การบ้านเยอะ อีกหนึ่งปัญหาสำหรับเด็กไทยที่ต้องเผชิญในทุก ๆ วัน นอกจากงาน และกิจกรรมที่มากล้นแล้ว การบ้าน เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เด็กไทย เป็นโรคเครียดมากขึ้น ซึ่งสาเหตุหลังของโรคเครียดนั้น ก็มาจากปัญหาในการเรียน โดยเฉพาะเรื่องของการบ้าน ความเครียดในตัวเด็ก อาจส่งผลให้เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน อีกทั้งยังทำให้ผลการเรียนตก เป็นโรคซึมเศร้า และเหม่อลอย หรือไม่มีพละกำลัง โดยวันนี้เราจะพาทุกคน มาเข้าใจปัญหาที่เกิดจากการบ้านที่เยอะเกินไปมากขึ้น พร้อมบอกเทคนิควิธีรับมือ เมื่อต้องเจอการบ้านที่เยอะเกินไป จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย
ปัญหาที่เกิดจาก การบ้านเยอะ
บ่อยครั้งที่ครูมักจะสั่งงานเพิ่มให้กับนักเรียน เพราะคิดว่าการอยู่บ้านนั้น ทำให้เด็กมีเวลามากขึ้น อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วการสั่งการบ้านเยอะนั้น ส่งผลเสียให้กับเด็กเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากความเครียดที่สะสมจากการบ้านแล้ว เด็กยังไม่มีเวลาในการทำกิจกรรมอื่น ๆ หลังเลิกเรียน เพื่อผ่อนคลาย และพัฒนาตนเอง แน่นอนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นั้น เกิดจากการบ้านที่เยอะเกินไป สำหรับปัญหาที่เกิดจาก การบ้านเยอะ มีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ
1. ความเครียดสะสมที่เกิดจากการทำการบ้าน
ปัญหาที่เกิดจากการบ้านที่ล้นมือ ทำให้เด็กเกิดความเครียดสะสมมากขึ้น ซึ่งในบางรายวิชานั้น อาจเยอะเกินไป และยาก ทำให้เด็กรู้สึกเครียด เนื่องจากกลัวทำไม่ทัน และกลัวว่าจะทำไม่ได้ หากเด็กเกิดความเครียดสะสมมาก ๆ อาจส่งผลกระทบต่อการเรียน และความสัมพันธ์ของคนรอบตัว โดยเฉพาะพ่อแม่ และหากเด็กเกิดความเครียดที่ถึงขั้นรุนแรงนั้น อาจทำให้เด็กขาดสมาธิในการเรียน ผลการเรียนตก เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีอาการเหม่อลอย ร่างกายไม่มีแรง จนในท้ายที่สุด เด็กไม่อยากไปโรงเรียน
2. ประสิทธิภาพในการบ้านทำงานน้อยลง
การเร่งรีบในการทำการบ้านของนักเรียน ส่งผลให้งานในแต่ละวิชานั้น ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กล่าวคือ เด็กจะรีบทำการบ้าน ซึ่งจะทำให้งานชิ้นนั้น ได้คะแนนที่ไม่ดี การเร่งรีบในการทำการบ้าน อาจก่อให้เกิดความเหนื่อยล้ากับเด็ก โดยเฉพาะหลังเวลาเลิกเรียน เด็กจะเกิดความเร่งรีบ หรือไม่อยากทำการบ้าน ซึ่งอาจนำไปสู่การดองงานในท้ายที่สุด ทั้งยังเพิ่มภาระให้แก่ผู้เรียนอีก นอกจากความเหนื่อยล้า ที่เด็กต้องเผชิญหลังการเรียน และการทำการบ้านแล้ว ยังทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเด็กลดลงอีกเช่นกัน
3. ผลคะแนนที่ไม่ดี เมื่อนักเรียนเร่งรีบทำงาน
แน่นอนว่าเมื่อนักเรียนเร่งรีบทำงานแต่ละชิ้นให้เสร็จ อาจทำให้คำตอบของแต่ละงานนั้น ผิด หรือไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เด็กได้คะแนนน้อย เกรดลดลง และการทำงานในชิ้นงานนั้นไม่มีประสิทธิภาพ หากเกรดไม่ดี ก็อาจส่งผลกระทบต่อการสอบเข้าเรียนต่อ ทั้งในชั้นมัธยมปลาย และมหาวิทยาลัย ซึ่งเกรดมีความสำคัญมาก รวมถึงยังก่อให้เกิดปัญหาในจิตใจ ซึ่งอาจทำให้เด็กรู้สึกเสียใจ และโทษตัวเอง ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมในท้ายที่สุด
