แม้ว่าจะมีข้อมูลให้ค้นหามากมาย เกี่ยวกับการตรวจการตั้งครรภ์ รวมถึงคู่มือการตรวจการตั้งครรภ์ถ้าตรวจแล้ว พบว่า ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด นั้นหมายถึงว่าคุณตั้งครรภ์อย่างแน่นอน แต่ในทางกลับกัน การตรวจนี้ ก็อาจผิดเพี้ยนไปได้ หากมีองค์ประกอบอื่น ๆ เข้ามาแทรก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า 2 ขีดที่เราเห็นจากที่ตรวจการตั้งครรภ์นั้น ท้องหรือไม่? แล้วเราควรทำตัวอย่างไร หลังจากตรวจพบว่าขึ้น 2 ขีด มาดูกันค่ะ
ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด ท้องหรือไม่?
อย่างที่เราทราบกันดีว่า วิธีการตรวจครรภ์นั้น มีหลายรูปแบบด้วยกัน โดยเฉพาะการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองนั้น จะมีทั้งวิธีการตรวจแบบจุ่มปัสสาวะ การตรวจแบบปัสสาวะผ่าน การตรวจแบบหยด รวมถึงการตรวจด้วยเครื่องดิจิทัล ซึ่งแต่ละแต่แบบนั้น สามารถให้ผลการทดสอบที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งการที่ปรากฏ 2 ขีด จากที่ตรวจการตั้งครรภ์ มีความเป็นไปได้ว่า คุณตั้งครรภ์แล้วนั่นเอง
ขึ้น 2 ขีด แต่ไม่ท้อง เป็นไปได้หรือไม่ ?
หากเราตรวจการตั้งครรภ์แล้วพบว่ามี 2 ขีดขึ้นมาอย่างชัดเจน ก็เป็นการยืนยันได้ว่าคุณกำลังได้เป็นคุณแม่อย่างเต็มตัว แต่ถ้าตรวจแล้วพบว่าเป็น 2 ขีดจาง ๆ ในกรณีนี้อาจหมายถึงคุณตั้งครรภ์ หรือไม่ตั้งครรภ์ก็ได้เช่นกัน ซึ่งมีสาเหตุ ดังนี้
1. ฮอร์โมนเจือจาง ทำให้ปรากฏขีดไม่ชัดเจน
ในการตั้งครรภ์ระยะแรกนั้น จะปรากฏฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) เพียงน้อยนิด หรือการดื่มน้ำในปริมาณที่มากจนเกิดการเจือจาง ทำให้การตรวจการตั้งครรภ์ผ่านทางปัสสาวะจะเกิดขีดสีจาง ๆ ไม่ชัดเจน ซึ่งยังคงมีความหมายว่าคุณนั้นได้ตั้งครรภ์แล้วนั่นเอง
2. การใช้ฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่
บางคนได้ใช้ฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตกไข่ เพื่อเพิ่มโอกาสให้สามารถตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะแสดงผลในที่ตรวจการตั้งครรภ์เป็น 2 ขีดแบบจาง ๆ ได้ แม้ว่าคุณจะไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ก็ตาม นั่นเป็นเพราะปริมาณฮอร์โมนที่มากจนเกินไปนั่นเอง
3. ปัสสาวะระเหย
แม้ว่าการตรวจการตั้งครรภ์จะปรากฏพบว่าขึ้น 2 ขีด ก็เป็นไปได้ว่าคุณไม่ได้ตั้งครรภ์เนื่องมาจากกรณีที่ปัสสาวะระเหย และไปทำปฏิกิริยากับแถบสี จนทำให้เกิดผลเป็น 2 ขีด แบบจาง ๆ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าตนเองท้อง แม้ว่าจะไม่ได้ท้องจริงก็ตาม
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝากท้องประกันสังคม ได้หรือเปล่า สิทธิประกันสังคมคนท้อง ที่แม่ ๆ ควรรู้
4. โรคแทรกซ้อนที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผิดเพี้ยน
กลุ่มผู้ป่วยด้วยโรคบางชนิด อาจมีฮอร์โมนที่มีปริมาณมากกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็น ไทรอยด์, ปัสสาวะอักเสบ รวมถึงโรคอ้วน ซึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ เมื่อตรวจด้วยที่ตรวจการตั้งครรภ์ ก็จะเกิด 2 ขีดจาง ๆ ปรากฏขึ้น ซึ่งแท้ที่จริง เป็นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย แต่ไม่ได้เกิดการตั้งครรภ์จริง
