การปั๊มนม เป็นวิธีที่คุณแม่หลายคนใช้เพื่อเก็บน้ำนมไว้ให้ลูกน้อยกินในภายหลัง ทำให้สะดวกในการดูแลลูกน้อยและช่วยให้มั่นใจได้ว่าลูกได้รับสารอาหารครบถ้วนจากนมแม่ โดยเฉพาะในกรณีที่คุณแม่ต้องออกไปทำงานหรือทำกิจกรรมอื่นๆ นอกบ้าน อีกทั้งการปั๊มนมยังช่วยบรรเทาอาการเต้านมคัดและกระตุ้นการผลิตน้ำนมได้มากขึ้นอีกด้วย รวมถึงต้องรู้ด้วยว่าควร ปั๊มนมกี่นาที ปริมาณที่ได้จะเพียงพอไหม อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ยังคงสงสัยเกี่ยวกับวิธีการเก็บรักษาน้ำนมแม่ที่ถูกต้องและน้ำนมสามารถเก็บไว้ได้นานเท่าไหร่ เรามาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
สารบัญ
จะเริ่มปั๊มนมได้ตอนไหน ?
การเริ่มต้นปั๊มนมควรทำตั้งแต่ช่วงหลังคลอดทันที เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนมและสร้างสัญญาณให้ร่างกายผลิตน้ำนมออกมาอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังเรื่องการให้ลูกดูดนมจากขวดเร็วเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกสับสนและติดดูดนมจากขวดได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการดูดนมจากเต้าในอนาคต
สำหรับคุณแม่ที่ไม่ได้เริ่มปั๊มนมตั้งแต่แรก และมีแผนจะกลับไปทำงาน ควรเริ่มฝึกปั๊มนมล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ก่อนกลับไปทำงาน เพื่อให้ร่างกายปรับตัวและมีน้ำนมสำรองเพียงพอสำหรับช่วงที่ไม่อยู่บ้าน การฝึกปั๊มนมเป็นประจำจะช่วยให้คุณแม่เรียนรู้เทคนิคการปั๊มนมที่ถูกต้อง และสามารถปั๊มนมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และต้อง ปั๊มนมกี่นาที ทำแบบไหน อย่างไรบ้าง มาดูกันต่อเรื่องของนมแม่ค่ะ
ทำไมแม่ต้องปั๊มนม ?
การปั๊มนมเป็นเรื่องที่คุณแม่หลายท่านให้ความสนใจ เพราะนอกจากจะเป็นวิธีการเก็บน้ำนมไว้ให้ลูกน้อยได้ดื่มในภายหลังแล้ว ยังมีประโยชน์อีกมากมายที่คุณแม่ควรรู้
- เพิ่มปริมาณน้ำนม เป็นการช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม ส่งผลให้คุณแม่มีปริมาณน้ำนมเพิ่มมากขึ้น
- แก้ปัญหาเต้านมคัด เมื่อเต้านมคัด การปั๊มนมจะช่วยลดอาการคัดตึง และป้องกันปัญหาการอักเสบของเต้านมได้
- เก็บเป็นน้ำนมสำรอง เมื่อคุณแม่ต้องออกไปข้างนอก หรือมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถให้นมลูกได้โดยตรง หรือในกรณีที่แม่อาจต้องหยุดให้นมเนื่องจากใช้ยาหรือรับการรักษาที่ส่งผลต่อคุณภาพและการปนเปื้อนของน้ำนมแม่ การมีน้ำนมสำรองไว้ จะช่วยให้ลูกน้อยได้รับอาหารอย่างต่อเนื่อง
- หากลูกน้อยมีปัญหาในการดูดนมจากเต้า การปั๊มนมออกมาให้ลูกกินด้วยขวดนมก็จะทำให้ลูกได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่องได้
- ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ การให้นมลูกและการปั๊มนมเป็นประจำ เชื่อมโยงกับการลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมในระยะยาว
- ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น การให้นมลูกและการปั๊มนมจะช่วยกระตุ้นให้มดลูกหดตัวกลับเข้าอู่ได้เร็วขึ้น
ปั๊มนมกี่นาที และปั๊มแบบไหน ?
