อุ้มเรอกี่นาที อุ้มเรอถึงกี่เดือน ลูกไม่เรอแต่ตด ได้ไหม?

undefined

การอุ้มเรอ หลังจากลูกน้อยกินนมมีความสำคัญและจำเป็นนะคะ ส่วนจะอุ้มเรอกี่นาที ลูกอายุเท่าไรถึงหยุดอุ้มเรอได้ ตามมาอ่านในบทความกันเลยค่ะ

กิจวัตรประจำวันที่จะต้องเกิดขึ้นกับคุณแม่ให้นมและทารกตัวน้อยอย่างแน่นอนก็คือ “การอุ้มเรอ” ค่ะ โดยจะเกิดขึ้นหลังจากที่ลูกน้อยกินนมเสร็จ เพื่อช่วยให้ทารกน้อยรู้สึกสบายตัวและลดอาการจุกเสียด แต่คุณแม่มือใหม่หลายคนยังมีความสงสัยว่า การให้ทารกเรอหลังกินนมนั้นจำเป็นจริงๆ หรือแค่วิธีปฏิบัติที่บอกต่อๆ กันมา การอุ้มลูกเรอหลังกินนมนั้นสำคัญแค่ไหน อุ้มเรอกี่นาที ถึงจะพอดี แล้วจะต้อง อุ้มเรอถึงกี่เดือน ถ้าหาก ลูกไม่เรอแต่ตด สามารถทดแทนกันได้ไหม กรณีลูกไม่เรอจะเกิดปัญหาอะไรหรือเปล่า บทความนี้จะชวนไปเรียนรู้ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการอุ้มเรอในทารก เพื่อให้คุณแม่ได้เข้าใจถึงความสำคัญและวิธีการอุ้มเรอที่ถูกต้องค่ะ

ทำไมต้อง อุ้มเรอ

ทำไมต้องอุ้มเรอ ลูกไม่เรอ อันตรายไหม?

การจัดท่าให้ลูกเรอหลังกินนมทุกครั้ง ไม่ว่านมจากเต้าหรือจากขวด เป็นสิ่งจำเป็นที่คุณแม่ต้องทำค่ะ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีลูกน้อยวัยแรกเกิด – 3 เดือน เนื่องจากจะช่วยให้ระบบย่อยในท้องลูกน้อยทำงานได้ดีขึ้น และมีประโยชน์ในเรื่องของการขับลม เนื่องจากในระหว่างที่ลูกน้อยดูดนม ลูกจะมีการ “กลืนลม” เข้าไปด้วย เป็นผลทำให้ลูกรู้สึกแน่นและอึดอัดท้อง หรือมีอาการแหวะนมได้ การอุ้มเรอจะช่วยลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง และป้องกันอาการกรดไหลย้อนในทารก ช่วยให้อากาศที่ถูกกลืนเข้าไปถูกขับออกมา ทำให้ลูกสบายท้องมากขึ้น

ลมในท้องลูกน้อย เกิดจากอะไร

ลมที่ลูกกลืนเข้าไป เด็กที่ดูดนมจากขวด มักเกิดปัญหา “กินลม” มากกว่า เด็กที่ดูดนมจากเต้า เพราะน้ำนมจะไหลเร็วกว่า มีโอกาสดูดลมเข้าท้องมากกว่า แต่หากคุณแม่มีน้ำนมที่ไหลเร็วมาก หรือลูกหิวจัด ดูดเต้าแรงมากๆ เด็กนมแม่ก็อาจจะกินลมได้มากเช่นกันค่ะ
การย่อยนมในท้อง กรณีคุณแม่กินอาหารที่มีคาร์โบไอเดรตสูง มีแนวโน้มว่าจะเกิดลมในท้องลูกได้มากขึ้นค่ะ
การแพ้ (food intolerance) พบในทารกที่ แพ้นมวัว หรือแพ้อาหารที่ผ่านมาทางน้ำนมแม่ แต่ไม่พบมากนัก ถ้าลูกมีปัญหาท้องอืดมาก อุ้มเรอแล้วท้องยังอืด อาจลองงดผลิตภัณฑ์ที่คิดว่าแพ้ก่อน

