สาเหตุนอนไม่หลับ นั้นเกิดมาจากอะไร? แล้วจะมีความเสี่ยงเป็นโรคนอนไม่หลับหรือไม่? บทความวันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ เชื่อว่าหลาย ๆ คน อาจจะเคยมีอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นกับตัวเองบ้างในบางครั้ง ซึ่งการนอนไม่หลับนั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายสาเหตุมาก ๆ และถ้าหากเป็นขึ้นมาแล้วปล่อยเรื้อรังต่อไปก็อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตใจ และปัญหาสุขภาพร่างกายตามมา ดังนั้น วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับให้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่หากใครที่เริ่มมีอาการนอนไม่หลับจะได้ปรับพฤติกรรมการนอนใหม่ได้ทัน มาตามไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
สาเหตุนอนไม่หลับ เกิดจากอะไร?
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับ หรือมีอาการนอนไม่หลับนั้น อาจจะเกิดขึ้นได้หลากหลายสาเหตุมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยทางด้านร่างกาย จิตใจ หรือสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ รวมไปถึงอุปนิสัยการนอน (Sleep hygiene) เป็นต้น ซึ่งจะแบ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับ ดังนี้
- ปัจจัยทางด้านร่างกาย อาจจะเกิดอาการเจ็บป่วยปัญหาสุขภาพทางด้านร่างกาย เช่นโรคกรดไหลย้อน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคขากระตุกขณะหลับ เป็นหวัด มีไข้ ปวดหัว รวมไปถึง มีอาการเหนื่อยล้าจากการทำงาน เป็นต้น พอเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น อาจจะทำให้นอนหลับยากขึ้น
- ปัจจัยทางด้านจิตใจ อาจจะมีปัญหาสุขภาพทางด้านจิตใจที่ส่งผลโดยตรงกับความรู้สึก เช่น อาจจะเกิดจากความเครียด ความวิตกกังวลต่าง ๆ โรคซึมเศร้า หรือโรคไบโพลาร์ เป็นต้น เมื่อมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับได้
- ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ในส่วนของปัจจัยของสิ่งก็ถือเป็นปัญหาที่ทำให้ส่งผลในการนอนไม่หลับได้ เช่น อาจจะเกิดจากการมีเสียงดังรบกวน หรือมีแสงไฟที่สว่างเกินไปมา หรือพื้นในการนอนคับแคบเกินไป เป็นต้น
- เล่นเกม หรือเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลทำให้นอนไม่หลับได้เช่นเดียวกัน
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป หรือการใช้ยาบางชนิด ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการนอน
- การรับประทานอาหารที่มากเกินไปจนทำให้เกิดอาการอิ่มมากกว่าปกติ ก็อาจจะทำให้มีอาการแน่นอนท้องในช่วงกลางดึกได้ หรือถ้าหากคุณไม่รับประทานอาหารให้ตรงเวลาจนปล่อยให้ท้องว่าง ก็อาจจะทำให้เกิดอาการหิวขึ้นมาในช่วงดึก ปัจจัยเหล่านี้ก็อาจจะส่งผลจนทำให้คุณนอนไม่หลับได้เช่นเดียวกัน
- อาชีพบางประเภทก็อาจจะส่งผลทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ หรือนอนไม่เป็นเวลา เพราะอาจจะต้องเปลี่ยนเวลาการนอนอยู่บ่อยครั้ง เช่น พยาบาล หมอ หรือพนักงานรักษาความปลอดภัย
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการนอนไม่หลับของคนท้อง เกิดจากอะไร แก้ไขปัญหาได้ด้วยเทคนิคเหล่านี้
การนอนไม่หลับส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง
การนอนไม่หลับหรือพักผ่อนไม่เพียงพอนั้นอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน อาจจะทำให้คุณใช้ชีวิตได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น เช่น ช่วงกลางวันคุณอาจจะมีอาการง่วงนอนตลอดเวลา และอาจจะทำให้กิจกรรมในแต่ละวันที่คุณต้องทำมีประสิทธิภาพแย่ลง เช่น การเรียน และทำงาน นอกจากนี้ ก็อาจจะทำคุณเกิดอาการเหนื่อยล้าได้ง่าย และอาจจะมีอาการเครียดสะสมจนทำให้เกิดภาวะซึมได้ อีกทั้ง ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
ควรนอนวันละกี่ชั่วโมงถึงจะดีต่อสุขภาพ?
