การจมน้ำนั้น เป็นอุบัติเหตุอันดับต้น ๆ ที่พบเจอได้บ่อยในเด็ก แม้ว่าเด็กที่กรุงเทพ หรือตามตัวเมืองใหญ่ ๆ จะไม่ค่อยมีแหล่งน้ำธรรมชาติมากนั้น แต่ความเสี่ยงในการจมน้ำ ก็ไม่ได้แพ้กันกับเด็กต่างจังหวัดเลย ดังนั้น เด็กจมน้ำ วิธีป้องกันเด็กไม่ให้จมน้ำ และขั้นตอนการช่วยเหลือ จึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่หลาย ๆ คน จำเป็นจะต้องให้ความใส่ใจ เป็นพิเศษ
เด็กจมน้ำ วิธีป้องกันเด็กไม่ให้จมน้ำ และขั้นตอนการช่วยเหลือ นั้นอาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัว แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะบอกว่า ลูกน้อยอยู่ในสายตาคุณพ่อคุณแม่อยู่ตลอดเวลา โอกาสเสี่ยงที่จะจมน้ำนั้นน้อยมาก แต่ในทางกลับกัน หากความเป็นไปได้ที่บอกว่าน้อยมากนั้นเกิดขึ้น อาจจะต้องความประมาท หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด การที่เราป้องกันเอาไว้ก่อน ก็ย่อมดีที่สุดไม่ใช่หรือคะ
เหตุจมน้ำเกิดขึ้นจากอะไรได้บ้าง
กรณีของเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่กำลังฝึกคลาน หรือหัดเดินใหม่ ๆ นั้น ความอยากรู้อยากเห็นกับโลกใบกว้างก็ทวีคูณขึ้นมาด้วย ซึ่งบางครั้งเด็กก็เคลื่อนตัวได้อย่างอิสระ จนคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองในบ้านวิ่งตามจับกันแทบไม่ทัน ซึ่งหลายครั้งมักเกิดเหตุการณ์การผลัดตกลงในบ่อน้ำ แอ่งน้ำ กรณีที่บ้านติดกันกับแหล่งน้ำนั้น ๆ
หรืออาจจะเป็นการเล่นในอ่างน้ำ แม้จะเป็นอ่างน้ำเล็ก ๆ แต่ด้วยความสามารถทางด้านกล้ามเนื้อ หรือร่างกายของเด็ก ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และบางครั้ง อาจจะอยู่นอกเหนือการดูแลของผู้ปกครอง จนทำให้เกิดเหตุเศร้าสลดนั้นก็มีให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง
ในช่วงเด็กโตที่มีความสนุกสนาน ท้าทาย โดยมากมักจะพบว่าการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำนั้นมักจะเกิดจากการเล่น เด็กบางคนอาจจะสามารถว่ายน้ำได้ ก็สามารถประสบอุบัติเหตุทางน้ำได้ไม่แพ้กับคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น ดังนั้น ไม่ว่าเด็กจะโตแค่ไหน สามารถว่ายน้ำได้ดีแค่ไหนก็ตาม ก็อาจจะเกิดเหตุจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เสมอ เช่น เกิดเป็นตะคริวช่วงที่ว่ายน้ำเล่น มีคลื่นใต้น้ำ หมดแรงขณะว่ายน้ำกะทันหัน เป็นต้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : เด็กจมน้ำตาย อีกราย ช่วงนี้พ่อแม่ต้องคอยสอดส่องดูแลให้ดี
การป้องกันเด็กจมน้ำ
การป้องกันเด็กจมน้ำ ในเด็กเล็ก
สำหรับเด็กวัยนี้ การป้องกันยังคงเน้นหนักไปที่ผู้ดูแลเด็กเป็นหลัก เนื่องจากพัฒนาการตามวัย โดยเฉพาะเด็กที่เริ่มเคลื่อนที่เองได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการคลาน หรือการเดิน สิ่งที่จะต้องระมัดระวังนั้นได้แก่ ห้องน้ำ โถส้วม กะละมัง แหล่งน้ำที่อยู่ใกล้บ้าน บ่อปลา สถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนมีความเสี่ยงสำหรับเด็กทั้งหมด
ดังนั้นผู้ที่ดูแลเด็ก ไม่ควรปล่อยปละละเลย เพราะการปล่อยให้เด็กคร่าสายตาเพียงครู่เดียว ก็จะทำให้เกิดการสูญเสียถึงชีวิตได้ โดยที่คุณอาจจะคาดไม่ถึง หากคุณจำเป็นจะต้องไปทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรพาเด็กไปอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัยก่อน เช่นบริเวณที่มีคอกกั้น เพื่อไม่ให้เด็กคลาน ไปยังจุดที่เสี่ยงอันตราย หลังจากทำธุระเสร็จ ให้รีบกลับมาดูแลเด็กโดยทันที ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังนานจนเกินไป
การป้องกันสำหรับเด็กวัยเรียน
