ทำแบบไหนดีนะ ลูกดูแปลก ๆ ผลการเรียนไม่ค่อยดี จะช่วยลูกแบบไหนดี อยากให้ลูกตั้งใจเรียน เราพอมีแนวทางมาแนะนำให้ได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจที่ผู้ปกครองจะต้องมีกับลูกด้วยนะ เพราะถ้าหากหาสาเหตุที่ลูกไม่ยากเรียนไม่ได้ ก็อาจแก้ปัญหาได้ลำบาก
7 วิธีสำหรับพ่อแม่ อยากให้ลูกตั้งใจเรียน
ชวนผู้ปกครองมาใช้วิธีที่จะช่วยให้ลูกมีความตั้งใจเรียนมากขึ้น ซึ่งส่วนมากก็เป็นแนวคิดพื้นฐานที่จะช่วยลูกได้ แต่ผู้ปกครองอาจมองข้ามไปในบางข้อโดยไม่รู้ตัว หากพร้อมแล้วเรามาลองทำตามกันทีละข้อดู แล้วมาวัดกันว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน
1. สอบถามปัญหาที่ลูกกำลังเผชิญ
เมื่อลูกแสดงความไม่อยากเรียนออกมา อาจมีสิ่งเร้า หรือสิ่งที่ส่งผลให้ลูกคิดแบบนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นจากโรงเรียน แต่ผู้ปกครองไม่เคยถาม หรือลูกไม่ยอมบอกมาก่อน ไปจนถึงปัจจัยที่อาจเกิดจากที่บ้านโดยที่ผู้ปกครองไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น การถูกเพื่อนล้อ ถูกเพื่อนแกล้งที่โรงเรียน เรียนไม่ค่อยเข้าใจ ตามเด็กคนอื่น ๆ ไม่ทัน หรือจะเป็นแรงคาดหวัง หรือแรงกดดันที่มาจากครอบครัว เป็นต้น ผู้ปกครองจึงควรพยายามที่จะพูดคุย ถามไถ่ และคอยสังเกตท่าทีของลูกหลังจากกลับมาจากโรงเรียน หากเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองสามารถช่วยได้ ก็ควรรีบลงมืออย่ารอช้าให้ลูกรู้สึกว่าตนเองเผชิญปัญหาอยู่คนเดียว
วิดีโอจาก : EDUCA
2. หากลูกเรียนไม่เข้าใจต้องรีบแก้ปัญหา
ปัญหาเรื่องความเข้าใจกลายเป็นพื้นฐานของการศึกษาโดยเรื่องไม่ได้ เพราะลูกอาจเกิดความคิดที่ว่า “เรียนไปแล้วไม่เข้าใจ จะตั้งใจเรียนไปทำไม” ในทางกลับกันวิชาที่ลูกสามารถทำคะแนนได้ดี จะส่งผลให้ลูกต้องการที่จะเรียน ต้องการที่จะมีคะแนนเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นการแก้ปัญหาวิชาที่ลูกไม่ถนัดสามารถทำได้หลายวิธี ตัวอย่างเช่น
- ลองทำแบบฝึกหัดไปพร้อม ๆ กับลูก : ลูกอาจรู้สึกว่าตัวเองจะทำให้พ่อแม่ผิดหวัง จึงไม่กล้าบอกว่าตนเองเรียนตรงไหนไม่เข้าใจบ้าง ผู้ปกครองสามารถรู้ในทางอ้อมได้ ด้วยการหาแบบฝึกหัดมานั่งทำกับลูก แต่ต้องไม่กดดันลูกด้วยนะ เมื่อลูกไม่สามารถทำตรงไหนได้ แสดงว่าตรงจุดนั้นเป็นจุดที่ลูกไม่เข้าใจ จึงค่อยสอนลูกเพิ่มเติม
- เรียนพิเศษเสริม : หากผู้ปกครองไม่สามารถสอนลูกเพิ่มได้ การให้ลูกเรียนพิเศษกับครูคนอื่นที่ไม่ใช่ครูที่โรงเรียนเป็นตัวช่วยที่ง่าย แต่ได้ผล เนื่องจากครูแต่ละคนมีรูปแบบในการสอนหนังสือที่แตกต่างกัน บ้างก็ดีต่อเด็ก บ้างก็เป็นวิธีที่ทำให้เด็กไม่เข้าใจ การเรียนเสริมกับครูที่มีเทคนิคการสอนที่แตกต่าง จะช่วยให้ลูกได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับบทเรียนมากขึ้น
