ราชพฤกษ์ หรือต้นคูน ต้นไม้ประจำชาติ สรรพคุณและประโยชน์เพียบ! เมื่อถึงหน้าร้อนทีไรเรามักจะเห็นดอกไม้สีเหลืองออกดอกบานเต็มต้นไปหมด ไม่ว่าจะเป็นหน้าบ้าน หรือว่าตามข้างทางของประเทศไทย เรามารู้จักกับราชพฤกษ์กันเถอะ
ราชพฤกษ์ คือ?
เมื่อพูดถึงชื่อ ราชพฤกษ์ หลายคนคงสงสัยว่าชื่อที่แสนคุ้นหูนี่คืออะไรกันนะ แต่เมื่อเอารูปให้ดูหลายคนก็คงจะร้องอ๋อกันเลยทีเดียว ราชพฤกษ์จัดอยู่ในวง FABACEAE สกุล Cassia สปีชีส์ fistula เป็นกลุ่มพรรณไม้ยืนต้น ที่หลายคนนึกไม่ออกก็คงเป็นเพราะว่าในแต่ละพื้นที่ก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
- ชื่อไทย : ราชพฤกษ์
- ชื่อสามัญ : Golden shower, Indian laburnum, Pudding-pine tree, Purging Cassia
- ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia fistula L.
- ชื่อท้องถิ่น : คูน(กลาง,เหนือ) / ชัยพฤกษ์(กลาง) / ล้มแล้ง(เหนือ) / กุเพยะ (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี) / ปือยู ปูโย เปอโซ แมะหล่าหยู่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)
- ชื่อพ้อง : Bactyrilobium fistula Willd., Cassia bonplandiana DC., Cassia excelsa Kunth, Cassia fistuloides Collad., Cassia rhombifolia Roxb.
ข้อมูลทั่วไปของราชพฤกษ์
ราชพฤกษ์ หรือคูน เป็นต้นไม้กลุ่มพรรณไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียใต้ (บริเวณตั้งแต่ตอนใต้ของปากีสถานไปจนถึงอินเดีย เมียนมา และศรีลังกา) และได้การกระจายพันธุ์ไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อินโดนีเซีย, เมียนมา, ไทย, มาเลเซีย, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์) จะพบต้นราชพฤกษ์กระจายตัวกันตามป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง
บทความที่น่าสนใจ : 100 ชื่อต้นไม้มงคล ปลูกแล้วรวย ตั้งชื่อเล่นลูกจาก ต้นไม้มงคล
ราชพฤกษ์ ต้นไม้ประจำชาติ
ต้นคูน หรือราชพฤกษ์ ต้นไม้มงคลที่ถูกยกย่องให้เป็นดอกไม้ประจำชาติ ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี รวมถึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความปรองดองของชาติ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีดอกสีเหลืองเรืองรอง เมื่อดอกราชพฤกษ์เบ่งบานแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่น แสดงถึงฤดูร้อนที่กำลังสาดแสง นอกจากดอกราชพฤกษ์ยังเป็นสีแห่งพระพุทธศาสนา และความรุ่งโรจน์อีกด้วย รวมทั้งสีของดอกราชพฤกษ์นั้นยังตรงกับสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) จึงทำให้ราชพฤกษ์ถูกขนานนามว่า “ต้นไม้ของในหลวง” และมีการลงพระปรมาภิไธยให้ราชพฤกษ์เป็น 1ใน 3 ของสัญลักษณ์ชาติ (สัญลักษณ์ชาติ ได้แก่ สัตว์ประจำชาติ คือ ช้าง, สถาปัตยกรรมประจำชาติ คือ ศาลาไทย, ดอกไม้ประจำชาติ คือ ดอกราชพฤกษ์)
ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์
ราชพฤกษ์ เป็นนั้นมีขนาดลำต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร มีใบแบบขนนกปลายคู่ ใน 1 ก้านมีใบย่อย 3-8 คู่ ลักษณะของใบราชพฤกษ์เป็นรูปไข่ กว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร ในฤดูผลิดอก ดอกจะมีสีเหลืองสดออกตามซอกระหว่างใบห้อยเป็นช่อยาวลงประมาณ 20-40 เซนติเมตร โดยในหนึ่งช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ในหนึ่งดอกจะมีประมาณ 5 กลีบ และมีเกสรตัวผู้ประมาณ 10 ตัว โดยมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบด้านบน ซึ่งจะเริ่มออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ต้นคูน หรือราชพฤกษ์นั้นยังมีผลอีกด้วย มีลักษณะเป็นฝักยาว ทรงกลม ประมาณ 40-60 เซนติเมตร เมื่อฝักเริ่มแก่จะมีสีดำ (ฝักจะเริ่มแก่และร่วมประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม) และเมื่อฝักแตกด้านในจะมีเมล็ดพร้อมกับเมือกเหนียว มีกลิ่นเหม็น
บทความน่าสนใจ : พาชม เส้นทางดอกไม้บาน 12 เดือน ณ จังหวัดต่าง ๆ ของเมืองไทย
สารที่พบราชพฤกษ์
