เลี้ยงเด็กกับแมว เลี้ยงลูกกับแมวอันตรายไหม มาดูประโยชน์ของการเลี้ยงลูกกับแมว
จากข้อมูลจากสมาคมสัตวแพทย์อเมริกัน (American Veterinary Medical Association) ได้เผยแพร่ข้อมูลประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสำหรับพัฒนาการของเด็ก สัตว์เลี้ยงช่วยให้เด็กเรียนรับผิดชอบ และมีเมตตาอ่อนโยน และการมีแมวอยู่ในบ้านจะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นภูมิแพ้ของเด็ก อีกทั้งแมวสามารถช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในภาวะออทิสติกให้มีพัฒนาการด้านการสื่อสารอีกด้วย วันนี้ theAsianparent จะมาแชร์ให้ฟัง เลี้ยงเด็กกับแมว เลี้ยงลูกกับแมวอันตรายไหม มาดูประโยชน์ของการเลี้ยงลูกกับแมว
เลี้ยงเด็กกับแมวได้ไหม?
การเลี้ยงแมวกับลูกนั้นสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตามควรที่จะเลี้ยงแมวในบ้าน ไม่ควรจะปล่อยแมวออกไปข้างนอกบ่อยนัก เพราะแมวที่อยู่นอกบ้าน หรือแมวที่เลี้ยงแบบเปิดโล่งมีโอกาสที่ติดเชื้อมากกว่าแมวที่อยู่ในบ้าน เช่น พยาธิ ไข้ตับอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า แคมไฟโลแบคเตอร์ และพยาธิ รวมถึงการพาแมวไปหาสัตวแพทย์บ่อย ๆ ก็จะเป็นวิธีช่วยให้เสริมความมั่นใจ และเสริมสุขภาพที่ดีให้กับแมวได้โดยควรพาแมวไปตรวจอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปี และควรใช้ยากำจัดพยาธิด้วย
แมวจะทำร้ายลูกเราไหม?
ไม่มีอะไรต้องกังวลสักนิดเลยค่ะ นอกจากว่าสัตว์เลี้ยงของคุณจะก้าวร้าว ดุร้าย หรือเป็นประเภทหวงอาณาเขตอย่างรุนแรง แมวมีนิสัยเชื่องโดยธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่สัตว์เลี้ยงของคุณจะทำร้ายลูกของคุณ ต่อให้ลูกน้อยของคุณป่วนหรือลงไม้ลงมือกับสัตว์เลี้ยงของคุณ มันก็จะไม่จู่โจมตอบ ส่วนใหญ่ก็มักจะเดินหนีไปจากเจ้าตัวน้อยจอมป่วน
ขนสัตว์จะทำให้ลูกเป็นภูมิแพ้มั้ย?
ตามทฤษฎีแล้ว ขนสัตว์ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ แต่เป็นสิ่งที่ติดอยู่ในขนต่างหากที่กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ ดังนั้นการรักษาให้สัตว์เลี้ยงสะอาดอยู่เสมอจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดภูมิแพ้ได้
อย่างไรก็ตาม ควรจำไว้ว่าผู้ปกครองที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้วไม่ว่าประเภทใดก็ตาม จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ได้มากขึ้นจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้ชนิดเดียวกันหรือคนละชนิด
ยังมีหลักฐานทางวิทยศาสตร์ซึ่งบ่งชี้ว่าการที่เด็กอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยลดโอกาสการเกิดอาการที่เกี่ยวเนื่องกับภูมิแพ้ เช่น หอบหืดได้ คล้ายกับว่าเด็กจะสามารถปรับตัวเข้ากับขนสัตว์ (และสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่ในขนที่กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้) ได้ และทำให้มีภูมิป้องกันตั้งแต่ต้น
สัตว์เลี้ยงจะอิจฉาเด็กมั้ย?
