ปล่อยให้ลูกเล่นมือถือนาน ๆ เสี่ยง หน้าเบี้ยวครึ่งซีก จริงหรือไม่ ทำไมถึงเกิดขึ้นได้ หน้าเบี้ยวเกิดจากอะไร วันนี้เราได้รวบรวมคำตอบมาให้แล้ว
กรมการแพทย์เผย อาการ หน้าเบี้ยวครึ่งซีก (อัมพาตชั่วขณะ)
อุทาหรณ์ผู้ปกครอง อย่าปล่อยให้เล่นมือถือนานๆ จนเกิดอันตรายกับลูก
หลังจากมีผู้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพลูกชาย ในลักษณะที่หน้าเบี้ยวครึ่งซีก พร้อมระบุข้อความว่า
“ฝากถึงลูกใครหลายๆ คน นี่รอบที่ 2 แล้วนะเล่นโทรศัพท์มากเกินไป
นอนน้อยก็มีส่วนทำไห้เส้นปลายปราสาทอักเสบได้
ดูลูกผมเป็นตัวอย่างฝากเตือนๆ กันไว้ ตามภาพไม่ต้องบรรยาย
เวลายิ้มจะเบี้ยวแต่ถ้าไม่ยิ้มจะเป็นปกติครับ
ฝากเตือนๆ กันด้วยความปรารถนาดีครับ”
ภาพจากอีจัน
หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้พ่อแม่หลายๆคนตระหนักและกลัวมากขึ้น
ล่าสุดวันนี้ 29 ก.ย.2563 กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เตือนหากคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยมือถือ อาจเกิดอาการอ่อนแรง บริเวณใบหน้าครึ่งซีก ใบหน้าเบี้ยว หลับตาไม่สนิท ปากเบี้ยว มีน้ำไหลที่มุมปาก และอาจพูดไม่ชัด การรับรสที่ลิ้นผิดปกติ ปวดศีรษะ หูอื้อข้างเดียวหรือ 2 ข้าง ดื่มน้ำลำบากพูดไม่ชัด เป็นผลมาจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ผิดปกติ
ภาพจากอีจัน
ทำไมถึงหน้าเบี้ยว หน้าเบี้ยว เกิดจากอะไร ?
ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยกรณีดังกล่าวว่าโดยอาการปากเบี้ยวหรือหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ( Bell’s palsy ) คือภาวะที่กล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรงหรือเกิดอัมพาตชั่วขณะ โดยมีสาเหตุมาจากการอักเสบของเส้นประสาทบนใบหน้า ส่งผลให้หน้าเบี้ยวครึ่งซีก เป็นผลมาจากเส้นประสาทใบหน้าหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งอยู่ตรงใบหน้าแต่ละข้างทำหน้าที่รองรับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น ยิ้ม ทำหน้าบึ้ง หรือหลับตา รวมทั้งรับรสจากลิ้นและส่งต่อไปยังสมองเกิดการอักเสบส่งผลต่อการรับรส การผลิตน้ำตา และต่อมน้ำลาย ปากเบี้ยวถือเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นทันที และมักจะเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง
เช่นเดียวกับนายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง บริเวณใบหน้าครึ่งซีก ทำให้หน้าเบี้ยว หลับตาไม่สนิท ปากเบี้ยว มีน้ำไหลที่มุมปาก และอาจพูดไม่ชัด การรับรสที่ลิ้นผิดปกติ ปวดศีรษะ หูได้ยินเสียงดังขึ้นข้างเดียว ดื่มน้ำลำบาก ทั้งนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดการอักเสบของเส้นประสาท ดังกล่าว แต่อาจมีแนวโน้มมาจากการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดภาวะปากเบี้ยว ได้แก่ โรคงูสวัส เป็นต้น
ดังนั้นการพักผ่อนน้อย หรือการเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ จึงไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อ ใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก อย่างไรก็ตาม เด็กที่อยู่ ในวัยเจริญเติบโตควรได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อมีอาการเพื่อรีบรักษา ซึ่งการรักษา อาการปากเบี้ยว ประกอบด้วยการรักษาด้วยยา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่าเดิม การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น กระตุ้นเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้า หรือนวดใบหน้า ช่วยลดภาวะกล้ามเนื้อตึงเกร็ง และการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม อาการปากเบี้ยวหรือหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ยังไม่มีวิธีการป้องกันที่ชัดเจน เนื่องจากสาเหตุเกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทใบหน้าที่มักจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และรุนแรง ผู้ป่วย ส่วนใหญ่มักจะหายภายในระยะเวลาเป็นสัปดาห์ถึงแม้จะยังไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่การพักผ่อนของลูกถือเป็นเรื่องสำคัญ กิน,นอน,เล่น อย่างเป็นเวลา จัดลำดับชีวิตลูกแต่ไม่ควรบังคับนะคะ
ที่มา : ejan.co
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
พ่อข่มขืนลูกแท้ๆ เรื่องน่าเศร้ามาอีกข่าว จับได้อีกแล้ว พ่อใจอำมหิต
เตือนภัยจากมือถือและแท็บเล็ต กรมสุขภาพจิตแนะ นั่งให้น้อย เล่นให้เยอะ!
ลูกติดเกม ติดมือถือ อันตราย! วิธีเลี้ยงดูลูกอย่างไร ไม่ให้ลูกเสพติดจอ อย่าทำร้ายสุขภาพลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!