ลูกพูดเสียงดัง แก้อย่างไรดี
ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติของลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่อยู่ในวัยกำลังเตาะแตะกันก่อน เนื่องจากวัยนี้เป็นวัยที่ลูก ๆ เริ่มที่จะสามารถควบคุมกล้ามเนื้อของตัวเองได้แล้ว การที่ลูกพูดเสียงดัง เป็นสิ่งหนึ่งที่พวกเขายังไม่สามารถที่จะควบคุมได้ ความดังของเสียง และนั่นเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับลูก ๆ ดังนั้น วันนี้เรามีวิธีการรับมือกับ ลูกพูดเสียงดัง เวลาที่พวกเขาร้องตะโกนเสียงดังมาฝากค่ะ
ลูกพูดเสียงดัง-1
1. ก่อนอื่นสำรวจสภาพแวดล้อมของเราเองก่อนว่า เปิดทีวีหรือวิทยุเสียงดังอยู่หรือเปล่า เพราะสาเหตุหนึ่งที่ลูกชอบร้องตะโกนหรือพูดเสียงดังนั้น ก็มาจากการที่เราเปิดสื่อต่าง ๆ เสียงดัง โดยลูกอาจจะพูดธรรมดาแล้ว แต่เราอาจจะไม่ได้ยิน ลูกจึงจำเป็นต้องตะโกนก็เป็นได้ เมื่อสำรวจดูแล้วว่า เราเปิดเสียงดังปกติ แต่ลูกยังคงร้องตะโกนอยู่ สิ่งแรกที่เราไม่ควรทำเลยก็คือ การตะโกนใส่หน้าลูกให้หยุดร้องตะโกนนั่นเอง
2. เบี่ยงเบนความสนใจ เวลาที่ลูกกำลังทำพายุเสียงที่ดังกระหน่ำอยู่ หากทำอย่างไรพายุก็ยังไม่หยุด สิ่งที่เราทำได้ก็คือ การเบี่ยงเบนความสนใจของลูก ยกตัวอย่างเช่น การเปิดเพลง และชวนลูกร้องเพลงหรือเต้นไปด้วยกัน หรือไม่ก็ชวนลูกทำเสียงลอกเลียนสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น วิธีการเหล่านี้นี่แหละ ที่จะช่วยให้ลูกลืมช่วงเวลานั้น และสนุกสนานไปกับการทำสิ่งอื่นแทน
3. สอนให้ลูกรู้จักวิธีการใช้เสียง การสอนให้ลูก ๆ รู้ว่า เวลาไหนควรทำเสียงดัง และที่ไหนบ้างที่ควรทำหรือไม่ควรทำนั้น ย่อมเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ เราอาจจะสอนให้ลูกรู้ว่า เวลาที่หนูอยู่ในบ้านหรือไปข้างนอก พูดกับแม่ด้วยน้ำเสียงปกติแม่ก็ได้ยินแล้วละจ้ะ แต่ถ้าหนูอยากตะโกนร้องเสียงดัง หนูควรไปตะโกนเล่นที่สนามเด็กเล่นน่าจะสนุกกว่านะจ้ะ เป็นต้น
4. พาตัวลูกไปที่อื่น ข้อนี้เราอาจจะเจอบ่อย ๆ และแน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนก็กำลังทำวิธีนี้อยู่ เพราะเวลาที่เราไปตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม หรือโรงพยาบาล เราคงไม่อยากให้ลูกร้องตะโกนเสียงดังรบกวนคนอื่นกันอยู่แล้ว ดังนั้น เวลาที่ลูกร้องแล้วเรานำตัวลูกออกไปจากตรงจุดนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดแล้วค่ะ