การปั๊มนมมีทั้งแบบด้วยมือและด้วยเครื่องปั๊ม ซึ่งปัจจุบันจะนิยมปั๊มนมด้วยเครื่อง เนื่องจากใช้เวลาไม่มาก และได้ปริมาณน้ำนมมากกว่าการปั๊มด้วยมือ โดยการปั๊มนมด้วยมือและการปั๊มนมด้วยเครื่อง มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
การปั๊มนมด้วยมือ
เป็นวิธีที่ง่ายและประหยัด สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปั๊มนม แม้ว่าจะใช้เวลานานกว่าการปั๊มด้วยเครื่อง แต่ก็เป็นวิธีที่ปลอดภัย มีวิธีดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำอุ่นก่อนสัมผัสเต้านม
- เตรียมขวดนมหรือภาชนะที่สะอาดสำหรับเก็บน้ำนม
- หาที่นั่งที่สะดวกสบายและเงียบสงบ
- นวดหน้าอกเป็นวงกลมเพื่อกระตุ้นการไหลของน้ำนม
- ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณเต้านมประมาณ 2-3 นาที เพื่อช่วยให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
- วางนิ้วโป้งเหนือหัวนม และนิ้วชี้ด้านใต้หัวนม โดยให้นิ้วทั้งสองห่างจากลานหัวนมประมาณ 1 นิ้ว
- กดนิ้วทั้งสองลงไปพร้อมกันช้าๆ เพื่อบีบน้ำนมออกมา หากยังไม่ออกให้ค่อยๆ ปรับทิศทางจนน้ำนมไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง
- เปลี่ยนตำแหน่งการบีบไปรอบๆ ลานนม เพื่อให้ได้น้ำนมออกมาอย่างทั่วถึง
- ใช้เวลาในการบีบน้ำนมประมาณ 15-20 นาที โดยแบ่งการบีบแต่ละข้าง 5-7 นาที สลับไปมา
- เก็บน้ำนมที่ปั๊มได้ในขวดนม ถุงเก็บน้ำนม หรือภาชนะที่สะอาดและมีฝาปิดสนิท
การปั๊มนมด้วยเครื่อง
เป็นการปั๊มนมด้วยเครื่องที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เป็นวิธีที่ค่อนข้างง่าย และได้ปริมาณน้ำนมเยอะ และใช้เวลาไม่นาน มีขั้นตอนการทำดังนี้
- ก่อนการปั๊มนม ควรล้างมือ อุปกรณ์เครื่องปั๊มนม ขวดนมและอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการใช้งานให้สะอาด
- วางกรวยเต้าสำหรับปั๊มนมบนหัวนม โดยให้ส่วนที่กว้างของกรวยครอบคลุมบริเวณลานนมทั้งหมด การวางกรวยเต้าที่ถูกต้องจะช่วยให้การปั๊มนมมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ประคองเต้านมด้วยมือข้างเดียว โดยให้นิ้วโป้งอยู่ด้านบน ส่วนนิ้วที่เหลือประคองอยู่ด้านใต้เต้านม และระมัดระวังอย่าออกแรงดันหัวนมกับกรวยเต้านมมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดรอยที่ผิวบริเวณเต้านมได้
- ปรับความเร็วและอัตราการปั๊มนมตามคู่มือการใช้งาน โดยเริ่มต้นจากอัตราการปั๊มที่ต่ำจากนั้นค่อยๆ เพิ่มความเร็วขึ้นเมื่อน้ำนมเริ่มไหล ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 1-3 นาที แล้วจึงค่อยปรับความเร็วให้ช้าลงและเพิ่มอัตราการปั๊มขึ้น
- การปั๊มนมแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่ร่างกายได้ผลิตและปล่อยน้ำนมออกมาอย่างเต็มที่ การปั๊มนมบ่อยๆ จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากขึ้น และทำให้การปั๊มนมแต่ละครั้งใช้เวลาน้อยลง เมื่อเรียบร้อยแล้วให้ค่อย ๆ นำกรวยเต้าสำหรับปั๊มนมออกจากเต้านม จากนั้นนำน้ำนมที่ได้ไปเก็บไว้ในที่เย็นทันที เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนม
- ทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมตามคู่มือการใช้ และเก็บให้มิดชิดเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคและสิ่งสกปรก
นมแม่เก็บไว้ยังไง ?
