โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคที่เราไม่คาดคิด ก็อาจภัยภัยเงียบทำร้ายเราได้ NCDs โรคเงียบที่ป้องกันได้เริ่มจากตัวเรา มีวิธีไหนบ้างไปดูกัน
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง Non-communicable diseases (NCDs)
การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน ส่งผลให้หลายคนดำรงชีวิตด้วยพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งการบริโภคอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด และไขมันสูง ขาดการทานผักผลไม้ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เคลื่อนไหวร่างกายน้อย และการใช้ชีวิตท่ามกลางมลภาวะ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ ‘โรค NCDs’
“โรค NCDs คือโรคที่ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ชีวิตผิด หรือว่าไม่ระวัง ซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเราเพื่อต่อสู้โรคนี้ได้” ‘หมอแอมป์ – นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ’ นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิกได้กล่าวถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-communicable diseases)
กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-communicable diseases)
เป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ มีการดำเนินของโรคไปอย่างช้าๆ สะสมเป็นเวลานาน เกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น พันธุกรรม พฤติกรรม สิ่งแวดล้อม และการดำเนินชีวิต
คุณหมอแอมป์ อธิบายเพิ่มเติมว่า โรคกลุ่มนี้มี 6 โรคหลัก ๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ทำให้กลายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เฉลี่ยสูงถึง 44 คนต่อชั่วโมง โดยโรค NCDs ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย คือ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
-
โรคเบาหวาน (Diabetes)
จากรายงานของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ หรือ International Diabetes Federation (IDF) ในปี 2564 พบว่าทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานสูงถึง 537 ล้านคน และคาดว่าในอีก 24 ปีข้างหน้า ตัวเลขจะเพิ่มสูงถึง 784 ล้านคน เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่พบผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า 4.8 ล้านคน คิดภาพง่ายๆ ว่า ในทุก 10 คน จะมีคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน 1 คน และที่น่าตกใจคือ 40% ของกลุ่มผู้ป่วยนั้นไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน
โดยเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด สูงถึง 90% เป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่นๆ อาทิ จอประสาทตาถูกทำลาย(Diabetic Retinopathy), โรคไตเรื้อรัง(Chronic kidney disease), หัวใจล้มเหลว(Heart failure), หลอดเลือดสมองอุดตัน(Stroke), และการเกิดแผลเบาหวานเรื้อรัง(Diabetic ulcer) โดยเป็นผลจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย
มีการศึกษาวิจัยที่สำคัญชื่อว่า Diabetes Prevention Program (DPP) เป็นการวิจัยแบบ Randomized Controlled Trial เปรียบเทียบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Lifestyle Change) และการใช้ยา Metformin ต่อการป้องกันและชะลอการเกิดโรคเบาหวาน ผลวิจัยพบว่าทั้ง 2 วิธีสามารถช่วยลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Lifestyle Change) มีประสิทธิภาพสูงกว่าการทานยาเกือบ 2 เท่า
ในอดีตเบาหวานชนิดที่ 2 เคยถูกเข้าใจว่าเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่มีวันรักษาหาย แต่ในปัจจุบันได้นิยามการหายของเบาหวานชนิดที่ 2 ไว้ว่า โรคเบาหวานที่อยู่ในภาวะสงบ ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ (ระดับน้ำตาลในเลือด ขณะอดอาหาร น้อยกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ น้ำตาลสะสม น้อยกว่า 6.5%) โดยไม่ต้องพึ่งยาหรือการรักษาใดๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน โดยเป็นผลจากการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย จนมวลไขมันในร่างกายลดลงอยู่ในระดับปกติ ส่งผลให้เซลล์ตับกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการขจัดของเสียออกจากร่างกาย และเซลล์ตับอ่อนสามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำหน้าที่รักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดียิ่งขึ้น และยังรวมถึงเซลล์ต่างๆ ในร่างกายกลับมาตอบสนองต่ออินซูลินได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
-
โรคอ้วน (Obesity)
ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโรคอ้วน รายงานปี 2559 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าผู้ใหญ่ 39% หรือมากกว่า 1.9 พันล้านคน มีปัญหาน้ำหนักเกินหรืออ้วน เช่นเดียวกับประเทศไทย ข้อมูลจากกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานความชุกของปัญหาน้ำหนักเกินหรืออ้วนในผู้ใหญ่ ในปี 2564 อยู่ที่ 47.2% เพิ่มขึ้นจาก 34.7% ในปี 2559 ซึ่งกรุงเทพมหานคร มีความชุกภาวะอ้วนลงพุงมากที่สุด (56.1%) รองลงมาคือภาคกลาง (47.3%), ภาคใต้ (42.7%), ภาคเหนือ (38.7%), และภาคอีสาน (28.1%)
