คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะท้องแรก ย่อมต้องใส่ใจดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพราะร่างกายมักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้คุณแม่ต้องรับมือกับอาการคนท้องตลอดเวลา โดยเฉพาะอาการ ท้องแข็ง ซึ่งถือเป็นอาการเจ็บปวดอย่างหนึ่งที่ควรระวังเป็นพิเศษ วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับอาการท้องแข็งมาฝากค่ะ หากคุณแม่ท่านไหนกำลังสงสัยว่าท้องแข็งมีอาการอย่างไร มาดูพร้อมกันเลย
ท้องแข็ง คืออะไร?
ท้องแข็ง คือ อาการที่บ่งบอกว่าร่างกายคุณแม่พร้อมคลอดลูกแล้ว ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากร่างกายหลั่ง ฮอร์โมนออกซิโทซิน ไปกระตุ้นให้มดลูกส่วนต้นหดรัดตัว โดยคุณแม่อาจรู้สึกแน่นท้อง หน้าท้องแข็ง และมีอาการปวดท้องคล้ายกับปวดประจำเดือน ปวดหน่วง และปวดอุจจาระ โดยในช่วงนี้คุณแม่พบอาการท้องแข็งจริง และ ท้องแข็งหลอก ได้เช่นกัน ทำให้หลายคนเข้าใจผิด และไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของอาการ ท้องแข็งจริง และท้องแข็งหลอกได้ค่ะ
สาเหตุของอาการท้องแข็ง
อาการท้องแข็งสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลัก ๆ นั้นมีดังนี้
- เกิดจากลูกในท้อง : โดยบางครั้งลูกในครรภ์อาจดิ้นไปโดนผนังมดลูก จนกระตุ้นให้มดลูกเกิดการบีบตัวเอง
- เกิดจากมดลูก : โดยบางครั้งมดลูกอาจบีบตัวขึ้นเอง จนทำให้กล้ามเนื้อมดลูกขาดเลือด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนด หรือแท้งลูกได้
- เกิดจากแก๊สในกระเพาะ : การรับประทานอาหารบางชนิดทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะได้ เนื่องจากขนาดครรภ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปมาก ก็อาจทำให้ไปเบียดมดลูกจนเกิดการบีบตัวได้
- เกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน : บางครั้งอาการท้องแข็งอาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิด เช่น การทำงานหนัก การพักผ่อนน้อย การกลั้นปัสสาวะเป็นประจำ และการมีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรง เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องต้องรู้! ท้อง 8 เดือนมีอาการท้องแข็ง ผิดปกติหรือไม่ มาดูกัน!
ท้องแข็งอาการเป็นอย่างไร?
ท้องแข็งเป็นอาการของสัญญาณใกล้คลอด ที่มักจะเกิดในช่วงสัปดาห์ที่ 40 ของการตั้งครรภ์ โดยทั่วไปแล้ว คุณแม่อาจต้องเผชิญกับอาการท้องแข็งจริง และท้องแข็งหลอก ซึ่งเราสามารถแยกแยะอาการของท้องแข็งจริง และท้องแข็งหลอก ได้ดังนี้
-
ท้องแข็งจริง
สำหรับอาการของท้องแข็งจริง คุณแม่อาจรู้สึกแน่นท้อง และรู้สึกหน้าท้องแข็งเมื่อสัมผัส และยังมีอาการปวดท้อง ไม่สบายท้อง คล้ายกับปวดประจำเดือน หรือปวดหน่วง ๆ คล้ายกับปวดอุจจาระ ซึ่งอาการปวดที่เกิดขึ้นนั้น จะเป็นจังหวะ ซึ่งคุณแม่จะรู้สึกปวดเพียงเล็กน้อย จนถึงขั้นปวดอย่างรุนแรง โดยอาการท้องแข็งจะเกิดทุก 15-20 นาที และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ และหายค่อย ๆ เกิดบ่อยขึ้นในช่วงใกล้คลอด
-
ท้องแข็งหลอก
โดยทั่วไปแล้ว อาการท้องแข็งหลอกมักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 28-40 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้คุณแม่สับสน และเข้าใจผิดว่าอาการท้องแข็งหลอก เป็นสัญญาณของการใกล้คลอดแล้ว โดยคุณแม่อาจมีอาการรู้สึกเหนื่อย มีภาวะขาดน้ำ รู้สึกแน่นท้อง หรือไม่สบายท้อง แต่อย่างไรก็ตามอาการปวดท้องหลอก จะมีอาการปวดเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรงมากนัก และมักจะหายไปเมื่อปัสสาวะ และเปลี่ยนท่าทางการนั่งหรือนอน ทั้งนี้คุณแม่สามารถดื่มน้ำบ่อย ๆ ออกกำลังกายเบา ๆ และเปลี่ยนท่าทางการนั่ง และการนอน เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องหลอกได้
ท้องแข็ง กับ ท้องอืด ต่างกันอย่างไร?
