แป้งฝุ่นในไทยยังเสี่ยงมะเร็ง หลังฉลากไม่มีคำเตือน
อันว่าแป้งฝุ่นที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ทำจากสารที่มีชื่อว่าทัลค์มาทำให้เป็นผงละเอียดเรียกว่าผงทัลคัม เป็นเกลือแร่ชนิดหนึ่งประกอบด้วยธาตุแมกนีเซียม ซิลิกอนและออกซิเจน มีคุณสมบัติดูดซับความชื้นและกลิ่นได้ดี ทำให้ผิวแห้งลื่นเนียน จึงนำมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักของแป้งฝุ่นชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแป้งฝุ่นทาตัว แป้งเด็ก แป้งน้ำ แป้งรองพื้น แป้งพัฟทาหน้า แป้งปัดแก้มและอายแชโดว์ เจ้าสารทัลค์บางชนิดมีส่วนประกอบของแร่ใยหินหรือแอสเบสทอสผสมโรงอยู่ด้วยตามธรรมชาติ ซึ่งเจ้าแร่ใยหินนี้ยืนยันแล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อถูกสูดดมเข้าทางลมหายใจต่อเนื่องเป็นเวลานาน มะเร็งปอดและมะเร็งเยื่อหุ้มปอดก็จะถามหา ดังนั้นในหลายประเทศจึงห้ามไม่ให้มีการปนเปื้อนของแร่ใยหินในแป้งทาตัวทุกประเภท ในบ้านเรากระทรวงสาธารณสุขเคยทำการสำรวจแป้งพัฟทาหน้าและแป้งปัดแก้มจากท้องตลาดเมื่อ 2 ปีก่อนจำนวน 79 ตัวอย่าง พบว่ามีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ 2 ตัวอย่าง ทำเอาหวาดเสียวไปตามๆ กัน หากพิจารณาเฉพาะตัวแป้งฝุ่นที่ไม่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ณ เวลานี้ยังไม่มีรายงานทางการแพทย์ว่าจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอดแต่อย่างใด
แป้งฝุ่นในไทยยังเสี่ยงมะเร็ง หลังฉลาก ไม่มี คำเตือน
ที่ทำเอาตื่นเต้นกว่ามะเร็งปอดคือมะเร็งรังไข่ เพราะมีรายงานการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาในปี 2546 ศึกษาผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 11,933 รายจากการทบทวนรายงานทางการแพทย์จำนวน 16 รายงานพบว่าผู้หญิงที่ชอบใช้แป้งฝุ่นทาบริเวณอวัยวะเพศมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากการที่ผงแป้งฝุ่นถูกดูดซึมผ่านทางช่องคลอดไปสู่รังไข่ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่โดยเฉลี่ยตลอดชีวิตพบว่า ผู้หญิงที่ชอบใช้แป้งฝุ่นทาบริเวณอวัยวะเพศมีความเสี่ยงเฉลี่ยร้อยละ 1.8 ซึ่งสูงกว่าความเสี่ยงโดยเฉลี่ยของผู้หญิงทั่วไปไม่มาก เพราะความเสี่ยงเฉลี่ยต่อการเป็นมะเร็งรังไข่ของผู้หญิงทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ในขณะที่ปัจจุบันองค์การวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศก็ยังไม่จัดให้สารทัลค์ในแป้งฝุ่นเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่ก็ระบุว่าการใช้แป้งฝุ่นทาบริเวณอวัยวะเพศมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดมะเร็งได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่าเสี่ยงเอาแป้งฝุ่นไปทาบริเวณนั้นจะดีกว่
แป้งฝุ่นในไทยยังเสี่ยงมะเร็ง หลังฉลาก ไม่มีคำเตือน
ภายหลังที่ศาลตัดสินให้ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จ่ายเงินชดเชยให้กับหญิงรายหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ในระยะสุดท้ายเป็นจำนวนเงิน 72 ล้านดอลลาร์ โดยสาเหตุของการเกิดโรคนั้นเป็นเพราะตนใช้แป้งฝุ่นยี่ห้อนี้โรยตัว โดยเฉพาะบริเวณจุดซ่อนเร้นเป็นเวลานาน
รวมถึงเคสอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 1,200 คดีที่กล่าวหาว่าแป้งยี่ห้อดังกล่าวนั้น ก่อให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ คณะลูกขุนแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ตัดสินให้ จอห์นสันแอนด์จอห์นสันต้องจ่ายเงินค่าเสียหายจำนวน 10 ล้านดอลลาร์ และอีก 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าชดเชยแก่ครอบครัว แจ็คกี ฟอกซ์ สุภาพสตรีอีกรายหนึ่งที่เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว
เหตุผลสำคัญคือ ทางบริษัททราบมาไม่ต่ำว่า 30 ปีแล้วว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ทัลก์อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง แต่ก็ไม่มีการแจ้งและเตือนผู้บริโภคให้ทราบ “มีความชัดเจนว่า บริษัทได้ปกปิดข้อมูลบางอย่างเอาไว้ และสิ่งที่บริษัทควรทำมานานแล้วก็คือ การติดฉลากเพื่อตักเตือนผู้บริโภค” คริสตา สมิธ หัวหน้าคณะลูกขุนแห่งเมืองเซนต์หลุยส์กล่าว
โครงการสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อเพื่อผู้บริโภค สุ่มสำรวจและเก็บตัวอย่างแป้งฝุ่นจากท้องตลาดและห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในกรุงเทพ รวมแล้ว 35 ตัวอย่าง เพื่อพิจารณาถึงฉลาก และดูส่วนประกอบของแป้งว่า มียี่ห้อไหนบ้าง ที่มี ทัลค์(Talc) เป็นส่วนประกอบ และได้มีฉลากหรือคำเตือนแจ้งให้กับผู้บริโภคได้ทราบหรือไม่
ผลการสำรวจคือ
1.ไม่พบ คำเตือนที่บอกถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการทาแป้งฝุ่นกับการเกิดมะเร็ง
2. พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุคำเตือนใดๆ
3. คำเตือน ที่พบคือ ระวังอย่าให้แป้ง เข้าจมูกและปากเด็ก ระวังอย่าให้แป้งเข้าตา ห้ามใช้โรยสะดือเด็กแรกเกิด ถ้ามีการผสมสารเพื่อป้องกันแสงแดด จะระบุเพิ่ม หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์
4. พบ 34 ตัวอย่าง มีทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบสำคัญ
5. มีเพียง 1 ตัวอย่าง ที่ไม่มีทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบ คือ แป้งหอมไร้ซแคร์ (ฟลอรัล สวีท) (ReisCare Perfumed Powder (Floral Sweet) ใช้แป้งข้าวเจ้าเป็นส่วนประกอบ
แป้งฝุ่นทาผิวเกี่ยวข้องอย่างไรกับมะเร็ง
สำนักควบคุมเครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ได้ติดตามเฝ้าระวังเกี่ยวกับการปนเปื้อนของแร่ใยหินในทัลก์มาตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2553 และได้ส่งตรวจวิเคราะห์หาแร่ใยหินในแป้งที่มีส่วนผสมของทัลก์ จำนวน 40 ตัวอย่าง ซึ่งในตัวอย่างทั้งหมดนั้น ไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหินแต่อย่างใด
นอกจากนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2558 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งตัวอย่างแป้งที่มีส่วนผสมของสารดังกล่าว ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ โดยการส่งตัวอย่างแป้งฝุ่นโรยตัวจำนวน 73 ตัวอย่าง และทุกตัวอย่างไม่พบแร่ใยหินปนเปื้อนแต่อย่างใด
ทัลค์ (Talc), ทัลคัม (Talcum) และแมกนีเซียม ซิลิเกท (Magnesium Silicate)
ทั้ง 3 ชื่อ คือตัวสารตัวเดียวกันเพียงแต่เรียกต่างกันเท่านั้น ทั้ง 3 ชื่อ คือแร่หินชนิดหนึ่งที่ได้มาจากการทำเหมืองหินทาล์ค แล้วนำมาโม่ให้ละเอียด อบให้แห้งและฆ่าเชื้อ แม้จะมีการแยกสิ่งแปลกปลอมออก แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้บริสุทธิ์ได้ จึงยังมีสิ่งแปลกปลอมหลงเหลืออยู่บางอย่าง ที่อาจจะมีคุณสมบัติคล้ายแอสเบสตอส (Asbestos) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และ U.S. Environmental Protection Agency จัดให้เป็นUnclassifiable Carcinogen (สารก่อมะเร็งที่ไม่สามารถจัดจำพวกได้) “ทัลคัม” เป็นสารอนินทรีย์ จึงไม่สามารถ ย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติ ถ้าใช้โดยไม่ระมัดระวัง เมื่อสูดเข้าไปเป็นเวลานาน จะเกิดการสะสมอาจทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ (Talcosis) และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ในสุภาพสตรีได้ (Ovarian Cancer) กรณีใช้ใต้ร่มผ้าเป็นระยะเวลานานๆ
ข้อควรระวัง
1. ควรอ่านวิธีการใช้ให้ละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
2. ระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูก และปาก
3. อย่าสูดดมแป้ง
4. ไม่ควรใช้แป้งกับบริเวณอวัยวะเพศ
ที่มา: ConsumerThai
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
อันตราย!!! ทัลคัมในแป้งฝุ่นเสียงมะเร็งรังไข่
แป้งเด็กที่ควรใช้กับผิวลูกน้อย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!