พัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) พ่อแม่สร้างได้ง่าย ๆ แต่วันนี้ เรามาทำความเข้าใจว่า พัฒนาทักษะEF คืออะไร วันนี้ TheAsianparent Thailand มีคำตอบ รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา จากศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึง EF ไว้ว่า EF ย่อมาจาก Executive Functions คือ กระบวนการทางความคิดในส่วน “สมองส่วนหน้า” ที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก การกระทำ เป็นความสามารถของสมองที่ใช้บริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่าง ๆ โดยมีแก่นสำคัญ 3 หลัก คือ
1. Inhibitory Control คือ การหยุดได้ หมายถึง ถ้าเราอยากจะทำอะไรตามอารมณ์ออกไปทันที เราสามารถหยุดมันไว้ด้วยตัวเองได้ ไม่ใช่คนอื่นสั่งให้หยุด
2. Cognitive Flexibility คือ การยืดหยุ่นความคิด และสามารถเปลี่ยนความคิดได้เพื่อไปทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมแทน
3. Working Memory คือ ความจำขณะทำงาน การคิดแก้ปัญหา การเรียบเรียงความคิด จัดอันดับความคิด
งานวิจัย พบว่า ช่วงวัย 3-6 ปีนี้ เป็นช่วงโอกาสทองของชีวิตในการพัฒนาทักษะ EF ให้กับเด็ก เพราะ สมองจะมีการพัฒนาทักษะ EF ได้ดีที่สุดในช่วงเวลานี้ พ้นจากช่วงเวลานี้ไปถึงวัยเรียน วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น แม้จะยังพัฒนาได้ แต่ก็จะไม่ได้ดีเท่ากับช่วงปฐมวัย
พ่อแม่สร้างได้!! พัฒนาทักษะ EF (Executive Functions)พัฒนาพื้นฐานชีวิตลูก
การพัฒนาทักษะ EF หรือการพัฒนาทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ คือ คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จให้แก่ลูก สามารถทำได้ตามแนวทางนี้ค่ะ
1. Active learning การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย
คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับลูก ไม่ว่าจะเป็นอ่านหนังสือ ร้องเพลง เล่นกีฬา ทำอาหาร ทำขนม เป็นต้น อาจจะชวนเพื่อน ๆ มามีส่วนร่วมเล่นด้วยกัน หรือทำกิจรรมต่าง ๆ ด้วยกันในวันหยุด สิ่งเหล่านี้อาจจะดูเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่การเรียนรู้จากการได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายฝึกให้ลูกรู้จักกล้าแสดงออก คิดเป็น ทำเป็น และรู้จักการแก้ปัญหา รวมถึงการอยูร่วมกับผู้อื่นด้วย
2. Free play การเล่นอิสระ
บางครั้งการปล่อยให้ลูกได้เลือกเล่น กำหนดรูปแบบและสิ่งที่จะเล่นด้วยตัวเอง มีอิสระในการเล่น โดยเปิดโอกาสให้ลูกได้กำหนดกฎ กติกา ในการเล่น ช่วยฝึกความเป็นผู้นำและรู้จักรักษากฎเกณฑ์ ถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากต่อการพัฒนาทักษะ EF ให้กับลูก
3. Learning by Doing การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ
เปิดโอกาสให้ลูกได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของครอบครัว ตามความสามารถและเหมาะสมกับวัย เช่น ช่วยงานบ้าน ลองคิดและทำอาหารที่อยากกินเอง โดยคุณพ่อคุณแม่คอยแนะนำ และ เพราะเมื่อทำสำเร็จลูกจะเกิดความภาคภูมิใจและมั่นใจในตนเอง แต่อย่าลืมคำชมนะคะ การชื่นชมในความสำเร็จของลูก รวมถึงช่วยกระตุ้นและให้กำลังใจลูกหากเกิดปัญหา
