจะเป็นเด็กที่มองโลกในแง่ดี เป็นคนอารมณ์ดี เพราะถูกเติมเต็มด้วยความรักจากพ่อแม่ ไม่เป็นเด็กขี้โมโห และไม่เป็นเด็กขี้กังวล เช่น กลัวผี กลัวความมืด กลัวเสียงประหลาด เป็นต้น
โรคใหลตายในทารก ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เด็กเสียชีวิตได้ เช่น พัฒนาการที่ผิดปกติของทารก ลูกคลอดก่อนกำหนด ทารกที่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ โรคทางพันธุกรรม โรคหัวใจ และการติดเชื้อ
พ่อแม่นอนกับลูกถือว่ามีข้อดีหลายอย่าง โดยเฉพาะการช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และนอนหลับสบายตลอดทั้งคืน อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ควรสร้างกิจวัตรก่อนนอนให้ลูกเป็นประจำ เพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย และยังช่วยให้ลูกเข้านอน และตื่นนอนตรงเวลาอีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทำไมลูกนอนกรน เด็กนอนกรน เกิดจากสาเหตุอะไร?
ทารกหลับไม่สนิท ดิ้นไปมา ทำอย่างไร มีวิธีช่วยลูกนอนหลับสนิทไหม?
ลูกนอนละเมอ ร้องไห้ ฝันร้าย เดินละเมอ อันตรายไหม ดูแลและป้องกันอย่างไร
ที่มา : zerotothree, rama.mahidol, dailynews