ทั้งนี้ American Academy of Pediatrics (AAP) แนะนำให้ อุ้มลูกเรออย่างสม่ำเสมอ โดยอาจให้เรอทุกการกินนม 2-3 ออนซ์ ในเด็กเล็กที่มีภาวะท้องอืดง่าย เมื่อเรอแล้วค่อยกินนมต่อก็ได้ค่ะ นอกจากนี้ในช่วงแรกเกิด – 3 เดือน ระบบการย่อยอาหารของลูกยังทำงานได้ไม่เต็มที่สมบูรณ์ ควรจับลูกเรอหลังกินนมทุกครั้ง แต่ลูกอาจจะเรอหรือไม่เรอก็ไม่เป็นไรค่ะ โดยเฉพาะหากลูกเข้าเต้าถูกวิธี น้ำนมคุณแม่ไหลปกติ และไม่มีภาวะท้องอืดมากนัก ลูกอาจไม่ค่อยเรอได้เป็นเรื่องปกติค่ะ

ลมในท้องลูก เกิดจากอะไร

อุ้มเรอกี่นาที ถึงจะพอเหมาะพอดี?

สำหรับระยะเวลาหรือความถี่ในการอุ้มลูกน้อยเรอนั้น ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวและจะแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน เนื่องจากโอกาสในการเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมีมากน้อยต่างกันตามลักษณะการกินนม เช่น เด็กที่ดูดนมจากขวด เด็กที่ดูดนมจากเต้า ตามที่อธิบายไว้ข้างต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ คือ

  • ปริมาณนมที่กิน ถ้าลูกกินนมเยอะ ก็อาจใช้เวลานานกว่าจะเรอ
  • ท่าทางในการอุ้ม การเปลี่ยนท่าอุ้ม อาจช่วยให้ลูกเรอง่ายขึ้น
  • อายุของลูก เมื่อลูกน้อยโตขึ้น ระบบย่อยอาหารจะพัฒนาขึ้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องเรอบ่อยเหมือนตอนแรกเกิด

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว การอุ้มเรอจะกินระยะเวลาประมาณ 3-5 นาทีต่อครั้ง หลังให้นมลูกแต่ละมื้อ ก็ถือว่าเพียงพอแล้วค่ะ แม้บางครั้งอาจมีบ้างที่ลูกน้อยจะใช้เวลานานกว่าจะเรอออกมา หรือบางคนอาจไม่เรอเลยก็ได้

 สัญญาณท้องอืดของลูกน้อย

  • ร้องไห้
  • ยกขาขึ้นสูงไปทางหน้าท้อง
  • ดิ้นหรือบิดตัวไปมาตลอดเวลา โดยเฉพาะหลังจากดื่มนม
  • กำมือแน่น
  • ใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีแดง

อย่างไรก็ตาม ลูกมักรู้สึกสบายตัวขึ้นและหยุดร้องไห้หลังเรอออกมา แต่หากยังร้องไห้ไม่หยุดอาจแสดงสัญญาณว่ามีความผิดปกติที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น กรดไหลย้อน ท้องผูก โคลิค เป็นต้น

อุ้มเรอถึงกี่เดือน

อุ้มเรอถึงกี่เดือน เมื่อไรไม่ต้องอุ้มเรอแล้ว

การกำหนดว่าจะต้อง อุ้มเรอถึงกี่เดือน ต้องบอกว่าช่วงวัยที่ควรจับลูกเรอคือ ช่วงที่ลูกอายุยังไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากหลัง 6 เดือนไปแล้ว ร่างกายของลูกน้อยจะเริ่มโตขึ้น ระบบทางเดินอาหารมีการพัฒนาสมบูรณ์ขึ้นตามวัย ทำให้ปัญหาแก๊สในกระเพาะอาหารเริ่มลดน้อยลง แต่บางกรณีอาจจะต้องอุ้มเรอจนกระทั่งอายุ 6 เดือน เนื่องจากลูกยังมีอาการไม่สบายท้องและท้องอืดหลังกินนม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจพิจารณาตามเกณฑ์ต่อไปนี้ได้ค่ะ

