การเลี้ยงดูที่ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและเป็นสุข จะส่งผลให้สมองเกิดการหลั่งของสาร Endorphin หรือสารที่ทำให้เด็กมีความสุข ส่งผลให้ลูกอารมณ์ดี ทำให้สมองของเด็ก ๆ เจริญเติบโตได้ดี มีความจำดี และสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ความรักของพ่อแม่ที่ให้ลูกย่อมต้องมีความพอดีและเหมาะสม ยังมีความรักหลายแบบที่กลายเป็นทำร้ายลูกที่พ่อแม่ควรรู้ มาเช็คกันว่า รักลูกมาก ไปหรือเปล่า เลี้ยงแบบนี้ถูกวิธีไหม รักลูกแบบไหนเรียกว่าทำร้าย
#รักลูกแบบทะนุถนอมมากเกินไป
เป็นความรักที่พ่อแม่เกือบทุกคนมอบให้ลูกอย่างเต็มที่ แต่การปกป้องประคบประหงมลูกมากเกินไป ไม่กล้าปล่อยให้ลูกได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง เพราะกลัวลูกจะเป็นอันตรายหรือกลัวลูกลำบาก เช่น ลูกใช้ช้อนตักข้าวกินเองได้แล้วก็ยังคอยป้อนข้าวลูก หรือห้ามลูกทำนู่นนี่สารพัด
การเลี้ยงดูลูกแบบทำให้ทุกอย่างและจัดการชีวิตลูกหมดทุกเรื่อง ความรักแบบนี้จะทำให้ลูกขาดทักษะในการช่วยเหลือตนเอง ขาดความมั่นใจ ไม่มีความกล้าที่จะตัดสินใจ กลายเป็นเด็กขี้กลัว คอยแต่ให้พ่อแม่ทำให้ทุกเรื่องจนกลายเป็นนิสัยติดไปจนโต ถ้าเป็นเด็กผู้ชายลูกอาจมีนิสัยขี้อาย ขี้ขลาด ไม่มีความเป็นผู้นำ ถ้าเป็นเด็กผู้หญิง ก็จะมีนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง ชอบให้คนมาเอาอกเอาใจ และเป็นคนที่ไม่มีความมั่นคงในอารมณ์ได้
#รักลูกแบบตามใจลูกทุกอย่าง
พยายามหาทุกสิ่งอย่างที่ลูกอยากได้มาให้ลูกไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีราคาแพงหรือหามาด้วยความลำบากขนาดไหน หรือการเอาใจลูกไม่ว่ากล่าวดุด่าแม้กระทั่งรู้ว่าลูกทำผิด จนทำให้เด็กไม่รู้ว่าพฤติกรรมไหนเรียกว่าถูกผิด และกลายเป็นเด็กก้าวร้าว นอกจากนี้การตามใจลูกมากเกินไป ชื่นชมลูกทุกสิ่งอย่าง จะทำให้ลูกมีนิสัยหลงตัวเอง และรู้สึกว่าตนเองดีกว่าคนอื่นเสมอ กลายเป็นคนชอบดูถูกคนอื่น เมื่อเวลาทำผิดพลาดก็ไม่คิดว่าตัวเองผิดแต่กลับไปโทษคนอื่น หากพ่อแม่ให้ความรักแบบนี้จนทำให้ลูกติดนิสัย จะกลายเป็นปัญหาต่อการเข้าสังคมของลูกได้ในอนาคต
Read : เตือนพ่อแม่ระวังโรคใหม่ของเด็กไทย “โรคไม่รู้จักความลำบาก”!!
#รักลูกแบบลำเอียง
ความรักแบบนี้จะเกิดขึ้นในครอบครัวที่มีลูก 2 คนขึ้นไป เป็นความรักที่พ่อแม่แสดงออกต่อการรักลูกไม่เท่ากัน เช่น รักลูกชายมากกว่าลูกสาว รักลูกที่เรียนเก่งมากกว่า ไม่ค่อยเอาใจใส่ลูกคนกลาง ฯลฯ พฤติกรรมการแสดงออกในความรักที่ลำเอียงของพ่อแม่จะส่งผลร้ายต่อลูกที่ไม่ได้รับความรักเป็นอย่างมาก การได้รับความรักที่ไม่เท่าเทียมจากพ่อแม่จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด ขี้น้อยใจ เจ้าคิดเจ้าแค้น และไม่มีความรักต่อพี่น้องคนอื่น ซึ่งอารมณ์แบบนี้จะส่งผลต่อเด็กในอนาคตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะทำให้เขากลายเป็นคนขี้อิจฉาเมื่อเห็นใครดีกว่า และพยายามที่จะชิงดีชิงเด่น เอาชนะเพื่อให้คนอื่นเห็นตนดีกว่า ซึ่งพลอยแต่จะทำให้ตัวเองขาดความสุขได้
Read : รักลูกไม่เท่ากันมีผลต่อพฤติกรรมของลูก
ความรักที่พ่อแม่มีให้กับลูกไม่ใช่สิ่งผิด แต่ควรเป็นความรักที่ไม่เกินพอดีและมีปริมาณที่เหมาะสมเพียงพอที่จะทำให้ลูกรับรู้ความรู้สึกดี ๆ จากพ่อแม่ ความรักจึงจะได้มาพร้อมกับความสุข และการเจริญเติบโตที่ดีของลูกต่อไปในอนาคต รักลูกให้ถูกทางกันนะคะ.
Source : www.thaihealth.or.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
รักลูก อย่าเป็น “พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์”
7 คำถามของพ่อแม่ถ้าอยากเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!