- ฝึกให้เด็กรู้จักวิธีว่ายน้ำ หรือการพยุงตัวเองในน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก เมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดคิด
- สอน และฝึกให้เด็กเรียนรู้ และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุแบบง่าย ๆ ที่เหมาะกับวัยของเขา
- ตั้งกฎข้อห้ามอย่างชัดเจน ว่าหากต้องการเล่นน้ำ จะต้องมีผู้ใหญ่อยู่ด้วยเสมอ
- สำรวจแหล่งน้ำบริเวณบ้าน และแหล่งน้ำที่มีอยู่ในบ้าน อาจจะต้องเปลี่ยนแปลง หรือดัดแปลงสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก เข้าใกล้แหล่งน้ำ โดยลำพัง
การป้องกันสำหรับเด็กโต และวัยรุ่น
- ควรเพิ่มทักษะในการว่ายน้ำให้กับเด็ก
- ให้รู้จักป้องกันตนเอง และสังเกต เช่นเวลาขึ้นเรือ ให้คอยสังเกตว่าชูชีพ หรือห่วงยาง มีติดตั้งเอาไว้บริเวณไหนบ้าง แล้ววิธีใช้งานควรใช้แบบไหน อย่างไร เพื่อให้เคยชิน และไม่เกิดความประมาท
- สอนให้เด็กรู้จักการไม่พาตัวเองไปจุดเสี่ยง เช่น การดื่มสุรามึนเมาก่อนจะลงไปเล่นน้ำ ไม่คึกคะนองเล่นน้ำในจุดที่มีความลึก เพราะหากเกิดตะคริว แม่น้ำตื้น ก็จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือควรมีเพื่อน หรือผู้ปกครองคอยสังเกตการณ์ อยู่คนหนึ่ง ในขณะที่เพื่อน ๆ เล่นกันน้ำกัน
- การฝึกทักษะการช่วยชีวิต หรือการปฐมพยาบาลขั้นพื้นฐาน (CPR)
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ลูกว่ายน้ำได้ตอนไหน? มาดูกันเถอะว่าจะพาลูกไปว่ายน้ำเสริมทักษะได้ตอนไหน?
เชื่อหรือไม่ว่าเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำเป็นอันดับ 1
จากสถิติในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 สำหรับเด็กไทยกันเลยทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นการเสียชีวิตที่มากกว่าการป่วยจากการติดเชื้อ หรือจากอุบัติเหตุทางการจราจรถึง 2 เท่า
เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
โดยแบ่งลักษณะการเสียชีวิตทางน้ำสำหรับเด็กวัย ต่ำกว่า 5 ปีนั้น อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น มักเกิดจากการเผอเรอชั่วขณะของผู้ดูแลเด็ก หรือผู้ปกครอง เช่นการผละจากตัวลูก เพื่อไปรับโทรศัพท์ เปิด – ปิด ประตูบ้าน การทำกับข้าว และโดยมากที่เด็กเสียชีวิตนั้น มาจากแหล่งน้ำเล็ก ๆ เช่น ถังน้ำ กะละมัง แอ่งน้ำ บ่อน้ำ
เนื่องจากเด็กเล็กไม่สามารถทรงตัวได้ดี ทำให้เมื่อเกิดการล้มในท่าศีรษะทิ่มลง ก็จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และเรามักจะเห็นข่าวว่า เด็กสามารถจมน้ำเสียชีวิตได้ในแหล่งน้ำที่มีระดับความสูงเพียงแค่ 1 – 2 นิ้ว เท่านั้น ดังนั้นก็ระมัดระวัง และใส่ใจในรายละเอียดรอบด้าน จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ดูแลเด็กเล็ก
วิธีป้องกัน
- ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ควรจะต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด แต่หากจำเป็นจะต้องทำธุระบางอย่าง ก็ควรพาเด็กไปอยู่ในที่ปลอดภัย และอยู่ในสายตาอยู่ตลอดเวลา แม้จะดูว่าลำบาก แต่ก็เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับตัวเด็กโดยคาดไม่ถึง
- ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำเองโดยลำพัง ไม่ว่าจะมีความสูงของน้ำเพียงเล็กน้อยก็ตาม
- จัดการสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย และเหมาะสม เช่น การเทน้ำทิ้งจากอุปกรณ์หลังใช้งาน หาฝาปิดให้มิดชิด และจัดพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับเด็กได้เล่น
- สอนให้เด็กหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้แหล่งน้ำ อย่าให้เด็กฝึกหยิบของเล่นที่อยู่ในน้ำ หรือก้มไปดูน้ำ เพราะหากเกิดการพลาดพลั้ง อาจถึงแก่ชีวิตของเด็กได้
