บริจาคน้ำนมดราม่าไม่จบ
หลังจากที่ไฮโซน้ำหวาน พัสวี พยัคฆบุตร ภรรยาสุดสวยของ นาวิน-ต้าร์ เยาวพลกุล ได้โชว์ภาพครอบครัวและภาพของการปั๊มนม พร้อมกับกิจกรรมบริจาคนมแม่แก่ผู้ที่ต้องการ ทำให้เกิดกระแสชื่มชมจากโลกโซเชียลมากมาย แต่ในทางกลับกันคุณหมอกลับไม่เห็นด้วยกับการบริจาคนมแม่ เพราะอาจเป็นอันตรายได้
โดยในเฟซบุ๊กของอาจารย์หมอท่านหนึ่ง ชื่อว่า นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬา ได้บอกว่า น้ำนมแม่มีประโยชน์กับลูกของเรา แต่อาจจะเป็นอันตรายกับลูกคนอื่น เพราะนมแม่ถือเป็นชีววัตถุ เช่นเดียวกับเลือดและน้ำเหลือง
คุณหมอออกมาเตือนบริจาคน้ำนม
ทางด้านของ Drama-addict เองก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กในทางสนับสนุนของอาจารย์ดังกล่าว โดยระบุว่า “การบริจาคน้ำนมให้ลูกคนอื่นกิน มีความเสี่ยงการจะให้นมแม่คนนึง ไปให้ลูกคนอื่นกินได้นั้น ต้องทำแบบธนาคารนมแม่ของ ตปท เลย แล้วการตรวจเลือดตามมาตรฐานของธนาคารนมแม่ ยังไม่มีการตรวจแลปแบบนั้นแพร่หลายในไทย อย่างมากก็มีแค่ตามมหาลัยแพทย์เท่านั้น ดังนั้นแค่การเจาะตรวจเลือดตาม รพ ทั่วไป ไม่เพียงพอครับ”
ทางด้านของคุณน้ำหวานก็ได้ออกมาตอบกลับเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผ่านทางอินสตาแกรมของตัวเองว่า “ขอบคุณสำหรับคำแนะนำนะคะ น้องรับฟังทุกคำแนะนำค่ะและคุณหมอคลินิกคอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอดค่ะ แต่ยังไงก็ต้องขอบคุณอีกครั้งค่ะ น้องคนนี้น่ารักไหมคะ โตมาด้วยนมแม่หวานทานตั้งแต่ตอนอาทิตย์เดียว สุขภาพแข็งแรงดีมาก น่ารักเหมือนลูก้าเลย ที่สำคัญรับที่คลินิกนะจ๊ะ #คนไทยมีความรู้ #ตรวจโรคก่อนให้บริจาคค่ะ #เกาะกระแส #สมัยนี้ไม่มีใครโง่นะคะโดยเฉพาะคนเป็นแม่ #อย่าว่าคนไทยไม่มีความรู้สิคะ #เราแค่มีจิตวิญญาณของความเป็นแม่ค่ะ #เราแค่อยากทำบุญนะคะ #ไม่มีใคเข้าใจแม่ดีกว่าแม่”
ทั้งนี้ ยังได้เผยภาพของเด็กทารกที่ได้รับบริจาคน้ำนมของตนเองไป ซึ่งเด็กคนนั้นก็มีสุขภาพแข็งแรงมาก โดยมีข้อความว่า
“น้องคนนี้น่ารักมั้ยคะ โตมาด้วยนมแม่หวาน ทานตั้งแต่ตอนอาทิตย์เดียว สุขภาพแข็งแรงดีมากกก น่ารักเหมือนลูก้าเลย ที่สำคัญรับที่คลินิคนะจ๊ะ #คนไทยมีความรู้# ตรวจโรคก่อนให้บริจาคคร้า #เกาะกระแส #สมัยนี้ไม่มีใครโง่นะคะโดยเฉพาะคนเป็นแม่ #อย่าว่าคนไทยไม่มีความรู้สิคะ #เราแค่มีจิตวิญญาณของความเป็นแม่คะ #เราแค่อยากทำบุญนะคะ #ไม่มีใครเข้าใจแม่ดีกว่าแม่ #”
บริจาคน้ำนมดราม่าไม่จบ
ซึ่งทุกข้อความที่คุณแม่น้ำหวานโพสต์ไป มีบรรดาแม่ๆ มาให้กำลังใจจำนวนมาก
ทางด้านสามี นาวิน ต้าร์ ก็ได้ออกมาโพสต์ถึงเจตนารมณ์ของโครงการนี้ พร้อมทั้งยืนยันว่า คลินิกฟิลอก้า ถือว่าเป็นธนาคารนมเอกชนรายเดียวของประเทศไทย ตั้งใจทำด้วยความคิดที่รอบคอบ มีจุดยืนที่จริงจัง ถ้าหน่วยงานของรัฐต้องการความช่วยเหลือทางด้านใดก็พร้อมยินดีช่วยเหลือเสมอ
