วิธีสต็อคนมแม่ สต็อคนมถุงละกี่ออนซ์ ต้องมีสต็อคนมแม่เท่าไหร่ก่อนกลับไปทำงาน

lead image

วิธีสต็อคนมแม่ ก่อนกลับไปทำงาน ต้องเริ่มยังไง รวมทุกเรื่องที่แม่อยากรู้เกี่ยวกับ วิธีสต็อคนมแม่ แบบครบจบในที่เดียว

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

นมแม่คือสุดยอดอาหารสำหรับลูกน้อย คุณแม่ทุกคนก็อยากให้ลูกได้กินนมแม่ให้นานที่สุด แต่พอถึงเวลาต้องกลับไปทำงานหรือมีธุระที่ต้องออกจากบ้าน ทำให้การให้นมแม่ไม่ต่อเนื่อง แต่ถึงแม้จะไม่ได้นำลูกเข้าเต้า แต่คุณแม่ก็สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้ ด้วยการทำสต็อคนมแม่ซึ่งการทำสต็อคนมแม่นั้น คุณแม่มือใหม่อาจยังไม่มั่นใจว่า วิธีสต็อคนมแม่ ต้องเริ่มยังไง ควรเริ่มทำสต็อกเมื่อไหร่ หรือ ต้องเก็บรักษายังไงให้ปลอดภัยและน้ำนมไม่เสียคุณค่า ถ้าคุณแม่กำลังมีคำถามเหล่านี้ในใจ บทความนี้มีคำตอบมาให้ค่ะ

 

สต็อคนมแม่ สำเร็จแน่ แค่เข้าใจ

โดยทั่วไปคุณแม่หลังคลอดจะรู้อยู่แล้วว่าตนเองลาคลอดนานแค่ไหน และเมื่อไรต้องกลับไปทำงาน จึงทำให้การวางแผนทำสต็อคน้ำนมง่ายขึ้น ทั้งนี้ เมื่อรู้วันแน่นอนที่ต้องกลับไปทำงานแล้ว ก็สามารถเริ่มทำสต็อคน้ำนมได้ตั้งแต่วันแรกที่ให้นมลูกได้เลย

ในเบื้องต้นการให้ลูกได้รับนมแม่อย่างเพียงพอเป็นเรื่องสำคัญ โดย 2 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ควรให้ลูกได้ดูดนมแม่ทันที และในช่วง 6 เดือนแรก แนะนำให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว จากนั้นสามารถให้ นมแม่ร่วมกับอาหารตามวัย จนถึงอายุ 2 ปี หรือมากกว่านั้น

สำหรับการวางแผนสต็อคน้ำนม ควรเข้าใจว่าโดยทั่วไป ลูกต้องการนมประมาณ 1 ออนซ์ต่อชั่วโมง ดังนั้น หากต้องออกไปทำงาน 10-12 ชั่วโมง ควรสต็อคน้ำนมประมาณ 10-12 ออนซ์ต่อวัน เพื่อให้ลูกมีนมเพียงพอในช่วงที่คุณแม่ไม่อยู่ และเมื่อกลับจากทำงาน ก็ควรปั๊มน้ำนมให้ได้ปริมาณใกล้เคียงกันเพื่อรักษาสมดุลการผลิตน้ำนม

สำหรับเครื่องปั๊มนม ก็มีความสำคัญมากที่จะช่วยให้การทำสต็อคนมแม่ประสบความสำเร็จ ควรเลือกเครื่องปั๊มนมที่ปั๊มพร้อมกันได้ทั้ง 2 ข้าง เพื่อประหยัดเวลาในการปั๊ม และเลือกขนาดกรวยครอบ (breastsheild/fange) ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของอุโมงค์กรวย (tunnel) พอดีกับเส้นผ่านศูนย์กลางฐานนมเมื่อขยายเต็มที่จากการปั๊ม

