เลี้ยงให้รุ่ง : ปฏิวัติการเรียนรู้ผ่านการสร้างลักษณะนิสัยสู่ความสำเร็จ
เลี้ยงให้รุ่ง
ผู้เขียน : Paul Tough
แปล : ดลพร รุจรวงศ์
สำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ พับลิชชิ่ง เฮาส์ จำกัด
ราคาเล่มละ 295 บาท
นี่คือหนังสือที่ชี้แนวทางเลี้ยงลูกและแนวทางจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กเติบโตเต็มศักยภาพ ภายใต้ผลการวิจัยที่ชี้ว่า ทั้งความฉลาดหรือคุณสมบัติด้านปัญญาและลักษณะนิสัยเป็นสิ่งที่ฝึกได้ และความสำเร็จในชีวิตเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับความฉลาดเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสามสิ่งที่กล่าวมาด้านต้นด้วย
- เคยตั้งคำถามไหมว่า เราเป็นพ่อแม่แบบไหน เลี้ยงลูกอย่างไรให้ดี
เคยคิดไหมว่า เด็กที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมาจากพ่อแม่ที่มีฐานะ แล้วเด็กธรรมดาสามัญหรือมีชีวิตที่ลำบากจะประสบความสำเร็จในอนาคตได้หรือไม่
สมัยนี้การเลี้ยงลูกไม่ได้บ่มเพาะด้วยความรักและความรู้เป็นพื้นฐานอย่างเดียว การส่งเสริมทางด้านลักษณะนิสัยปลูกฝังแต่เด็กก็เป็นส่วนหนึ่งของการเลี้ยงลูกให้รุ่งด้วย
- พอล ทัฟ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ใช้กลวิธีเขียนหนังสือแบบการเล่าเรื่อง เขาได้รวบรวมรายละเอียด และเก็บข้อมูลจากเด็ก ๆ ติดตามชีวิตจริงของเด็กที่เติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมที่หลากหลายและเฝ้าสังเกตแนวการสอนแบบใหม่จนนำไปสู่ข้อค้นพบที่ปฏิวัติกระบวนทัศน์ในการเรียนรู้ว่า การปลูกฝังคุณลักษณะ อย่างความมุมานะ การควบคุมตนเอง ความใฝ่รู้ การมองโลกในแง่ดี การเข้าสังคม ฯลฯ จำเป็นต่อการสร้างเกราะแกร่งสู่ความสำเร็จไม่แพ้ สติปัญญา ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งใดที่เป็นผลบวกและสิ่งใดที่เป็นผลกระทบต่อลูก จึงทำให้ผู้อ่านไม่รู้สึกเหมือนหนังสือเล่มนี้เป็นตำราที่อัดแน่นด้วยสาระจนเกินไป แต่เหมือนกับการอ่านหนังสือนิยายเรื่องหนึ่งที่เนื้อหาแต่ละตอนอาจจะไปคล้ายกับประสบการณ์ของลูกแต่ละคน ที่พ่อแม่สามารถนำจุดที่คิดว่าใช่มาปรับใช้ให้เข้ากับการสอนลูกได้
- หัวใจของหนังสือเล่มนี้คือความพยายามครั้งยิ่งใหญ่เพื่อคลี่คลายความค้างคาใจว่าใครบางคนที่ประสบความสำเร็จและใครบ้างที่ล้มเหลว ทำไมเด็กบางคนรุ่งแต่บางคนร่วง และเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อนำทางเด็กคนหนึ่งหรือเด็กทั้งรุ่นให้ไกลห่างจากความล้มเหลวและใกล้ความสำเร็จแค่เอื้อม
หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับพ่อแม่ไม่ว่าจะประเภทไหน เลี้ยงลูกด้วยวิธีอย่างไร ทุกคนสามารถปฏิวัติการเรียนรู้ผ่านการสร้างลักษณะนิสัยและนำไปปรับใช้ให้เข้ากับครอบครัวเพื่อสร้างอนาคตให้กับลูก จึงไม่ยากเกินไปที่เราจะอ่านหนังสือเล่มนี้จนจบเพลินโดยไม่รู้ตัว