5. ให้รางวัล หรือคำชม ทุกครั้งเวลาที่ลูก ๆ ร้องตะโกนเสียงดัง แล้วลูกสามารถหยุดได้นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การให้คำชมเชยหรือรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ กับลูก ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่อะไร แต่เพื่อให้ลูกมีกำลังใจ และรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องแล้วอยากที่จะทำตัวดีเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ชมอีก
คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังประสบกับปัญหาลูก ๆ ชอบร้องตะโกนเสียงดังกันอยู่แล้วละก็ อย่าลืมนำวิธีการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ดูนะคะ
ลูกพูดเสียงดัง-2
วิธีปราบเด็กดื้อ แม้ว่าที่ผ่านมา เด็กๆชอบจะทำอะไรก็ตามด้วยความไร้เดียงสา ในขณะที่ผู้ใหญ่ก็มักพูดกันว่า ‘เด็กไม่รู้…ไม่ผิด’ แต่ในความไม่รู้นั้น มันเกิดความถามตามมาว่า พ่อแม่ควรสอนให้เขารู้หรือไม่ว่า การร้องไห้งอแงจะเอาของเล่นโดยไม่ฟังเหตุผลของพ่อแม่ การเอาแต่ใจตนเองอยากไปไหนมาไหนแล้วแสดงออกเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่ หรือการที่พ่อแม่สอนให้ช่วยเหลืองานบ้าน แต่เขากลับไม่อยากทำเพียงเพราะห่วงเล่นอย่างเดียวนั้นมันเป็นสิ่งที่ทำให้เขาไม่น่ารัก
และแน่นอนว่า หลายครอบครัวที่ประสบกับปัญหาเหล่านี้ บางคนหาทางออกโดยการตามใจลูกเสียทุกอย่างเพียงเพราะไม่อยากได้ยินเสียงร้องไห้งอแง หรือเบื่อที่จะฟัง รำคาญที่จะพูด ขณะที่บางคนอาจหาทางออกด้วยการลงไม้ลงมือ ทำโทษลูกตลอดเวลา จนเป็นเหตุให้เขากลายเป็นเด็กมีปัญหามากที่สุด
ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้แนะวิธีที่พ่อแม่ควรปฏิบัติกับลูกอย่างถูกวิธีดังนี้
1. “เรียกลูก” เรียกให้เด็กสนใจฟังคุณ และหันมามองคุณก่อนจะบอกให้เด็กทำอะไร เช่น “ต้อม…มองหน้าแม่ ซิ… แม่จะบอกอะไรหน่อยครับ”
2. “ชมลูก” ชมเด็กทันทีที่เด็กหันมาให้ความสนใจที่คุณ เช่น “ดีมากครับ…ที่หันมามองแม่”
3. “พูดดี” ให้ใช้คำพูดที่ง่าย สั้น และชัดเจนทีละคำสั่ง เช่น “เอาล่ะ…ช่วยเอาผ้านี่ไปใส่ตะกร้าให้แม่ทีครับ”
ส่วนสิ่งที่พ่อแม่ควรระลึกไว้เสมอเพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติของลูกนั้นมีดังนี้
1. “อย่าสั่ง-คาดหวัง” สิ่งที่คุณต้องการให้เด็กทำต้องเป็นสิ่งที่เด็กทำได้ อย่าสั่งหรือคาดหวังให้เด็กทำในสิ่งที่เกินความสามารถของเด็ก
2. “อย่าพูดซ้ำ” ควรบอกให้เด็กทำงานทีละชิ้นเพียงครั้งเดียว ให้เวลา 5 วินาที สำหรับเด็กในการทำตามที่คุณบอก อย่าพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 2 หรือ 3
3. “อย่ายัดเยียด” หลีกเลี่ยงการบอกให้เด็กทำงานชิ้นที่ 2 ในขณะที่เขากำลังทำงานชิ้นแรกอยู่
