เศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่ใคร ๆ ก็ต้องเรียนรู้ไม่ใช่แค่เด็กวัยเรียนเท่านั้น และที่พลาดไม่ได้คือ “เงินฝืด เงินเฟ้อ” ภาวะที่คอยกำหนดทิศทางของราคาสินค้าในปัจจุบัน ของจะแพง ของจะถูก ก็เกี่ยวข้องกับการฝืดและการเฟ้อของเงินทั้งสิ้น หากใครยังไม่ค่อยเข้าใจต้องอ่านบทความนี้ ยิ่งถ้าเป็นเด็ก ๆ ยิ่งควรทำความเข้าใจเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
เงินฝืด เงินเฟ้อ ความสัมพันธ์ที่ส่งผลกับทุกคน
เมื่อกล่าวถึงเงินฝืด กับเงินเฟ้อ หลายคนอาจพอเข้าใจแล้วว่าคืออะไร สามารถสรุปด้วยนิยามง่าย ๆ ว่า “เงินเฟ้อคือของแพงขึ้น” ส่วน “เงินเฟ้อคือของถูกลง” แต่เรื่องนี้มีรายละเอียดมากกว่านั้น ด้วยเงินเฟ้อสามารถกระตุ้นให้เกิดเงินฝืดได้ เราจึงจะอธิบายให้เข้าใจกันก่อนว่า เงินเฟ้อคืออะไร ก่อนจะตามด้วยข้อมูลของเงินฝืด หากพร้อมที่จะเรียนรู้แล้ว เรามาเริ่มกันเลย
บทความที่เกี่ยวข้อง : 6 เทคนิค วางแผนการเงิน สุดเจ๋ง ใช้เงินยังไงให้ฉลาด เงินงอกเงย
วิดีโอจาก : KBank Live
เงินเฟ้อ คืออะไร ?
เงินเฟ้อ (Inflation) คือ สภาวะทางการเงินที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของสินค้า และบริการในทิศทางที่มีมูลค่า หรือค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าเดิม หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า “ของแพงขึ้น” ยกตัวอย่างเช่น ปีก่อนซื้อข้าวกะเพราหมูสับ 1 จาน ราคา 40 บาท แต่ปีนี้ราคาปรับเป็น 45 บาท เป็นต้น สิ่งที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อไม่ใช่แค่อาหารเท่านั้น แต่รวมไปถึงบริการต่าง ๆ และสินค้ารอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หรือค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
โดยปกติแล้วการวัดปริมาณการเฟ้อจะวัดเทียบจาก 1 ปีที่แล้ว หรือที่เรียกว่า “อัตราเงินเฟ้อ” เช่น หากบอกว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3 % นั่นหมายความว่า เมื่อปีก่อนซื้อเสื้อยืดราคา 200 บาท แต่ในปีนี้ราคาจะขึ้นมา 3 % เป็นราคา 203 บาทนั่นเอง
ผลกระทบจากเงินเฟ้อ
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการใช้จ่ายสูงขึ้น คือ ผู้บริโภค และผู้ประกอบการที่รับภาระแตกต่างกัน ในมุมของผู้ประกอบการที่ทำหน้าที่ผลิตสินค้าต่าง ๆ มาวางขาย อาจเจอกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากการที่วัตถุดิบขึ้นราคา ส่งผลให้ราคาของสินค้าที่นำมาวางขายมีราคาสูงขึ้นตามต้นทุน ซึ่งในเรื่องนี้เองเราจะเห็นตามข่าวเสมอว่า ผู้ประกอบการบางรายยอมที่จะไม่ขึ้นราคาสินค้าในช่วงแรก เพราะยังมั่นใจว่าตนเองสามารถแบกรับไหว แต่เมื่อแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อไม่ดีขึ้น สุดท้ายผู้ประกอบการก็ต้องขึ้นราคาสินค้าของตนเองอยู่ดี
ในมุมของผู้บริโภคอย่างเราแน่นอนว่าได้รับผลกระทบโดยตรง จากการที่สินค้าเหล่านั้นมีราคาสูงขึ้น ส่งผลต่อกำลังในการซื้อของผู้บริโภคอาจจะน้อยลงเพราะของแพง ในขณะเดียวกันหากเป็นของจำเป็นต้องซื้อ เช่น อาหาร, เสื้อผ้า หรือยา ก็อาจต้องจำใจจ่ายแม้ราคาจะแพงกว่าเดิมก็ตาม นอกจากปัญหาของผู้บริโภคจะมาจากราคาสินค้าแล้ว อีกหนึ่งปัญหา คือ การที่ทุกอย่างรอบตัวมีราคาเพิ่ม แต่เงินเดือนของผู้บริโภคหรือรายได้ยังเท่าเดิม ทำให้ผู้บริโภคกำเงินเท่ากับปีที่แล้วในมือ แต่ซื้อของในปีนี้ได้น้อยลงไปนั่นเอง
จะรับมือกับภาวะเงินเฟ้อได้อย่างไร ?
สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ ค่าของเงินบาทที่ลดลง ส่งผลให้การถือเงินสดจะทำให้เราดูเหมือน “จนลง” เมื่อเทียบกับจำนวนเงินเท่ากันกับปีที่แล้ว การเก็บเงินสดจึงอาจเป็นทางเลือกที่ทำให้มูลค่าหายไป
- เราอาจเลือกที่จะนำเงินไปลงทุนในช่องทางอื่น เช่น หุ้น, หรือกองทุนรวม หรือลงทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น แต่การลงทุนรูปแบบนี้ ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน ยิ่งหวังกำไรมาก ยิ่งเสี่ยงมากจึงต้องศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
- เลือกการลงทุนในสิ่งที่มีความปลอดภัยมากขึ้นกว่าหุ้น หรือกองทุนรวม ที่นิยมในปัจจุบัน คือ สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยในระดับสากลอย่าง “ทองคำ” นั่นเอง
- วางแผนการใช้เงินใหม่ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นให้น้อยลงไปมากที่สุด ใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นไปก่อนจนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น หรือตนเองเริ่มปรับตัวได้ รวมถึงพยายามไม่ให้ตนเองเป็นหนี้ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้
เงินฝืด คืออะไร ?
เงินฝืด (Deflation) คือ ภาวะทางเศรษฐกิจที่ราคาสินค้า และบริการมีแนวโน้มถูกลงจากแต่ก่อน เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับเงินเฟ้อเหมือนแม่เหล็กขั้วบวกและลบ จากการที่ผู้บริโภคนำเงินออกมาใช้น้อยมาก เมื่อเกิดเงินฝืด จะทำให้มูลค่าของเงินบาทมีมากขึ้น สามารถใช้จ่ายในจำนวนเดิมแต่ซื้อของได้มากกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนจ่าย 10 บาทซื้อลูกอมได้ 10 เม็ด แต่เมื่อเกิดเงินฝืดจ่าย 10 บาท จะได้ลูกอม 12 เม็ด เป็นต้น อย่างไรก็ตามในภาวะนี้ไม่ใช่ว่าบริการ หรือสินค้าทุกอย่างจะถูกดึงราคาลงตามกันไปทั้งหมด ยังอาจมีบางส่วนที่ยังคงราคา หรือมีราคาสูงขึ้นได้เช่นกัน
ผลกระทบจากเงินฝืด
อาจกล่าวได้ว่าเงินฝืดคือสิ่งที่ตามมาจากความกลัวของผู้บริโภคช่วงเงินเฟ้อ เนื่องจากช่วงที่ข้าวของราคาแพง ผู้บริโภคจะซื้อของได้น้อยลง หลายคนแก้ปัญหาด้วยการลดการใช้เงิน ไม่จำเป็นจริง ๆ ก็คงไม่ซื้ออะไร ด้วยเหตุนี้เองทำให้สินค้า หรือบริการต้องปรับตัวด้วยการลดราคาสินค้าลง เพื่อกระตุ้นให้คนออกมาใช้เงินนั่นเอง แต่นั่นก็หมายความว่าผู้ประกอบการจะได้กำไรน้อยลงตามไปด้วย การแก้ปัญหานี้จึงเป็นวิธีที่ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากราคาสินค้าที่ถูกลง ทำให้มีอำนาจในการซื้อข้าวของ และใช้บริการต่าง ๆ ได้มากขึ้นจากจำนวนเงินเท่าเดิม