คุณแม่สามารถใช้แนวทางนี้ในการสต็อคนมต่อเนื่องจนลูกอายุ 1 ปี จากนั้นค่อยๆ ปรับลดปริมาณลงเมื่อเริ่มให้ลูกกินอาหารตามวัยมากขึ้น การมีแผนที่ดีจะช่วยให้คุณแม่มั่นใจว่าลูกน้อยได้รับโภชนาการที่เหมาะสม แม้ในวันที่แม่ต้องกลับไปทำงาน


ขั้นตอนการปั๊มนมเพื่อทำสต็อคนมแม่

วิธีสต็อคนมแม่ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ดังนี้

  • ช่วงที่ 1: สัปดาห์แรกหลังคลอด

หลังจากที่ลูกดูดนมเสร็จ คุณแม่สามารถปั๊มนมต่อได้ทันที ครั้งละ 10-15 นาที เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมและเริ่มเก็บสต็อคเล็กๆ น้อยๆ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • ช่วงที่ 2: ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 จนถึง 30-45 วันหลังคลอด

ช่วงนี้ลูกเริ่มตื่นบ่อยและร้องมากขึ้น คุณแม่อาจโฟกัสที่การให้นมจากเต้าเป็นหลักก่อน เพื่อลดความเหนื่อยและความเครียด แต่หากต้องการเก็บสต็อค อาจใช้ กรวยสูญญากาศ ดักเก็บน้ำนมขณะลูกดูดเต้าแทน

  • ช่วงที่ 3: หลัง 30-45 วันหลังคลอด

เมื่อลูกกินนมเป็นเวลาและหลับนานขึ้น (ประมาณ 2-3 ชั่วโมง) คุณแม่จะมีช่วงว่างสำหรับการปั๊มนมมากขึ้น สามารถเริ่มปั๊มเป็นรอบๆ เพื่อเก็บสต็อคได้อย่างเต็มที่

โดยสูตรการปั๊มนมที่ใช้โดยทั่วไปคือ ปั๊มขณะที่ให้นมลูก คือ เมื่อลูกเข้าเต้าข้างหนึ่งได้ 10-15 นาที คุณแม่ก็เริ่มปั๊มนมอีกข้างที่ว่างอยู่ หรือ ปั๊มนมระหว่างมื้อนมของลูกก็ได้ โดยปั๊มหลังจากที่นำลูกเข้าเต้าไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งวิธีนี้จะปั๊มพร้อมกันทั้งสองข้าง ข้างละ 10-15 นาที ก็ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ระยะแรกหลังคลอด ควรปั๊มนมให้ได้ 8- 10 มื้อต่อวัน โดยปั๊มนมนานครั้งละ 15-20 นาที หลังจากนั้น ช่วง 2-3 เดือนแรกหลังคลอด ควรปั๊มอย่างน้อยทุก 5-6 ชั่วโมง โดยกลางคืนควรปั๊มอย่างน้อย 1 ครั้ง

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

วิธีสต็อคนมแม่ ก่อนกลับไปทำงาน

การเตรียมสต็อคน้ำนมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน โดยในช่วงที่คุณแม่ยังอยู่บ้านเต็มเวลา แนะนำให้ทยอยสต็อคน้ำนมสำรองประมาณ 30-50 ถุง (ถุงละ 2-4 ออนซ์ ตามปริมาณที่ลูกกินต่อครั้ง) เพื่อให้มีนมพอช่วงที่คุณแม่ไม่อยู่ และยังช่วยรองรับวันที่ปั๊มนมได้น้อย

สำหรับคุณแม่ที่อยากแน่ใจว่ามีสต็อคนมแม่พอสำหรับลูก ใช้วิธีคำนวณง่ายๆ คือ ลูกมักกินนมไม่เกิน 4 ออนซ์ต่อมื้อ หากลูกกินวันละ 3 มื้อ คุณแม่ควรปั๊มนมให้ได้อย่างน้อย 12 ออนซ์ต่อวัน และหากลูกกิน 4 มื้อ ก็ควรปั๊มนมให้ได้ 16 ออนซ์ต่อวัน