4. บริหารเวลาไม่ดี และจัดระเบียบตนเองไม่ได้
ปัญหาการบ้านเยอะ ทำให้เด็กบริหารเวลา และจัดระเบียบตนเองไม่ได้ แม้ว่าเด็กหลายคนจะพยายามเร่งรีบทำงาน พยายามแยกงานแต่ละชิ้น หรือวางแผนการทำการบ้านนั้น ก็อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะจำนวนของการบ้านที่มากเกินไป ส่งผลให้เด็กบริหารเวลา และจัดตารางชีวิตตนเองไม่ได้ จนในท้ายที่สุดอาจทำให้ เด็กไม่มีเวลาในการทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายสมอง หรือใช้เวลาอยู่กับครอบครัว
5. ไม่สามารถจดจำในสิ่งที่บันทึก
เมื่อเด็กเร่งรีบในการทำการบ้าน ทำให้เด็กไม่สามารถจดจำในสิ่งที่ตนได้เรียนมา แม้ว่าบางคนจะพยายามทบทวนคำตอบ หรือบทเรียน แต่ก็ต้องเพิ่มเวลาในการอ่านหนังสือ หรือค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมอีก ซึ่งอาจทำให้เด็กเกิดสมองรวน หรือมึนงง เพราะงานที่เยอะเกินไป และตารางเวลาที่ไม่สามารถบริหารได้ จนอาจทำให้ลืมบทเรียนทั้งหมด
บทความที่เกี่ยวข้อง : การบ้านจำเป็นต่อเด็กไหม ทำไมเด็กต้องมีการบ้าน ลูกทำการบ้านให้อะไรบ้าง
เทคนิครับมือเมื่อต้องเจอ การบ้านที่เยอะเกินไป
การบ้าน ไม่ใช่เรื่องน่าสนุกสำหรับนักเรียน โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด 19 ที่คุณครูมักจะสั่งการบ้านให้เด็กเยอะเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม การเร่งรีบในการทำการบ้านของนักเรียนนั้น อาจจะทำให้เด็กไม่เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้สักเท่าไหร่ และยังทำให้งานชิ้นนั้นไม่ได้คะแนนที่ดีอีกด้วย แล้วเราจะแก้ปัญหาการบ้านล้นมือนี้ได้อย่างไร มาดูเทคนิคในการรับมือกันค่ะ
1. จัดลำดับในการทำงาน
การจัดลำดับในการการบ้านแต่ละวิชา หรือลำดับความยากง่าย ช่วยให้เราได้มีเวลาวางแผนในการทำงานแต่ชิ้น เช่น เลือกทำวิชาที่ยากมากก่อน จะช่วยให้เราได้ทำงานชิ้นหลังที่ง่ายขึ้น หรือเลือกทำตามลำดับการส่ง ซึ่งเป็นหลักการทำการบ้านแบบปกติ จะช่วยเราจัดลำดับชิ้นงานที่ต้องส่งได้ดีขึ้น หรืออาจเลือกทำการบ้านที่มีคะแนนสูงไว้ก่อน เป็นต้น แน่นอนว่าการจัดลำดับในการทำงาน จะช่วยให้เราสามารถกำหนด และวางแผนลำดับความสำคัญในการทำการบ้านได้
2. วางแผน และทำตารางการทำการบ้าน
การวางแผน และการทำตารางการทำการบ้าน ช่วยประหยัดเวลาในการทำงานมากขึ้น หากเราสามารถทำตาราง ในการจดการบ้านแต่ละชิ้น หรือวันเวลาที่ต้องส่ง และรายละเอียดงานที่ต้องทำ ก็ช่วยให้เราได้รู้วิธีการทำงานมากขึ้น และยังช่วยไม่ให้เราลืมงานแต่ละชิ้น นอกจากนี้ การวางแผนทำตารางการบ้าน ช่วยให้เรารู้ตัวว่า ควรจะค้นหาข้อมูลอย่างไร หรือควรจะทำงานชิ้นไหนก่อน แน่นอนว่าดีกว่าการไม่วางแผนการบ้าน ซึ่งจะทำให้เสียเวลาในการทำงานอย่างมาก
3. หาที่เงียบ และไม่มีเสียงรบกวนเพื่อทำการบ้าน
เด็กหลายคนมักจะชอบทำการบ้านหน้าทีวี หรือพื้นที่ที่มีเสียงรบกวน นักเรียนควรหาที่ทำงานเงียบ ๆ ที่ไม่มีสิ่งเร้ารบกวน ในการทำการบ้าน การอยู่ในที่เงียบจะช่วยให้นักเรียน ทำการบ้านได้เร็ว และมีสมาธิกับงานมากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำการบ้านของเรามีประสิทธิผลที่ดี ทั้งยังสามารถแบ่งเวลาในการทำงานชิ้นอื่นได้ด้วย
