แบ่งเวลาอ่านหนังสือ แบ่งแบบไหนดี ใกล้สอบแล้วต้องเตรียมตัวไว้แต่เนิ่น ๆ วัยรุ่นบางคนอาจมีเวลาเตรียมตัวไม่มาก จะเป็นปัญหาแบบไหน เราก็มีเทคนิคการอ่านหนังสือก่อนสอบมาฝากกัน หากใครไม่รู้จะเริ่มแบบไหน การมีเทคนิคดี ๆ อาจดีกว่าการอ่านไปเรื่อย ๆ จะมีวิธีไหนบ้างมาดูกันเลย
เตรียมตัวก่อนลงมืออ่านหนังสือสอบ
ก่อนจะเริ่มลงมืออ่านหนังสือ อาจต้องใช้การปรับตัวก่อน เนื่องจากก่อนหน้านั้นช่วงวัยรุ่น อาจมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป และใช้เวลาไปกับการเรียนควบคู่กับการพักผ่อน พบปะกับเพื่อน แต่เมื่อถึงช่วงที่ต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือสอบ เพื่อสร้างความได้เปรียบ และมีคะแนนสูงพอที่จะเข้ามหาวิทยาลัยที่คาดหวังไว้ได้ โดยช่วงแรกควรกำหนดวันที่จะเริ่มอ่านก่อน และต้องอ่านตามวันที่กำหนดจริง ๆ นอกจากนี้เพื่อการปรับตัวในช่วงแรก ควรใช้เทคนิคต่าง ๆ ร่วมกับวิชาที่ชอบก่อน เพื่อช่วยให้มีแรงจูงใจก่อนจะอ่านวิชาที่ตนไม่ชอบ
นอกจากนี้ยังควรเตรียมแบบฝึกหัดเก่า ๆ ไว้ก่อน เพื่อที่จะไม่ต้องใช้เวลาในการหาขณะอ่าน หรือช่วงใกล้สอบ เพราะในช่วงนั้นเวลาถือเป็นสิ่งที่มีค่าเป็นอย่างมาก การทำแบบฝึกหัดอาจวางเป้าหมายไว้ให้ตนเองว่าถ้าได้คะแนนเท่าไหร่ถึงจะมีรางวัล เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำข้อสอบเก่า หรือจะเป็นการตั้งรางวัลชีวิตหากทำคะแนนผลการสอบออกมาดี เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : เทคนิคไม่ลับท่องจำ “ตารางธาตุ” สำหรับเด็กมัธยมว้าวุ่นเคมี
วิดีโอจาก : Journal K
4 เทคนิคการแบ่งเวลาอ่านหนังสือ เพื่อคะแนนสอบที่ดียิ่งขึ้น
เทคนิคการอ่านหนังสือก่อนสอบ มีอยู่หลายเทคนิค โดยเราหยิบยกขึ้นมาทั้งหมด 4 เทคนิค คือ Pomodoro Technique การอ่านหนังสือเพื่อไม่ให้สมองทำงานหนัก, Japanese style เน้นวินัย และความเคร่งครัดแบบญี่ปุ่น, Student Rule การเตรียมตัวควบคู่กับการเรียน และ One Month Technique การอ่านหนังสือแบบเร่งรีบสำหรับคนเหลือเวลาน้อย
1.Pomodoro Technique
หรือที่หลายคนอาจรู้จักในชื่อ “เทคนิคมะเขือ” เป็นหลักการที่ให้ความสำคัญกับการอ่อนล้าของสมอง จากการทำงานหนัก เมื่อทำการอ่านหนังสือมากไปเป็นเวลานาน จะทำให้สมองเกิดอาการล้า และอาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าได้ประโยชน์ เทคนิคนี้จึงแก้ปัญหาด้วยการแบ่งเวลาอ่านหนังสือ ควบคู่ไปกับเวลาพักผ่อนระยะสั้น ๆ เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลาย และเตรียมความพร้อมในการอ่านหนังสือในรอบถัดไป โดยจะแบ่งเวลาออกเป็น ดังนี้