ทริคสำคัญในการสต็อคนม คือ แบ่งเก็บนมตามปริมาณที่ลูกดื่มต่อมื้อ เช่น ถ้าลูกกิน 3 ออนซ์ต่อมื้อ ก็ควรแบ่งใส่ถุง 3 ออนซ์ต่อถุง เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน และไม่มีนมที่ละลายแล้วเหลือไว้ข้ามวัน ซึ่งจะทำให้นมเสียคุณค่าทางโภชนาการ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การวางแผนที่ดีจะช่วยให้คุณแม่กลับไปทำงานได้อย่างมั่นใจ และลูกน้อยก็ยังได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

 

จัดเรียงสต็อคนมแม่ เป็นระเบียบหยิบใช้ง่าย

การจัดเก็บสต็อคนมแม่อย่างเป็นระเบียบช่วยให้หยิบใช้งานสะดวก และป้องกันปัญหานมล้ม หรือเก็บไม่เป็นระเบียบ ลองใช้วิธีเหล่านี้ค่ะ

  • เลือกใช้ถุงเก็บนมยี่ห้อเดียวกัน การใช้ถุงเก็บน้ำนมหลายยี่ห้อทำให้ความสูงของแต่ละถุงไม่เท่ากัน เวลานำไปแช่ในตู้ ถุงที่เล็กกว่าจะเอียงและทำให้แถวถุงใหญ่ล้มง่าย หากใช้ยี่ห้อเดียวทั้งหมดก็จะจัดเรียงง่ายขึ้น 
  • ใช้ขวดเก็บน้ำนมที่มีขีดบอกปริมาตร การวัดปริมาณน้ำนมจากขวดจะได้มาตรฐานกว่าการดูจากถุงเก็บนม เมื่อน้ำนมได้ปริมาณที่ต้องการจึงค่อยเทใส่ถุง 
  • ไล่อากาศจากถุง เมื่อเทน้ำนมลงถุง ให้วางถุงในแนวราบกับโต๊ะ ยกปากถุงขึ้นไล่อากาศออก ก่อนปิดซิปล็อก
  • ใช้ปากกาเขียนซีดีจดบันทึกถุงนม ปากกาประเภทนี้ติดทนนาน ไม่หลุดง่าย ใช้เขียนวันที่และปริมาณน้ำนมลงบนถุงเพื่อให้ง่ายต่อการหยิบใช้
  • ใช้ตะกร้าเก็บนมก่อนใส่ตู้แช่ ช่วยให้แยกนมเก่า นมใหม่ได้ง่าย และหยิบใช้งานได้สะดวก โดยนำถุงนมวางแนวราบ เขียนวันที่ให้ชัดเจน เพื่อการหยิบใช้ตามลำดับได้ง่าย


สต็อคนมแม่ เก็บรักษายังไง

เมื่อคุณแม่เริ่มทำสต็อคนมแม่ อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการเก็บน้ำนมให้คงคุณค่าทางโภชนาการ การเก็บในอุณหภูมิที่ต่างกันย่อมทำให้น้ำนมคงคุณภาพในระยะเวลาที่ต่างกันด้วย ซึ่งการเก็บสต็อคนมแม่ในอุณหมภูมิและตู้แช่ที่แตกต่างกัน จะส่งผลให้น้ำนมแม่มีอายุการเก็บรักษาต่างกันดังนี้ 

  • อุณหภูมิห้อง ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส  เก็บได้นาน 1 ชั่วโมง
  • อุณหภูมิห้อง สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส  เก็บได้นาน 4 ชั่วโมง
  • กระติกน้ำแข็ง อุณหภูมิ สูงกว่า 15 องศาเซลเซียส  เก็บได้นาน 24 ชั่วโมง
  • ตู้เย็นช่องธรรมดา อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส  เก็บได้นาน 96 ชั่วโมง
  • ตู้เย็นช่องแช่แข็งแบบประตูเดียว   เก็บได้นาน 2 สัปดาห์
  • ตู้เย็นช่องแช่แข็งแบบประตูแยก   เก็บได้นาน 3 เดือน
  • ตู้เแช่แข็งแบบประตู deep freezer อุณหภูมิ -19 องศาเซลเซียส 
    เก็บได้นาน 6 เดือน

