ตอนนี้คุณแม่กำลังตั้งครรภ์และกังวลถึงการคลอดอยู่หรือเปล่า ? แม่ท้องเตรียมตัวก่อนคลอด ทำได้ไม่ยาก แต่ไม่ควรรอเวลา เพราะการเตรียมตัวหลายอย่าง อาจต้องใช้เวลามากกว่าที่คิด คุณแม่ควรเตรียมอะไรแบบไหนบ้าง มาดูกันทีละข้อเลยดีกว่า
แม่ท้องเตรียมตัวก่อนคลอด ควรทำตอนไหน ?
คุณแม่หลายคนอาจสงสัยถึงการเตรียมตัวพร้อมสำหรับการคลอด หลายคนก็บอกว่าให้เตรียมตัวก่อนคลอด 1 อาทิตย์, เตรียมตัวก่อนคลอด 1 เดือน หรือเตรียมตัวก่อนคลอด 2 เดือน ทั้งนี้ไม่มีแบบไหนผิด เนื่องจากการเตรียมตัวหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในสิ่งนั้น ๆ เช่น การศึกษาการคลอด หรือการให้นมลูก ทำได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 หรือการวางแผนด้านการเงินสามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือไตรมาสแรก ไปจนถึงกระเป๋าคุณแม่หลังคลอด ที่ไม่จำเป็นต้องเตรียมไว้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ แต่ควรเตรียมก่อนคลอดอย่างต่ำ 2 สัปดาห์เพื่อความสดใหม่ของเครื่องใช้ เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่หลังคลอดควรทำอะไรบ้าง สิ่งที่ต้องทำหลังคลอดใน 90 วันแรก
8 วิธีเตรียมตัวก่อนคลอดให้มีประสิทธิภาพ
การเตรียมตัวก่อนที่ทารกน้อยจะออกมาลืมตามองโลกนั้น ไม่ใช่แค่การเตรียมความพร้อมสำหรับให้คุณแม่ผ่านพ้นการคลอดได้อย่างสะดวกเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับทารก และคุณภาพชีวิตที่ดี และปลอดภัยอีกด้วย สามารถทำได้ 8 ขั้นตอน
วิดีโอจาก : โรงพยาบาลรามคำแหง
1. วางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายล่วงหน้า
ก่อนจะวางแผนในขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป สิ่งแรกที่ผู้ปกครองจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อน เพราะจุดศูนย์การของการจัดการปัญหาหลาย ๆ อย่าง นั่นคือ “ค่าใช้จ่าย” ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้หลังคลอด ทั้งค่านมในอนาคต ค่าใช้จ่ายที่เตรียมไว้สำรองหากทารกเกิดอาการเจ็บป่วย ไปจนถึงการมองในภาพไกล เช่น ค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูกน้อย หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องที่เดี๋ยวค่อยคิด เดี๋ยวค่อยทำ แต่หากปล่อยเอาไว้ แล้วเกิดติดขัดขึ้นมา จะไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับผู้ปกครองเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของลูกน้อยโดยตรงอีกด้วย
2. ศึกษาการคลอด และการให้นมทารก
เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ คุณแม่ท้องควรมองถึงการเตรียมความพร้อมในการคลอดบุตร ไม่ว่าจะจากประสบการณ์คนรอบตัว เทคนิคต่าง ๆ ที่ได้มาจากการปรึกษาคุณหมอ หรือการเข้าคอร์สอบรมเพื่อรับความรู้เกี่ยวกับการคลอดก็ทำได้ทั้งนั้น รวมไปถึงศึกษาท่าให้นมบุตรเผื่อไว้ก่อน หรือจะศึกษาข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการรับมือกับทารกสำหรับคุณแม่มือใหม่ก็สามารถทำได้ การเตรียมความพร้อมเรื่องเหล่านี้ จะสามารถคลายความกังวลของคุณแม่ได้ดี
3. เตรียมลาคลอดไว้ล่วงหน้า
แม่ท้องหลายคนที่ยังทำงานอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากต้องแบกรับเรื่องรายรับ – รายจ่ายอยู่ ในการลาคลอดนั้น ส่วนหนึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อบังคับของบริษัทต่าง ๆ ซึ่งอาจมีข้อตกลงที่แตกต่างกัน เกี่ยวกับสิทธิลาคลอด คุณแม่ไม่สามารถถามเพื่อนได้ หากไม่ได้ทำงานอยู่ที่เดียวกัน จึงควรสอบถามฝ่ายบุคคล หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนในการลาคลอดได้อย่างเป็นระเบียบ และไม่ผิดกฎของบริษัท
4. ดูแลความสะอาดภายในบ้านให้ดี
ความสะอาดในจุดต่าง ๆ ของบ้านสำคัญมากอยู่แล้วกับคนทั่วไป เนื่องจากเป็นแหล่งเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ได้ สำหรับทารกแรกเกิดในช่วงแรก ระบบหายใจ รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ สมบูรณ์ในรูปแบบเพียงพอต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น ไม่ได้แข็งแรงเท่ากับผู้ใหญ่ หากพบกับเชื้อโรคเพียงเล็กน้อย อาจทำให้เกิดอาการป่วย หรืออาการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ หากสามารถป้องกันได้ ก็ควรป้องกันให้ดีที่สุด เพราะหากเป็นอาการเจ็บป่วยร้ายแรง อาจส่งผลร้ายกับทารกน้อยมากกว่าที่คิด ซึ่งคุณแม่ท้องแก่อาจทำลำบาก ในช่วงนี้จึงควรให้คุณสามีช่วยทำด้วยจะดีที่สุด