อุ้มเรอกี่นาที อุ้มเรอถึงกี่เดือน

เด็กที่ดูดนมจากเต้า ให้จับลูกเรอทุกครั้งที่คุณแม่เปลี่ยนข้างเต้านมที่ให้นมลูก
เด็กที่ดูดนมจากขวด ให้จับลูกเรอทุกครั้งเมื่อลูกดื่มนมไปได้ประมาณ 2-3 ออนซ์
ลูกหลับขณะให้นม สามารถปล่อยให้ลูกน้อยได้หลับตามปกติ โดยไม่ต้องปลุกลูกขึ้นมาให้เรอ นอกจากการจับเรอในช่วงหลังให้นมแล้ว ช่วงเวลาอื่นที่จะจับลูกเรออาจลองสังเกตจากสัญญาณบางอย่าง เช่น เมื่อลูกงอแงขณะดื่มนม บ้วนน้ำลาย  ลูกไม่ยอมดื่มนม หรือขณะที่ลูกดิ้นไปดิ้นมา
ลูกคว่ำหงายได้เอง เมื่อลูกพลิกคว่ำพลิกหงายได้เองแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องอุ้มเรอทุกมื้อหลังกินนมก็ได้

 

อุ้มเรอยังไงให้ถูกต้อง 4 ท่าอุ้มเรอที่แนะนำ

ก่อนจะไปดูท่าอุ้มเรอ อยากให้คุณแม่เตรียมความพร้อมในการอุ้มเรอกันสักนิดค่ะ โดยควรเตรียมผ้าสะอาดไว้รองบริเวณคางลูกน้อย เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าขณะที่เรอลูกอาจแหวะนมออกมาได้ จากนั้นค่อยอุ้มลูกเรอด้วยวิธีต่อไปนี้ตามความถนัดและความสะดวกค่ะ

  1. อุ้มเรอด้วยท่านั่งตัก

เป็นท่าที่นิยมใช้กันมาก เพราะทำได้ง่ายและลูกน้อยรู้สึกปลอดภัย วิธีการคือ

  • จับลูกนั่งหันหลังบนตักของคุณแม่หรือคุณพ่อ โดยให้เอนตัวลูกไปข้างหน้าเล็กน้อย
  • ใช้มือข้างหนึ่งคอยประคองคอและหน้าอกลูกไว้ พร้อมกับใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งประคองส่วนคางลูกเสมอ
  • ใช้มืออีกข้างค่อยๆ ตบหรือลูบหลังลูกเบาๆ ประมาณ 3-5 นาที หรือจนกว่าลูกจะเรอ

ท่าอุ้มเรอ ลูกนั่งตัก

  1. อุ้มเรอโดยลูกนอนคว่ำบนตัก

ท่านี้จะช่วยให้ลมในท้องลูกน้อยระบายออกมาได้ง่ายขึ้น แต่ต้องระวังอย่าให้ลูกหายใจไม่ออก

  • จับลูกนอนคว่ำบนตัก โดยใช้มือข้างหนึ่งประคองที่อกและไหล่ของลูก
  • ระวังอย่าให้ศีรษะลูกอยู่ต่ำกว่าระดับลำตัว และระวังไม่ให้ลูกนอนทับแขนตัวเอง
  • ใช้มืออีกข้างค่อยๆ ตบหรือลูบหลังลูกเบาๆ จนกว่าลูกจะเรอ

