อาการ แพ้ท้อง คืออาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้องสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน สตรีมีครรภ์ประมาณ 70% มีอาการแพ้ท้อง และประมาณ 3% มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนอาจรุนแรงโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก แต่แม่ท้องบางคนก็มีอาการแพ้ท้องตลอดการตั้งครรภ์ แล้วสาเหตุของการแพ้ท้องคืออะไร อาการแพ้ท้อง มีอะไรบ้าง มาหาคำตอบกันค่ะ
เพราะอะไรแม่ท้องจึงมีอาการ แพ้ท้อง ?
อาการแพ้ท้องหรือที่เรียกว่าอาการคลื่นไส้และอาเจียนของการตั้งครรภ์ เป็นอาการทั่วไป จะเกิดขึ้นในประมาณ 70% ของการตั้งครรภ์และจะเริ่มประมาณ 6 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์และกินเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ส่วนมากอาการจะดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 (สัปดาห์ที่ 13 ถึง 27 ในช่วงกลางของการตั้งครรภ์ 3 เดือน) อย่างไรก็ตามก็จะผู้หญิงที่มีอาการแพ้ท้องตลอดการตั้งครรภ์
ส่วนสาเหตุของการแพ้ท้องยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจาก
- น้ำตาลในเลือดต่ำหรือการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนในครรภ์ เช่น ฮอร์โมน chorionic gonadotropin (HCG)
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น
- อาการแพ้ท้องอาจจะแย่ลงอีกหากมีความเครียด
- เหนื่อยเกินไป
- การรับประทานอาหารบางชนิด
- มีความรู้สึกไวต่อการเคลื่อนไหว (คนที่เมารถง่าย)
- ตั้งครรภ์ครั้งแรก ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกมีแนวโน้มที่จะแพ้ท้องและมีอาการแพ้ท้องที่รุนแรงมาก
- พันธุกรรม หากแม่หรือพี่สาวของคุณเคยแพ้ท้อง งานวิจัยบางชิ้นบอกว่ามีแนวโน้มที่คุณจะแพ้ท้องได้
- สภาพอากาศที่ร้อนจัด
อาการแพ้ท้องรุนแรง ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่แพ้ท้องมักจะรู้สึกคลื่นไส้เป็นเวลาสั้น ๆ ในแต่ละวันและอาจอาเจียนครั้งหรือสองครั้ง ในกรณีที่แพ้ท้องรุนแรงมาก อาการคลื่นไส้อาจกินเวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวัน และอาเจียนบ่อยขึ้น อาการคลื่นไส้และอาเจียนที่รุนแรงที่สุดซึ่งเกิดขึ้นในสตรีมีครรภ์มากถึง 3% จะเรียกว่า ภาวะแพ้ท้องอย่างรุนแรง นั่นเองค่ะ
อาการของการแพ้ท้องอย่างรุนแรง (hyperemesis gravidarum) คืออะไร?
อาการของ hyperemesis gravidarum ได้แก่
- อาเจียนมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน
- ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง (สัญญาณที่แสดงว่าปัสสาวะมีน้อยหรือแทบไม่มีเลย ปัสสาวะสีเข้ม มีอาการวิงเวียนศีรษะขณะยืน)
- น้ำหนักลดลงเยอะ
คุณแม่ที่แพ้ท้องรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาโดยใกล้ชิดจากแพทย์และใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้
วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้อง
- กินแคร็กเกอร์หรือขนมปังปิ้ง 2-3 ชิ้นในตอนเช้าเพื่อช่วยย่อยอาหาร (วางแคร็กเกอร์ไว้ข้างเตียงสักสองสามชิ้น แล้วกินสักสองสามชิ้นก่อนจะลุกขึ้น)
- แบ่งรับประทานอาหารมื้อเล็ก 5 หรือ 6 มื้อต่อวันแทนอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อ
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดและอาหารมัน ๆ กินอาหารรสจืด เช่น กล้วย ข้าวต้ม โจ๊ก ขนมปังปิ้ง น้ำซุป ไข่ เต้าหู้
- กินของว่างเพื่อสุขภาพระหว่างมื้ออาหาร เช่น โยเกิร์ต ผลไม้ ผัก ชีส นม หรือถั่ว
- ดื่มน้ำมาก ๆ โดยค่อย ๆ จิบตลอดทั้งวัน
- ทานวิตามินก่อนคลอด ปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกทานวิตามิน
- หลีกเลี่ยงกลิ่น ไฟกะพริบ สถานการณ์อื่น ๆ ที่รบกวนคุณและกระตุ้นให้คุณแม่รู้สึกคลื่นไส้
- ชงชา หรือต้มน้ำขิง หรือลองทานลูกอมขิง จากการศึกษาจำนวนมากพบว่าขิงช่วยลดอาการคลื่นไส้และอาเจียนขณะตั้งครรภ์ได้จริง ๆ นอกจากนี้ ขิงสด ยังช่วยบรรเทาอาการท้องอืดได้อีกด้วยค่ะ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รักษาห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี เปิดพัดลม หรือออกไปข้างนอกเป็นครั้งคราวเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์
มียาอะไรบ้างที่สามารถรักษาอาการแพ้ท้องได้ ?
คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานวิตามินบี 6 (หรือที่เรียกว่าไพริดอกซีน) และด็อกซิลามีน ด็อกซิลามีนยังช่วยการนอนหลับและรักษาอาการแพ้อื่น ๆ และอย่าลืมปรึกษาคุณหมอก่อนทานยาหรือวิตามินต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ด้วยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ท้องไตรมาสแรก คำแนะนำและความเสี่ยงของคุณแม่มือใหม่
อาการแพ้ท้องเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ ?
แม้ว่าคุณอาจจะรู้สึกไม่สบาย แต่ลูกน้อยของคุณไม่ป่วยอย่างแน่นอน อาการคลื่นไส้และอาเจียนเล็กน้อยถึงปานกลางของการตั้งครรภ์มักไม่เป็นอันตรายต่อคุณแม่หรือลูกน้อยของในครรภ์ แต่อาจกลายเป็นปัญหาได้หากคุณแม่อาเจียนหนัก จนร่างกายขาดน้ำ และน้ำหนักลด เพราะอาการคลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรงอาจส่งผลต่อน้ำหนักของทารกเมื่อแรกเกิดได้ค่ะ
อีกเหตุผลหนึ่งในการคลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรงก็คือเป็นอาการของภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น กรดไหลย้อน จุกเสียดท้อง โรคไทรอยด์ โรคถุงน้ำดี หรือการอักเสบของไส้ติ่ง กระเพาะอาหาร ตับอ่อน หรือตับ
อาการแพ้ท้องต้องรุนแรงขนาดไหนถึงควรไปพบคุณหมอ ?
อย่ารอจนอาเจียนรุนแรงจึงไปพบแพทย์ การดูแลการแพ้ท้องตั้งแต่เนิ่น ๆ ของการตั้งครรภ์ สามารถช่วยป้องกันไม่ให้อาการนี้รุนแรงขึ้นได้ การอาเจียนรุนแรงไม่ใช่เรื่องปกติของการตั้งครรภ์และต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เท่านั้น
ควรรีบไปโรงพยาบาลทันทีหากคุณแม่มีอาการดังนี้
- มีอาการคลื่นไส้ตลอดทั้งวันจนไม่สามารถกินอาหารและดื่มน้ำได้
- อาเจียนวันละ 3 ครั้งขึ้นไป
- อาเจียนเป็นสีน้ำตาลหรือมีเลือดปน
- น้ำหนักลด
- รู้สึกเหนื่อยหรือสับสนมาก
- รู้สึกวิงเวียนหรือเป็นลม
- อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ปัสสาวะน้อยหรือไม่มีเลย
อาการแพ้ท้องของคุณแม่ โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ อาจจะทำให้รู้สึกกังวลไปบ้าง แต่จากข้อมูลทั้งหมดก็เบาใจได้แล้วนะคะว่าถ้าไม่ได้มีอาการแพ้ท้องรุนแรงก็ไม่ส่งต่อลูกน้อยแน่นอนค่ะ แต่ถ้าหากคุณแม่ท่านไหนมีอาการแพ้ท้องแบบรุนแรงแล้วละก็ ต้องรีบไปพบแพทย์ด้วยนะคะ เพราะอาจจะต้องทานยาหรือวิตามินเพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องนั่นเองค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ไขข้อสงสัย อาการแพ้ท้องลูกสาว แพ้ท้องแบบนี้จะได้ลูกสาวหรือเปล่า
อาการแพ้ท้องแทนเมีย แพ้ท้องแทนเมียมีจริงหรือ? แพ้ท้องแทนเมีย
7 ผลไม้ที่ลดอาการแพ้ท้อง แพ้ท้องต้องกินยังไง รับมือไว้ให้หายชัวร์
ที่มา : clevelandclinic , whattoexpect