ทำอย่างไรดีลูกผอมเกินไป ? อยากให้ลูกอ้วน เราช่วยได้ ผู้ปกครองคนไหนกำลังมองหาทางออกสำหรับปัญหานี้ ลองอ่านบทความนี้ดูก่อน เรามีวิธีแก้มาให้ทั้งการปรับมื้ออาหารสำหรับเด็กวัยซน และการปรับการให้นมสำหรับทารกน้อย รับรองช่วยได้แน่นอน
อยากให้ลูกอ้วน รวมวิธีช่วยลูกหากลูกผอมเกินไป
ลูกของคุณอ้วนหรือผอมในตอนนี้ ? หันไปมองดูลูกแล้วพบว่าลูกมีกระดูกขึ้นตามร่างกาย ดูตัวเล็ก ผอมเกินไป ปัญหานี้ปล่อยผ่านไปเรื่อย ๆ จะส่งผลเสียต่อเด็กได้ หากกำลังมองหาวิธีที่จะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ลูก เราก็มีมานำเสนอให้ ทั้งวิธีสำหรับเด็กแรกเกิด – 4 เดือน และวิธีสำหรับเด็กที่กำลังโตอยู่ในซุกซน
3 วิธีเพิ่มน้ำหนักสำหรับเด็กทารก – 4 เดือน
ผู้ปกครองที่เพิ่งมีลูกอาจมีความกังวลใจว่าทารกน้อยหลังคลอด ตอนนี้มีน้ำหนักมาก หรือน้อยกว่าเกณฑ์ ซึ่งอาหารหลักของทารกนั้นเป็นนมแม่ แต่ด้วยหลายปัจจัย เช่น สารอาหารในน้ำนมอาจไม่พอ เป็นต้น อาจทำให้ทารกแต่ละคนกินนมแม่ได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นผู้ปกครองที่สงสัยว่าลูกของตนสมส่วนหรือไม่ ให้เทียบจากน้ำหนักด้านล่างนี้
- ทารกแรกเกิด – 7 วันแรก น้ำหนักตัวลดลงได้ 10 % ของน้ำหนักหลังคลอด
- ทารก อายุ 2 สัปดาห์ จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เท่ากับน้ำหนักตัวตอนหลังคลอด
- เมื่อลูกอายุครบ 5 เดือน น้ำหนักจะเป็น 2 เท่า ของน้ำหนักตอนหลังคลอด
- ลูกอายุครบ 1 ปี น้ำหนักจะเป็น 3 เท่า ของน้ำหนักตอนหลังคลอด
- เมื่อลูกอายุครบ 2 ปี น้ำหนักจะเป็น 4 เท่า ของน้ำหนักตอนหลังคลอด
เมื่อเทียบกับข้อมูลแล้วพบว่าทารกน้อยมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด อย่ารอช้า เพราะทารกอาจมีพัฒนาการช้า จากสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้ จึงควรแก้ไข ดังนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : อยากให้ลูกสูง 180 เป็นไปได้ไหมถ้าพ่อแม่ไม่สูง พร้อมสูตรทำนายส่วนสูงลูก
วิดีโอจาก : นพ.ธีระยุทธ์ ธนนันทน์ธัญโชติ
1. เลี่ยงไม่ให้ลูกกินนมส่วนหน้ามากเกินไป
คุณแม่บางคนอาจไม่รู้ว่านมแม่นั้นมี 2 ส่วน และมีความแตกต่างกัน คือ นมส่วนหน้า (Foremilk) ลักษณะนมจะมีความใส มีสารอาหารที่หลากหลาย ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้ดี สังเกตได้จากอุจจาระของลูกจะกระปริบกระปอย และมีฟอง และนมส่วนหลัง (Hindmilk) มีไขมันผสมอยู่กับสารอาหารอื่น ๆ ด้วย ทำให้สามารถเพิ่มน้ำหนักทารกได้ดี ลักษณะนมจะมีสีขาวข้น สังเกตจากอุจจาระของลูกจะเป็นสีเหลือง และเป็นเม็ด ๆ ดังนั้นการให้ลูกกินนมส่วนหลังจึงช่วยแก้ปัญหาเรื่องลูกน้ำหนักตัวน้อยได้