ท่าอุ้มเรอ ลูกนอนคว่ำบนตัก

  1. อุ้มพาดบ่า

เป็นท่าอุ้มเรอเหมาะสำหรับลูกน้อยที่มักขยับตัวบ่อย สามารถอุ้มเรอในขณะที่คุณพ่อคุณแม่นั่งหรือยืนก็ได้ วิธีการคือ

  • อุ้มลูกขึ้นมาให้คางลูกพาดไหล่ หันหน้าเข้าหาตัวคุณพ่อหรือคุณแม่
  • ให้ช่วงตัวของลูกน้อยแนบกับช่วงหน้าอกของคุณแม่ ประคองศีรษะของลูก และวางคางของลูกไว้บนไหล่
  • ใช้มืออีกข้างลูบหรือตบหลังลูกน้อยเบาๆ จนกว่าลูกจะเรอ

 

  1. ท่างอขา

หากลองใช้ท่าอุ้มเรอทั้ง 3 ท่าข้างต้นแล้ว ลูกน้อยยังไม่ยอมเรอ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองจับลูกนอนหงาย แล้วจับขาลูกงอขึ้นไปที่หน้าอก อาจช่วยระบายลมออกจากช่องท้องได้เช่นกันค่ะ

ลูกไม่เรอแต่ตด ได้ไหม?

ลูกไม่เรอแต่ตด ได้ไหม?

คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านเลยค่ะที่มีความสงสัยว่า “การเรอ” กับ “การผายลม” หรือการตดนั้น น่าจะเป็นการขับลมออกจากร่างกายเหมือนกัน ดังนั้น หาก ลูกไม่เรอแต่ตด จะถือว่าเป็นการขับลมออกจากท้องลูกได้เช่นเดียวกันหรือไม่ เป็นวิธีที่ทดแทนกันได้ไหม

คำตอบคือ “ได้ค่ะ” เนื่องจากการที่ลูกตดแทนการเรอนั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะบางครั้งอากาศที่อยู่ในท้องอาจออกมาทางทวารหนักแทนที่จะเป็นปากก็ได้ ดังนั้น ไม่ต้องกังวลค่ะ ถ้าลูกตดบ่อยแสดงว่าระบบย่อยอาหารของลูกทำงานได้ดี หรือมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า เมื่อเราอุ้มลูกเรอแล้ว ลูกไม่เรอออกทางปาก อาจเป็นเพราะว่าไม่มีลมในกระเพาะอาหารเนื่องจากการกินนมได้ถูกวิธีนั่นเอง

 

น่าจะได้คำตอบกันแล้วนะคะว่า อุ้มเรอกี่นาที อุ้มเรอถึงกี่เดือน ซึ่งจะเห็นว่าความสำคัญแทบไม่ได้ขึ้นออยู่กับระยะเวลาเลยค่ะ แต่สำคัญที่ลูกได้ระบายลมที่อยู่ในกระเพาะอาหารออกมาต่างหาก และคุณพ่อคุณแม่อาจพบว่าบางครั้งลูกอาจแหวะนมด้วยในระหว่างที่อุ้มเรอ โดยกรณีนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกตินะคะ แต่หากลูกเรอร่วมกับมีอาการอาเจียนพุ่ง อาเจียนเยอะ ท้องเสีย มีไข้สูง หรืออุจจาระปนเลือด ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจดูความผิดปกติและรับการรักษาอย่างถูกต้องค่ะ

 

 

ที่มา : เลี้ยงลูกตามใจหมอ , www.pobpad.com , premierehomehealthcare.co.th

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ลูก 1 เดือน กินนมแม่ แต่ไม่ถ่ายหลายวัน ท้องผูกรึเปล่า ผิดปกติไหม

อย่าเพิ่งอี๋ ลูกน้อยอึสีเขียว ดำ เทา บอกอะไรเกี่ยวกับสุขภาพลูก

“นมแม่” สำหรับ ทารก 1 สัปดาห์ กินกี่ออนซ์

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!