และที่น่ากังวลคือเด็กก็พบปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกินเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ ในปี 2564 ความชุกของโรคอ้วนและน้ำหนักเกินในเด็ก อายุน้อยกว่า 5 ปี อยู่ที่ 9.07 % สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 5.7%
โดยปกติแล้วการวินิจฉัยโรคอ้วนสามารถใช้ค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) คำนวณได้จากการนำน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง ซึ่งถ้าผลที่ได้ มีค่าอยู่ในช่วง 25 – 29.9 กิโลกรัม/เมตร2 จะถือว่ามีน้ำหนักตัวเกิน และถ้าค่าสูงกว่า 30 กิโลกรัม/เมตร2 จะถือว่ามีภาวะอ้วน
แต่การใช้ดัชนีมวลกายเพียงอย่างเดียว อาจบอกผลคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากองค์ประกอบหลักของร่างกายนั้น ประกอบไปด้วย มวลน้ำ มวลกระดูก มวลไขมัน และมวลกล้ามเนื้อ ทำให้บางคนแม้มีน้ำหนักตัวอยู่ในช่วงปกติ (BMI 18.5 – 24.9 กิโลกรัม/เมตร2) แต่เมื่อตรวจดูองค์ประกอบร่างกาย ด้วยวิธี Dual-energy X-ray absorptiometry (DXA or DEXA) พบว่าร่างกายมีปริมาณไขมันสะสมอยู่มากเกินไป หากผู้ชายมีมวลไขมันเกิน 28% และผู้หญิงเกิน 32% จะถูกจัดว่ามีภาวะอ้วน
ซึ่งมวลไขมันที่มากเกินไปมักสะสมอยู่บริเวณสะโพก ต้นขา ต้นแขน และที่สำคัญคือบริเวณช่องท้อง (Visceral fat) ทำให้เส้นรอบเอวของเราขนาดใหญ่ขึ้น หรือที่เราเรียกว่าอ้วนลงพุง ซึ่งไขมันในช่องท้องนี้เองเป็นส่วนที่อันตรายที่สุดเพราะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) สาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases; NCDs) อีกมากมาย
-
โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
โรคความดันโลหิตสูงได้ชื่อว่าเป็น “ฆาตกรเงียบ” เพราะเป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดง จำเป็นต้องทำการตรวจวัดความดันโลหิต หากปล่อยไว้ไม่ได้รักษาจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
โรคนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ การมีความเครียดสะสม การนอนหลับไม่เพียงพอ ภาวะโรคอ้วนและการรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง
องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม ต่อวัน แต่ผลสำรวจล่าสุดปี 2564 โดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและเครือข่ายลดบริโภคเค็ม พบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงถึง 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือ 1.8 ช้อนชา หรือน้ำปลาประมาณ 10 ช้อนชา เป็นผลมาจากการรับประทานอาหารนอกบ้าน อาหารแปรรูป และอาหารสำเร็จรูป ทำให้การควบคุมปริมาณโซเดียมเป็นไปได้ยาก หรือลักษณะของอาหารท้องถิ่นบางอย่างที่มีความเค็มมาก เช่น ส้มตำปูปลาร้าหนึ่งจาน มีโซเดียม 1,278 มิลลิกรัม ทำให้คนไทยบริโภคโซเดียมเกินคำแนะนำไปเกือบ 2 เท่า
-
โรคไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia)
มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อีกทั้งยังเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของความพิการ ในแต่ละปีมีผู้ป่วยจากโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่ 15 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีผู้เสียชีวิตมากถึง 5 ล้านคนและอีก 5 ล้านคนกลายเป็นคนพิการอย่างถาวร
การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง จำพวกของทอด ของมัน หนังสัตว์ ชีส เนื้อสัตว์แปรรูป อย่างไส้กรอก กุนเชียง เบคอน หมูยอ ซาลามี่ เป็นต้น ส่งผลให้ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น รวมถึงการรับประทานข้าวแป้งที่ผ่านการขัดสี น้ำตาลทรายขาว (refined sugar) หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease; CVD) สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American Heart Association) แนะนำให้บริโภคไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 11 -12 กรัมต่อวัน (5-6% ของความต้องการพลังงานเฉลี่ย 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน) และทดแทนด้วยการรับประทานไขมันไม่อิ่มตัว จำพวกน้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า อะโวคาโด ถั่วเปลือกแข็ง เป็นต้น
-
โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (Chronic respiratory disease)
โรคถุงลมโป่งพอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของโลก มีผู้คนเสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 3 ล้านคน มีอาการไอ หายใจลำบาก มีเสมหะ ส่งผลให้เหนื่อยมากขึ้น ซึ่งสาเหตุของโรคนี้เกิดจากการสูบบุหรี่หรือสัมผัสควันบุหรี่มือสอง มลภาวะทางอากาศ ฝุ่นละออง หรือสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ หากป้องกันหรือลดการสัมผัสกับสารก่อโรคต่างๆ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้