วิธีก็คือ ให้คุณแม่ปั๊มนมให้เกลี้ยงทุก 2 – 3 ชั่วโมง นมส่วนหน้าที่ถูกปั๊มออกมาให้เก็บเอาไว้ให้ลูก แล้วให้ลูกกินนมจากเต้า เพราะนมส่วนหลังจะถูกผลักออกมาใช้แทน ทำให้ทารกมีโอกาสรับไขมันจากนมส่วนหลัง จนมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ส่วนนมส่วนหน้าที่ปั๊มไว้ก็ค่อย ๆ เอาออกมาให้ลูกกินในโอกาสอื่น ๆ ตามลำดับ
2. แก้ไขจากการแพ้สารอาหารในนมแม่
ลูกจะได้รับสารอาหารจากนมแม่ตามสารอาหารที่คุณแม่กิน เด็กบางคนอาจมีอาการแพ้อาหารบางชนิดได้ แต่ด้วยทารกไม่สามารถพูดบอกได้ จึงต้องใช้การสังเกตอาการ เช่น อาการผื่นขึ้นตามใบหน้า หรือการหายใจเสียงดัง หายใจผิดปกติ เป็นต้น หากพบอาการเหล่านี้ ควรพาไปพบแพทย์ก่อนว่าเกิดจากอาการแพ้หรือไม่ และรับการตรวจ และรับคำแนะนำ
โดยทั่วไป มักใช้วิธีงดเมนูอาหารที่ทานก่อนหน้าให้นมลูกไปก่อนประมาณ 2 สัปดาห์ หากให้นมลูกต่อไป แล้วลูกไม่มีอาการแพ้ ก็ให้งดอาหารเมนูเหล่านั้นต่อไปในช่วงที่ต้องให้นมลูกอยู่ หากอาการลูกไม่ดีขึ้น แสดงว่าเกิดจากอาหารเมนูอื่น ที่คุณแม่ทานไปนั่นเอง
3. ระวังลูกหลับตอนดูดนม
ทารกบางคนอาจเผลอหลับตอนดูดนม ทำให้คุณแม่เข้าใจว่าลูกกินนมพอแล้ว จึงเอาลูกออกจากเต้า แต่ในความเป็นจริงเกิดจากที่ทารกรู้สึกสบายจากวิธีการอุ้ม เช่น การห่อตัวลูกมากเกินไป เป็นต้น ทำให้ทารกดูดนมได้ไม่นานก็เผลอหลับไป คุณแม่ต้องคอยสังเกตให้ดี หากพบว่าลูกหลับเร็วมากเกินไป อาจต้องปลุกเบา ๆ เพื่อให้ลูกกินนมต่อ ส่วนสาเหตุที่ลูกไม่ร้องหิวนมแม้จะเผลอหลับ เพราะว่ายังไม่หิว จากการได้กินนมไปบ้าง แต่สารอาหารที่ได้รับก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จนทำให้มีน้ำหนักน้อยได้
4 วิธีเพิ่มน้ำหนัก สำหรับเด็กวัยเรียนรู้ / เด็กโต
สำหรับเด็กที่โตขึ้นมา จะสามารถสังเกตน้ำหนักได้ง่ายกว่า ลูกอ้วน ลูกผอมจะมองออกได้ง่าย จากการเคลื่อนไหว จากสรีระการยืน การเดิน โดยเฉพาะเมื่อลูกผอมจะเห็นกระดูกบางส่วน ผู้ปกครองก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรหาวิธีแก้ไข เพื่อให้ลูกรักมีน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยได้ ดังนี้
1. ปรับบรรยากาศบนโต๊ะอาหาร
บางครอบครัวอาจไม่ทันสังเกตและมองเป็นเรื่องปกติ เช่น การพูดคุยเสียงดัง เป็นเรื่องที่ลูกไม่เข้าใจ หรือการทะเลาะกัน เถียงกันบนโต๊ะอาหาร เสียงสิ่งแวดล้อมที่ดังมาก ไปจนถึงสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่นการ์ตูนในทีวี หรือเล่นแท็บเล็ตไปด้วย ทำให้กินข้าวได้น้อยลง ดังนั้นนอกจากพ่อแม่จะต้องระวังการเถียงกันจนทำให้บรรยากาศไม่ดีแล้ว ยังต้องให้ลูกงดเล่น งดดูการ์ตูนระหว่างทานข้าว เพื่อให้ลูกหันมาสนใจการกินข้าวมากขึ้น