หลังจากที่ปั๊มนมออกมาแล้ว การเก็บรักษาน้ำนมแม่ให้ถูกวิธีเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและปลอดภัย จะช่วยให้คุณแม่มั่นใจได้ว่าลูกน้อยจะได้รับนมแม่ที่มีคุณภาพสูงสุด ซึ่งจะมีวิธีการเก็บรักษาดังนี้
- ควรเก็บน้ำนมแม่ในภาชนะหรือถุงเก็บน้ำนมแม่ที่ผ่านการล้างทำความสะอาด หรือผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
- ควรเก็บน้ำนมแม่ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าประมาณ 4 องศาเซลเซียส เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น
- หากนำนมออกมาจากตู้เย็นแล้ว ควรเก็บไว้ในกระเป๋าหรือถุงเก็บความเย็นพร้อมกับแพ็คน้ำแข็งด้วย เพื่อช่วยให้น้ำนมแม่มีอายุนานขึ้นเมื่อต้องพกพานมออกไปข้างนอก
- ควรเก็บน้ำนมแม่ทีละน้อยหรือประมาณ 2-4 ออนซ์/ถุง เพื่อป้องกันนมเสียในปริมาณมากเมื่อต้องนำนมออกจากตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง
- ควรติดฉลากระบุวันที่เพื่อให้ทราบอายุของนมที่จะนำออกมาให้ลูกกินก่อน
- นมแม่ที่เหลืออยู่ในขวดหลังจากให้นมลูกเสร็จแล้ว ควรให้ลูกกินให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง
นมแม่อยู่ได้นานแค่ไหน ?
นมแม่อยู่ได้กี่ชั่วโมง อาจเป็นคำถามที่คุณแม่หลายคนมีความสงสัย โดยอายุของน้ำนมแม่อาจขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในการเก็บรักษา ดังนี้
- การเก็บในอุณหภูมิห้อง เป็นการเก็บน้ำนมแม่ที่ปั๊มเสร็จทันทีเอาไว้ในอุณหภูมิห้อง นอกจากนี้ ยังเป็นการเก็บนมหลังจากนำน้ำนมออกมาจากตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง หรือการเก็บนมหลังจากละลายแล้วเอาไว้ในอุณหภูมิห้องต่ำกว่า 25 องศา ซึ่งจะทำให้น้ำนมแม่มีอายุได้ประมาณ 24 ชั่วโมง แต่ควรนำมาใช้ภายใน 2 ชั่วโมง
- การเก็บในตู้เย็นทั่วไปช่องธรรมดาที่มีอุณหภูมิประมาณ 2-4 องศาเซลเซียส อาจเก็บน้ำนมแม่ได้นานถึง 2-5 วัน
- การเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็นแบบประตูเดียว อาจเก็บน้ำนมแม่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ และช่องแช่แข็งตู้เย็นแบบประตูแยก อาจจะเก็บนมแม่ได้ถึง 3 เดือน
- การเก็บในตู้แช่แข็งเฉพาะ เป็นการเก็บน้ำนมแม่เอาไว้ในช่องแช่แข็งที่มีอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส อาจทำให้เก็บน้ำนมแม่ได้นานถึง 6-9 เดือน หรือหากเก็บในช่องแช่แข็งที่มีอุณหภูมิ -200 องศาเซลเซียส อาจทำให้เก็บน้ำนมแม่ได้นานถึง 12 เดือน
อย่างไรก็ตาม การเก็บนมแม่ในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง ไม่ควรเก็บนมไว้บริเวณประตู หรือบริเวณใกล้ประตูเนื่องจากมีการเปิดปิดประตูตู้เย็นบ่อยครั้ง ทำให้อุณหภูมิในตู้เย็นไม่คงที่ทำให้นมมีอายุที่สั้นลงได้
นมแม่ที่แช่แข็ง เอาออกมาใช้ยังไง ?