นาวืนต้าร์ ตอบกลับบริจาคน้ำนม
บริจาคนมแม่ลูกน้อยเสี่ยงแค่ไหน
ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน กล่าวว่า มีงานวิจัยจากสมาคมธนาคารนมแม่ระบุว่า คุณแม่ที่มาบริจาคนม 1,091 จากการคัดกรองเบื้องต้น น่าจะเข้าข่าย “ผู้เสี่ยงโรคต่ำ” สามารถบริจาคนมได้แต่เมื่อตรวจทางแล็บโดยละเอียดกลับพบว่า มีคุณแม่จำนวนมากที่ติดเชื้อไวรัสเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว เช่น ติดเชื้อ HTLV 6 คนเชื้อซิฟิลิส 6 คน เชื้อตับอักเสบบี 17 คน เชื้อตับอักเสบซี 3 คน และติดเชื้อ HIV 4 คน ซึ่งเชื้อเหล่านี้สามารถติดเชื้อต่อไปยังทารกที่กินนมได้ ดังนั้น ก่อนที่จะให้ลูกกินนมคนอื่นต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะติดโรคและธนาคารนมแม่ทุกแห่งควรตรวจหาเชื้อโรคก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัยของทารก
หากอยากรับนมบริจาคควรทำอย่างไร
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำว่า การบริจาคหรือการให้นมแก่ลูกคนอื่นนั้นต้องอยู่ภายในความสมัครใจและความยินยอมทั้งสองฝ่าย และสิ่งสำคัญการคุ้มครองสิทธิเด็กให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัย โดยแม่ที่ให้นมแก่ลูกคนอื่นนั้นจะต้องได้รับการรับรองจากสถาบันทางการแพทย์ว่าไม่มีโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้แก่ เชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ บี และซี และไซโตเมกกาโลไวรัส (CMV) รวมทั้งแม่ที่เสพสารเสพติดทุกชนิด เช่น สูบบุหรี่ และดื่มสุรา
นางสิริมนต์ คงถาวร พยาบาลวิชาชีพเฉพาะทาง ผู้ดูแลธนาคารนมแม่รามาธิบดี เปิดเผยว่า แม่ที่มาบริจาคส่วนใหญ่จะเป็นหมอหรือพยาบาลที่ทำงานภายในโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยแม่จะมาบีบน้ำนมสดที่ศูนย์ ส่วนบุคคลภายนอกที่จะมาบริจาคจะมีการตรวจประวัติอย่างละเอียดก่อน โดยน้ำนมแม่จะผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์เพื่อยืนยันความปลอดภัย ทั้งนี้ที่ผ่านมาธนาคารนมแม่ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากทั่วโลก ยังไม่เคยมีเด็กรับบริจาคติดเชื้อเลย
สรุปว่า การให้นมแม่แก่ลูกคนอื่นนั้นมีความเสี่ยงแม้จะไม่สูง แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ทารกสูงสุด จึงควรมีระบบการจัดการในการบริจาค ต้องมีกระบวนการคัดกรองเป็นอย่างดี
ที่มา: ไทยรัฐ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
ผลไม้เพิ่มน้ำนม สำหรับคุณแม่น้ำนมน้อย ไม่ต้องกลัวน้ำนมไม่พอ
สารอาหารในนมแม่ นมแม่มีประโยชน์อย่างไร ให้นมลูกด้วยนมแม่ช่วงไหนดีที่สุด?
วิธีเพิ่มน้ำนมแม่ สำหรับคุณแม่ที่คิดว่าตัวเองน้ำนมน้อย กลัวลูกไม่พอกิน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!