วางจำหน่ายที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
ก่อนอื่นเลยครับ ต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเลี้ยงเด็ก ไม่ได้เป็นหมอเด็ก หรือนักจิตวิทยาเด็กแต่อย่างใด ไม่ใช่แม้กระทั่งครูสอนเด็กด้วยครับ แต่บทความนี้เกิดขึ้นจากการที่ผมชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับแนวการเลี้ยงเด็กมามากพอสมควร และได้นำไปทดลองใช้จริงแล้วมัน work ก็เลยขอมารวบรวม เขียนเป็นบทความเผื่อนำมาเผยแพร่กับท่านอื่น ๆ ด้วยครับ
เอาเป็นว่า เริ่มเลยแล้วกันครับว่า 10 เทคนิคที่ว่านี้คืออะไร
1. เวลาจะคุยกับลูกอย่าใช้อารมณ์เป็นหลัก
ผมต้องเริ่มต้นด้วยข้อนี้ก่อน เพราะคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ มักจะมีลักษณะเหมือน ๆ กัน โดยเฉพาะตอนลูกเราเล็ก ๆ คือเราจะเหนื่อยมาก ประมาณว่า งานประจำก็ต้องทำ กลับมาก็ต้องเลี้ยงลูก โดยเฉพาะลูกเล็ก ๆ บางทีกลางคืนเขาตื่น เราก็ไม่ได้นอน พอเช้าเราก็ต้องออกไปทำงาน
ผมยังจำสภาพนี้ได้ดีครับ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราคือ เมื่อเราเหนื่อยมาก ๆ เข้าบางที เราจะมีโอกาสอารมณ์เสียได้ง่าย
และนี่แหละครับ ที่จะทำให้เรา “หลุด” ได้ง่ายมาก ๆ บางทีลูกอาจจะทำอะไร เล็ก ๆ น้อย ๆ เราจะโมโหซะใหญ่โต ต้องบอกแบบนี้นะครับ ว่า เด็ก ๆ เขาจำนะครับ ว่าเราเป็นอย่างไร เราชอบใช้อารมณ์แบบนี้ไหม และลูก ๆ ก็จะทำเหมือนกับที่เราทำนี่แหละครับ
ไม่ใช่แค่เด็กเล็ก ๆ นะครับ เด็กโตก็เหมือนกัน และยิ่งวัยรุ่นยิ่งแล้วใหญ่ ถ้าใช้อารมณ์นำ บางทีพาลทะเลาะกันใหญ่โต กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง มีตัวอย่างให้เห็นเยอะแยะ
แล้วจะทำให้อย่างไร เอาง่าย ๆ คือ เมื่อไร ที่เรารู้สึกว่าโกรธ พยายามอย่างเพิ่งเข้าไปพูด ออกไปห่าง ๆ เลย ไปออกกำลังกาย อ่านหนังสือ อะไรก็ได้ เอาไว้อารมณ์โกรธมันลดลง ค่อย ๆ กลับเข้ามาพูดกัน แบบนี้น่าจะดีกว่าครับ
2. ฟังให้เยอะ ไม่ต้องสอนทันที
บางทีความเป็นพ่อแม่ มันมักจะอดไม่ได้ครับ ที่เวลาลูกพูดอะไร เราจะสอน “สวน”กลับไปทันที เช่น
“พ่อ วันนี้ โรงเรียนแย่มาก ๆ เลย”
“ไม่นะลูก ลูกรู้แค่ไหมว่า ลูกโชคดีแค่ไหนแล้วที่ได้มา เข้าเรียนในโรงเรียนนี้ … ” และก็พูดต่ออีกสัก 5 นาที
แบบนี้ เราจะไม่ได้ฟังสิ่งที่ลูกต้องการจะพูดเลย
ไม่ใช่ว่าไม่ให้สอนนะครับ แต่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ฟังเขาพูดให้จบก่อน และจริง ๆ บางที เขาแค่อยากจะระบายความในใจบางอย่างเท่านั้น ไม่ได้อยากฟังเราพูดสักหน่อย ถ้าเขาอยากได้คำแนะนำ เขาก็ถามเองแหละว่า ถ้าเป็นพ่อ พ่อจะทำอย่างไร แบบนี้เราก็ให้ความคิดเห็นได้
