โลกในศตวรรษที่ 21 นี้เปิดกว้างให้เราได้ติดต่อกับผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่มีทักษะภาษาอังกฤษดี ย่อมได้รับโอกาสที่ดีทั้งในการเรียนและการทำงานในอนาคต คุณพ่อคุณแม่จึงพยายามจะส่งเสริมลูกให้ได้ภาษา ส่งลูกเรียนซัมเมอร์ต่างประเทศ สักครั้ง เพื่อให้เขาได้ฝึกภาษา พร้อมทั้งเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิตในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ช่วงปิดเทอม
ซึ่งข้อดีของการที่เรา ส่งลูกเรียนซัมเมอร์ต่างประเทศ นอกจากเรื่องภาษาแล้ว ลูกยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง ได้เพื่อนใหม่จากหลายประเทศ ได้เห็นโลกในมุมมองที่ต่างไปจากเดิม และยังได้พัฒนาทักษะการพึ่งพาตัวเอง รับผิดชอบตัวเอง พัฒนาทักษะการแก้ปัญหา ปรับตัว และเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมใหม่ เรียกได้ว่า ได้ทั้งทักษะการเรียนรู้ และทักษะชีวิตซึ่งจำเป็นมากๆ สำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21
แต่ก่อนที่เราจะส่งลูกไปเรียนซัมเมอร์เมืองนอกนั้น เราจะต้องศึกษาให้ดี เลือกเอเจนต์ที่น่าเชื่อถือที่จะสามารถดูแลลูกของเราได้ดี และรู้สึกปลอดภัยตลอดโปรแกรม
แม่เตือนภัย ส่งลูกเรียนซัมเมอร์ต่างประเทศ เจอทั้งบุลลี่ และถูกคุกคามทางเพศ
คุณแม่ท่านหนึ่งได้เล่าประสบการณ์ ส่งลูกไปเรียนซัมเมอร์ต่างประเทศ และเกิดเหตุการณ์ลูกถูก บุลลี่ และถูกคุกคามทางเพศ ทำให้คุณแม่อยากแชร์เรื่องราวให้แก่ผู้ปกครองท่านอื่นๆ ระวังว่าอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเช่นนี้กับลูกของคุณเช่นกัน
คุณแม่เล่าว่า คุณแม่มองหาคอร์สซัมเมอร์ที่อังกฤษให้ลูกชายวัย 11 ปี หลังจากหาอยู่นานมาก็เจอคอร์สของบริษัทหนึ่ง ซึ่งตอบโจทย์ที่คุณแม่ต้องการ คือ
- การได้ไปเรียนในเมืองเล็กๆ ของอังกฤษ
- ได้เรียนภาษาในช่วงแรก และไปเรียนในโรงเรียนร่วมกับนักเรียนอังกฤษในช่วงหลัง
- มีโปรแกรมทำกิจกรรมและไปเที่ยวเมืองใกล้ๆ และไปเที่ยวเมืองที่ไกลออกไปอย่างลอนดอนในช่วงสุดสัปดาห์
- ราคาสมเหตุสมผล
- สัดส่วนโปรแกรมการเรียนและการเที่ยวพอเหมาะ ไม่เที่ยวเยอะเกินไป
คุณแม่จึงได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมไปยังบริษัทดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ตอบคำถามรวดเร็ว และบริการด้านเอกสารดี คุณแม่จึงไว้วางใจ และพยายามชวนเพื่อนของลูกไป แต่ทุกคนติดโปรแกรมของตัวเองหมด ลูกชายจึงต้องเดินทางไปคนเดียว แต่คุณแม่ก็มองในแง่ดีว่าน้องสามารถดูแลตัวเองได้ เพราะน้องเคยไปเข้าค่ายในประเทศมาหลายค่าย เจอเพื่อนต่างโรงเรียนมาหลายรูปแบบ เดินทางไปต่างประเทศกับพ่อแม่บ่อย ประกอบกับทางเอเจนต์ให้คำมั่นว่าจะดูแลน้องเป็นอย่างดี ลูกชายก็ตื่นเต้นที่จะได้ไปอังกฤษหนึ่งเดือน จึงตัดสินใจไปกับเอเจนต์นี้
โปรแกรมดี โรงเรียนดี แต่เพื่อนร่วมกรุ๊ป…..
