ปัจจุบันกระแสรักสุขภาพกำลังมาแรงเป็นอย่างมาก หลายครั้งที่เรามักจะเห็นอาหารไม่มีน้ำตาล ไร้น้ำมัน หรือปลอดกลูเตนอยู่ตามชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ต แม่ท้องหลายคนอาจสงสัยว่าจริง ๆ แล้ว อาหารปลอดกลูเตน สำหรับแม่ท้อง คืออะไร ดีต่อสุขภาพจริงไหม บทความนี้จะพาไปไขคำตอบค่ะ
กลูเตน คืออะไร
กลูเตน (Gluten) คือ โปรตีนที่พบมากในข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ โดยเป็นส่วนผสมสำคัญของอาหารจำพวกขนมปัง พาสต้า และซีเรียลที่มักวางขายอยู่ตามตลาดทั่วไป ปกติแล้วเราสามารถรับประทานกลูเตนได้ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่แพ้โปรตีนชนิดนี้ เช่น มีภาวะไวต่อกลูเตน หรือเป็นโรคเซลิเอค ดังนั้น คนจำนวนนี้ต้องหันมารับประทานอาหารปลอดกลูเตนแทน
อาหารปลอดกลูเตน คืออะไร
อาหารปลอดกลูเตน (Gluten-Free Diet) คือ อาหารที่ปราศจากแป้งสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ในส่วนประกอบ ดังนั้น อาหารประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการรับประทานกลูเตน เช่น
-
โรคเซลิแอค (Celiac Disease)
โรคเซลิแอคเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองชนิดหนึ่ง หากผู้ป่วยบริโภคอาหารที่มีกลูเตนเข้าไป จะทำให้กลูเตนเข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันจนทำให้ผนังของลำไส้เล็กถูกทำลาย หากปล่อยไว้นานก็จะทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง
-
ปฏิกิริยาแพ้ภูมิตัวเองจากการกินกลูเตน (Gluten Ataxia)
ปฏิกิริยาแพ้กลูเตนชนิดนี้ ถือเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองอย่างหนึ่ง ที่เมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีกลูเตนเข้าไปแล้ว จะส่งผลเสียต่อระบบประสาทและเนื้อเยื่อบางส่วน อาจทำให้ผู้ป่วยมีกล้ามเนื้อเคลื่อนที่ผิดปกติ หรือไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้
-
ภาวะไวต่อกลูเตน (Non-Celiac Gluten Sensitivity)
สำหรับผู้ป่วยที่ภาวะไวต่อกลูเตน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย ปวดศีรษะ หรือมีผื่นคัน แต่เนื้อเยื่อในลำไส้จะไม่ถูกทำลายเหมือนโรคเซลิแอค ผู้ป่วยภาวะนี้ยังไม่สรุปว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
-
ภูมิแพ้ข้าวสาลี (Wheat Allergy)
โรคภูมิแพ้ข้าวสาลีเกิดจากการเข้าใจผิดว่ากลูเตนหรือโปรตีนชนิดอื่น ๆ เป็นสิ่งแปลกปลอม จึงสร้างแอนติบอดีต่อกลูเตนหรือโปรตีนนั้น ๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตาบวม หน้าบวม ปากบวม ผื่นคัน ลมพิษ แน่นหน้าอก และหายใจติดขัด
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กเล็กกินข้าวกล้องได้ไหม หุงแบบไหนให้ลูกกินได้ง่ายที่สุด
คนท้องกินอาหารปลอดกลูเตนได้ไหม
สำหรับคุณแม่ที่กำลังสงสัยว่าคนท้องกินอาหารปลอดกลูเตนได้ คำตอบคือ ได้ค่ะ แต่ก็ไม่ควรทำเสมอไป หากแม่ท้องเป็นโรคเซลิแอคหรือมีภาวะผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดจากการบริโภคกลูเตน ควรรับประทานอาหารที่ปลอดกลูเตน เพราะจะช่วยป้องกันภาวะผิดปกติ ภาวะกระดูกพรุน และโรคโลหิตจางได้ แต่หากแม่ท้องที่ไม่แพ้กลูเตนรับประทานอาหารปลอดกลูเตนบ่อย ๆ ก็อาจทำให้ร่างกายและลูกน้อยไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
อีกทั้ง ยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ เพราะร่างกายไม่ได้รับสารอาหารจำเป็นอย่างใยอาหาร กรดโฟลิก ธาตุเหล็ก และวิตามินบี เป็นต้น ดังนั้น หากคุณแม่จะรับประทานอาหารปลอดกลูเตน ก็ควรรับประทานอาหารอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมพลังงานแก่ร่างกายด้วย และควรปรึกษากับแพทย์หรือนักโภชนาการก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่และลูกในครรภ์ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
ตัวอย่าง อาหารปลอดกลูเตน สำหรับแม่ท้อง
อาหารปลอดกลูเตนตามธรรมชาติ ที่คุณแม่สามารถรับประทาน ได้แก่