หรือถ้าเราเห็นว่ามีบางอย่าง เราควรจะสอนเขา ก็ฟังเขาให้จบก่อน แล้วบอกเขา โดยขึ้นต้นว่า “พ่อหรือแม่รู้ว่า ลูกรู้สึก … พ่อหรือแม่เข้าใจ แต่ถ้าเป็นพ่อหรือแม่ พ่อหรือแม่จะ…” อะไรแบบนี้ ส่วนใหญ่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าครับ
3. ลดการซื้อของ ให้เพิ่มการซื้อ (หรืออาจจะไม่ต้องซื้อ) ประสบการณ์ให้ลูกดีกว่า
เคยสังเกตกันไหมครับว่าของเล่นที่เราซื้อให้ลูก ส่วนใหญ่ เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน มันมักจะอยู่ในกล่อง หรือ ไปอยู่ไหนแล้วไม่รู้
ใช่ครับ ของเล่นทำให้ลูกดีใจ แต่บอกได้เลยครับว่า มันส่งผลไม่นานหรอกครับ
สิ่งที่จะส่งผลมากกว่า คือประสบการณ์ครับ และหลาย ๆ ครั้งประสบการณ์ อาจจะไม่ต้องใช้เงินซื้อด้วยซ้ำไป
ประสบการณ์เช่นการพาลูก ๆ ไปเที่ยว เอาแบบที่มันฟรี หรืออยู่แถว ๆ บ้านก็ได้ หรือใครมีกำลังมากหน่อยก็ไปต่างจังหวัดซึ่งก็ไม่ได้แพงอะไรมากมาย หรือใครมีกำลังมากกว่านั้นก็ไปต่างประเทศก็ได้
ประสบการณ์แบบนี้แหละครับที่มันส่งผลระยะยาว บางคนอาจจะนึกว่า มันจับต้องไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ม้นจะอยู่ในใจลูกเราครับ ลองถามว่า เขายังจำ Trip ที่ประทับใจได้ไหม ผมเชื่อว่าหลายคนตอบได้ แต่ถามว่า ของเล่นอันนั้นไปไหนแล้ว บางที ลืมแม้กระทั่งว่า พ่อหรือแม่หมายถึงของเล่นอะไร
ที่เขาบอกกันว่า เงินสามารถซื้อความสุขได้ แล้วบางคนไม่เชื่อนั้น จริง ๆ มันมีส่วนถูกนะครับ คือเงินซื้อความสุขได้จริง แต่ให้เราเอาเงินซื้อประสบการณ์ ดีกว่าเอาเงินซื้อของครับ
4. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
ผมว่าอันนี้ตรงไปตรงมา เราอยากให้ลูกทำอะไร เราต้องทำอย่างนั้นก่อน เช่น อยากให้ลูกรักการอ่านหนังสือ แต่พ่อแม่ไม่อ่านเลย อย่างนี้มันก็ยาก
หรือถ้าไม่อยากให้ลูกทำอะไร พ่อแม่ก็อย่าทำครับ เราไม่อยากให้ลูกสูบบุหรี่แต่ทั้งพ่อและแม่ สูบกันหนักทั้งคู่ อย่างนี้มันก็ยากที่จะห้ามอีกเช่นกัน เพราะเขาต้องคิดอยู่ในใจอยู่แล้วว่า ถ้าไม่ให้เขาทำ แล้วทำไม พ่อแม่ถึงยังทำล่ะ
ประเภทที่ว่า “ลูกจงทำตามที่พ่อแม่สอน แต่อย่าทำตามที่พ่อแม่ทำ” แบบนี้ ไม่ได้ผลหรอกครับ
5. คำว่ารัก สะกดว่า “เ-ว-ล-า”
เราบอกว่า เรารักลูก แต่สำหรับลูก เขาไม่ได้ฟังเฉย ๆ นะครับ เขาดูพฤติกรรมเราด้วย ถ้าเรารัก แต่วัน ๆ เราทำแต่งาน ไม่เคยมาเจอเขาเลย เขาต้องคิดแน่ ๆ ว่า เอ รักยังไง ทำไม ไม่มีเวลาให้เขา
ผมเข้าใจครับว่า ภารกิจแต่ละท่านไม่เหมือนกัน ความจำเป็นของแต่ละท่านก็มีมากมาย แค่อยากจะบอกว่า พยายามหาเวลาให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้นะครับ ให้เวลากับลูก เวลามันผ่านแล้วผ่านเลยนะครับ ถ้าโตแล้ว ลูก ๆ แยกย้ายกันไปมีครอบครัวหมดแล้ว ตอนนั้นจะมานั่งเสียดาย ก็คงย้อนเวลาไปไม่ได้