การให้นมลูกด้วยนมแม่ที่วางตั้งไว้ในอุณหภูมิห้องหรือที่เพิ่งนำออกจากตู้เย็น สามารถให้ลูกกินได้เลยโดยไม่ต้องอุ่นก็ได้ค่ะ แต่ถ้าอยากให้นมอุ่นสบายๆ สามารถนำไปแช่ในน้ำอุ่นได้ประมาณ 2-3 นาที ส่วนนมแม่ที่แช่แข็ง ควรนำออกมาละลายในตู้เย็นช่องธรรมดาก่อน 1 คืน แล้วค่อยนำมาอุ่นก่อนให้ลูกกินนะคะ ห้ามนำนมแม่ไปอุ่นในไมโครเวฟ เพราะจะทำให้น้ำนมร้อนไม่สม่ำเสมอ และทำลายคุณค่าทางอาหารค่ะ สิ่งสำคัญ ควรเลือกนมที่เก่าที่สุดก่อนเสมอ เพื่อให้ลูกได้รับนมที่มีคุณภาพที่สุด และควรสังเกตกลิ่นและสีของนมก่อนให้นมลูกเสมอ ถ้ามีกลิ่นหรือสีผิดปกติ ไม่ควรให้นมลูกดื่มนะคะ ทั้งนี้ นมแม่ที่นำมาอุ่นแล้วจะอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และนำกลับไปแช่ตู้เย็นได้อีกไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่ไม่อาจนำกลับไปแช่แข็งได้ เพราะจะทำให้นมเสื่อมคุณภาพ
5 เทคนิคการปั๊ม เพื่อคุณภาพที่ดีของน้ำนม
นมแม่เป็นแหล่งอาหารหลักของลูกน้อย การให้ลูกได้กินนมจากเต้า นอกจากได้สารอาหารที่ดีที่สุดแล้ว ยังเป็นการสานสายใยรักระหว่างแม่ลูกด้วย แต่ในบางครั้ง คุณแม่ก็อาจไม่สามารถให้ลูกกินนมจากเต้าได้ การปั๊มนมเก็บไว้เป็นวิธีที่ดีและสะดวก เรามีเทคนิคดีๆ เพื่อคุณแม่จะได้มีปริมาณน้ำนมและคุณภาพที่ดี
1.) ทานอาหารให้ได้พลังงานเพียงพอ ช่วงที่แม่ให้นม หรือผลิตน้ำนม ร่างกายของคุณแม่จะต้องการพลังงานมากขึ้น 500 กิโลแคลอรีต่อวัน ดังนั้นคุณแม่ควรต้องทานอาหารให้ได้พลังงานให้เพียงพอค่ะ โดยอาหารที่ทานควรเน้น
- อาหารกลุ่มโปรตีน เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู ไข่ ปลา รวมถึงโปรตีนจากพืชค่ะ
- อาหารกลุ่มไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก ปลาแซลมอล อโวคาโด
- อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต โดยเลือกเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน
โดยถ้าใครทานอาหารดีๆ ตั้งแต่ช่วงท้องอยู่แล้ว ก็สามารถทานอาหารแบบเดิมได้เลยค่ะ
2.) ดื่มน้ำมากๆ น้ำนมของคุณแม่ผลิตมาจากน้ำ ดังนั้นการดื่มน้ำให้เพียงพอ จึงมีความสำคัญต่อการทำผลิตน้ำนมเป็นอย่างมาก เน้นการจิบระหว่างวัน และดื่ม 1 แก้วทุกครั้งหลังปั๊มนม พบว่าการดื่มน้ำอุ่นจะทำให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้นกว่าการดื่มน้ำเย็น อย่างไรก็ตามน้ำเย็นไม่ได้เป็นข้อห้ามในช่วงปั๊มนมแต่อย่างใดค่ะ
3.) กินอาหารเพิ่มน้ำนม เช่น หัวปลี ขิง ฟักทอง ผักใบเขียวต่างๆ อย่าง ผักบุ้ง ผักกาดเขียว ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง ธัญพืชอย่างข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต รวมถึงถั่วต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง เป็นต้น
4.) ปั๊มนมหรือให้นมให้บ่อยๆ การถูกกระตุ้นด้วยการให้ลูกดูดนมบ่อยๆ หรือปั๊มนมบ่อยๆ อย่างน้อยทุกๆ 3-4 ชั่วโมง จะยิ่งทำให้ร่างกายของคุณแม่มีน้ำนมมากขึ้นค่ะ
5.) ปั๊มในช่วง ตี 1 ถึง ตี 5 เป็นช่วงที่ฮอร์โมน Prolactin หรือ ฮอร์โมนในการผลิตน้ำนมสูงที่สุดในช่วงวัน การปั๊มในช่วงนี้จะทำให้ได้น้ำนมที่มากขึ้น และช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมที่มากขึ้น โดยเฉพาะหากคุณแม่ทำ Power pumping แนะนำให้ทำในช่วงนี้เวลานี้ จะสามารถกระตุ้นน้ำนมได้เป็นอย่างดีค่ะ
การทำ Power pumping คืออะไร ?
