วิธีการหยุดเด็ก ๆ ไม่ให้กวนกัน และเลิกทะเลาะกันซะที
ลูกของฉัน อายุ 4 ขวบและ 2 ขวบ แต่ละคนรู้ดีเลยค่ะว่าจะกวนโมโหกันและกันอย่างไร ลูก ๆ ดูจะเริ่มก่อกวนกันและกันในเวลาที่เหมาะเจาะ นั่นก็คือเวลาที่ฉันต้องการพักผ่อนหรือทำงานให้เสร็จ บางทีฉันก็สามารถทำให้ลูก ๆ หยุดตีกันได้ แต่ก็มีบางทีที่เรื่องราวเลยเถิดจนเกิดการตะโกนร้องไห้โวยวายใหญ่โต
ดังนั้นแล้วเราจะหยุดการทะเลาะกันของเด็ก ๆ ไม่ให้ลุกลามบานปลายจนถึงขั้นต้องใช้ทูตสันติภาพของสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงได้ยังไงกันนะ? ฉันมีเคล็ดลับดี ๆ (ที่ทดลองมาแล้ว) มาฝากให้กับคุณโดยเฉพาะเลยล่ะ!
หยุดการกวนโดยให้ลูกมีอะไรทำ
บางทีลูกกวนกันและกันแค่เพราะเบื่อ ๆ เท่านั้นเอง ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อลูกอยู่ในที่ปิดเป็นเวลานาน เช่น ในรถหรือบนเครื่องบิน วิธีการหยุดไม่ให้เด็กกวนกันและกันในสถานการณ์เหล่านั้นที่ดีอย่างหนึ่งคือ การเตรียมอุปกรณ์ที่จะทำให้ลูกยุ่ง ๆ ไว้ตลอดเวลา เช่น สมุดระบายสี เกม หนังสือ วีดีโอ และอื่น ๆ
ป้องกันการทะเลาะโดยแยกเด็ก ๆ ออกจากกัน
เด็ก ๆ มักจะกวนกันและกันเพราะเห็นหน้ากันมากเกินไป หากลูกดูเหมือนจะทะเลาะกันบ่อยเกินไป ให้ลูกแยกกันทำกิจกรรมที่ต่างกันคนละมุมของบ้านเลยค่ะ หากลูกโตพอ คุณสามารถให้ลูกทำงานบ้านที่แตกต่างกันได้ หรือให้ลูกไปเที่ยวบ้านเพื่อนในตอนบ่าย แต่หากลูกคุณยังเล็กอยู่แบบลูกของฉันล่ะก็ ให้ลูกอยู่ในห้องเดียวกันก็ได้ แต่จับให้นั่งห่างกันและทำกิจกรรมที่แตกต่างกัน
//
มี “มุมทะเลาะ” โดยเฉพาะ
ความเป็นจริงก็คือบางทีก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ที่พี่น้องจะทะเลาะกันเอง แต่ถ้าคุณเหนื่อยกับการคอยห้ามคอยแทรก คุณก็ต้องปล่อยให้พี่น้องทะเลาะกันไป ให้พี่น้องไปทะเลาะกันใน “มุมทะเลาะ” โดยเฉพาะเพื่อทะเลาะกันให้พอ (แต่วิธีการนี้จะใช้ได้ผลกับเด็กโตหน่อย) บอกลูกว่า เมื่อลูกตัดสินใจว่าจะหยุดทะเลาะกันแล้ว ลูกจึงจะสามารถออกมาจาก “มุมทะเลาะ” ได้ แต่ลูกต้องแก้ปัญหากันด้วยตัวเองให้ได้ก่อนจนกว่าจะตัดสินใจกันได้
ตั้ง “โต๊ะทะลาะ”
ถ้าการใช้ “มุมทะเลาะ” ไม่ได้ผล ลองใช้ “โต๊ะทะเลาะ” แทนค่ะ จัดเวลาในแต่ละคืน (ห้ามเกิน 30 นาที) ให้เด็ก ๆ ที่ชอบกวนกันได้มานั่งและทะเลาะกัน คุณจะตกใจว่าลูกหยุดเถียงกันได้เร็วมากแค่ไหน เพราะลูกจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องงี่เง่าที่ต้องหาเรื่องมาทะเลาะกันให้ได้น่ะสิ! บอกลูกว่า ถ้าลูกไม่กวนกันและกันและทะเลาะกันระหว่างวัน ลูกก็ไม่ต้องมานั่งบน “โต๊ะทะเลาะ” ตอนกลางคืนหรอก
ทำโทษเมื่อลูกกวนกัน
บ่อยครั้งเมื่อเด็ก ๆ ทะเลาะกัน ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเอาเรื่องมาเล่าโกหกกับคุณไม่ก็คู่ของคุณ การเล่าเรื่องโกหกเป็นสิ่งที่น่ารำคาญสำหรับพ่อแม่พอ ๆ กับการทะเลาะกัน เพราะฉะนั้นบอกลูก ๆ ว่า การกวนกัน การทะเลาะกัน และการเล่าเรื่องโกหกล้วนเป็นพฤติกรรมที่รับไม่ได้และคุณควรลงโทษตามสมควร
ส่งเสริมให้ลูกคนใดคนหนึ่งเป็น “ผู้สร้างสันติ”
ลูกชายคนเล็กของฉันชอบกวนพี่ชายมากค่ะ เจ้าตัวแสบจะกวนพี่ได้หลายวิธีการมาก เช่น การกรีดร้องจะเอาของเล่นที่พี่กำลังเล่นอยู่ งอแงจะใส่รองเท้าที่พี่กำลังใส่อยู่ หรือการตีพี่ ดึงผมพี่ ฉันได้บอกกับลูกคนโตไว้ว่าเมื่อน้องจงใจมากวนแบบนี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตีและดึงผม) ให้พยายามอย่าตอบโต้ แต่ให้พูดว่า “มากอดกันเถอะ” แทน เมื่อคนพี่ทำแบบนี้ การทะเลาะกันก็หยุดลงโดยอัตโนมัติ สองพี่น้องก็กอดกันและหัวเราะคิกคักด้วยกันค่ะ!
ชมลูกเมื่อลูกไม่ทะเลากัน
ให้รางวัลเมื่อลูกเข้ากันได้ดี
แสดงให้ลูกเห็นว่าคุณภูมิใจที่ลูกไม่ทะเลาะกันและแสดงให้เห็นว่านั่นเป็นพฤติกรรมที่คุณชอบมากกว่า บอกกับลูกอย่างชัดเจนว่าทำไมคุณจึงให้รางวัลลูก เช่น โดยการพูดว่า “พ่อ/แม่มีความสุขมากที่ลูกไม่ทะเลาะกันวันนี้ ดังนั้นพ่อ/แม่จะพาลูกทั้งสองคนออกไปกินข้าวข้างนอก/ไปดูหนังด้วยกันนะ” เป็นต้น
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!