สำหรับคนที่มีความจำเป็นต้องอยู่ห่างลูก เช่น ต้องไปทำงานต่างจังหวัด หรือ แม้กระทั่งต่างประเทศ เราก็ยังโชคดีอย่างที่เทคโนโลยีปัจจุบัน มันทำให้เราได้พูดคุย หรือแม้กระทั่งเห็นหน้าเห็นตากันไม่ยาก เอาเป็นว่าพยายามให้มากที่สุดก็แล้วกันนะครับ
6. เปิดโอกาสให้ลูกทำในสิ่งที่ตัวเองรักให้มากที่สุด
พ่อแม่หลาย ๆ คน มีแนวโน้มที่จะเอา “ฝัน” ของเรา ไปใส่ให้ลูก โดยไม่รู้ตัวครับ
จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องผิดหรอกครับ เพราะส่วนใหญ่ เราก็ฝันในสิ่งที่ดี ๆ ทั้งนั้น เช่น เราอาจจะอยากเรียนมหาวิทยาลัย Top Ten ของโลก แต่เราเข้าไม่ได้ เราก็เลยไปกดดันพยายามให้ลูกเราเข้าไปเรียนให้ได้ เพราะเราก็ต้องคิดว่า อันนี้เป็นสิ่งที่ดีกับลูกแน่ ๆ (ไม่งั้น มันคงไม่เป็นความฝันของเราจริงไหมครับ)
แต่อย่าลืมความจริงอย่างหนึ่งครับ คือ ลูก กับ เรา คือคนละคนกัน สิ่งที่เราฝัน กับ สิ่งที่ลูกฝัน จึงอาจจะต่างกันได้
ถ้าเราไปยัดเยียดความฝันเรา ให้กับลูก และสร้างแรงกดดันให้เกิดขึ้น ลูกเขารักเราครับ เขาก็จะพยายามให้เรามีความสุข และบางที มันลงเอยโดยการที่เขาต้องสละฝันของเขา เพื่อทำให้ฝันของเราเป็นจริง
แบบนั้น เราจะมีความสุขจริงเหรอครับ
7. อย่าคิดว่าลูกไม่รู้เรื่อง หรือ คิดว่าเขาผิดเสมอ
คำพูดอันหนึ่งที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ คือ “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” แปลว่า ผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากกว่า ดังนั้นเราต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่นะ
จริง ๆ มันก็ไม่ผิดหรอกครับ ในการเชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่ตัวผู้ใหญ่เองอย่าตั้งสมมุติฐานว่าทุกอย่างที่เราคิด หรือเราทำ มันจะถูกไปซะทั้งหมด หรืออะไรที่ลูกคิดหรือทำ ที่ต่างจากที่เราคิดหรือทำ จะผิดไปซะทั้งหมด
เราอยู่คนละ Generation กันเลยนะครับ เพราะฉะนั้นอะไรที่เราเห็นว่า “ผิด” สำหรับคนในรุ่นเขาอาจจะไม่ได้คิดแบบเราก็ได้ พยายามลองมองในมุมของลูก ๆ เราให้มากหน่อยนะครับ
8. ควรมีความสม่ำเสมอในทุก ๆ เรื่อง
เคยเป็นกันไหมครับ บางที เราเห็นลูกเราดูทีวี ไม่ทำการบ้าน แต่เราอารมณ์ดี เราก็ไม่ว่าอะไร เผลอ ๆ ไปแซวอีกว่า ขี้เกียจติดใครเนี่ย แต่วันดีคืนดี เราเหนื่อยจากงาน อารมณ์ไม่ดี มาเห็นลูกดูทีวีไม่ทำการบ้าน คราวนี้มาเต็มครับ จัดเต็ม โมโหใส่ ตวาด สารพัด บอกว่า ใช้ไม่ได้ แย่มาก
เด็ก ๆ ก็งงสิครับ วันก่อนทำแบบเดียวกันนี้เป๊ะเลย พ่อแม่ ไม่ว่าอะไรสักคำ แต่วันนี้มาเป็นพายุ