4. “อย่าโลเล” ถ้าคุณยังไม่พร้อมที่จะเด็ดขาดเอาจริงกับเด็กเวลาเด็กต่อต้านคุณ คุณก็ยังไม่พร้อมที่จะบอกให้เด็กทำอะไร
และเมื่อเด็กเชื่อฟัง ทำตามที่พ่อแม่บอกแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ควรปฏิบัติมีดังนี้
1. “ชมทันที” ควรให้คำชมทันทีที่เด็กเริ่มทำตามที่คุณบอก เช่น“ดีมากครับ…ที่น้องโจลุกมาเก็บของเล่นทันทีที่แม่เรียก…แม่พอใจมากเลย”
2. “ชมอีกครั้ง” และให้คำชมอีกครั้งเมื่อเด็กทำงานที่คุณสั่งสำเร็จ เช่น “เยี่ยมจริงๆ…แม่เห็นเลยว่าหนูตั้งใจล้างจานพวกนี้จนสะอาด…เก่งมากคะ”
3. “ภาษากาย” อย่าลืมภาษากาย!!…แสดงความชื่นชมโดยการหอม กอด ลูบหัว ฯลฯ
แต่ทว่า หากลูกดื้อเกินกว่าที่คาดไว้ เมื่อเขายังไม่ทำตามสั่งภายใน 5 วินาที…พ่อแม่ควรทำดังนี้
1. “นับ 1…” พ่อแม่ควรเริ่มนับ “1…2…3” (ต้องมีการคุยกับเด็กเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า หากนับถึง 3 แล้วเด็กยังไม่ทำตามที่ คุณบอกจะเกิดอะไรตามมา)
2. “ถึง 3…งานเข้า!!” หากนับถึง 3 แล้วเด็กยังไม่ทำตามที่คุณบอก ต้องเอาจริง เด็ดขาดในการลงโทษตามกฎที่ตกลงกันไว้ เช่น ริบของเล่น หักค่าขนม ปิดทีวี ปิดเกม ตัดสิทธิในที่เด็กชอบ ฯลฯ อย่าดีแต่บ่น…ขู่ หรือใจอ่อน
3. “เงียบสงบ สยบความเคลื่อนไหว” เพิกเฉยหากเด็กทำท่าทางไม่เหมาะสม เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือแสดงความหงุดหงิดไม่พอใจ เช่น บ่น งอน ปึงปัง โวยวาย ฯลฯ
ทั้งหมดนี้เป็นกลเม็ดที่พ่อแม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งเด็กที่ดื้ออาจเชื่อฟังมากขึ้นอีก เมื่อพ่อแม่พูดกับเขาด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบ นุ่มนวล ไม่ใช้อารมณ์ ให้โอกาสเขาได้เลือกสิ่งที่พ่อแม่ต้องการให้ทำ (แต่สิ่งที่พ่อแม่กำหนดต้องเป็นสิ่งที่ยอมรับได้) เช่น
ลูกพูดเสียงดัง-3
หากคุณต้องการให้เด็กอาบน้ำและแปรงฟัน คุณอาจจะพูดกับเด็กว่า “โอ๋…ได้เวลาอาบน้ำ แปรงฟันแล้วครับ…แม่ให้เลือกเอาว่าโอ๋จะอาบน้ำก่อน หรือแปรงฟันก่อนดีครับ” หากเด็กไม่ยอมเลือกอะไรเลย เตือนเด็กอีกครั้งว่าบทลงโทษของเราสำหรับเด็กที่ไม่เชื่อฟัง คืออะไรโดยใช้คำพูดทำนองนี้ แม่ก็จำเป็นต้องทำตามกฎที่เราคุยกันไว้
ที่มาจาก https://www.babybbb.com/article_detail.php?nid=295
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ท่องเที่ยว ท่องอดีต พาลูกเรียนรู้วัฒนธรรม ณ สุโขทัย เมืองประวัติศาสตร์
ลูกพูดไม่ชัดเกิดจากอะไร และแก้ไขได้อย่างไร ปัญหาลูกพูดไม่ชัด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!