นอกจากว่าสัตว์เลี้ยงของคุณจะเป็นประเภทไม่ค่อยสนใจอะไรอยู่แล้ว สัตว์ส่วนใหญ่จะรู้สึกเหมือนโดนทอดทิ้งเมื่อมีสมาชิกใหม่เข้ามาอยู่ในบ้าน มันอาจจะรู้สึกหงุดหงิด กินน้อยลง และอาจถึงขั้นตีตัวออกห่างจากมนุษย์ แม้ว่าคุณอาจรู้สึกว่าต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับเจ้าตัวเล็ก คุณควรจะหาเวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงของคุณเพียงลำพังในแต่ละวันบ้าง พูดให้เห็นภาพคือ เราควรให้เวลากับสัตว์เลี้ยงเหมือนกับมันเป็นพี่คนโตของเจ้าตัวเล็กนั้นก็คือหมาแมวของเรานั้นเอง
ประโยชน์ในการเลี้ยงแมวกับลูก
1. ทำให้เด็กมีความรับผิดชอบ และมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น
จากผลสำรวจของ Cat Protection ในปี 2018 พบว่า เด็กที่เลี้ยงแมว จะมีความเห็นอกเห็นใจสิ่งมีชีวิตรอบตัว และมีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งเด็กหลายคนมองว่าแมวเป็นเพื่อนสนิท แถมยังชอบระบายความรู้สึกกับแมว มากกว่าที่จะระบายความรู้สึกกับคน นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นชี้ว่า เด็กที่เลี้ยงแมวนั้น เข้าสังคมได้เก่งมากขึ้นอีกด้วย
2. ช่วยลดความเครียด ทำให้หายเหงา
มีผลงานวิจัยชี้ว่า เสียงร้องของแมว ช่วยให้ความดันในเลือดต่ำลง และช่วยให้เครียดน้อยลงได้ รวมทั้ง แมวยังช่วยให้เรารู้สึกไม่เหงา เพราะแมวบางสายพันธุ์ มีนิสัยขี้อ้อน รักเจ้าของ
3. ลดความเสี่ยงในการเกิดโรค
การเลี้ยงแมว สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจได้ มีงานวิจัยชี้ว่า เด็กทารกที่โตมาพร้อมกับแมว มีแนวโน้มที่จะเป็นภูมิแพ้ได้น้อยมาก เพราะร่างกายของเด็ก จะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันที่ช่วยต่อต้านโรคภูมิแพ้หลาย ๆ ชนิด รวมถึงการเลี้ยงแมว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วย
ข้อแนะนำก่อนการเลี้ยงแมว
เด็กบางคนชอบอุ้มและจับแมว ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คุณแม่ควรสอนให้รู้น้อง ๆ รู้จักกับนิสัยทั่วไปของแมวด้วย ซึ่งแมวจะไม่ชอบให้ใครเข้าใกล้ หรือจับตอนที่กำลังกินอาหาร นอน หรือขับถ่ายอยู่ แถมแมวก็ยังเป็นสัตว์ที่ขี้ตกใจ คุณแม่ควรสอนให้น้อง ๆ รู้จักให้พื้นที่ส่วนตัวกับแมว ไม่ทำให้แมวโมโห และหากมีทารกอยู่ในบ้าน ไม่ควรตั้งกระบะขับถ่าย หรือที่นอนแมว ไว้ใกล้กับเด็กทารก
อันตรายจากแมว ที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็ก
ก่อนที่คุณแม่จะตัดสินใจเลี้ยงเเมวในบ้าน ควรคำนึงถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กได้ แต่ก็สามารถป้องกันได้
1. ทำให้เด็กขาดอากาศหายใจ
