โฟลิก ห้ามกินพร้อมอะไร ? วิตามินบำรุงครรภ์ที่แม่ท้องต้อง "กินเป็น"

undefined

คุณแม่ตั้งครรภ์ หรือผู้หญิงที่เตรียมพร้อมตั้งครรภ์ การกินโฟลิกสำคัญมากนะคะ สำคัญและมีประโยชน์ยังไง มีวิธีการกินแบบไหน มาดูไปด้วยกัน

การบำรุงครรภ์ที่ดีและเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตอย่างมีสุขภาพดีค่ะ โดยหนึ่งในสารอาหารที่จำเป็นและไม่ควรมองข้ามคือ “โฟลิก” ซึ่งเป็นวิตามินสำคัญในการพัฒนาระบบประสาทและสมองของทารก แต่การกินโฟลิกก็มีเรื่องที่คุณแม่ต้องเข้าใจในแง่ของการกินร่วมกับอาหารหรือยาอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด โฟลิก ห้ามกินพร้อมอะไร ? มาทำความเข้าใจกันเลยค่ะ

โฟลิก คืออะไร

โฟลิก คืออะไร?

โฟลิก (Folic acid) หรือวิตามินบี 9 เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ มีส่วนช่วยในกระบวนการเผาผลาญโปรตีน มีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง มีบทบาทสำคัญในการสร้างเซลล์ใหม่และซ่อมแซมเซลล์ในร่างกาย และจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งโฟลิกช่วยในการสร้างและปิดหลอดประสาทของทารก อันเป็นโครงสร้างสำคัญที่พัฒนาเป็นสมองและไขสันหลัง สามารถป้องกันการพิการแต่กำเนิดได้ ทั้งยังช่วยให้เจริญอาหาร แก้อาการอ่อนเพลีย ป้องกันภาวะซีดหรือโลหิตจาง ป้องกันโรค NCDs และโรคอัลไซเมอร์

โฟลิก สำคัญยังไงกับแม่ท้อง

ความสำคัญของ “โฟลิก” ที่มีต่อแม่ท้อง

โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับโฟลิกในการบำรุงครรภ์ ประมาณ 400-800 ไมโครกรัมต่อวัน ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์และตลอดการตั้งครรภ์ การกินโฟลิกจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดความผิดปกติในระบบประสาทของทารก ความสำคัญของ “โฟลิก” ที่มีต่อแม่ท้อง มีดังนี้

  1. ป้องกันความพิการแต่กำเนิด

โฟลิกช่วยลดความเสี่ยงของความพิการแต่กำเนิดที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับกรดโฟลิกในปริมาณที่เพียงพอจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาสมอง กะโหลกศีรษะ และไขสันหลังของทารกในครรภ์ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะพิการแต่กำเนิดดังต่อไปนี้

  • ลดความพิการแต่กำเนิดโดยรวมลง
  • ความพิการที่เกี่ยวกับสมองและไขสันหลังของเด็กทารก เช่น โรคสไปนา ไบฟิดา (Spina Bifida) และภาวะกะโหลกศีรษะไม่ปิด (Anencephaly)
  • ลดโอกาสการเกิดความพิการแต่กำเนิดของหลอดประสาท
  • ลดความเสี่ยงโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • ความผิดปกติของแขนขาลดลงไปได้ประมาณ 50%
  • ลดความพิการของระบบทางเดินปัสสาวะ และ โรคไม่มีรูทวารหนัก (imperforate anus)
  • โอกาสการเกิดปากแหว่งลดลงประมาณ 1 ใน 3
  • ลดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด การแท้งบุตร และครรภ์เป็นพิษ
  1. สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางในคุณแม่ตั้งครรภ์
  2. ส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารก โฟลิกมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสมองและไขสันหลังของทารก
  3. ช่วยรักษาหรือป้องกันภาวะขาดโฟเลต รวมถึงโรคโลหิตจางจากการขาดโฟเลตด้วย
  4. ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

กรดโฟลิกจะทำงานร่วมกับวิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 ในการควบคุมระดับของสารโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) ในเลือดไม่ให้สูงเกินไป เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

  1. ช่วยรักษาปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต

กรดโฟลิกอาจมีคุณสมบัติในการช่วยรักษาปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว รวมถึงโรคจิตเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาโฟลิกร่วมกับยาต้านเศร้าชนิดอื่นๆ ให้แก่ผู้ป่วย เพื่อให้ตัวยาช่วยปรับสารเคมีในสมองให้อยู่ในระดับปกติ และสามารถบรรเทาอาการทางจิตที่เกิดขึ้นได้

คนท้อง กินโฟลิกตอนไหน

คนท้อง โฟลิก กินตอนไหน? โฟลิก ห้ามกินพร้อมอะไร ?