- เริ่มจากเวลาในการอ่านหนังสือ 25 นาที
- เวลาพักผ่อนย่อย 5 นาที
- อ่านหนังสือ 25 นาที และพักย่อย 3 ครั้ง
- จากนั้นอ่านหนังสือต่อ 25 นาที
- สุดท้ายพักใหญ่ 15-20 นาที
เพียงเท่านี้ก็ถือว่าครบ 1 เซตแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถท่องจำได้ว่า “อ่านหนังสือ 25 – พักย่อย 5 – อ่านหนังสือ 15 – พักย่อย 5 – อ่านหนังสือ 25 – พักย่อย 5 – อ่านหนังสือ 25 – พักใหญ่ 15-20” และด้วยจำนวนเวลาในการอ่านหนังสือต่อ 1 รอบอาจไม่ได้มากอะไร วิธีนี้เด็กวัยรุ่นเตรียมสอบจึงควรอ่านอย่างตั้งใจ ไม่เล่นโทรศัพท์นอกจากในเวลาพักเท่านั้น
2.Japanese style
ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่อง “ความตั้งใจ” ไม่ว่าจะทำจะทำอะไรก็ตาม แน่นอนว่าสิ่งนี้ยังส่งต่อมาถึงพฤติกรรมการอ่านหนังสือ เพื่อเตรียมสอบของเด็กญี่ปุ่น ซึ่งมีหลายเทคนิคที่เราอาจนำเอามาปรับใช้ ในการอ่านหนังสือเพื่อนำไปใช้สอบแบบจริงจัง โดยมีเทคนิค ดังนี้
- มีสมาธิจดจ่อกับการอ่านหนังสือ ไม่เล่นระหว่างการอ่าน
- ก่อนเริ่มอ่านให้ศึกษาหมวดหมู่จากสารบัญก่อน เพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเนื้อหา
- เริ่มจากการอ่าน 15 นาที และค่อย ๆ เพิ่มจำนวนเวลาขึ้นตามความต้องการ แต่ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง
- อ่านหนังสือในบทเรียนทั้งก่อน – หลังเรียน เพื่อให้เกิดคำถาม และรองรับเนื้อหาได้ดีขึ้น
- พยายามตั้งคำถามกับสิ่งเล็กน้อย เพื่อให้เกิดการหาคำตอบจะช่วยให้เพิ่มความเข้าใจได้
- หากต้องท่องจำ ให้หากระดาษมาปิดเนื้อหาบางส่วนไว้ขณะท่อง เพื่อให้เกิดการจดจำที่แม่นยำมากขึ้น
- หาเทคนิคอื่น ๆ มาช่วยเสริมในเรื่องการอ่านหนังสือก่อนสอบ หรือใช้ Application ช่วย
เทคนิคการอ่านหนังสือเตรียมสอบแบบเด็กญี่ปุ่นนั้น นอกจากจะเน้นในเรื่องระเบียบวินัย และการฝึกฝนแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคนิคให้ดียิ่งขึ้น หรือการนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มาช่วยให้การจดจำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถือเป็นตัวเลือกที่ดีในยุคดิจิทัลแบบนี้
3.Student Rule
หากวัยรุ่นคนไหนกำลังเตรียมตัวล่วงหน้าในช่วงเปิดเทอม สำหรับการอ่านหนังสือเพื่อนำไปสอบตามหลักสูตรต่าง ๆ สามารถยึดหลักการแบ่งเวลาควบคู่กับการเรียน ในช่วงปิดเทอม เพื่อให้มีประสิทธิภาพทั้งการเตรียมตัวสอบ และผลการเรียนที่ดียิ่งขึ้น โดยให้แบ่งเวลาในแต่ละวัน ดังนี้
วันเรียนจันทร์ – ศุกร์
- 06:00 – 08:00 เตรียมตัวไปโรงเรียนตามปกติ
- 08:00 – 16:00 ตั้งใจเรียนหนังสือ / ทำกิจกรรมของโรงเรียน