เด็กโตอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
เด็กในวัยนี้ จะเริ่มโต และซุกซน และมักจะชอบความท้าทาย จึงมักจะเกิดเหตุสลดให้ได้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยมากจะเริ่มจากการไปเล่นน้ำนอกบ้าน และการจมน้ำของเด็กวัยนี้ มักจะเกิดจากการขาดทักษะการว่ายน้ำ และการช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธี
โดยเรามักจะพบว่า เมื่อการอุบัติเหตุทางน้ำกับเด็กวัยนี้ จะพบว่ามักจะเสียชีวิตพร้อมกันครั้งละหลาย ๆ คน นั่นเป็นเพราะเมื่อพบว่าเพื่อคนใดคนหนึ่งจมน้ำ คนที่เหลือก็จะรีบกระโดดน้ำเข้าไปช่วยเหลือ แต่เมื่อขาดทักษะการช่วยเหลือแล้ว ทำให้ไม่สามารถทำการช่วยเหลือได้ และยังส่งผลให้ตนเองหมดแรง และเสียชีวิตตามกันไป
แหล่งน้ำที่มักจะพบเด็กจมน้ำคือ แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ บ่อขุดเพื่อการเกษตร
วิธีป้องกัน
- ไม่ปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำกันเอง ควรจะต้องมีผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะในการช่วยเหลือเด็ก ไปด้วยทุกครั้ง และผู้ใหญ่จะต้องคอยสังเกตการณ์อยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยปละละเลย เพราะอุบัติเหตุมักเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา
- สอน และกำหนดกฎเกณฑ์การเล่นน้ำอย่างปลอดภัย เช่น ไม่ให้เล่นน้ำตามลำพัง ไม่เล่นน้ำบริเวณที่มีความลึก หรือบริเวณที่มีน้ำเชี่ยวกราก
- รู้จักการใช้อุปกรณ์ลอยน้ำ หรืออุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น ชูชีพ ห่วงยาง และควรสอนให้มีการสังเกตตำแหน่งวางอุปกรณ์ช่วยเหลือ และฝึกให้รู้จักวิธีใช้งานที่ถูกต้อง
- สอนให้เด็กรู้จักวิธีช่วยเหลือโดยการ ตะโกน โยน ยื่น เมื่อพบคนที่ตกน้ำ และต้องการความช่วยเหลือ โดยที่ไม่ต้องกระโดดลงไปช่วย แต่ควรตะโกนขอความช่วยเหลือจากผู้คนที่อยู่รอบด้าน หรือโทรแจ้ง 1669 อาจจะหาไม้ เชื่อ หรือถังพลาสติกที่สามารถลอยน้ำได้ ไปช่วยเพื่อการพยุงตัว
- ฝึกให้เด็กมีทักษะการว่ายน้ำอย่างถูกวิธี และการช่วยเหลือผู้ที่ตกน้ำอย่างถูกต้อง
- หากเด็กมีวุฒิภาวะเพียงพอ ให้เข้าอบรมการเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการฝึก CPR ให้ถูกหลัก และถูกวิธี เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เด็กที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี จะสามารถตั้งสติ และปฏิบัติตามที่เคยได้ฝึกมาอย่างมีประสิทธิภาพ
การช่วยเหลือผู้ประสบภัย
เมื่อช่วยผู้ประสบภัยขึ้นมาจากน้ำได้แล้ว สิ่งที่ไม่ควรทำคือการ จับอุ้มพาดบ่า กระโดด หรือวิ่งไปรอบ ๆ เพราะนอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังทำให้ช่วงเวลาที่จะช่วยเหลือภาวะขาดอากาศหายใจก็จะยิ่งยาวนานขึ้น ทำให้เป็นอันตรายมากกว่าเดิม สิ่งที่ควรจะทำมีดังต่อไปนี้
- การวางตัวผู้ประสบภัยทางน้ำราบกับพื้น
- จับชีพจรว่ายังเต้นเป็นปกติหรือไม่
- กรณีที่เด็กหยุดการหายใจ ให้ช่วยด้วยการเป่าปาก และ CPR
- ในขณะเดียวกัน ควรโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ 1669 หรือหน่วยกู้ภัย
- นำตัวส่งโรงพยาบาลที่ใกล้พื้นที่ให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้
บทความที่น่าสนใจ :
ให้ลูกเรียนว่ายน้ำ ที่ไหนดี รวมโรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็ก ราคาไม่แพง
ประสบการณ์ลูกจมน้ำ วิธีปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ แบบไหนที่ห้ามทำเด็ดขาด
วิธีช่วยคนสําลักอาหาร ทารกสำลักอาหาร ปฐมพยาบาลอย่างไร วิธีการปฏิบัติเมื่อสำลักอาหาร
ที่มา : (chaophya) , (thaincd) , (anamai)
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!