สต็อคนมแม่ มีกลิ่นหืน ทำยังไง

คุณแม่บางคนอาจสังเกตว่าน้ำนมที่เก็บสต็อคไว้มีกลิ่นเหม็นหืน ซึ่งเกิดจาก เอนไซม์ไลเปส (Lipase) ที่ทำหน้าที่ย่อยไขมันในน้ำนมให้เป็นอนุภาคเล็กๆ และผสมเข้ากับโปรตีนได้ดี ระดับไลเปสในน้ำนมของแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้ามีเยอะ ก็จะย่อยไขมันมากขึ้น ทำให้นมมีกลิ่นแรงขึ้น แต่ไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะนมที่มีกลิ่นเหม็นหืน ยังปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมือนเดิม ลูกสามารถกินได้โดยไม่ทำให้ท้องเสีย แต่ปัญหาคือ บางครั้งลูกอาจไม่ยอมกินนมที่มีกลิ่นแรง วิธีแก้ไขคือ ผสมน้ำนมสต็อคกับนมที่เพิ่งปั๊มสดๆ โดยเริ่มจากสัดส่วนเล็กๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณนมสต็อคขึ้น ให้ลูกปรับตัวทีละนิด สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรอุ่นนมให้ร้อน เพราะความร้อนจะยิ่งทำให้กลิ่นหืนรุนแรงขึ้น

 

4 วิธีสต็อคนมแม่ ป้องกันกลิ่นหืน

  1. รักษาความสะอาด อุปกรณ์ปั๊มนมและภาชนะเก็บต้องสะอาด ปลอดเชื้อ และรีดอากาศออกจากถุงให้มากที่สุดก่อนนำเข้าช่องแช่แข็ง
  2. เลือกภาชนะเก็บให้เหมาะสม หากนมแม่ที่เก็บในถุงพลาสติกมีกลิ่นหืนมาก ลองเปลี่ยนเป็นขวดแก้วเพื่อช่วยลดปัญหานี้
  3. จัดเก็บให้ถูกวิธี ไม่วางถุงนมชิดผนังช่องแช่แข็งที่มีระบบละลายน้ำแข็งอัตโนมัติ และไม่จัดเก็บรวมกับอาหารอื่นเพื่อป้องกันการปนเปื้อน
  4. ปั๊มแบบวันต่อวัน หากดูแลเรื่องการเก็บอย่างดีแล้วแต่นมยังมีกลิ่นแรง และลูกไม่ยอมกิน อาจลองปั๊มนมให้ลูกกินแบบวันต่อวัน หรือใช้วิธี พาสเจอไรซ์แบบอ่อน (Scalding) โดยอุ่นนมที่อุณหภูมิ 82°C จนมีฟองเล็ก ๆ ผุดขึ้น แล้วรีบทำให้เย็นก่อนนำไปแช่แข็ง ซึ่งช่วยยับยั้งเอนไซม์ไลเปสได้ แม้ว่าวิธีนี้จะทำให้ภูมิคุ้มกันในนมลดลงบ้าง แต่ยังคงมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อลูก 

 

นมแม่เต็มไปด้วยสารอาหาร ภูมิคุ้มกัน และความอบอุ่นที่ไม่มีสิ่งใดทดแทนได้ การตั้งใจสต็อคนมแม่เป็นการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้เขา แม้ในเวลาที่แม่ไม่อยู่ตรงหน้า  theAsianparent ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนที่ทุ่มเทเพื่อให้ลูกรักได้เติบโตแข็งแรง และขอให้การสต็อคนมแม่ของคุณแม่เป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จนะคะ


ที่มา: โรงพยาบาลวิชัยเวช, โรงพยาบาลเปาโล  

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

หมอเตือน! ให้ลูกกิน นมแม่หมดอายุ เสี่ยงติดเชื้อ Salmonella

ทำไม? อยู่ดีๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้า วิธีแก้ไขให้ลูกน้อย ยอมกลับมากินนมแม่

ช็อก! วิจัยล่าสุด พบไมโครพลาสติก ในน้ำนมแม่ ของคนไทย

บทความโดย

theAsianparent Editorial Team