5. ที่ตรวจครรภ์เกิดการชำรุด หรือไม่ได้มาตรฐาน
มีความเป็นไปได้ว่าผลทดสอบการตั้งครรภ์ที่แสดงผลออกมาไม่ชัดเจนนั้น มีสาเหตุมาจากชุดตรวจครรภ์เกิดการชำรุด หรือเป็นชุดตรวจที่ไม่ได้มาตรฐานการตรวจสอบ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงชุดตรวจที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ดังนั้นก่อนทำการตรวจสอบการตั้งครรภ์ ควรเช็กวันหมดอายุ และมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการตรวจก่อนเป็นอันดับแรก
6. การแท้งบุตร หรือการทำแท้ง
ไม่ว่าจะเป็นการแท้งบุตร หรือมีการทำแท้ง หรือทำให้ตัวอ่อนหยุดการเจริญเติบโต รวมถึงการนำตัวอ่อนออกไปจากมดลูกแล้วก็ตาม แต่ระดับฮอร์โมน hCG ในร่างกาย ยังคงมีสูง คล้ายกับคนที่ตั้งครรภ์ทั่วไป และจะค่อย ๆ ลดต่ำลงในช่วง 6 สัปดาห์ ในระยะนี้ หากมีการตรวจการตั้งครรภ์ ก็จะแสดงผลเป็น 2 ขีด เช่นกัน
ตรวจครรภ์ขึ้น 1 ขีด แต่ทิ้งเอาไว้สักพัก ขึ้น 2 ขีด เชื่อผลลัพธ์ไหนดี
ในกรณีที่ผลลัพธ์ขึ้น 1 ขีดหลังจากการตรวจสอบ แต่เมื่อทิ้งเอาไว้สักพัก ปรากฏพบเป็น 2 ขีด เราจะเชื่อผลลัพธ์อันไหนดี ซึ่งตามปกตินั้นการตรวจการตั้งครรภ์ เราควรผ่านผลภายใน 5 – 10 นาที หลังจากทำการตรวจสอบโดยใช้ปัสสาวะ แต่หากทิ้งเอาไว้นานกว่าเวลาดังกล่าว ผลลัพธ์ที่ปรากฏก็จะผิดเพี้ยนไป หากพบผลลัพธ์ดังกล่าว ควรทำการตรวจใหม่ในวันถัดไปด้วยที่ตรวจครรภ์อันใหม่ หรือไปเข้ารับการตรวจโดยตรงโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่ง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ควรตรวจครรภ์ตอนไหน ตอนเช้า หรือตอนเย็น เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สุด ?
เมื่อตรวจพบ 2 ขีด ควรทำอย่างไรต่อ
เมื่อมีการตรวจสอบการตั้งครรภ์ แล้วปรากฏ 2 ขีด แล้ว สิ่งที่เราจะต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือ การไปตรวจ และไปหาคุณหมอเพื่อทำการตรวจดูภาวะโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบอายุครรภ์ และเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการดูแลร่างกาย ข้อปฏิบัติตัว และข้อพึงระวังของตัวคุณแม่ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป ซึ่งโดยในหลักวิชาการจะกำหนดระยะเวลาการตั้งครรภ์ทั้งหมด 40 สัปดาห์
โดยปกติครรภ์ 40 สัปดาห์ ทางการแพทย์จะแบ่งเป็น 3 ไตรมาส ไตรมาสคือ 12 สัปดาห์แรก ไตรมาสที่ 2 คือ สัปดาห์ที่ 12 – 28 และไตรมาสที่ 3 ไตรมาสสุดท้ายเริ่มจากสัปดาห์ที่ 28 – 40 ซึ่งการดูแลสุขภาพครรภ์ และร่างกายในแต่ละไตรมาสนั้น จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสต่าง ๆ ดังนั้น ตัวคุณแม่จำเป็นจะต้องติดตาม และปรึกษาแพทย์ในทุกระยะ ไม่ควรปล่อยปละละเลย เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์
สงสัยเรื่องตรวจครรภ์ อยากได้ความรู้เพิ่มเติม เลือกอ่านจากบทความการตรวจครรภ์ได้ คลิก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตรวจครรภ์เวลาไหน ตรวจตอนเย็นได้ไหม หรือว่าจะต้องตรวจตอนเช้าถึงจะดีที่สุด?
ราคาที่ตรวจครรภ์ ปี 2566 ยี่ห้อไหนดี รวมหมดทุกแบบไว้ที่นี่!
ที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม ควรใช้อย่างไร จะเลือกใช้ ที่ตรวจครรภ์ยี่ห้อไหนดี
ที่มา : Phyathai, v-ivf
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!