นอกจากอาการท้องแข็งหลอกแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจมีอาการท้องอืด จนทำให้รู้สึกสับสนระหว่างอาการท้องแข็ง และท้องอืด เพราะรู้สึกไม่สบายท้องเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองอาการนี้มีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยสามารถสังเกตอาการท้องอืด ได้ดังนี้
- เมื่อสัมผัสท้องจะไม่รู้สึกว่าหน้าท้องแข็ง
- อาการท้องอืดมักเกิดขึ้น และหายไปเอง ไม่แน่นอน
- หากรู้สึกว่าผายลมแล้วอาการปวดน้อยลง อาจแปลว่ามีอาการท้องอืด
- รับประทานผักตระกูลกะหล่ำปลี หรือเครื่องดื่มที่มีแก๊ส แล้วรู้สึกปวดท้อง
- หากมีอาการท้องอืด มักจะรู้สึกเสียดท้อง แต่หากมีอาการท้องแข็ง จะรู้สึกปวดท้องคล้ายการปวดประจำเดือน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้องอืดทำอย่างไร อาหารและเครื่องดื่มอะไรที่ช่วยลดอาการท้องอืดได้?
ท้องแข็งแบบไหนควรรีบไปพบแพทย์?
หากคุณแม่พบว่ามีอาการท้องแข็งผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนดได้ ดังนั้นหากคุณแม่มีอาการท้องแข็ง ร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- ปากมดลูกเปิด และถุงน้ำคร่ำแตก
- ปวดท้อง และไม่สบายท้องอย่างรุนแรง
- แน่นท้อง และรู้สึกหน้าท้องแข็งเวลาสัมผัส
- มีเลือด หรือมูกเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด
- มีอาการท้องแข็งก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์
- รู้สึกปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน คล้ายกับการถูกกดทับ
- อาการปวดท้องไม่ทุเลาลง แม้ว่าจะพักผ่อน และกินยาบรรเทาแล้ว
วิธีบรรเทาอาการท้องแข็ง
หากคุณแม่มีอาการท้องแข็งที่ไม่รุนแรงมากนัก คุณแม่สามารถบรรเทาอาการด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้
- ทำกิจกรรมคลายเครียด : คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก และหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง และนอนหลับพักผ่อน ก็จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
- เดินย่อยหลังการรับประทานอาหาร : หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ คุณแม่ควรเดินย่อยสักครู่ ไม่ควรนอนทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการจุกเสียดภายในท้องนั่นเอง นอกจากนี้คุณแม่ควรรับประทานอาหารแต่พอดี ไม่กินมากจนเกินไป
- ไม่กลั้นปัสสาวะ : การกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ อาจทำให้กระเพาะปัสสาวะโตจนไปเบียดมดลูกได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องแข็งตึง ดังนั้นเมื่อคุณแม่ปวดปัสสาวะ ควรรีบไปเข้าห้องน้ำทันที เพราะเมื่อปัสสาวะแล้ว อาการท้องแข็งตึงก็จะหายไปนั่นเอง
- อาบน้ำอุ่น : การอาบน้ำอุ่น และการประคบเย็นบริเวณหน้าท้อง หรือบริเวณหลัง ช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลาย ขจัดความเครียด และลดความเสี่ยงในการเกิดอาการท้องแข็ง
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง : การมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์อาจเป็นเรื่องปกติ แต่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงไปก่อนดีกว่า เพราะถ้าหากมีการลูบหน้าท้อง การเหวี่ยง หรือการจับตัวอย่างรุนแรงขณะที่มีเพศสัมพันธ์ ก็อาจส่งผลให้มดลูกเกิดการบีบตัวได้ง่าย ทางที่ดี ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงตั้งครรภ์ไปก่อนดีกว่า
ท้องแข็ง ถือเป็นอาการที่คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนอาจต้องเผชิญ เพราะเมื่อถึงเวลาใกล้คลอด อาการท้องแข็งก็มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามนอกจากอาการท้องแข็งแล้ว คุณแม่อาจต้องเผชิญกับอาการ ท้องแข็งหลอก ที่ทำให้รู้สึกแน่นท้อง และไม่สบายท้องเช่นกัน โดยคุณแม่สามารถใช้วิธีการดื่มน้ำ ออกกำลังกายเบา ๆ และทำกิจกรรมคลายเครียด เพื่อลดอาการดังกล่าวได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาการคนท้องหลอก อาการท้องลม ท้องหลอกเป็นอย่างไร?
อาการท้องผูกของคุณแม่ตั้งครรภ์ หากแก้ไขไม่ทันอาจส่งผลเสียมากกว่าที่คิด
มีอาการท้องเสีย เมื่อมีอาการท้องเสียทำอย่างไร ท้องร่วงสิ่งที่ควรกินและไม่ควรกิน
ที่มา : pobpad, sanook, enfababy