4. จัดเตรียมอุปกรณ์การเรียนให้พร้อมตลอดเวลา
การจัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากอุปกรณ์อยู่คนละที่ ก็จะทำให้เราเสียเวลาในการทำงานมากขึ้น หากเราลืมอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่ง ก็จะทำให้เราหงุดหงิด และไม่มีสมาธิในการทำงาน ดังนั้น นักเรียนควรจัดโต๊ะเรียน และอุปกรณ์เรียนให้พร้อม เพื่อให้การทำการบ้านราบรื่น ประหยัดเวลา และยังเป็นการเตรียมพร้อมการทำการบ้านอยู่เสมอ
5. ปิดโทรศัพท์มือถือ
การปิดโทรศัพท์มือถือขณะทำการบ้าน เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้น เพราะไม่มีสิ่งรบกวน หรือกระตุ้นให้อยากดูอยู่ตลอดเวลา พยายามหลีกเลี่ยงการใช้มือถือ หรือปิดเสียงเวลาทำการบ้าน เพราะจะช่วยให้เราได้มีสมาธิอยู่กับงาน และไม่โฟกัสกับโทรศัพท์มือถือ
6. ฟังเพลงคลาสสิค พร้อมทำการบ้านไปด้วย
วิธีนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยม การฟังเพลงคลาสสิค พร้อมกับทำการบ้านไปด้วยช่วยให้เรามีสติ เพราะดนตรีคลาสสิคไม่มีเนื้อเพลง หรือจังหวะเร้าใจใด ๆ เป็นการบรรเลงดนตรีที่ไม่หวือหวา ซึ่งผลวิจัยพบว่า นักเรียนที่ฟังเพลงคลาสสิค สามารถทำคะแนนสอบสูงได้มากกว่านักเรียนที่ฟังเพลงแนวอื่น ดังนั้น การฟังเพลงคลาสสิค จะช่วยให้เราได้ผ่อนคลายขณะทำการบ้าน หรือก่อนสอบนั่นเอง
7. ทำการบ้านเป็นกลุ่ม หรือทำพร้อมเพื่อน
การทำการบ้านเป็นกลุ่มพร้อมเพื่อน ช่วยให้เราทำงานได้ดีมากขึ้น เพราะเราสามารถแลกเปลี่ยนคำตอบ และแชร์ความคิดเห็นกับเพื่อนได้ พยายามทำงานพร้อมเพื่อน หรือจับคู่ในการทำการบ้าน เพราะจะช่วยให้เราได้แลกเปลี่ยน และสนทนากับเพื่อน อีกทั้งการทำงานพร้อมเพื่อนนั้น ยังช่วยกระตุ้นพลังงานของเราได้ตลอดเวลา
8. ตั้งเป้าหมาย และให้รางวัลตัวเอง
การให้รางวัลตัวเอง ช่วยกระตุ้นให้เราอยากทำการบ้านให้เสร็จ เราสามารถตั้งเป้าหมายได้ง่าย ๆ เช่น หากทำงานชิ้นนี้เสร็จ ก็จะได้กินขนมจานโปรด หรือหากอ่านหนังสือบทนี้ได้ 1 ชั่วโมง ก็จะได้เล่นโทรศัพท์ 15 นาที เป็นต้น การตั้งเป้าหมาย และให้รางวัลตัวเอง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยผ่อนคลาย และลดความเครียดให้กับเด็ก หลังจากการทำการบ้าน หรือทำข้อสอบได้
เมื่อต้องรับมือกับ การบ้านเยอะ นักเรียนควรมีการวางแผน และวิธีการรับมือที่ดี ไม่ควรทำการบ้านด้วยความเร่งรีบจนเกินไป เพราะจะทำให้การทำงานนั้น ไม่มีประสิทธิภาพ และอาจทำคะแนนไม่ดีเท่าที่ควร ทางที่ดี นักเรียนควรแบ่งเวลาให้ถูก และค่อย ๆ จัดการกับการบ้าน และงานในแต่ละชิ้น หากนักเรียนรู้สึกว่าทำงานไม่ทัน หรือการบ้านมีเยอะเกินไป ให้ลองปรึกษาหรือ หรือต่อรองกับครูผู้สอน เพื่อให้เราสามารถทำการบ้านได้ทันตรงตามเวลา
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ปัญหาลูกไม่ทำการบ้าน ลูกไม่ชอบทำการบ้าน เพราะอะไร วิธีแก้ปัญหาลูกไม่ทำการบ้าน
ลูกไม่ชอบทำการบ้านใช่ไหม! พ่อแม่ต้องจัดการด้วยวิธีนี้
แนะเคล็ดลับสอนการบ้านลูกให้สนุกและได้ผล
ที่มาข้อมูล :homework, hw5775
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!