คุณแม่ไม่ควรให้แมวนอนใกล้ ๆ กับเด็ก และควรปิดประตูห้องให้สนิททุกครั้งเมื่อเด็กนอน เพื่อไม่ให้แมวเข้าไปรบกวนเด็ก เพราะแมวบางตัว มีนิสัยชอบคลุกคลีกับคน ซึ่งหากเด็กกำลังนอนอยู่ แมวอาจขึ้นไปนอนทับใบหน้าของเด็ก จนทำให้เด็กหายใจไม่ออกได้
2. เด็กกินขนแมว
แมวมักจะขนร่วง ซึ่งหากลูก ๆ ของคุณแม่ยังเป็นทารก อาจมีบางครั้งที่เขาเผลอหยิบจับขนแมวเข้าปาก หากเด็กคนไหนเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว อาการภูมิแพ้อาจกำเริบได้ แต่อย่างไรก็ตาม เด็กส่วนใหญ่ที่โตมากับแมวและสุนัขมักจะไม่ค่อยเป็นโรคภูมิแพ้
3.โดนแมวข่วน
เมื่อเด็กๆ เล่นกับแมว อาจทำให้โดนกรงเล็บของแมวข่วนจนเป็นแผล และอาจทำให้เป็นโรคกลากได้ คุณแม่จึงควรอยู่ใกล้ ๆ เด็ก เมื่อเด็กกำลังเล่นกับแมว และคอยสังเกตพฤติกรรมของแมวอย่างใกล้ชิด
4. แมวขี้อิจฉา
แมวบางตัวมีนิสัยขี้อิจฉา พอเห็นคุณแม่ดูแลเอาใจใส่ลูกน้อย ก็อาจจะรู้สึกอิจฉา และแสดงพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีกับลูกน้อย วิธีป้องกัน คือ ไม่ควรแทนที่บริเวณที่อยู่ของแมวด้วยสิ่งของที่เป็นของเด็ก ควรเอาใจใส่ และหมั่นดูแลแมว เพื่อที่แมวจะได้ไม่น้อยใจ หรืออิจฉาเด็ก
5. เชื้อโรคหรือพยาธิที่เกิดจากแมว
แมวบางตัวมีพยาธิหรือเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย ที่อาจแพร่สู่คนได้ แต่ก็อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะเราสามารถป้องกันเชื้อโรคหรือพยาธิได้ง่าย ๆ โดยการหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเล่นกับแมว หรือก่อนทานอาหาร ทำความสะอาดบริเวณที่แมวขับถ่ายให้เรียบร้อย และดูแลไม่ให้เด็กเข้าใกล้กระบะขับถ่ายของแมว
6. เสี่ยงเป็นโรคท็อกโซพลาสโมซิส
เด็กและผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ซึ่งมักทำให้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ปวดตามร่างกาย มีไข้ และต่อมน้ำเหลืองบวม เป็นต้น ข้อแนะนำคือ ไม่ควรให้แมวกินเนื้อดิบ เพราะจะทำให้แมวมีพยาธิ และกลายเป็นพาหะของโรคนี้ได้
แม้ว่าการเลี้ยงแมวจะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่สิ่งเหล่านี้ป้องกันได้ด้วยการรักษาความสะอาดภายในบ้าน ไม่ปล่อยให้แมวขับถ่ายเรี่ยราด กำชับให้เด็กและคนในบ้านล้างมือบ่อย ๆ ทุกครั้งที่จับแมว ไม่สัมผัสปัสสาวะหรืออุจจาระของแมวโดยตรง และไม่ทำให้แมวโมโหจนข่วนเป็นแผล
ที่มา : amc, vetstreet , cats
บทความที่น่าสนใจ
รวมเคล็ดลับ วิธีกำจัดกลิ่นฉี่แมว ที่ได้ผลจริง ทาสแมวต้องรีบอ่าน!
น้ำพุแมว ดี อย่างไร อีกหนึ่งนวัตกรรมเพื่อสัตว์เลี้ยง ที่เหล่าทาสแมวไม่ควรพลาด!
6 เหตุผล ว่าทำไมคุณพ่อ คุณแม่ถึงควรให้ลูกมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!