ช่วงสัปดาห์แรก ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ลูกชายเล่าให้แม่ฟังทุกวันว่าได้เรียนอะไร หรือไปทำกิจกรรมอะไรบ้าง แต่พอเริ่มสัปดาห์ที่สอง เมื่อเด็กๆในกรุ๊ปรู้จักกันมากขึ้น พฤติกรรมที่เคยเก็บไว้ก็ออกลาย เด็กชายหลายคนในกลุ่มอายุ 14-15 อยู่ในวัยคึกคะนอง มากันเป็นกลุ่ม พอเจอเด็กอายุน้อยกว่า แถมมาคนเดียวไม่มีกลุ่ม เลยกลายเป็นเป้าให้เด็กที่โตกว่ารังแก
เริ่มตั้งแต่การล้อชื่อพ่อแม่ ด่ากันด้วยคำหยาบคาย ดูถูกดูหมิ่นความสามารถ พยายามเหยียดให้รู้สึกต่ำต้อย น้องเริ่มโทรหาคุณแม่บ่อยขึ้น และบอกว่ากลุ่มพี่ที่โตกว่าจ้องจะหาเรื่องแกล้งและด่าตลอดเวลา เวลาอาบน้ำที่หอ ห้องฝักบัวจะไม่มีประตูล็อก เด็กโตกว่ากลุ่มนี้ก็จะบุกเข้ามาแกล้งตอนน้องกำลังเปลือยอยู่ พร้อมแกล้งเปิดไฟปิดไฟ หรือบุกเข้ามารื้อของส่วนตัวของน้อง
คุณแม่จึงโทรไปหาผู้ดูแลหรือ group leader แต่ก็ได้คำตอบที่ไม่น่าเชื่อ เช่น เรื่องการล้อชื่อพ่อแม่ ใครๆ ก็ล้อกัน เด็กๆ ก็ล้อกันแหย่กันเป็นเรื่องปรกติ ทั้งที่ พ.ศ.นี้แล้ว ไม่น่าจะมีการล้อชื่อพ่อแม่กันแล้วด้วยซ้ำ
คุณแม่ก็ชั่งใจว่าควรใช้สถานการณ์นี้สอนให้ลูกเข้าใจโลกมากขึ้น จะได้โตขึ้น รับมือกับโลกกว้างได้ แต่แล้วสถานการณ์ก็มาสู่จุดที่คุณแม่ต้องเลือกเข้ามาจัดการด้วยตัวเอง เพราะดูเหมือนผู้ดูแลของเอเจนต์ไม่พยายามแก้ปัญหาให้เด็ดขาด น้องโดนบุลลี่หนักขึ้น เด็กโตกลุ่มนั้นก็พยายามโดดเดี่ยวน้องโดยการดึงเพื่อนที่พอจะมีไม่กี่คนออกไป น้องโทรมาร้องไห้กับแม่
คุณแม่จึงตัดสินใจเขียนอีเมลหาโรงเรียนที่อังกฤษโดยตรง ทางโรงเรียนก็จัดการให้ทันที โดยการสอบสวนคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อบรมให้เด็กโตที่บุลลี่น้องรับรู้ว่าผลของการกระทำของตนสร้างบาดแผลให้คนอื่นมากแค่ไหน นอกจากนั้นก็จัดเวรยามตอนกลางคืนเพิ่มเพื่อสอดส่องพฤติกรรมของเด็ก ไม่ให้บุลลี่กัน ฝ่ายลูกชายก็อุ่นใจมากขึ้น เพราะสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี พี่ที่เคยบุลลี่ก็มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น กลับมาเล่นมาคุยกันได้
แต่ปัญหาก็ไม่ได้จบแค่นี้…
วัยรุ่นฮอร์โมนพุ่งพล่าน ในวันที่ไม่อยู่ในสายตาพ่อแม่
ในส่วนของโปรแกรมการเรียน ลูกชายชอบมากและมีความสุขมากเวลาไปเรียน ได้เจอกับเพื่อนหลากหลายเชื้อชาติไม่ใช่แค่คนอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นสเปน เยอรมัน ออสเตรีย เชค จีน ฯลฯ ซึ่งมักจะจับกลุ่มเล่นฟุตบอลกันเวลาพัก จนลูกชายมีเพื่อนชาวต่างชาติมากมาย มีความสุขกับการใช้ชีวิตในโรงเรียนจนไม่อยากกลับไปหอ เพราะต้องคอยระแวงเพื่อนคนไทยบางคนที่ยังมีพฤติกรรมบุลลี่อยู่
เรื่องพฤติกรรมของเพื่อนร่วมกรุ๊ปนี้อยู่นอกเหนือความคาดหมายของคุณแม่ ซึ่งคิดว่าตัวเองได้ทำการบ้านดีแล้ว แต่มองโลกในแง่ดีเกินไปว่าเด็กส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนที่ดีและมีชื่อเสียง ไม่น่ามีพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง แต่กลายเป็นว่า เมื่อไม่ได้อยู่ในสายตาพ่อแม่ เด็กบางคนก็แสดงพฤติกรรมรุนแรงเวลาโมโห ไม่ได้ดั่งใจ วันหนึ่งน้องถูกโยนลูกบอลอัดใส่แรงๆ ในจังหวะที่คนไม่ทันสังเกต จนต้องเข้าโรงพยาบาล ฝ่ายลูกชายพยายามจะอธิบายว่าเด็กโตจงใจทำร้ายร่างกายก็ต้องเสียเปรียบเพราะเป็นเด็กไม่มีกลุ่มเพื่อนที่ไปด้วยกัน ไม่มีใครกล้าเป็นพยาน และยังเด็กกว่าคนอื่นๆในกลุ่ม จะให้ลุกขึ้นมาเถียงหรือสู้กับเด็กโตก็ดูลำบากไปหมด น้องจึงเริ่มมีอาการซึมเศร้า โทรมาร้องไห้กับคุณแม่บ่อยขึ้น ยิ่งทำให้เพื่อนล้อว่าติดแม่ ตามมาด้วยการดูถูกเหยียดหยามสารพัด
พฤติกรรมคุกคามทางเพศ ภัยใกล้ตัวน่ากลัวกว่าที่คิด
ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งที่คุณแม่เสียใจว่าไม่ได้เตือนลูกมาดีพอ คือ เรื่องพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ในกรุ๊ปนี้ก็มีเด็กสองสามคนอายุประมาณ 14-15 ที่จับกลุ่มดูคลิปโป๊เป็นที่รู้กันในกลุ่มเพื่อน และยังชักชวนเด็กชายอีกคนที่เป็นรูมเมทของลูกชายไปดูด้วย เมื่อกลับมาก็มาทำพฤติกรรมคุกคามทางเพศกับลูกชาย โดยทำท่าโยกคล้ายการร่วมเพศทางด้านหลังลูกชาย ฝั่งลูกชายที่ไม่ประสีประสาก็คิดว่าเป็นการเล่นกัน ต่อมาอีกคืนหนึ่ง รูมเมทพยายามจะใช้ปาก “อม” ของลูกชาย น้องตกใจมากเลยหนีไปอยู่ห้องพี่อีกคน พอเช้ามารีบแจ้งผู้ดูแล ผู้ดูแลก็หัวเราะ เหมือนอยากให้คิดว่าเป็นการเล่นกันมากกว่า และไม่ดำเนินการอะไรให้
น้องมาเล่าเรื่องนี้ให้คุณแม่ฟังตอนกลับมาถึงเมืองไทยแล้ว แม่ก็ตกใจมากว่าทำไมไม่เล่าให้ฟังแต่แรก น้องตอบว่าเล่าไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะทางผู้ดูแลไม่แสดงทีท่าว่าจะจัดการอะไร พอคุณแม่แจ้งทางเอเจนต์ เอเจนต์รับว่าจะไปสอบสวนให้ แต่ผลการสอบก็เป็นไปตามที่คุณแม่คาดไว้ คือไม่มีเด็กคนไหนดูคลิป เช็คเครื่องแล้วไม่มีคลิปดังกล่าว ให้ผู้อ่านนึกถึงเวลาตำรวจออกตรวจพัทยาแล้วพบว่าไม่มีโสเภณี กรณีนี้ก็เช่นกัน
คุณแม่จึงอยากฝากผู้ปกครองท่านอื่นๆว่า หากบุตรหลานถูกคุกคามทางเพศ ให้รีบแจ้งผู้ใหญ่ที่ใกล้ตัวที่สุดทันที ไม่ว่าจะดึกแค่ไหน ต้องไปทุบประตูเรียกคนดูแลออกมา หรือโทรหาพ่อแม่ที่เมืองไทย ก็ต้องทำ หากปล่อยให้เวลาผ่านไปก็จะถูกเพิกเฉย ไม่มีใครรับผิดชอบ เพราะ “ไม่มีหลักฐาน”
“พี่ใหญ่” ฮีโร่ของเด็กที่ถูกรังแก
แต่ในความเลวร้ายที่ได้เจอ ก็ยังพอมีแง่งามให้ชื่นชมบ้าง ในบรรดาเด็กไทยที่อยู่โรงเรียนสอนภาษาที่นั่น มีรุ่นพี่อีกคนที่มาจากคนละเอเจนต์ได้แสดงความกล้าหาญเข้ามากางปีกปกป้องน้องจากพวกที่บุลลี่น้อง รุ่นพี่ผู้นี้เป็นชายหนุ่มอายุราว 17 ปี บอกให้น้องเรียกตนว่า “พี่ใหญ่” เขามาเรียนที่นี่ก่อนได้สักระยะ ทนเห็นน้องโดนรังแกไม่ไหวจึง “จัดการ” กำราบพวกบุลลี่แบบที่ผู้ดูแลไม่กล้าทำ ทั้งยังพูดคุย ปลอบประโลม หาขนมเครื่องดื่มมาแบ่งให้กิน ช่วยดูแลแม้จะไม่ได้มาจากเอเจนต์เดียวกัน วันสุดท้ายที่จะจากกัน น้องกับพี่ใหญ่กอดกันก่อนน้องจะลาไปขึ้นรถ
น้องบอกคุณแม่ว่า เมื่อโตขึ้น น้องอยากเป็นคนที่กล้าหาญปกป้องคนที่อ่อนแอกว่าอย่างพี่ใหญ่ หนึ่งเดือนที่ผ่านมาน้องได้เห็นด้านมืดของสังคมที่น้องไม่รู้จัก ได้เห็นเด็กที่ไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ถนัดใช้ความรุนแรง กลั่นแกล้งผู้อื่น การได้เจอคนดีๆ อย่างพี่ใหญ่ได้มอบบทเรียนที่สำคัญให้แก่น้อง ว่าเราเลือกได้ว่าจะเป็นคน toxic รังแกคนอื่น คนที่ยืนดูคนถูกรังแกอยู่ห่างๆไม่เข้าไปยุ่ง หรือคนที่กล้าหาญเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องอย่างพี่ใหญ่ ถึงแม้ว่าจะผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายมามากมาย น้องยังรู้สึกโชคดีที่ได้เจอพี่ใหญ่ คนที่ทำให้น้องมองโลกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
ฝากถึงผู้ปกครองท่านอื่น
หากจะส่งบุตรหลานไปเรียนซัมเมอร์ที่ต่างประเทศ ถ้าเป็นไปได้ควรไปกับเอเจนต์ที่จัดโดยผู้ดูแลที่ไว้ใจได้ ส่วนใหญ่เด็กที่ไปซัมเมอร์จะอยู่ในวัยรุ่นกำลังห้าว ถ้าผู้ดูแลไม่เฮี้ยบ ไม่เด็ดขาดพอ ก็จะจัดการกับสถานการณ์การกลั่นแกล้งหรือคุกคามกันไม่ได้ อย่าเชื่อเอเจนต์ที่กล้าออกตัวว่าไม่รู้จักใคร ไม่มีเพื่อนก็ไปได้ พร้อมดูแล เราต้องคิดเสมอว่าเอเจนต์เหล่านี้ทำธุรกิจ ไม่ได้มีจิตวิญญาณผู้ให้การศึกษา หรือได้รับการฝึกอบรมด้านจิตวิทยาวัยรุ่นมา ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้น เขาจะพยายามปัดปัญหาออกจากตัว ดังนั้น ไม่ควรให้ลูกไปคนเดียว ควรมีเพื่อน พี่ น้อง ญาติ ไปด้วย โดยเฉพาะเด็กที่ยังต้องการที่พึ่งทางใจอยู่
ที่สำคัญ หากผู้ดูแลที่ต่างประเทศเป็นญาติพี่น้องเจ้าของเอเจนต์ ให้หลีกเลี่ยงไว้ เพราะสุดท้ายเขาก็ต้องปกป้องญาติพี่น้องตัวเองไว้ก่อน
Global Citizen ไม่ใช่แค่ส่งลูกไปเมืองนอกแล้วจะเป็นได้
นอกจากนี้คุณแม่ยังได้ฝากทิ้งท้ายไว้อีกว่า เดี๋ยวนี้พ่อแม่ตื่นตัวกับคำว่า Global Citizen กันเป็นอย่างมาก แต่ก็ทำได้แค่ให้ลูกเรียนภาษากับส่งไปเมืองนอก โดยที่ไม่เข้าใจแก่นแท้ของการเป็นพลเมืองโลกที่ต้องเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม รู้จักประวัติศาสตร์ สังคม การเมืองที่ทำให้วิธีคิดของคนต่างชาติต่างภาษาไม่เหมือนกับเรา เราต้องเคารพความแตกต่างนั้นด้วย แต่เด็กส่วนใหญ่ที่ไปกลับไม่มีพื้นฐานเหล่านี้เลย ยังทำท่า Nazi salute กันเป็นเรื่องเท่ เรื่องล้อเลียนสีผิว รูปร่างหน้าตา อายุ ยิ่งแทบไม่ต้องพูดถึงเลย เด็กไทยเห็นเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องชิลๆ และไม่เข้าใจด้วยว่าทำไมต้องตักเตือนสั่งสอนเรื่องนี้ สนใจเรื่องชอปปิ้งกับอัปรูปขึ้นไอจีกันมากกว่า สะท้อนให้เห็นปัญหาการเลี้ยงดูลูกของครอบครัวไทยจำนวนมากที่ยังมองว่าเรื่องละเอียดอ่อนเหล่านี้ “ทำไมต้องซีเรียสด้วย” และปล่อยให้ลูกโตมาเป็นคนจำพวกที่ฝรั่งเรียกว่า toxic และ entitled คือมองเห็นแต่ความต้องการของตัวเอง คิดว่าทุกคนต้องรองรับและรับใช้ตัวเองหมด ไม่คิดถึงผู้อื่น ไม่มีความเห็นอกเห็นใจใคร
นี่คือเรื่องราวของคุณแม่ที่อยากแชร์ประสบการณ์เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ปกครองท่านอื่นๆ ที่ต้องการส่งลูกเรียนซัมเมอร์ต่างประเทศ เราไม่รู้เลยว่า ลูกเราจะเจอเพื่อนแบบไหน มีพฤติกรรมบุลลี่ รังแกคนอื่นหรือเปล่า คุกคามทางเพศหรือเปล่า ดังนั้น การเลือกเอเจนต์ที่น่าเชื่อถือ และมั่นใจได้ว่า ดูแลลูกเราได้จริงจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
ปัญหาบุลลี่ต้องแก้ไขทั้งระบบ
และสำหรับปัญหาการบูลลี่และภัยคุกคามทางเพศเช่นนี้ แม้ว่าจะไม่ได้ส่งลูกไปไกลถึงต่างประเทศ ก็สามารถพบเจอได้ เช่น ในรั้วโรงเรียน การบูลลี่ (bully) หรือพฤติกรรมการกลั่นแกล้งกัน ไม่ว่าจะเป็นทางวาจา การทำร้าย ข่มขู่ เป็นปัญหาระดับโลก และเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาสภาพจิตใจที่ร้ายแรงของเหยื่อที่ถูกบูลลี่ หลายกรณีถึงขั้นป่วยซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย
ปัญหาการบุลลี่ควรได้รับการแก้ไข ตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุด ได้แก่ครอบครัว ขึ้นไปจนถึงผู้ดูแลเด็ก คุณครู โรงเรียน กฎหมาย และผู้บังคับใช้กฎหมาย ต้องเข้มแข็งและไม่เพิกเฉย ไม่มองว่าการล้อกัน กลั่นแกล้งกันเป็นเรื่องปกติของเด็ก
ในฐานะพ่อแม่ สถาบันครอบครัวสำคัญที่สุด เพราะเป็นต้นทางในการหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาเช่นไร จะเลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ ลูกถูกบูลลี่ และในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ไปบูลลี่ ไม่ทำตัว toxic ใส่คนอื่นด้วย
คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ในการไม่แสดงพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว ไม่ข่มขู่ กลั่นแกล้งผู้อื่น รวมถึงไม่ปล่อยผ่านกับพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก ควรรีบสอนลูกให้เข้าใจว่า พฤติกรรมเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่ควรทำ เพราะลูกกำลังทำร้ายความรู้สึกของเพื่อน หากพ่อแม่ปล่อยผ่าน ลูกจะเรียนรู้ว่า พฤติกรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และเติบโตมาเป็นปัญหาสังคมในอนาคต
สำหรับสถาบันการศึกษาผู้รับไม้ต่อควรแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ครูและผู้ดูแลเด็กมีทักษะในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือเด็กอย่างเหมาะสม สร้างโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย มีนโยบายที่ชัดเจน เมื่อเด็กเข้ามาสู่ระบบจะปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของโรงเรียนได้ในที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก คุณแม่เจ้าของเรื่อง , sanook , ไทยรัฐ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อังกฤษ เป้าหมายแรกของคนไทยที่เลือกจะไป เรียนต่อต่างประเทศ
เปิดคำสอน แอนนี่ บรู๊ค หลังลูกชายถูกบูลลี่ “เป็นคนประหลาด”
แพทย์เตือน! พ่อแม่เลี้ยงลูกแบบตามใจเกินไป อาจเสี่ยงเป็นโรค ฮ่องเต้ซินโดรม ได้!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!