- ข้าวและแป้ง เช่น ข้าวเจ้า ข้าวโพด ข้าวเหนียว ถั่วเหลือง เผือก มัน วุ้นเส้น ฟักทอง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ และเส้นหมี่
- เนื้อสัตว์ เป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันและไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น อกไก่ สันในหมู ปลา และไข่ ควรหลีกเลี่ยงการปรุงรสจากซอสที่มีส่วนผสมของแป้งสาลีด้วย
- ผักและผลไม้ สามารถรับประทานผักและผลไม้ได้ทุกชนิด แต่ควรระวังขั้นตอนการปรุงไม่ควรมีส่วนผสมของแป้งสาลีอยู่ด้วย
- น้ำมัน เช่น เนย ถั่ว และน้ำมันพืชปรุงอาหารทุกชนิด
- นมและผลิตภัณฑ์จากนม คุณแม่สามารถดื่มได้หากไม่มีภาวะแพ้แล็กโทสด้วย แต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น โยเกิร์ต ต้องอ่านส่วนผสมก่อนว่ามีกลูเตนด้วยหรือไม่
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 อาหารกลูเตนฟรี สำหรับเด็ก ซื้อง่ายผ่านออนไลน์ อร่อย ปลอดภัย
กินอาหารปลอดกลูเตนแล้วดีอย่างไร
การรับประทานอาหารปลอดกลูเตนช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์หลายอย่าง เช่น
-
ช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร
มีงานวิจัยเผยว่า การรับประทานอาหารปลอดกลูเตนช่วยลดอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร ผู้ที่มีภาวะแพ้กลูเตนหรือป่วยโรคเซลิแอคสามารถรับประทานอาหารปลอดกลูเตนเพื่อช่วยลดอาการดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ยังช่วยลดอาการคลื่นไส้และอาเจียนได้อีกด้วย
-
ช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย
สำหรับผู้ที่มีปัญหาขาดสารอาหาร เนื่องจากลำไส้ดูดซึมอาหารได้ไม่ดี มักมีอาการอ่อนเพลีย สมองล้า และเฉื่อยชา หากปล่อยไว้นาน ๆ ก็อาจทำให้ขาดธาตุเหล็กจนเกิดภาวะโลหิตจางได้ ฉะนั้น การรับประทานอาหารปลอดกลูเตน จะช่วยให้ลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้ปกติ ทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉงและมีพลังงานมากขึ้น
-
ช่วยลดอาการอักเสบเรื้อรังของผู้ป่วยโรคเซลิแอค
การรับประทานอาหารปลอดกลูเตน ช่วยลดการอักเสบในร่างกายได้ เช่น ระดับแอนติบอดีและช่วยฟื้นฟูลำไส้จากการถูกทำร้ายของการอักเสบ ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับกลูเตน ควรรับประทานอาหารปลอดกลูเตนเพื่อลดอาการอักเสบเรื้อรังจากภาวะนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคเซลิแอค เกิดจากสาเหตุอะไร ส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างไรบ้าง?
คำแนะนำในการกินอาหารปลอดกลูเตน
สำหรับแม่ท้องที่ต้องการรับประทานอาหารปลอดกลูเตน ควรศึกษาฉลากข้อมูลโภชนาการให้ดีก่อนว่ามีส่วนผสมของกลูเตนรูปแบบใดบ้าง หากคุณแม่มีภาวะแพ้กลูเตนก็สามารถรับประทานอาหารปลอดกลูเตนเพื่อป้องกันภาวะผิดปกติได้ แต่สำหรับคุณแม่ที่แพ้กลูเตน ควรรับประทานอาหารอื่น ๆ ร่วมกับอาหารปลอดกลูเตน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ หากคุณแม่จะปรุงอาหารปลอดกลูเตน อย่าลืมปรุงอาหารให้สะอาดก่อนนะคะ และอย่าลืมตรวจสอบด้วยว่าอาหารชนิดนั้นปลอดกลูเตนจริงหรือเปล่า ไม่เช่นนั้นหากคุณแม่มีภาวะแพ้กลูเตนรับประทานเข้าไป อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้
การรับประทาน อาหารปลอดกลูเตน สำหรับแม่ท้อง เรียกได้ว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ไม่ควรรับประทานอาหารปลอดกลูเตนเพียงอย่างเดียว เพราะอาจทำให้ร่างกายและลูกในครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้น หากคุณแม่จะรับประทานอาหารปลอดกลูเตน อย่าลืมใส่อาหารอื่น ๆ ลงไปด้วยเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาหารที่มีแมกนีเซียม มีอะไรบ้าง? กินอย่างไรให้ปลอดภัย
อาหารเพสคาทาเรียน คืออะไร กินแล้วดีต่อสุขภาพยังไงบ้าง?
ลูกแพ้นมวัว ทำอย่างไรดี พร้อมไขข้อข้องใจวิธีรับมือ สำหรับคุณแม่มือใหม่ทั้งหลาย!
ที่มา : whattoexpect, hellokhunmor, pobpad, sgethai