จะทำอย่างไรเพื่อให้ลูกได้มีทักษะการ “ต่อต้านยาเสพติด” เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตที่ดีในสังคมที่อาจมีอันตรายอยู่รอบตัว ทักษะหรือแนวคิดพื้นฐานเพื่อป้องกันให้ห่างไกลจากสิ่งเสพติดนั้นเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ แต่จะทำได้อย่างไรนั้น เราได้รวบรวมไว้ให้แล้วทั้ง 5 วิธี
นิยามของยาเสพติด
ยาเสพติด คือ สารใด ๆ ก็ตามทั้งจากการสังเคราะห์ขึ้นมา หรือสารจากธรรมชาติ ที่สามารถนำเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การสูดดม, ฉีด หรือรับประทาน เป็นต้น และสามารถส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก รวมไปถึงร่างกายอย่างชัดเจน เช่น ความต้องการสารดังกล่าวที่มากขึ้น หากไม่ได้รับสารก็จะส่งผลต่อจิตใจอย่างรุนแรง ไปจนถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับร่างกาย สำหรับประเทศไทยมีการแบ่งประเภทของสารเสพติดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
- ประเภทที่ 1 : เฮโรอีน, แอมเฟตามีน, แอลเอสดี, และยาเลิฟ
- ประเภทที่ 2 : ใช้ในการแพทย์ ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้เองได้ ดังนี้ มอร์ฟีน, ฝิ่น, เมทาโดน, โคคาอีน และโคเคอีน
- ประเภทที่ 3 : เป็นสารเสพติดที่มีสารจากประเภทที่ 2 ผสมอยู่ ใช้ในการแพทย์เช่นกัน ห้ามนำไปใช้ในเชิงการเสพติด ได้แก่ ยาแก้ไอ (ส่วนผสมมีโคเคอีน), ยาแก้ท้องเสีย (ส่วนผสมมีฝิ่น), ยาฉีดระงับอาการปวดต่าง ๆ เช่น มอร์ฟีน หรือเพทิดีน มีส่วนผสมมาจากฝิ่น
- ประเภทที่ 4 : เป็นสารที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตสารเสพติดประเภทที่ 1 และ 2 ไม่สามารถใช้ในวงการแพทย์ใด ๆ ได้ มีบทลงโทษตามกฎหมายที่ชัดเจน ได้แก่ น้ำยาอะเซติคแอนไฮไดรย์, อะเซติลคลอไรด์ ใช้สำหรับเปลี่ยนสารมอร์ฟีนเป็นสารเฮโรอีน, สารคลอซูโดอีเฟดรีน ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อผลิตยาบ้า และสารที่ส่งผลต่อประสาท 12 ชนิด เป็นต้น
- ประเภทที่ 5 : เป็นสารที่อยู่นอกเหนือจากประเภทที่ 1-4 แต่ยังคงมีโทษตามกฎหมาย ได้แก่ กระท่อม, เห็ดขี้ควาย และทุกส่วนของกัญชา เป็นต้น
5 วิธีต่อต้านยาเสพติดสำหรับเด็กยุคใหม่
คงเป็นเรื่องพื้นฐานอยู่แล้ว ตามที่เรารู้กันดีว่าสารเสพติดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และไม่ใช่สิ่งที่ควรเข้าหา แต่ด้วยยุคใหม่นี้ที่อาจทำให้เด็กวัยรุ่นมีโอกาสเข้าถึงได้ง่าย ก็จำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้เกิดการป้องกันได้ทันท่วงที
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีรับมือกับปัญหาลูกติดยาเสพติด
วิดีโอจาก : DR JING
เริ่มต้นด้วยการปฏิเสธ
ในช่วงชีวิตวัยรุ่นที่มีหลายอย่างเข้ามาในชีวิต บางช่วงโอกาสก็อาจมีอะไรใหม่ ๆ มาให้อยากลองอยากรู้ ยิ่งถ้ามีสังคมเพื่อนที่มีความหลากหลายก็จะยิ่งได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ เข้ามา และแน่นอนว่าอาจต้องเจอเข้ากับการชักชวนจากบุคคลรอบตัว เช่น “ลองหน่อย ไม่ติดหรอก” หรือ “โห่ แค่ครั้งเดียวเอง” เป็นต้น ประโยคเหล่านี้อาจทำให้เราเกิดความอยากรู้อยากลองตามไปด้วย แต่เราต้องไม่ลืมว่ายาเสพติดมีโทษอย่างไรบ้าง และถ้าหลวมตัวตอบตกลงเราเองก็จะเป็นหนึ่งในโทษต่าง ๆ ที่เรากลัว จึงต้องปฏิเสธให้เป็น และจริงจัง หากเพื่อนจะขู่ว่าเลิกคบ ก็ไม่ควรมานั่งคิดเสียดาย เพราะเราทำเพื่ออนาคตของตนเอง
เสพสื่ออย่างมีสติ
ปัจจุบันการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้นมาก ด้วยช่องทางที่แทบจะไม่มีการปิดกั้นเลย อีกทั้งยังมีภาพยนตร์ หรือการ์ตูนต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ จนผู้ปกครองอาจไม่ทันได้ระวัง เพราะสื่อเหล่านี้อาจมีพฤติกรรมของตัวละครที่ใช้สารเสพติดบางประเภท โดยเฉพาะหนังที่มีความเกี่ยวข้องกับวัยรุ่น หรือปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ เป็นต้น ถึงแม้ลูกอาจจะโตแล้วก็ตาม แต่การคอยแนะนำตักเตือนตามความสมควร ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรทำ มากกว่าการปล่อยให้เด็กเสพสื่อโดยไม่มีคนคอยให้คำปรึกษา
มีปัญหาใช้เหตุผลหาทางออก
ช่วงวัยรุ่นมีหลายเรื่องที่ทำให้ต้องเครียด หรือคิดมากอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในห้องเรียน, เกรดจากการเรียน ไปจนถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย สิ่งเหล่านี้อาจบั่นทอนจิตใจของเด็กได้เรื่อย ๆ จนหันมาพึ่งสารเสพติดที่มีฤทธิ์ต่อประสาทเพื่อให้เกิดอาการหลงลืม หรือผ่อนคลายตนเองจนติดในที่สุด หากเกิดปัญหาไม่สบายใจในเรื่องต่าง ๆ ในมุมของเด็กควรกล้าที่จะเข้าไปปรึกษาผู้ใหญ่ หรือคนในครอบครัว เพื่อระบายความรู้สึกที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ โดยต้องอาศัยความกล้าที่จะเปิดเผย ในมุมของผู้ใหญ่ก็ควรสังเกตลูกว่ามีอาการเปลี่ยนไป หรือมีความเครียดหรือไม่ หากลูกเข้ามาขอคำปรึกษาก็ควรให้คำปรึกษาที่จริงจัง และไม่กดดันเด็ก เพราะอาจทำให้เขาไม่กล้ามาปรึกษาด้วยอีกนั่นเอง
ศึกษา และพูดคุยเกี่ยวกับข้อเสียของสารเสพติด
หนึ่งในแนวทางสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก ๆ คือ การให้ความรู้ ความเข้าใจกับเด็กเกี่ยวกับโทษของสิ่งนั้น ๆ ประเด็นของสารเสพติดเองก็ควรเป็นเรื่องที่ต้องให้ลูกได้มองเห็นว่าหากติดขึ้นมาจะมีผลอย่างไรบ้าง อาจยกตัวอย่างของข่าวตามทีวี หรือบทสรุปจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสารเหล่านั้นว่าจะจบลงอย่างไร รวมไปถึงสอนให้เด็กได้รู้ทันจากการถูกชักชวน และการปฏิเสธสารเสพติดจากทั้งคนแปลกหน้า และคนสนิท
กิจกรรมสนุกในเวลาว่าง
การหากิจกรรมต่าง ๆ ทำเพื่อคลายความเครียดมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี แต่ต้องไม่ใช่การพึ่งยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือการ์ตูน, ฟังเพลง, ดูหนัง หรือทำงานอดิเรกที่ตนเองมีความสนใจมากเป็นพิเศษก็ได้เช่นกัน เพื่อให้มีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองด้วย และมีกิจกรรมที่คลายความเครียดไปด้วยพร้อม ๆ กันใน 1 วัน หากทำจนเป็นปกติ เวลาที่มีความกดดันในตนเอง และอยากปลดปล่อย หรือยากลืมปัญหาไปชั่วคราวก็จะหันมาทำสิ่งเหล่านี้ แทนการคิดถึงสิ่งเสพติดนั่นเอง
วิธี ต่อต้านยาเสพติด ที่เราได้แนะนำไปทั้งหมดนี้ สามารถใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่เพียงแค่เด็กวัยรุ่นเท่านั้น เพราะปัญหาการใช้สารเสพติดไม่ใช่ปัญหาของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในสังคมเสมอมา
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
งานวิจัยชี้ ลูกติดสมาร์ทโฟน ตลอดเวลา ก็เหมือนติดยาเสพติด
คาเฟอีน เช็คอาการติดกาแฟ ดื่มกาแฟทุกวัน เรียกว่าเสพติดหรือยัง ?
ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เสพยา ถ้ามารดาเสพสารเสพติดขณะตั้งครรภ์จะส่งผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไร
ที่มาข้อมูล : thairath
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!