การเลี้ยงลูกให้ดี และฉลาดสมวัย ในช่วง 1 ถึง 6 ปีแรกมีความสำคัญมาก ซึ่งวิธีการพัฒนาลูกน้อยด้วยทักษะ EF คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปส่งเสริมพัฒนาการของลูกรักช่วงวัยดังกล่าวได้ แล้วเราจะสามารถ ฝึก EF วัยนี้อย่างไร
ความสำคัญการส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยในช่วง 6 ปีแรก
ช่วง 6 ปีแรก เป็นช่วงวัยที่เด็กมีการพัฒนา และเรียนรู้ได้อย่างมากมายขึ้น โดยเด็กในช่วง 1 – 3 ปีแรกจะมีการพัฒนาของความคิด และภาษาที่รวดเร็ว หลัง 3 – 6 ปีจะมีการเรียนรู้ทางสังคมมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวัน เช่น ให้เด็กแปรงฟัน แต่งตัวด้วยตนเอง เน้นส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา หมั่นพูดคุยกับเด็กให้หลากหลาย หลัง 3 ปีเป็นต้นไป
ฝึก EF วัยนี้อย่างไร
เป็นที่ทราบกันดีว่า CEO ของสมอง คือ สมองส่วนหน้าซึ่งอาศัยทักษะ EF ทักษะ EF นี้ คือ ทักษะในเรื่องของการกำกับความคิด กำกับพฤติกรรมเพื่อทำกิจกรรมให้สำเร็จตามเป้าหมาย ทักษะสำคัญพื้นฐาน 3 ด้านจะพัฒนาได้ดีในช่วงปฐมวัย หรือ 6 ขวบปีแรก ซึ่งทักษะพื้นฐานที่สำคัญเหล่านั้น คือ ทักษะความจำ ทักษะการยับยั้งชั่งใจ และทักษะในเรื่องของการยืดหยุ่นทางความคิด
ดังนั้นเราลองไปดูเกมง่าย ๆ ที่สามารถเล่นได้กับลูกวัย 2 – 5 ปี เพื่อพัฒนาทักษะ EF กันดีกว่า
- เกมแยกสิ่งของต่าง ๆ
คุณพ่อคุณแม่ลองใช้ของเล่นที่มีลักษณะหลากหลาย เช่น เม็ดถั่วสีต่าง ๆ ของเล่นตัวอักษร หรือแม้แต่สติกเกอร์ มาลองให้ลูกได้แยกสี และรวมเอาสีที่เหมือนกันไปอยู่ด้วยกันสิคะ เกมนี้จะช่วยให้ลูกได้ตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรดีกับเจ้าสิ่งของที่หน้าตาแตกต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง เป็นการช่วยพัฒนาทั้งทักษะการความจำ และการควบคุมตัวเอง
- เกมเต้นตามเพลงด้วยท่าซ้ำไปมา
ลองเปิดเพลงโปรดที่เขาชอบสักเพลง ก่อนบอกให้เขาเต้นในลักษณะที่เหมือน ๆ กันซ้ำหลาย ๆ รอบ เช่น เริ่มเต้นจากการแตะหัว แล้วก็แตะไหล่ แตะศอก ก่อนกลับไปแตะหัวใหม่อีกรอบ ซ้ำเดิม เด็กจะรู้สึกทั้งสนุกกับเสียงเพลง ได้ขยับร่างกาย แถมใช้การประมวลผลด้านความจำอีกด้วย
- เกมบล็อกไม้ถล่ม
เกมบล็อกไม้ jenga เป็นของเล่นที่ทั้งสนุก ทั้งลุ้น และต้องใช้สมาธิในการดึงบล็อกไม้ออกมาทีละอันโดยไม่ทำให้บล็อกไม้ชิ้นอื่นล้มลงมา เพราะฉะนั้นเกมนี้จึงไม่ได้เหมาะสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นเกมที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านการควบคุมตัวเอง ยับยั้งชั่งใจ และใช้ความคิดวิเคราะห์ก่อนที่จะตัดสินใจดึงบล็อกไม้แต่ละชิ้นออกมา
- เกมจำเลข
ขั้นแรกแบ่งผู้เล่มเกมออกเป็นสองฝั่ง ให้ฝั่งแรกบอกตัวเลขหนึ่งตัวให้ลูกจำ แล้วให้ลูกวิ่งไปบอกตัวเลขนั้นแก่อีกฝั่งหนึ่ง โดยในระหว่างทางจะต้องเจอกับอุปสรรค เช่น มีคนเข้ามาชวนคุย หรือเพิ่มภารกิจระหว่างทาง แล้วคอยดูว่าลูกจะสามารถจำเลขนั้นไปบอกอีกฝั่งได้ถูกต้องหรือไม่