ซึ่งปัญหามลภาวะทางอากาศในปัจจุบันที่หลีกเลี่ยงได้ยาก คือ ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมของเราถึง 20 เท่า จนสามารถทะลุถุงลมจนเข้าไปในกระแสเลือดได้ เข้าไปรบกวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเรา ก่อก็ให้เกิดผลเสียมากมายมหาศาลกว่าที่เราคาดเดาได้
ซึ่งฝุ่นละอองเล็กจิ๋วนี้ล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ การปล่อยฝุ่นควันของโรงงานอุตสาหกรรม ควันพิษจากรถยนต์และเครื่องจักรกล การเผาไร่นา การเผาขยะ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่ก่อเกิดมลภาวะทางอากาศทั้งสิ้น
สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือ เริ่มจากการป้องกันไม่ให้มลภาวะเข้าสู้ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากป้องกัน ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ติดตั้งเครื่องกรองอากาศ เป็นต้น
-
กลุ่มโรคมะเร็ง (Cancer)
รายงานปี 2020 จาก A Cancer Journal for Clinicians ผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลกมีจำนวน 19.3 ล้านคน และผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นจำนวนเกือบ 10 ล้านคน และคาดว่าในปี 2040 จำนวนผู้ป่วยมะเร็งจะเพิ่มขึ้นถึง 28.4 ล้านคน หรือมากขึ้นถึง 47%
ประมาณ 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ โรคอ้วนหรือการมีมวลไขมันมากเกินไป การบริโภคผักและผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย การนอนหลับไม่มีคุณภาพ การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงเดียวกับการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) แม้ว่าโรคมะเร็งจะมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม สารเคมี หรือการติดเชื้อต่างๆ แต่การดูแลสุขภาพ ปรับพฤติกรรม ก็ช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้
“ทั้งหมดในกลุ่มโรค NCDs เป็นกลุ่มโรคที่เราทำตัวให้ดี สามารถทำให้ป่วยช้าได้หรือไม่ป่วยได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ก่อนที่เราจะเดินหน้าไปสู่การป่วยหรือการทานยา คือ ตอนนี้ยังไม่ป่วย เราควรดูแลร่างกายเราให้ดีที่สุด” เป็นคำพูดที่คุณหมอแอมป์ฝากเอาไว้ให้กับทุกคน อยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพของตัวเอง เพื่อร่วมสร้างสังคมไทยสุขภาพดี
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ทำให้เห็นผลกระทบของกลุ่มโรค NCDs เด่นชัดมากขึ้น เมื่อองค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานว่า ผู้ที่มีโรคประจำตัวมีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรค COVID-19 มากกว่าผู้มีสุขภาพแข็งแรง ดังนี้
- โรคความดันโลหิตสูง เพิ่มโอกาสการเสียชีวิตและเจ็บป่วยรุนแรงมากกว่าปกติ 2.3 เท่า
- โรคหลอดเลือดหัวใจ เพิ่มโอกาสการเสียชีวิตและเจ็บป่วยรุนแรงมากกว่าปกติ 2.9 เท่า
- โรคเบาหวาน เพิ่มโอกาสการเสียชีวิตและเจ็บป่วยรุนแรงมากกว่าปกติ 3 เท่า
- โรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มโอกาสการเสียชีวิตและเจ็บป่วยรุนแรงมากกว่าปกติ 3.9 เท่า
- โรคอ้วน เพิ่มโอกาสการเสียชีวิตและเจ็บป่วยรุนแรงมากกว่าปกติ 7 เท่า
คุณหมอแอมป์ได้ฝากเคล็ด (ไม่) ลับของการมีสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งทุกแนวทางมีความสำคัญ ต้องทำควบคู่กันไป
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ลดของหวาน มัน เค็ม และอย่าลืมรับประทานผักครึ่งหนึ่งของจาน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน, ประมาณ 5 วันต่อสัปดาห์
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงมลภาวะต่างๆ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่ออยู่นอกอาคาร
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยควรนอนตั้งแต่ 4 ทุ่ม และนอนให้ได้ 8-9 ชั่วโมงทุกวัน
- ผ่อนคลายตัวเองจากความเครียด ฝึกฝนการนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือทำกิจกรรมให้สมองสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน สมองได้พักผ่อน
“คนที่ฉลาดที่สุดคือคนที่เห็นว่าสมบัติที่สำคัญที่สุด คือ สุขภาพ ไม่มีอะไรที่มีค่ามากที่สุด เท่าสุขภาพที่ดี ภาษาอังกฤษคือ Health Brings Wealth สุขภาพที่ดี นำมาซึ่งทุกอย่างแล้วแต่เราอยากได้” คุณหมอแอมป์ฝากทิ้งท้ายให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญของการดูแลตัวเอง
BDMS Wellness Clinic มุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการ เพื่อมอบเป็นของขวัญสุขภาพแก่คนไทยทุกคน เพราะสุขภาพที่ดี คือของขวัญที่ดีที่สุด Live longer, Healthier and Happier
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ตัวแทนประชาสัมพันธ์โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โทร. 02-732-6069-70
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจจะสนใจ :
โรคไม่ติดต่อ (NCDs) อันตรายที่คร่าชีวิตคนไทยโดยไม่ทันตั้งตัว
6 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมวิธีการป้องกัน ทำอย่างไรให้ไม่ติดโรค?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซิฟิลิส โรคซิฟิลิสอันตรายกว่าที่คิด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!