3. อย่าบังคับให้ลูกทำตามความฝันของเราเอง
ปัญหาที่ว่าผู้ปกครองอยากให้ลูกเป็นหมอ อยากให้ลูกทำงานราชการ มีพื้นฐานความต้องการมาจากหลายปัจจัย เช่น เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองเคยอยากเป็น แต่ด้วยปัจจัยเรื่องเงินทำให้มีอุปสรรคจนเป็นอย่างที่ฝันไม่ได้ เลยต้องการให้ลูกเป็น หรือจะมาจากปัจจัยที่คิดว่าอาชีพเหล่านั้นเป็นอาชีพที่ดีต่อลูก พอลูกเป็นแล้วลูกจะสบายมากขึ้น เป็นต้น แต่ผู้ปกครองอาจลืมถามลูกว่าลูกอยากเรียนอะไร อยากเป็นอะไร เพราะสิ่งที่ผู้ปกครองคิดว่าใช่ คิดว่าดี อาจไม่ใช่ความสุขของลูก ปัญหานี้มักเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงวัยมัธยมต้น ที่ต้องเลือกสายการเรียนต่อในมัธยมปลาย เราแนะนำว่าให้ลูกเลือกในสิ่งที่ชอบ ส่วนผู้ปกครองคอยสนับสนุนจะดีกว่าไปบังคับลูกให้ทำในสิ่งที่เราต้องการ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อยากให้ลูกเป็นหมอ พ่อแม่อย่าพลาดลืมทำ 6 ข้อนี้เด็ดขาด !
4. สร้างแรงบันดาลใจในการเรียน
เป็นเรื่องที่ดี และสามารถทำได้ง่าย กับการที่ต้องมานั่งบอกกับลูกว่า ประโยชน์ของการศึกษาเล่าเรียนคืออะไร ทำไมต้องเรียน เด็กเล็กหลายคนอาจมีความเข้าใจในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะเด็กสมัยใหม่มีความคิดที่โตไว เข้าใจอะไรได้มากกว่าสมัยก่อน ๆ ดังนั้นแทนที่จะบอกเรื่องทั่วไปดังกล่าว ควรเลือกที่จะสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาเล่าเรียนมากกว่า เช่น การยกตัวอย่างบุคคลสำคัญที่อยู่ในสายอาชีพที่ลูกชื่นชอบ แสดงให้เห็นว่าต้องเรียนอะไร เรียนแบบไหน ถึงจะเป็นอย่างบุคคลเหล่านั้นได้ นอกจากนี้ผู้ปกครองเองก็ถือว่าเป็นตัวอย่างที่สำคัญ ที่จะทำให้ลูกได้เห็นด้วย หากผู้ปกครองแสดงถึงการศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา แสดงให้เห็นถึงชีวิตที่ดีที่ได้มาจากการศึกษาเล่าเรียน ลูกก็จะมีแรงบันดาลใจได้ไม่ยากแน่นอน
5. สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
การเรียนรู้นอกห้องเรียนสำคัญมาก ๆ เพราะเป็นไปได้ยากที่จะเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนรู้ สำหรับลูกในห้องเรียนที่โรงเรียน การสร้างเสริมความอยากรู้อยากเห็นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ซึ่งแน่นอนว่าอาจต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษ เนื่องจากโดยปกติแล้วในช่วงวันหยุด มักจะเป็นวันสบาย