2. ปรับสารอาหารให้ร่างกายได้รับพลังงานมากขึ้น
อาหารที่ลูกกินสัมพันธ์โดยตรงต่อน้ำหนักของลูก ผู้ปกครองสามารถช่วยให้ลูกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ด้วยการให้ลูกกินอาหาร ที่ให้พลังงานกับร่างกายมากขึ้น เช่น กล้วย อาโวคาโด ไข่ นม และเนื้อไก่ เป็นต้น ซึ่งสามารถนำไปดัดแปลงเป็นเมนูตามที่ลูกชอบได้ไม่ยากแน่นอน แต่ต้องระวังหากกินจนมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นแล้ว ต่อไปจะทำให้ลูกอ้วนได้ จึงต้องระวังให้ดี ควรชวนลูกออกกำลังกายด้วย
นอกจากนี้ลูกอาจไม่ทานอาหารที่ไม่ชอบ หรือไม่คุ้นเคย ลองกินแล้วไม่ถูกใจ ทำให้กินได้น้อย ผู้ปกครองอาจแก้ปัญหาเหล่านี้ ด้วยการทำเมนูอาหารที่ลูกชอบทานเป็นพิเศษมากขึ้น เพื่อให้ลูกสามารถกินได้อย่างอร่อย และมีความสุข โดยมีเป้าหมายก็เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้ลูกนั่นเอง
3. ให้ลูกได้ใช้พลังงานออกมามากขึ้น
ออกแรงเยอะ เล่นมาก ๆ ทำให้เหนื่อย ร่างกายจะต้องการพลังงานจากการทานอาหาร เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้น การให้ลูกอยู่แต่ในบ้าน เดินไปเดินมา นั่งเล่นของเล่นอาจไม่ช่วยอะไร แต่ถ้าหากลูกได้มีโอกาสวิ่งเล่น ได้เล่นกับคนในครอบครัว จะทำให้ร่างกายใช้พลังงานจนทำให้ลูกหิว ผู้ปกครองสามารถถือโอกาสนี้ในการหาอาหารที่มีพลังงานสูงมาให้ลูกทาน หรือเปลี่ยนบรรยากาศในการทานอาหารมื้อพิเศษที่สวนสาธารณะ เป็นต้น
4. ใช้อาหารเสริมช่วย
ปัญหาที่เกิดจากการรับสารอาหารไม่เพียงพอ สามารถแก้ไขได้ด้วยการหาอาหารเสริมมาให้เด็กทานได้เช่นกัน แต่ผู้ปกครองไม่ควรเลือกเอง หรือฟังจากคำโฆษณาตามสื่อออนไลน์ การเลือกอาหารเสริมให้กับลูกอย่างถูกต้อง ควรมาจากการปรึกษากับแพทย์เท่านั้น ควรให้แพทย์แนะนำอาหารเสริมที่ถูกต้องปลอดภัย มีมาตรฐานเท่านั้น
ทั้งนี้วิธีที่เราแนะนำมาทั้งหมดนั้น หากลองทำแล้วไม่ได้ผล ผู้ปกครองไม่ควรรอช้า ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มมากขึ้น เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ลูกมีน้ำหนักน้อยอย่างแท้จริง และแก้ไข หรือรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อยากให้ลูกเป็นหมอ พ่อแม่อย่าพลาดลืมทำ 6 ข้อนี้เด็ดขาด !
ลูกผอมมากแล้วยังอยากผอมอีก…ระวังโรคบูลิเมียและอโนเร็กเซีย !
ลูกน้ำหนักน้อยและตัวผอม ควรให้ ลูกทานยาถ่ายพยาธิ หรือไม่ ?
ที่มา : aboutmom, happymom, shopback