เพราะสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ คือสิ่งที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของลูกน้อยในครรภ์ การเรียกร้องให้ทำการ เพิ่มสิทธิ์หญิงตั้งครรภ์ สำหรับสิ่งพื้นฐานที่คุณแม่กับลูกในครรภ์พึงมีทั้งการได้รับวัคซีนพื้นฐาน การได้รับการเยียวยากรณีแท้งบุตร และการตายคลอด หากท่านคือผู้ที่มีความสนใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง สามารถช่วยกันลงชื่อได้ที่ Change.org
ร่วมรณรงค์เพิ่มสิทธิพื้นฐานของคุณแม่ตั้งครรภ์ทั้ง 3 ข้อ
Click ที่นี่ ! >> ร่วมรณรงค์การเพิ่มสวัสดิการขั้นพื้นฐานสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
ข้อที่ 1 : หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ต้องได้รับวัคซีนพื้นฐานฟรี
การให้วัคซีนในหญิงมีครรภ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเกิดภูมิคุ้มกันสําหรับทั้งมารดาและทารกต่อเชื้อก่อโรค ในกรณีที่เกิดการสัมผัสโรค หรือกรณีที่หญิงมีครรภ์มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อนั้นๆ สูง และยังช่วยเพิ่มการ ป้องกันโรคในทารกจากการที่ได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ในช่วงหลังคลอด บุคลากรทางการแพทย์ควรพิจารณาถึง ประโยชน์และความเสี่ยงของการให้วัคซีนแต่ละชนิดที่มีต่อหญิงมีครรภ์ตัวอ่อนในครรภ์และทารกแรกคลอด
1. วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (3ชนิดนี้รวม 1 เข็ม)
2. วัคซีนไข้หวัดใหญ่
3. วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี
เพราะสุขภาพและความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถกำหนดอนาคตของประเทศได้ หากทารกได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากสวัสดิการที่เหมาะสมของภาครัฐ ด้วยการได้รับวัคซีนพื้นฐานสำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ทั้ง 3 ชนิดฟรี โดยไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนเองแบบปัจจุบัน นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรค และช่วยให้ทารกมีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน สามารถเข้าถึงวัคซีนสำคัญที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพตลอดชีวิตของทารกได้โดยปราศจากเงื่อนไขทางการเงิน
วัคซีนพื้นฐานสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ทั้ง 3 ชนิด คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร?
วัคซีนพื้นฐานที่แพทย์แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับในระหว่างตั้งครรภ์ มีดังนี้
- วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก : เป็นวัคซีนพื้นฐาน 3 ชนิด รวมใน 1 เข็ม ที่มีความสำคัญมาก โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการฉีดและส่งต่อภูมิคุ้มกันไปสู่ทารกในครรภ์ได้มากที่สุด คือ ฉีดขณะอายุครรภ์ 27 – 36 สัปดาห์ ในรายที่ไม่ได้รับวัคซีนชุดนี้ อาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและชีวิตของทารก ได้แก่ หากโรคคอตีบกลับมาระบาดอีก อาจทำให้แม่และทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ โรคไอกรนสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ การฉีดวัคซีนไอกรน จะป้องกันทารกติดเชื้อจากแม่ได้ถึง 6 เดือน ส่วนวัคซีนบาดทะยัก จะช่วยป้องกันการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตร อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในหญิงตั้งครรภ์ สำคัญแค่ไหน
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ : เป็นโรคที่อันตรายสำหรับหญิงตั้งครรภ์มากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากหากเป็นแล้วจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม เยื่อหุ้มปอดอักเสบ และหัวใจวาย การฉีดวัคซีน 1 เข็ม สามารถป้องกันการติดเชื้อ และมีอาการรุนแรงได้ถึง 1 ปี อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่กับแม่ตั้งครรภ์ วัคซีนสำคัญกับเหตุผลที่ว่าทำไมจึงควรฉีด
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี : หากเจาะเลือดแล้วพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่มีภูมิต้านทาน หรือมีภาวะเสี่ยง เช่น สามีเป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบบี ยิ่งจำเป็นต้องรับวัคซีนชนิดนี้ เพื่อป้องกันการถ่ายทอดสู่ทารกในครรภ์ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีหญิงตั้งครรภ์ ฉีดก่อนลูกน้อยในครรภ์ติดเชื้อ
โดยในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายในการรับวัคซีนทั้ง 3 ชนิดนี้ ตกเป็นภาระของคุณแม่ตั้งครรภ์เอง จึงทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์บางส่วนไม่ได้รับวัคซีนทั้ง 3 ชนิดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิ์พื้นฐานด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพในระดับประเทศ ดังนั้น หากหญิงตั้งครรภ์ทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนทั้ง 3 ชนิดได้อย่างเท่าเทียม ก็จะช่วยให้คุณแม่และทารกในครรภ์มีสุขภาพดี ปลอดภัย ช่วยให้ทารกเติบโตขึ้นเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศต่อไปในอนาคต
ข้อที่ 2 : การได้รับผลประโยชน์พื้นฐานจากภาครัฐ กรณีสูญเสียบุตรในช่วงอายุครรภ์ 22 สัปดาห์
ระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ที่มีผลต่อกฎหมายที่จะได้รับผลประโยชน์จากการคลอดบุตร หรือแท้งบุตร จากเดิม ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ เป็น 22สัปดาห์ เพราะสัปดาห์ที่ 22 เป็นสัปดาห์แรกที่ทารกที่คลอดมีโอกาสรอดชีวิตจึงควรเป็นจุดเริ่มการรับสิธิ์ทุกอย่างในการคลอด
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ในปัจจุบัน คุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มีเหตุไม่คาดฝันทำให้ต้องสูญเสียทารกในครรภ์ หรือแท้งบุตรในช่วงอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ จะไม่ได้รับสิทธิ์เยียวยา รวมทั้งผลประโยชน์ใดใดจากภาครัฐเลย สืบเนื่องจาก กฎหมายกำหนดให้ หญิงตั้งครรภ์ที่จะได้รับผลประโยชน์กรณีคลอดบุตร หรือแท้งบุตร ต้องมีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับ องค์การอนามัยโลก ที่กำหนดให้การคลอดที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 22 สัปดาห์ เป็นการแท้ง รวมถึงปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีและวิทยาการทางการแพทย์ก็ดีขึ้นมาก และกุมารแพทย์ในไทย ยังมีความสามารถในการดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนดในอายุครรภ์น้อย ๆ ได้อยู่รอดปลอดภัยมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่สูญเสียบุตรในอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ จึงมีการเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยน เกณฑ์การคลอดของกระทรวงสาธารณสุข จากเดิมที่กำหนดว่า เกณฑ์การคลอดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ เป็นการแท้ง เป็น เกณฑ์การคลอดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 22 สัปดาห์ เป็นการแท้ง เพื่อให้คุณแม่ตั้งครรภ์ผู้สูญเสียบุตร ได้รับผลประโยชน์พื้นฐานตามสิทธิที่ควรได้รับ ช่วยให้สามารถผ่านพ้นเรื่องเศร้าได้โดยเร็วที่สุด
ข้อที่ 3 : ครอบครัวที่ประสบภาวะตายคลอด ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างครอบคลุม
การบำบัดโดยจิตแพทย์เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมถึงหากต้องการตั้งครรภ์ใหม่ ต้องได้รับการดู และให้คำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากมีอัตราการเกิดปัญหาซ้ำได้ถึง 50% ภาวะตายคลอด (Stillbirth) เป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก ทว่าเป็นประสบการณ์อันเลวร้ายของครอบครัวผู้ที่สูญเสียทารกด้วยภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อสภาพจิตใจ และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นระยะเวลานาน
ดังนั้น คุณแม่ผู้สูญเสียบุตรด้วย ภาวะตายคลอด จึงควรได้รับการช่วยเหลือ และดูแลอย่างเหมาะสม ด้วยการเข้ารับการดูแล และให้คำปรึกษาโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็วที่สุด รวมถึงช่วยเหลือให้มีการวางแผนตั้งครรภ์ใหม่อย่างเหมาะสม จะช่วยลดปัญหาการสูญเสียบุตรซ้ำ เนื่องจากสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมของคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้สูงถึง 50%
ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อนี้ ไม่ใช่เป็นการ เพิ่มสิทธิ์หญิงตั้งครรภ์ แต่ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่หญิงไทยทุกคนควรได้รับ เช่นเดียวกับที่สตรีในนานาประเทศพึงมี หากท่านเห็นด้วย โปรดลงชื่อสนับสนุน และเผยแพร่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ให้ทุกคนที่คุณรัก ได้ร่วมกันปกป้องสิทธิ์พื้นฐาน และผลักดันให้มีการประกาศใช้โดยเร็วที่สุด!! Click
บทความที่น่าสนใจ
ท้องทําไงดี ตั้งครรภ์แล้ว ทำไงต่อล่ะ ต้องดูแลอะไรบ้าง เรามีคำตอบ
5 อาการเสี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ ที่ต้องคอยสังเกตให้ดี และส่งถึงมือหมอโดยด่วน
To Do List คุณแม่ท้องแต่ละช่วง เตรียมตัวอย่างไรเมื่อรู้ว่าท้อง วิธีดูแลตัวเองตอนตั้งครรภ์
ที่มาข้อมูล : theasianparent sso คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล