เวลาที่เราเห็นข่าวเกี่ยวกับเด็กถูกกระทำ ก่อความรุนแรง ทะเลาะวิวาท ลักขโมย ถูกล่อลวง ยาเสพติด ท้องก่อนวัยเรียน ฯลฯ สังคมมักจะโยงไปถึงการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ และเตือนใจให้ มีลูกเมื่อพร้อม หรือเตือนเด็ก ๆ ให้ มีแม่เมื่อพร้อม ซึ่งทั้งสองวลีนี้ ก็กลายมาเป็นประเด็นให้คนเป็นพ่อแม่ถกเถียงกันต่ออีกว่า เมื่อลูกสามารถเติมเต็มคำว่าครอบครัวให้สมบูรณ์ได้ แล้วต้องรอให้พร้อมขนาดไหนถึงควรมีลูก?
มีลูกเมื่อพร้อมคืออะไร ทำไมต้องรอให้พร้อม
คำว่ามีลูกเมื่อพร้อมตามที่สังคมต้องการจะสื่อออกไปนั้น น่าจะหมายถึง การที่จะสร้างประชากรตัวน้อยให้เติบโตขึ้นมา เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพอีกหนึ่งคนในสังคมของเรานั้น ต้องอาศัยความพร้อมของพ่อแม่เด็กเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจที่จะตั้งครรภ์ ควรคำนึงถึงความพร้อมของตัวเองก่อนว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งบางคนอาจมองเรื่องเงินมาเป็นอันดับแรก บางคนอาจคิดว่าวุฒิภาวะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่โดยรวมแล้ว สิ่งที่จะช่วยสนับสนุนว่าคุณมีความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็กสักคน ควรเริ่มจากพื้นฐาน 6 ข้อเหล่านี้ก่อนได้เป็นดี
6 ข้อ มีลูกเมื่อพร้อม ต้องพร้อมเรื่องอะไรบ้าง
1. อายุ : เด็กเกินไป อย่าเพิ่งมีลูก
พ่อแม่ที่อายุยังน้อย วัยรุ่นโดยเฉพาะผู้หญิง อย่าเพิ่งรีบคิดมีลูก เพราะร่างกายยังไม่พร้อมเต็มที่สำหรับการตั้งครรภ์ การท้องก่อนวัยอันควรมีโอกาสที่แม่จะเสียชีวิตจาก ภาวะครรภ์เป็นพิษ ตกเลือดหลังคลอด เยื่อบุมดลูกอักเสบ ส่วนทารกที่คลอดออกมาก็อาจมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ ช่วงวัยที่เหมาะสมที่สุดในการตั้งครรภ์ก็คือ อายุ 21-30 ปี
2. เวลา : อยากเที่ยว อยากมีอิสระ อย่าเพิ่งมีลูก
ทารกวัยแรกเกิดจะทำให้คุณแทบไม่มีเวลาไปเที่ยวเล่นอีกแล้ว แม้กระทั่งตอนลูกหลับ คุณอาจต้องรีบกวาดบ้าน ล้างขวดนม ซักผ้าอ้อม เตรียมอาหารให้สามี ฯลฯ จนแทบไม่ได้ดูแลตัวเอง นอกจากสละเวลาเพื่อเลี้ยงดูลูกน้อยแล้ว คุณต้องมีเวลาอบรมสั่งสอน ให้ความรักความอบอุ่นกับลูกด้วยนะคะ อย่าฝากลูกไว้ให้เป็นหน้าที่ของปู่ย่าตายายเลี้ยงเป็นหลัก เวลานี้ควรให้ท่านได้เล่นกับหลานอย่างมีความสุขดีกว่า (บางคนตัดปัญหาด้วยการจ้างแม่บ้าน จ้างพี่เลี้ยงเด็ก แต่นั่นหมายความว่า คุณจะต้องคิดถึงข้อถัดไปด้วยนะ)
3. เงิน : หนี้ท่วมหัว เลี้ยงตัวไม่รอด อย่าเพิ่งมีลูก
หากคุณยังใช้เงินเดือนชนเดือน จ่ายหนี้หมดเหลือเก็บแทบไม่พอใช้ ควรชะลอความคิดที่จะมีลูกเอาไว้ก่อน ลองคำนวณดูว่า เลี้ยงลูกหนึ่งคนต้องใช้เงินเท่าไร ไม่ว่าจะค่าฝากครรภ์ ค่าคลอด ค่าผ้าอ้อม ค่าของใช้ เสื้อผ้าเด็ก ค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาล วัคซีน ฯลฯ คุณอาจจะคิดว่าเดี๋ยวก็ช่วยกันหามาหมุนจนได้เอง แต่ทางที่ดีที่สุด คุณทั้งคู่ควรมีเงินสำรองเก็บเอาไว้ยามฉุกเฉิน และวางแผนเก็บเงินไว้ซัพพอร์ตลูกในระยะยาวด้วย
4. วุฒิภาวะทางอารมณ์ : ปรี๊ดแตกไร้สติ อย่าเพิ่งมีลูก
ความอดทนเป็นเรื่องสำคัญมาก กว่าที่ลูกของคุณจะโตพอเข้าใจอะไรเองได้ คุณต้องพร้อมที่จะรับแรงกดดันในการเลี้ยงลูก ทนฟังเสียงร้องจ้าทั้งวันทั้งคืนของลูก ทนฟังคำวิจารณ์ สายตาของคนอื่นเวลามองลูกดื้อในที่สาธารณะได้ ฯลฯ คุณพร้อมรับมือกับทุกดราม่าที่จะถาโถมเข้ามาหรือยัง บางทีการดุด่า ฟาดลูก อารมณ์ร้อน ปรี๊ดแตกใส่ลูกนั้นไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะเขาอาจยังไม่รู้ว่าทำผิดอะไรด้วยซ้ำ
5. ความรู้ : ไม่มีข้อมูล อย่าเพิ่งมีลูก
เมื่อคุณเริ่มตั้งครรภ์ คุณจะต้องค้นคว้าหาความรู้ให้มากพอ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องอาหารการกิน อาการคนท้อง การดูแลตัวเอง วิธีเสริมพัฒนาการลูกในท้อง ฯลฯ อ่านคู่มือ บทความในเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ ปรึกษาหมอบ่อย ๆ เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ การถามพ่อแม่ในกลุ่มโซเชียลก็มีส่วนช่วยได้ แต่คุณจะแน่ใจได้ไหมว่าข้อมูลนั้นถูกหรือผิด และอย่าลืมว่าการเลี้ยงเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ต้องปรับให้เหมาะกับลูกของคุณเองด้วยนะ
6. พฤติกรรม : เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี อย่าเพิ่งมีลูก
การเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคม นอกจากอบรมสั่งสอนลูก รับฟังลูก ให้คำแนะนำที่ดีกับลูกแล้ว คุณต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง อย่าแค่บอกว่ามันไม่ดีแต่ตัวคุณเองก็ยังทำอยู่ เพราะเด็กจะจดจำและเลียนแบบจากคนใกล้ชิด เช่น สูบบุหรี่ไม่ดีนะลูก แต่คุณเองก็สูบบุหรี่ทุกวัน หรือทะเลาะกันแล้วใช้กำลังตบตี ลูกก็จะซึมซับว่ามันเป็นเรื่องปกติ ทำให้เขาโตขึ้นกลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน
นี่เป็นเพียงองค์ประกอบพื้นฐานที่พ่อแม่ควรมี ลองสังเกตตัวเองดูว่ามีอย่างน้อย 3 ใน 6 ข้อหรือไม่ ยิ่งมีมากข้อก็ยิ่งพร้อมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มเติมด้วย เช่น ที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อม มรดก อาชีพการงาน เป็นต้น แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่อยากย้ำเตือนก็คือ “อย่ามีลูกเพื่อให้ตัวคุณเองมีอนาคตที่ดี แต่จงมีลูกและเลี้ยงลูกเพื่อมอบอนาคตที่ดีให้กับลูก”
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทำได้ลงคอ แม่ใจร้าย จับลูกห่อพัสดุ จ้างแมสเซนเจอร์ ส่งไปสถานรับเลี้ยงเด็ก
คุณแม่วัยใส ท้องไม่พร้อม ควรรับมืออย่างไร? มาดูกัน
ทํายังไงไม่ให้ท้อง วิธีป้องกันสำหรับคนที่ยังไม่พร้อมมีลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!