- สารคาร์ทามีดีน(carthamidine) เป็นสารที่ให้สีเหลือง ส่วนใหญ่มักพบในดอกไม้ที่มีสีเหลือง เช่น ดอกราชพฤกษ์ ดอกดาวเรือง ดอกคำฝอย เป็นต้น โดยมีฤทธิ์ในการลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันและรักษาโรคเบาหวานได้ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวพรรณ และช่วยลดการเสื่อมของเซลล์ในสมองอีกด้วย
- สารแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และต้านมะเร็ง และยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการก่อการกลายพันธุ์ ป้องกันเนื้องอก บำรุงสายตา และป้องกันการเสื่อมของตา ลดอาการภูมิแพ้ บำรุงหัวใจ และนอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถมองเห็นในเวลากลางคืนได้เป็นอย่างดีเยี่ยม
- สารในกลุ่มซาโปนิน (Saponin) ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น ปรับความสมดุลของความดันโลหิต เพิ่มสมรรถนะในการทำงานของร่างกายให้สูงขึ้น เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ชะลอความแก่ชรา นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ขยายหลอดลม แต่ถึงอย่างไรก็ตามสารในกลุ่มนี้ก็ยังมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายก็คือทำให้เม็ดเลือดแตกตัวนั่นเอง
- สารแอนทราควิโนน (anthraquinones) พบมากในพืชที่มีฝัก โดยส่วนใหญ่มักใช้เป็นส่วนผสมของยาถ่าย เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ผู้ที่มีกำลังน้อย เด็ก มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้สามารถขับถ่ายได้ดี
- สารในกลุ่มflavonoid สามารถช่วยปกป้องไม่ให้เซลล์ หรือเนื้อเยื่อในร่างกายของเราเสื่อม หรือถูกทำลาย นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของการต้านไวรัส และแบคทีเรียได้อีกด้วย รวมถึงช่วยให้ผนังเส้นเลือดแข็งแรง และขยายหลอดลมได้เป็นอย่างดี
- สารแทนนิน (tannin) พบในเปลือก และแก่นของราชพฤกษ์ เป็นสารที่จัดอยู่ในกลุ่มของสารประกอบโพลีฟีนอล มีคุณสมบัติคือการต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการอักเสบ และช่วยต้านมะเร็ง แต่ถึงอย่างไรก็ตามเมื่อรับสารแทนนินมากเกินไปจะมีส่วนในเรื่องของการดูดซึมอาการของลำไส้ และทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้
- สารคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) จะพบในใบของราชพฤกษ์ ช่วยเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง สร้างภูมิต้านทาน ช่วยป้องกันตับอักเสบ และเสริมสร้างการทำงานของตับ ป้องกันแผลอักเสบและระงับเชื้อ ช่วยในเรื่องของระบบขับถ่าย ทำให้สามารถขับถ่ายได้ดีขึ้น ช่วยเรื่องของการดูดซึมน้ำ และแร่ธาตุในลำไส้
สรรพคุณของราชพฤกษ์
ส่วนต่าง ๆ ของราชพฤกษ์นั้นมีสรรพคุณทางยามากมาย ตั้งแต่ลำต้น ใบ ไปจนถึงราก โดยสามารถสรุปคร่าว ๆ ได้ ดังนี้
- ฝัก สามารถใช้ขับเสมหะ ลดไข้ ใช้เป็นยาระบายได้ โดยไม่ทำให้รู้สึกมวนท้องหรือปวดบิด แก้ตานขโมย แก้อาการฟกช้ำ บรรเทาอาการแน่นอก แก้ร้อนใน นอกจากสรรพคุณทางยากแล้ว ยังสามารถนำมาสกัดทำเป็นยาฆ่าแมลง หรือมาใช้เป็นส่วนประกอบของสารฟอกหนังได้อีกด้วย
- ใบ ใช้ระบายท้อง สามารถแก้ฝีหรือเม็ดผื่นคันตามร่างกายได้ เนื่องจากใบของราชพฤกษ์สามารถฆ่าเชื้อโรค และฆ่าพยาธิผิวหนังได้ ด้วยการนำไปตำและพอกตามลำตัว นอกจากนี้ยังสามารถนำใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกไปเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ได้
- ดอก เป็นส่วนหนึ่งที่นิยมใช้กัดมากในการนำมาสกัดเป็นยารักษาอาการต่าง ๆ อาทิแก้ไข้ ระบายท้อง แก้บวม รักษาโรคกระเพาะอาหาร และถูกใช้มากในยาประเภทยาต้านเชื้อรา
- เปลือก แก้ไข้ แก้บวมในท้อง แก้ตกเลือด แก้บวม แก้พยาธิ แก้ท้องร่วง
- แก่น แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน แก้กลากเกลื้อน โดยการนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมกับเครื่องหมาก และพอกบริเวณที่เป็นแผล จะช่วยให้กลากเกลื้อนไม่ลุกลาม และอาการดีขึ้น
- ราก ก็สามารถนำมาเป็นยาทาแก้กลากเกลื้อนได้ ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจและถุงน้ำดี แก้ไข้ แก้อาการหายใจติดขัด หนักหัว หนักตัว
ที่มา : medthai, disthai, disthailand, kapook
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!