ใช่ครับทุกคนไม่มีใคร Perfect หรอกครับ แต่พยายามลดความไม่สม่ำเสมอนี้ลงให้มากที่สุด อะไรที่เราปล่อยได้ ก็ปล่อยไป อะไรที่เราคิดว่าไม่ควร เราก็ต้องยืนยันว่าไม่ควร ให้เขาเห็นว่า เราสม่ำเสมอในเรื่องนี้นะ (แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้างั้นต้องอาละวาดตลอดนะครับ เราคุยกันดี ๆ ก็ได้ครับ)
9. สร้างวินัยและความรับผิดชอบให้ลูกเรา
ผมว่าทุกคนคงอยากให้ลูกมีวินัยและความรับผิดชอบจริงไหมครับ แต่อย่าไปฝากความหวังให้ว่า โรงเรียนจะสอน จริง ๆ ที่บ้านนี่แหละครับ เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ดีที่สุด
พอลูกโตขึ้นมาระดับหนึ่ง ลองให้เขารับผิดชอบอะไรบางเรื่องที่ไม่ยากมาก เช่น ตื่นมาต้องเก็บที่นอนเอง กินข้าว ต้องไปล้างจานเอง อะไรแบบนี้
หรือเข้านอนหรือตื่นนอนให้เป็นเวลา ของแบบนี้ อาจจะดูเล็กน้อย แต่มีส่วนทำให้เขาเติบโตขึ้นโดยมีวินัยและความรับผิดชอบต่าง ๆ นะครับ
10. กอดและบอกรักลูกทุกวัน
ข้อนี้หลายคนอาจจะคิดว่า เวอร์ไปไหมเนี่ย เอาเป็นว่ามันเป็นสิ่งที่ผมทำแล้วกันครับ ผมกอดลูกผมทุกวัน และก่อนที่จะนอนหลับ ผมจะบอกรักลูกทุกวัน ถามว่าเขินไหม ไม่เลยครับ มันกลายเป็นชีวิตประจำวันแล้วครับ และลูก ๆ ก็บอกรักผมทุกวันเหมือนกัน
ผมเชื่อว่าการได้บอกรักลูก ทุก ๆ วัน มีส่วนช่วยทำให้เขามีความมั่นใจในตัวเอง ทำให้เขารักตัวเอง และสิ่งนั้นคือสิ่งที่สำคัญมากที่สุดสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตนะครับ
อย่างที่บอกไว้ตอนต้นครับ ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ และไม่กล้าที่จะไปบอกให้ใครทำตามผม และการันตีความสำเร็จ ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนก็อยู่ในสถานการณ์แตกต่างกัน มีความเชื่อในบางเรื่องแตกต่างกัน และผมก็เคารพในความคิดเห็นของทุกท่านนะครับ
เพียงแต่ว่า อยากเอามาเล่าให้ฟังเท่านั้นในมุมมองของผม และทิ้งท้ายไว้ว่า คำว่า “พ่อ” หรือ “แม่” เป็นคำที่ยิ่งใหญ่มากนะครับ ใครได้มีโอกาสถูกเรียกด้วยคำนี้ ผมถือว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาเทียบได้เลย
ขอให้กำลังใจ คุณพ่อ คุณแม่ ทุกท่านแล้วกันครับ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูก ๆ ของท่านทุกคนนะครับ ?
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
หนังสือผ้าเสริมพัฒนาการทารก เสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อย ให้ฉลาด เรียนรู้ไว shoppable 25 nov
เลี้ยงลูกไม่เครียด แม่มือใหม่ เลี้ยงลูกอย่างไรให้ไม่ปวดหัว เป็นซึมเศร้า
วิธีเลี้ยงลูกให้จ้ำม่ำ บ้านไหนลูกไม่ยอมกินข้าว กินน้อย แก้ไขได้
https://mgronline.com/news1/detail/9630000090588
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!