การนอนหลับที่เพียงพอต่อร่างกายต้องการ จะแตกต่างกันตามช่วงอายุออกไป เพื่อให้ร่างกายพักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม หลับแล้วดีต่อสุขภาพมากที่สุด จะแบ่งออกเป็น ดังนี้
- เด็กทารกแรกเกิด 4-12 เดือน ควรนอนหลับ 12 -17 ชั่วโมง/วัน
- สำหรับเด็กอายุ 1-2 ปี ควรนอน 12 -14 ชั่วโมง/วัน
- สำหรับเด็ก 3-5 ปี ควรนอน 10 -13 ชั่วโมง/วัน
- ต่อมา เด็กอายุ 6-13 ปี ควรนอน 9 -11 ชั่วโมง/วัน
- เด็กวัยรุ่นอายุ 14-18 ปี ควรนอน 8 -10 ชั่วโมง/วัน
- วัยผู้ใหญ่ ควรนอน 7 -9 ชั่วโมง/วัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตารางการนอนของลูก ตารางเวลานอนลูก 1 เดือนแรก เคล็ดลับการนอนของลูก!
เมื่อมีอาการนอนไม่หลับจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนอนไม่หลับหรือไม่
สำหรับโรคนอนไม่หลับนั้นสามารถที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย ซึ่งโรคนี้จะเป็นภาวะหลับไม่พอ หลับยาก มีปัญหานอนไม่หลับ ในขณะที่คุณมีโอกาสเพียงพอสำหรับการนอนพักผ่อน ซึ่งอาการนอนไม่หลับอาจเกิดในระยะสั้น หรือในระยะยาวก็ได้ ดังนั้น เราจะแบ่งโรคนอนไม่หลับออกเป็น 4 ประเภท เพื่อให้คุณเช็กอาการว่าตัวเองอยู่ในประเภทไหน
- หลับยาก (initial insomnia) คือภาวะหลับยากเมื่อต้องการนอน อาจจะต้องใช้เวลานอนนานกว่าปกติถึงจะหลับ
- หลับแล้วตื่นและไม่สามารถหลับตามที่ร่างกายต้องการได้อีก (maintenance insomnia) คือภาวะที่ไม่สามารถนอนหลับได้ยาวนาน อาจจะมีการตื่นกลางดึกบ่อย และหลับต่อได้ยาก
- ตื่นเร็วและหลับต่อไม่ได้ (terminal insomnia) คือภาวะที่ตื่นเร็วเกินกว่าปกติ ซึ่งอาการประเภทนี้มักจะพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า
- อาการนอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic insomnia) จะเป็นภาวะที่มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง 3 ครั้ง/สัปดาห์ และอาจจะมีอาการเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน หรือเป็นปี ซึ่งอาการของโรคนอนไม่หลับประเภทนี้นั้นอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ เนื่องจากร่างกายนั้นพักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้น ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ทำการวินิจฉัย และทำการรักษาเพราะอาการต่อไปจะดีที่สุดค่ะ
- อาการนอนไม่หลับจากการปรับตัว (Adjustment insomnia) เป็นอาการนอนไม่หลับแบบเฉียบพลันจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่พบเจอ จนทำให้เกิดความเครียด ความกังวล หรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น สถานที่นอน หรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากคุณสามารถแก้ปัญหาได้ คุณก็จะกลับมานอนหลับได้เหมือนเดิม
เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับข้อมูลที่เรานำมาฝากกัน การพักผ่อนถือเป็นสิ่งที่สำคัญต่อร่างกายมาก ๆ เลยนะคะ หากนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็อาจจะส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น ในเรื่องของการทำงาน ก็อาจจะทำให้ผลงานที่ทำนั้นขาดคุณภาพ แล้วก็อาจจะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ดังนั้น ถ้าหากคุณรู้สึกตัวเริ่มมีอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้น และรู้สึกว่ามันเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเองอย่างรุนแรง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาทันทีนะคะ ไม่ควรปล่อยไว้จนเป็นอาการเรื้อรัง ไม่อย่างนั้นอาจจะส่งผลร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา ทั้งต่อร่างกายและจิตใจค่ะ หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แม่ท้องไตรมาสที่สองนอนไม่หลับ ทำอย่างไรให้หลับง่าย ไม่เพลียตอนตื่นนอน?
ภาวะนอนไม่หลับในเด็ก ลูกไม่ยอมนอน ทำอย่างไรดี
คนท้องกินเมลาโทนินได้มั๊ย? นอนไม่หลับ นอนไม่ไหว อยากกินเมลาโทนินมาก
ที่มา : petcharavejhospital, nksleepcenter