แต่ท้ายที่สุดแล้วจะไม่มีใครได้ประโยชน์จากภาวะเงินฝืดอย่างเต็มที่ แถมยังเกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น ๆ เนื่องจากผู้ประกอบการ คือ ผู้ว่าจ้างพนักงาน และผู้บริโภคทั่วไปจะต้องมีงานทำ ซึ่งงานส่วนมากก็เกิดจากผู้ประกอบการแทบทั้งสิ้น เมื่อธุรกิจที่ผู้ประกอบการทำสามารถสร้างกำไรได้น้อยลงกว่าปกติ สิ่งที่ตามมาอาจเป็นการลดจำนวนพนักงาน ทำให้เกิดประชาชนที่ว่างงาน ขาดรายได้ หรือเลวร้ายไปกว่านั้น คือ ธุรกิจไปไม่รอด ทำให้คนตกงานทั้งหมด ภาวะเงินฝืด จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
เราควรปรับตัวอย่างไรภาวะเงินฝืด
- หากเป็นพ่อค้าแม่ค้าแน่นอนว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง จึงอาจทำให้ต้องมองหางานทำเพิ่มเพื่อหารายได้เสริมในช่วงนี้ หรือดูตลาดในเวลานั้นว่าสินค้าประเภทไหนที่อยู่รอด ยังคงต้องการอยู่ทำให้ประคองราคาได้ หากสามารถลงทุนกับสิ่งนั้นได้ ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
- หากเป็นผู้บริโภค เป็นบุคคลทั่วไป ถือว่าจะได้รับประโยชน์มากในช่วงนี้ โดยเฉพาะคนที่มีเงินเก็บ ในเวลานี้เงินของคุณมีมูลค่ามากสินค้าบางอย่างที่เมื่อก่อนไม่กล้าซื้อเพราะราคาสูง ตอนนี้ราคาจะต่ำลงจนสามารถซื้อได้
- เป็นช่วงเวลาของการลงทุน ประชาชนทั่วไปยังอาจมองหาการลงทุนในสินค้าบางตัวได้ดี หากคิดว่ามีแนวโน้มจะขายดีในวันข้างหน้า การลงทุนสินค้านั้น ๆ ในตอนนี้ จะทำให้ใช้ทุนน้อยลง แต่ก็ยังถือว่าอาจมีความเสี่ยง เพราะไม่มีใครบอกว่าต่อไปจะขายสินค้านั้นได้ดีจริง ๆ
หากคำถามที่ว่าเงินฝืดกับเงินเฟ้อแบบไหนดีกว่ากัน หากมองในมุมเศรษฐกิจหลายคนจะบอกว่าเงินเฟ้อพอประมาณจะดีที่สุด แต่ถ้ามองในมุมของผู้บริโภคที่มองหาโอกาสเงินฝืดถือว่าเป็นคำตอบที่ดีที่สุด แต่ไม่ว่าจะตัดสินใจลงทุน หรือนำเงินออกมาใช้ในช่วงไหนก็ตาม อย่าลืมที่จะศึกษาอย่างละเอียดก่อนนะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ออมเงินอย่างไร ให้ได้เงินล้าน เทคนิคออมเงิน ง่าย ๆ นำไปใช้ได้เลย
พ่อแม่ต้องรู้! 4 เคล็ดลับทำให้ลูกมีเงินแสนได้ตั้งแต่ก่อนเรียนจบ
ฟองสบู่คืออะไร รู้ทันฟองสบู่ เพื่อการเงินที่ปลอดภัยในอนาคต (ฉบับเข้าใจง่าย)
ที่มา : moneybuffalo, bot, moneyhub
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!