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้คุณแม่ที่เตรียมพร้อมจะตั้งครรภ์ เริ่มกินโฟลิกได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือน ต่อเนื่องจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งท้อง เพื่อช่วยให้การสร้างหลอดประสาทของตัวอ่อนภายใน 28 วันแรกหลังปฏิสนธิอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีความต้องการกรดโฟลิกอยู่ที่ 800 ไมโครกรัมต่อวัน หรือมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ถึง 400 ไมโครกรัม

ปริมาณ โฟลิก ที่แนะนำสำหรับแม่ท้อง

คนท้องทั่วไป

และผู้หญิงที่วางแผนตั้งครรภ์

  • ควรเสริมด้วยกรดโฟลิกแบบเม็ด ให้ได้อย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ควรกินไม่ให้เกิน 1 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะหากร่างกายได้รับกรดโฟลิกมากเกินไป จะยับยั้งการทำงานของวิตามินบี 12 ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นโรคโลหิตจางได้
คนท้อง ที่มีประวัติลูกพิการแต่กำเนิด
  • ควรได้รับโฟเลต หรือกรดโฟลิก 4 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเพิ่มปริมาณขึ้น 10 เท่า
  • ควรได้รับโฟลิกก่อนตั้งครรภ์ 1–3 เดือน เพื่อป้องกันทารกพิการแต่กำเนิด
  • ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ไม่ควรกินโฟลิกเพิ่มด้วยตัวเอง

 

ทั้งนี้ ปริมาณของโฟลิกที่ผู้หญิงซึ่งไม่ได้ตั้งครรภ์ควรได้รับในชีวิตประจำวัน คือประมาณ 400 ไมโครกรัมต่อวัน หรือ 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน โดยจะมีโฟลิกในผักและผลไม้ ซึ่งหากไม่ได้กินแบบสดก็จะได้รับปริมาณโฟลิกที่น้อยลง แต่หากกินอาหารและผักผลไม้อย่างถูกต้องจะช่วยให้ได้รับโฟลิกอย่างเพียงพอได้ค่ะ

แหล่งอาหารที่มีโฟลิก

ผักผลไม้ที่เป็นแหล่งโฟลิก

  • ผักใบเขียว เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลต โดยในแต่ละมื้ออาจเพิ่มผักโขม กะหล่ำปลี หรือผักกาดเขียวลงไป เพื่อเพิ่มกรดโฟลิกให้กับร่างกาย ซึ่งสำหรับผู้หญิงปกติการกินผักเหล่านี้ 1 จานใหญ่ต่อวัน ก็จะทำให้ได้รับกรดโฟลิกเพียงพอแล้ว
  • บร็อกโคลี บร็อกโคลี 1 ถ้วย ให้กรดโฟลิกมากถึง 26% ของจำนวนที่ร่างกายต้องการต่อวัน โดยเฉพาะกินแบบลวกหรือคู่กับน้ำสลัดแบบสดๆ จะยิ่งได้คุณค่าสารอาหารดีกว่าการนำไปทอดหรือผัดค่ะ
  • ผลไม้รสเปรี้ยวโดยปกติแล้วผลไม้ส่วนใหญ่ต่างอุดมด้วยกรดโฟลิก เพียงแต่ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจะมีกรดโฟลิกเยอะมาก โดยเฉพาะส้ม ซึ่งส้ม 1 ลูก มีกรดโฟลิก 40-50 ไมโครกรัม นอกจากนี้ มะละกอ องุ่น กล้วย แคนตาลูป รวมถึงสตรอว์เบอร์รีก็มีกรดโฟลิกสูงเช่นกัน

โฟลิก ห้ามกินพร้อมอะไร

แม่ท้องควรรู้ โฟลิก ห้ามกินพร้อมอะไร ?

จริงๆ แล้วคุณแม่สามารถกินโฟลิกได้ตลอดช่วงตั้งครรภ์และให้นมค่ะ หรือสามารถกินรอไว้ได้เลยถึงแม้จะไม่ได้วางแผนตั้งครรภ์ก็ตาม เพราะโฟลิกเป็นวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่อย่างไรก็ตาม มีสารบางชนิดที่อาจทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมของโฟลิกลดลงหากกินพร้อมกัน หรือกินในปริมาณที่ไม่เหมาะสม มาดูกันว่า โฟลิก ห้ามกินพร้อมอะไร ?