Power pumping คือ วิธีที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้เพิ่มขึ้น โดยเลียนแบบวิธีการดูดนมของทารก เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกและมีสต๊อกน้ำนมให้มากขึ้น
เทคนิคการทำ PP หรือ Power pumping ให้ได้ปริมาณและมีประสิทธิภาพ
- โดยปกติการทำ Power pumping จะทำประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อครั้ง
- ปั๊มนมทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน
- โดยปั๊ม 20 นาที พัก 10 นาที
- ปั๊ม 10 นาที พัก 10 นาที ปั๊ม 10 นาที รวม 60 นาที จะเท่ากับ PP 1 รอบ
- ปั๊มให้เกลี้ยงเต้า หากมีน้ำนมคั่งค้างในเต้า อาจทำให้ท่อน้ำนมอุดตันได้
สำหรับสูตร PP ควรปั๊มอย่างน้อยวันละ 1 รอบ และทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้น้ำนมมาเพิ่ม ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่ควรปั๊มอย่างมากคือ ตี 1 ถึง ตี 5 ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนโปรแลคตินสูงที่สุด การปั๊มนมช่วงดังกล่าว จะช่วยให้เพิ่มน้ำนมได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณแม่อาจเลือกทำ Power Pumping ในเวลาที่คุณแม่สะดวกได้ค่ะ
หากคุณแม่ทำตามเทคนิคหรือวิธีที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะได้น้ำนมที่ออกมาเพียงพอต่อลูกน้อยในแต่ละวันและมีสต๊อกเก็บไว้ให้ลูกอีกด้วย ปริมาณน้ำนมที่ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่นความถี่ในการปั๊มนม และสุขภาพร่างกายของคุณแม่ที่สามารถสร้างและผลิตน้ำนมให้เยอะขึ้นด้วย เช่น มีการทานอาหารที่บำรุงน้ำนม การดื่นน้ำก็ช่วยให้มีน้ำนมเพิ่มขึ้นด้วยนะคะ
นมแม่เป็นอาหารและโชนาการที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย เพราะเด็กที่กินนมแม่จะเป็นเด็กที่แข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับโรคต่างๆ ได้ดี ถึงแม้ว่าคุณแม่ไม่สามารถอยู่ดูแลลูกได้ที่บ้าน แต่การปั๊มนมไว้ให้ลูกกินนั้นก็มีประโยชน์มากและช่วยให้ลูกน้อยได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่อง และนี่คือข้อดีสำหรับการปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกน้อยค่ะ
ที่มา : drnoithefamily.com , pobpad , พรีเมียร์โฮมเฮลท์แคร์ , hellokhunmor
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วิธีเก็บนมแม่ ทำตามง่าย เก็บน้ำนมได้นาน ไม่เหม็นหืน
กู้น้ำนมแม่! 4 วิธีกระตุ้นน้ำนมไหล ปลุกพลังแม่ให้นมลูก
นมแม่ 3 ระยะ น้ำนมเหลือง นมแม่ทั่วไป ต่างกันอย่างไร