สัญญาณความบกพร่อง EF
สัญญาณที่สามารถบ่งชี้ว่าเด็กมีความบกพร่องในการบริหารจัดการตนเองหรือมีปัญหาเกี่ยวกับทักษะ EF หรือ Executive Functions ได้แก่
- ปัญหาด้านการยับยั้ง
- ไม่รู้ว่าพฤติกรรมตนเองมีผลกระทบ หรือรบกวนผู้อื่น
- อยู่ไม่สุข กระสับกระส่าย บิดไปบิดมา
- วอกแวกง่ายขณะทำกิจกรรม
- ขาดความยับยั้งชั่งใจ หุนหันพลันแล่น
- ปัญหาด้านการปรับเปลี่ยน และการคิดยืดหยุ่น
- มีปัญหาการปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่
- อารมณ์เสียเมื่อมีการเปลี่ยนแผน หรือเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน
- ใช้เวลานานกว่าจะรู้สึกวางใจในสถานที่ใหม่ หรือสิ่งแวดล้อมใหม่
- ปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์
- ระเบิดอารมณ์โกรธรุนแรง
- โกรธฉุนเฉียว ด้วยเหตุผลเพียงเล็กน้อย
- เมื่อผิดหวัง จะเสียใจนานกว่าเด็กคนอื่น
- ปัญหาด้านความจำขณะทำงาน
- หากสั่งให้ทำงานสองอย่าง เด็กสามารถจำได้แค่คำสั่งแรก หรือคำสั่งสุดท้ายเท่านั้น
- ทำผิดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ แม้เคยสอน หรือช่วยเหลือไปแล้ว
- ลืมว่ากำลังทำอะไรขณะทำกิจกรรมนั้นอยู่
- ปัญหาด้านการวางแผนจัดการ
- ต้องบอกให้ริเริ่มลงมือทำงาน แม้ว่าเด็กจะเต็มใจทำ
- ไม่สามารถหาเสื้อผ้า รองเท้า ของเล่น หนังสือเจอ แม้ว่าจะชี้แนะอย่างเฉพาะเจาะจงแล้ว
- ทิ้งของเกลื่อนกลาดต้องให้คนอื่นเก็บให้ แม้ว่าจะได้รับการสอนหรือแนะนำแล้ว
- ติดอยู่ในรายละเอียดเพียงเล็กน้อยของงาน หรือสถานการณ์หนึ่ง แต่ลืมเรื่องหลักที่สำคัญไป
- ไม่สามารถทำงานให้เสร็จได้ แม้จะได้รับการแนะแนวทางแล้ว
EF แก้ปัญหาสมาธิสั้นได้อย่างไร
เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder) จะมีอาการวอกแวก ไม่อยู่นิ่ง ขาดความรับผิดชอบ ไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้ ขาดประสิทธิภาพในการเรียนและการใช้ชีวิตในอนาคต การฝึกทักษะ EF หรือ Executive Functions จึงมีความสำคัญ ในการช่วยพัฒนาทักษะการบริหารจัดการตนเอง อย่างรอบด้าน
EF ช่วยพัฒนาสมองส่วนหน้าที่ควบคุมสมาธิ และการยับยั้งชั่งใจให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ จากพ่อแม่ผู้ปกครอง แพทย์เฉพาะทาง ที่มีความชำนาญในสาขาต่าง ๆ และตัวเด็กเพื่อพัฒนาให้สมาธิดีขึ้น และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต
ที่มา : (bangkokhospital) , (aboutmom)
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ใช้ทักษะ EF สอนลูกให้รู้จักความรับผิดชอบ กับกระเป๋าของหนู
ใช้ทักษะ Executive Functions (EF) สอนลูกให้ฉลาดด้วยการพา ไปเที่ยว
ฝึกลูกให้ฉลาด ด้วย Executive Functions (EF) – ฝึกสมองลูกด้วยงานบ้านง่าย ๆ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!