นอกจากจะเป็นตัวบ้านแล้ว สิ่งของหรือเสื้อผ้าที่เตรียมไว้สำหรับลูกน้อยก็สำคัญเช่นกัน ควรนำมาทำความสะอาดและเก็บให้มิดชิดเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค ไม่ควรทำทิ้งเอาไว้เป็นเดือน ๆ ควรทำในช่วงที่ใกล้กำหนดคลอด เพื่อให้คงความสะอาดปราศจากเชื้อเอาไว้ให้มากที่สุด
5. เตรียมของใช้ที่จำเป็นของทารก
หลังจากที่คลอดทารกออกมาแล้ว หลังจากนั้นการดูแลทารกสำคัญมาก รวมไปถึงการให้นม หากอยู่ที่บ้านจะสะดวกกว่า การออกนอกบ้านในช่วงที่จำเป็นเท่านั้น เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับแม่ลูกอ่อน เพราะจะได้ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก การเตรียมสิ่งของ เครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับทารก จึงต้องทำแต่เนิ่น ๆ และเตรียมในปริมาณที่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นผ้าอ้อม, เสื้อผ้าทารก, เปลนอน และเครื่องนอน, ทิชชูเปียก, ขวดนม และนมผง, ที่ปั๊มนม, ผ้าคลุมให้นม รวมไปถึงของที่กฎหมายกำหนดใช้ในปัจจุบันอย่างคาร์ซีท เป็นต้น เพราะของบางอย่างเป็นของที่ใช้แล้วหมดไป จึงต้องเตรียมเผื่อ แต่อาจต้องระวังเรื่องของอายุการใช้งานด้วย เนื่องจากบางอย่างเก็บไว้นาน อาจเสื่อมสภาพได้
6. จำกัดพื้นที่ของสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน
หากครอบครัวไหนที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่ด้วย ควรจำกัดพื้นที่ภายในบ้านให้ชัดเจน สัตว์เลี้ยงจะต้องมีพื้นที่ของตัวเอง และมีพื้นที่ต้องห้ามที่ไม่สามารถเข้าไปได้ เช่น ห้องนอนของทารก เนื่องจากทั้งสุนัข และแมว ต่างมีขนที่ล่วงอยู่บ่อย ๆ หากสัตว์เลี้ยงเข้าไปในห้องของเด็ก อาจมีเศษขนกระจัดกระจายอยู่ตามห้อง ซึ่งไม่ใช่ผลดีกับทารกน้อยเลย ผู้ปกครองอาจใช้ที่กั้นในการจำกัดพื้นที่สัตว์เลี้ยงก็ได้ แต่อาจต้องระวังหากเลี้ยงแมว เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ปีนป่ายได้เก่ง จึงต้องคอยป้องกันจุดที่แมวชอบปีนเป็นประจำด้วย
7. เตรียมกระเป๋าไปโรงพยาบาลล่วงหน้า
การเตรียมกระเป๋าคุณแม่สำหรับนำไปใช้หลังคลอดที่โรงพยาบาล ควรเตรียมล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนคลอด โดยของที่จะเตรียมไป จะแบ่งออกเป็นของใช้ของคุณแม่หลังคลอด และของที่จำเป็นต่อทารก ดังนี้
- ของใช้คุณแม่ : ได้แก่ เอกสารสำคัญ, หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์, ผ้าคลุมให้นม, น้ำดื่มสะอาด, อุปกรณ์การสื่อสาร และพาวเวอร์แบงก์, ผ้าอนามัย, อุปกรณ์อาบน้ำ, หมอนรอง และของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ที่อาจจำเป็นต่อคุณแม่ เช่น ครีมทาผิว หรือหวี เป็นต้น
- ของใช้ทารก : ที่ปั๊มนม, นมขวด และนมผง, ผ้าห่อตัวทารก, เสื้อผ้าสำหรับทารก, สบู่เด็ก, ผ้าอ้อม, ผ้าก๊อซเช็ดลิ้น, แอลกอฮอล์และสำลีสำหรับเช็ดสะดือ และผ้าเปียก เป็นต้น
8. วางแผนรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉิน
หลังจากเตรียมตัวตามวิธีด้านบนแล้ว ก็ถือเป็นการเตรียมพร้อมที่ดี แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ เหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งหากเกิดในตอนที่กำลังรีบ หรือคุณแม่จะคลอด จะสร้างความลำบาก และความกดดันได้ เช่น รถเกิดเสียกะทันหัน, มือถือแบตหมดทำให้ติดต่อกันลำบาก, ไม่มีเบอร์ฉุกเฉิน หรือจำเบอร์ที่ต้องโทรไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถลดโอกาสเกิดขึ้นได้จากการคิดล่วงหน้า เช่น ตรวจเช็กสภาพรถ เติมน้ำมันรถให้ดี, ดูแบตมือถือให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอด หรือตั้งค่าเบอร์ฉุกเฉินในมือถือของคุณแม่เอาไว้ จะได้กดโทรออกได้ทันที ไม่ต้องกดเบอร์ทีละตัว เป็นต้น
นอกจากนี้การดูแลสุขภาพนั้นยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายที่เหมาะสม และการตรวจสุขภาพครรภ์ และสุภาพของคุณแม่ตามแพทย์นัด ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้การคลอดผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทำไมถึงต้องปั๊มนม ตอบเหตุผลทำไมต้องปั๊ม เพื่อคุณภาพนมที่เหมาะสมกับลูกน้อย
10 เปลเด็ก เปลนอนสำหรับทารก แบบไหนดี และปลอดภัยกับลูกน้อย
แนะนำ 10 คาร์ซีทงบประหยัด ปี 2023 ราคาดี มีคุณภาพ คาร์ซีทยี่ห้อไหนดี ?
ที่มา : bangpakok3., pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!