- 16:00 – 18:00 กลับบ้าน / พักผ่อน / ทานข้าวเย็น
- 18:00 – 20:00 ทำการบ้าน / ทำแบบฝึกหัดที่ได้รับมา
- 20:00 – 21:00 พักผ่อนตามความต้องการ
- 21:00 – 22:30 อ่านหนังสือสอบ / ทำแบบฝึกหัด
วันเสาร์
- ช่วงเช้า : ทำการบ้าน / ทำรายงานให้เสร็จ
- ช่วงบ่าย : เรียนพิเศษ / ทบทวนจากที่เรียน
- ช่วงเย็น : พักผ่อนตามความต้องการ
- ช่วงค่ำ : อ่านหนังสือสอบ / ทำแบบฝึกหัด
วันอาทิตย์
- ช่วงเช้า : ทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา
- ช่วงบ่าย : อ่านหนังสือสอบ / ฝึกทำข้อสอบเก่า
- ช่วงเย็น : พักผ่อนตามความต้องการ
- ช่วงค่ำ : อ่านหนังสือสอบ / ทำแบบฝึกหัด
สำหรับเด็กคนไหนที่ยังไม่ชินกับตารางเวลาชีวิตใหม่ อาจค่อย ๆ ปรับตัว เช่น ทำแค่จันทร์ / พุธ / ศุกร์ แล้วค่อยเพิ่มวันเข้าไป จนเกิดความชิน วิธีนี้ต้องพึ่งความมีวินัย และต้องท่องไว้ว่าเราทำเพื่ออนาคตของเราเอง
4.One Month Technique
ในช่วงเดือนสุดท้ายของการเตรียมตัวอ่านหนังสือสอบ หรือใครที่มีเวลาจำกัดสามารถอ่านได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะยังมีเทคนิคที่ช่วยให้สามารถเตรียมความพร้อมในเวลา 1 เดือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นพยายาม ไม่เล่น มีความตั้งใจจริง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเวลาที่จำกัดนี้ โดยให้ยึดหลักเหล่านี้
- อ่านทุกวันอย่างสม่ำเสมอแบ่งเวลาอ่านให้ได้วันละ 3-4 ชั่วโมง
- แบ่งวัน หรือเวลาใน 1 วันเพื่อทำข้อสอบ / แบบฝึกหัดด้วย
- พยายามหาคนช่วยติวให้กรณีเร่งด่วน หรือมีข้อสงสัย
- ช่วงอาทิตย์แรกให้หาเครื่องมือช่วยในการจำเพิ่มเติม
- ช่วงก่อนสอบจริงให้ทบทวนทุกอย่างอีกครั้ง
- ถึงเวลาพักผ่อน ให้พักอย่างเต็มที่ และคอยให้กำลังใจตนเอง
ไม่ว่าจะเป็นการสอบอะไรสำหรับเด็ก ม.ปลาย การได้ แบ่งเวลาอ่านหนังสือ ให้มีประสิทธิภาพตามเทคนิคต่าง ๆ สามารถช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นที่น่าพอใจมากยิ่งขึ้น และเมื่อไหร่ที่กำลังท้อให้พักผ่อน และเฝ้าบอกตนเองว่าเราลำบากในตอนนี้ เพื่ออนาคตของตัวเราเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
50 คำศัพท์ภาษาไทย ที่คนไทยมักเขียนผิด และลูกควรเรียนรู้ไว้ก่อน
ฟรี ! คำศัพท์ผลไม้ 3 ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เพื่อการเรียนรู้ที่รวดเร็วของลูกน้อย
ฟรี ! คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ป.1 เอาไว้ให้ลูกตัวน้อยท่องจำได้ทุกเวลา
ที่มาข้อมูล : edugentutor sanook tcaster admissionpremium
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!