ๆ ที่แค่สั่งอาหารมากิน และพาลูกดูการ์ตูน หรือหนังสักเรื่อง แต่คำถามคือลูกได้อะไรจากสิ่งที่ทำ ? นอกจากความสนุกลูกก็ไม่ได้อะไรอีกเลย แล้วทำไมเราไม่ลองเปลี่ยนกิจกรรมที่นอกจากจะสนุก แถมยังได้ความรู้ไปด้วย เช่น ลูกสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ ก็ลองพาลูกออกไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ และหาร้านอาหารใกล้ ๆ ทานในตอนกลางวัน เป็นต้น
6. การได้มีเพื่อนที่ดี
หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อการเรียนรู้นั่นคือ “เพื่อน” เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น ได้ใช้ชีวิตในโรงเรียนพบเจอสิ่งต่าง ๆ มากมาย การได้มีเพื่อนที่สนิทกันจึงเป็นเรื่องที่ปกติมาก แต่การมีเพื่อนที่ดีนั้นส่งผลดีได้มากกว่า เพื่อนที่ดีไม่ได้หมายความว่าจะต้องรวย หรือมีหน้ามีตาทางสังคม แต่เพื่อนที่ดี คือ การช่วยเหลือกันทั้งเรื่องเรียน และเรื่องชีวิตอื่น ๆ ที่พอช่วยได้ การพากันเข้าเรียน มากกว่าชวนกันโดดเรียน สิ่งนี้สำคัญมาก เพราะในทุกยุคสมัย เด็กที่ไม่ตั้งใจเรียนแถมยังชวนคนอื่นให้โดดเรียน เพราะไม่ต้องการให้ตนเองรู้สึกล้มเหลวไปคนเดียวนั้นมีอยู่ให้เห็นทั่วไป ผู้ปกครองจึงต้องช่วยคัดกรองในเรื่องนี้ด้วย
7. ลูกเรียนดีต้องมีรางวัล
เด็ก ๆ กับการเรียนเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันตลอดหลายปี หากลูกพยายามเต็มที่จนการเรียนได้ผลที่ออกมาดี หรือน่าพึงพอใจ คำชื่นชมเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ลูกรู้สึกดี รู้สึกว่าตนเองนั้นทำถูกต้อง ทำได้ดีแล้ว แต่คำชมอาจไม่พอ การเรียนที่ดีส่งผลต่ออนาคตที่ดี สิ่งที่ลูกควรได้ก็ต้องเป็นเครื่องยืนยันในแนวคิดนี้ ผู้ปกครองอาจแอบถามลูกว่าอยากได้อะไรไหม อยากซื้ออะไรบ้าง และเมื่อลูกทำคะแนนได้ดี ผู้ปกครองก็ซื้อของสิ่งนั้นให้เป็นของขวัญ เป็นต้น
เรื่องเรียนเป็นเรื่องสำคัญ คนที่ประสบความสำเร็จได้แม้จะเรียนไม่จบ อาจมีให้เห็นบ้างแบบคนดังในต่างประเทศ แต่ถ้าจะวัดบุคคลเหล่านั้นก็ตีเป็นไม่ถึง 1 % ของคนที่เรียนไม่จบด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งจึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่จะช่วยผลักดันให้ลูกเข้าใจถึงข้อดีในการศึกษาเล่าเรียนตลอดในช่วงหลายปีของเด็กวัยเรียน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อยากให้ลูกผมตรง มีวิธีไหนบ้าง เด็กยืดผมได้ไหม ?
อยากให้ลูกสูง 180 เป็นไปได้ไหมถ้าพ่อแม่ไม่สูง พร้อมสูตรทำนายส่วนสูงลูก
อยากให้ลูกอ้วน รวมวิธีเพิ่มน้ำหนัก เมื่อลูกผอมเกินไป
ที่มา : oxfordlearning, rakluke