  1. แคลเซียม การกินโฟลิกพร้อมแคลเซียมในปริมาณมากอาจส่งผลให้การดูดซึมโฟลิกลดลง ดังนั้น ควรแยกการกิน โดยอาจเว้นระยะเวลาในการกินอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  2. วิตามินซี การกินวิตามินซีพร้อมโฟลิกในปริมาณสูงอาจทำให้การดูดซึมโฟลิกไม่เต็มที่ เพราะวิตามินซีอาจทำให้โฟลิกสลายตัวได้เร็วขึ้น ควรเลือกกินแยกกัน
  3. อาหารที่มีไฟเบอร์สูง ไฟเบอร์มีบทบาทในการส่งเสริมการขับถ่าย แต่การกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเกินไปอาจทำให้การดูดซึมของโฟลิกถูกลดลงได้เช่นกัน ดังนั้น คุณแม่ควรกินอาหารที่มีไฟเบอร์อย่างพอเหมาะ และแบ่งมื้อให้สอดคล้องกับการดูดซึมของวิตามินโฟลิก
  4. ยาบางชนิด
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) อาจมีผลทำให้การดูดซึมโฟลิกลดลง ดังนั้น การกินโฟลิกในกรณีนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ยาลดกรด จะขัดขวางการดูดซึมโฟลิก ไม่ควรกินพร้อมกัน
  • ยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) ยาคอเลสไทรามีน (Cholestyramine) ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) หรือยาต้านอาการชักบางชนิด ไม่สามารถกินร่วมกับวิตามินโฟลิกได้ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  1. อาหารบางชนิดที่มีสารต้านโฟเลต (Folate Antagonists) อาจขัดขวางการทำงานของโฟลิก
  2. แอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์อาจลดการดูดซึมโฟลิก ทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากโฟลิกน้อยลง ซึ่งโดยปกติคุณแม่ตั้งครรภ์ควรงดการดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว สำหรับผู้หญิงที่เตรียมตั้งครรภ์ก็ควรหลีกเลี่ยงการกินวิตามินโฟลิกพร้อมแอลกอฮอล์ด้วยค่ะ

กินโฟลิก ควรปรึกษาแพทย์

ข้อควรระวัง! ในการกินยาวิตามินโฟลิก

  • ควรกินตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่กินมากหรือน้อยกว่าที่แพทย์กำหนด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
  • การกินโฟลิกอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น รู้สึกไม่สบาย เมื่อยล้า เบื่ออาหาร ท้องอืด หรือคลื่นไส้ แต่หากมีผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นควรไปพบแพทย์
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยโรคโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไม่ได้มีภาวะขาดโฟเลตร่วมด้วย หรือผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต อาจไม่สามารถกินวิตามินโฟลิกได้
  • หากมีอาการแพ้ยาใดๆ ก็ตาม หรือกำลังใช้ยาชนิดอื่นอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

 

เคล็ดลับสำคัญ! ในการบำรุงครรภ์ให้แม่ท้อง

  1. กินอาหารที่หลากหลาย

ควรกินอาหารที่หลากหลาย มีสารอาหารครบถ้วน ทั้งโฟลิก โปรตีน แคลเซียม ธัญพืชไม่ขัดสี และธาตุเหล็ก โดยเฉพาะผักใบเขียว เช่น ผักโขม คะน้า บรอกโคลี หรือผลไม้ เช่น ส้ม และอโวคาโด

  1. ดื่มน้ำมากๆ

การดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอจะช่วยรักษาความชุ่มชื้นในร่างกาย ลดอาการบวม และช่วยการทำงานของระบบขับถ่าย คุณแม่จึงควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8-12 แก้วต่อวัน เพื่อรักษาระดับน้ำในร่างกายและช่วยในการดูดซึมสารอาหาร

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในช่วงตั้งครรภ์ เพราะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูและเสริมสร้างพลังงาน คุณแม่จึงควรนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูและเสริมสร้างพัฒนาการของทารก

  1. การออกกำลังกายที่เหมาะสม

การเดินหรือทำกิจกรรมเบาๆ เช่น โยคะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและลดความเครียดได้

  1. หลีกเลี่ยงสารอันตราย

หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และสารเคมีที่เป็นอันตราย

  1. ปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

ไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจสุขภาพ และรับคำแนะนำอย่างถูกต้องเหมาะสมในการดูแลครรภ์

การออกกำลังกายของแม่ท้อง

น่าจะเข้าใจถึงหลักในการกินโฟลิกกันบ้างแล้วนะคะ โฟลิก ห้ามกินพร้อมอะไร ? กินในปริมาณเท่าไรจึงเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ การกินโฟลิกอย่างเหมาะสมและระมัดระวังเรื่องการทานร่วมกับสารบางชนิดจะช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพที่ดี และทารกในครรภ์ได้รับพัฒนาการที่เหมาะสม นอกจากนี้ อย่าลืมปรึกษาแพทย์เพื่อให้การบำรุงครรภ์เป็นไปอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วยนะคะ

 

ที่มา : www.gedgoodlife.com , www.pobpad.com , www.phyathai.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ยาไตรเฟอร์ดีน คนท้อง กินตอนไหน กินแล้วอาเจียน ไม่กินได้ไหม

ท้องลูกชายชอบกินอะไร ? ความเชื่อ VS ความจริงเรื่องอาหารแม่ท้อง

คนท้องกินอะไรลูกฉลาด อาหารเสริมสมองลูก ที่แม่ตั้งครรภ์ห้ามพลาด !

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!