4. Do It Yourself การฝึกให้เด็กรับผิดชอบและช่วยเหลือตนเองอย่างเหมาะสมกับช่วงวัย
หากพ่อแม่ให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตนเอง ได้เรียนรู้ถูกผิด เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ เช่น ติดกระดุมเสื้อด้วยตนเอง สวมรองเท้า ถุงเท้าเอง จากเรื่องง่าย ๆ และเพิ่มความยากของกิจกรรมไปทีละนิด เพื่อท้าทายให้ลูกได้คิดและได้ลงมือทำ แต่ไม่ควรให้ยากจนเกินไปอาจทำให้ลูกเครียดได้นะคะ
5. Stories & Tales นิทานและเรื่องเล่าช่วยฝึกจินตนาการและการคิดอย่างเป็นระบบ
การอ่านหนังสือนิทานสำหรับเด็ก ๆ ยังถือเป็นเรื่องสำคัญ การอ่านหนังสือช่วยพัฒนาสมอง ความคิด ความจำ และเสริมสร้างจินตนาการ การเล่าเรื่องฝึกลูกให้คิดอย่างเป็นระบบ
6. Reading & Thinking การอ่านช่วยพัฒนาทักษะสมอง สมาธิ และกระบวนการคิดของเด็ก
นิทานจะมีที่มาที่ไปของเรื่อง มีการลำดับเรื่อง สิ่งสำคัญเมื่อคุณพ่อหรือคุณแม่เล่านิทานให้ลูกฟัง ควรถามคำถามให้ลูกตอบเพื่อฝึกให้ลูกรู้จักคิด วิเคราะห์ เพื่อให้เกิดกระบวนการคิด นอกจากนี้ ขณะที่ลูกฟังนิทานลูกก็จะมีสมาธิในการฟังตามไปด้วย ส่งผลให้สมองเกิดการพัฒนา
7. Creative Toys & Board Games ของเล่นที่ต้องใช้สมาธิในการเล่น
เกมและบอร์ดเกมต่างๆ ช่วยพัฒนาสมอง ฝึกการคิดและการวางแผน มีการกำหนดกติกา และสร้างเงื่อนไข ท้าทายให้ลูกได้คิดและได้ลงมือทำ
8. Art & Music การเล่นดนตรีและทำงานศิลปะ
ช่วยให้สมองส่วนหน้าเกิดการตื่นตัวในการทำงาน การส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าวควรทำให้เป็นประจำสม่ำเสมอ จะส่งผลดีต่อการพัฒนาสมอง อารมณ์ และสังคมของลูก
9. Sports & Plays กีฬาและการเล่นที่มีกฎกติกา
การเล่นเป็นทีม ช่วยฝึกเรื่องการคิด การวางแผน และการมุ่งเป้าหมาย รวมถึงการอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ การเล่นเป็นทีมทำให้เกิดความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองเพื่อนำพาทีมไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ การเล่นกีฬายังสอนให้เรียนรู้ความพ่ายแพ้ และจัดการกับอารมณ์ของตนเองแม้ต้องเจอเรื่องที่ผิดหวังก็ตาม
10. Bilingualism เด็กที่ฝึกพูดสองภาษา
ส่งผลต่อการพัฒนาการคิด การให้เหตุผลและทักษะการฟัง
การนอนหลับเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญ
เรื่องการนอนเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กิจกรรมอื่นใด ได้แก่ ทารกต้องนอนให้ได้วันละ 13 – 14 ชั่วโมง ส่วนเด็กวัย 3 – 4 ปีขึ้นไป ต้องนอนไม่น้อยกว่า 10 – 12 ชั่วโมง / คืน และต้องนอนยาว ๆ ในเวลากลางคืน เพราะในระหว่างนี้สมองส่วนหน้าของเด็กจะเติบโต เส้นใยประสาทในสมองเด็กจะเชื่อมต่อกัน และทำให้สมองทั้งสองซีกทำงานประสานกันแข็งแรงขึ้น ส่งผลต่อพัฒนาการ และการจัดระบบความคิดในสมองของลูกค่ะ
Source : khaosod
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ของเล่นฝึกสมอง เล่นแล้วลูกฉลาดขึ้น ของเล่นเพิ่มพัฒนาการลูก
เลี้ยงลูกแบบธรรมชาติ เคล็ดไม่ลับฝึกลูกให้มีความพยายาม พร้อมประสบความสำเร็จในอนาคต