หนึ่งในเรื่องที่ผู้อยู่อาศัยคอนโดมิเนียมคาดไม่ถึง นั่นคือ เรื่องการใช้ปลั๊กพ่วงที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งถึงแม้ว่าอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่น่าเป็นปัญหา แต่หากไม่ระมัดระวัง ก็ถือว่ามีความเสี่ยงสูงพอสมควรที่จะเกิดไฟช็อต สร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เสียบในปลั๊กพ่วงนั้นๆ จนอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่โตถึงกับไฟลุกไหม้ สร้างความเสียหายให้กับห้องชุดที่อยู่อาศัยและพื้นที่ใกล้เคียง
การอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม มีความแตกต่างกับบ้านแนวราบ เพราะพื้นที่อาศัยในห้องชุดนั้นเล็กกว่ามาก ดังนั้นเต้าเสียบที่โครงการได้ออกแบบตามจุดต่างๆ ภายในห้องชุดจึงมีค่อนข้างน้อย เรียกได้ว่า มีเฉพาะจุดสำคัญ และแต่ละจุดเพียง 1-2 เต้าเสียบเท่านั้น เช่น จุดที่เป็นห้องนั่งเล่นจะมีเตาเสียบไม่เกิน 2 เต้าเสียบ (บางแห่งมีเพียง 1 เต้าเสียบ) จุดบริเวณครัว ส่วนใหญ่จะมี 1 เต้าเสียบ ในห้องน้ำบริเวณใกล้กับล้างหน้าล้างมือ จะมี 1 เต้าเสียบ ส่วนในห้องนอน ก็อาจจะมี 2 จุด จุดที่ออกแบบไว้เผื่อติดตั้งโทรทัศน์ กับบริเวณใกล้หัวนอน
เมื่อประเมินดูตามจุดต่างๆ ของเต้าเสียบแล้ว จุดที่มีการใช้งานมากที่สุด และหนักที่สุด ก็คือ จุดที่เป็นห้องนั่งเล่น เพราะส่วนใหญ่จะต้องใช้เสียบทีวี และอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น กล่องรับสัญญาณทีวี กล่องรับสัญญาณอินเตอร์เน็ต เครื่องเล่นดีวีดี เครื่องโทรศัพท์บ้านแบบที่ต้องเสียบไฟ พัดลม ฯลฯ ยังไม่รวมการใช้งานชาร์จอุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันอีก เช่น โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่สำรอง แท็บเล็ต โน๊ตบุ๊ค อุปกรณ์เสริมอย่างสมาร์ทวอร์ช
บริเวณจุดนี้ ส่วนใหญ่จึงใช้ปลั๊กพ่วงเข้ามาเสริม ด้วยการเสียบปลั๊กพ่วงจากเต้าเสียบหลัก เพื่อให้มีเต้าเสียบย่อยสำหรับทุกอุปกรณ์ไฟฟ้า เจ้าของร่วมบางคนที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้งานจำนวนมาก ก็ใช้เต้าเสียบเสียบในเต้าเสียบแรก เพื่อเพิ่มจุดเสียบให้กับปลั๊กไฟ จะเห็นว่า ปริมาณความต้องการใช้ไฟในจุดนี้ค่อนข้างมาก จึงทำให้เป็นจุดเสี่ยงที่จะเกิดเหตุมากที่สุด
จากที่ผ่านมามีหลายเหตุร้ายในห้องชุดที่เกิดเพราะปลั๊กพ่วงอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น กรณีปลั๊กพ่วงช็อตจนทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เสียบพังเสียหาย และกรณีปลั๊กพ่วงช็อตจนเกิดไฟไหม้ห้องชุด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปลั๊กพ่วงที่ไม่ได้มาตรฐาน และถูกใช้งานหนักจากการเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความต้องการไฟสูงหลายอุปกรณ์ กรณีนี้ ถ้าเกิดเหตุในขณะที่มีผู้อยู่อาศัยในห้องชุด ความเสียหายอาจจะไม่มาก แต่ก็มีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยได้เช่นกัน
แต่ถ้าเกิดเหตุตอนที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยในห้องชุด อันนี้เป็นความเสี่ยงหนัก ยิ่งในห้องชุดที่ไม่เคยตรวจสอบสปริงเกอร์ดับเพลิง เกิดชำรุดใช้งานไม่ได้ ไฟจะลุกลามจนคุมเพลิงได้ยาก หากดับทัน เสียหายแค่ในห้องชุดก็ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าดับไม่ทัน เสียหายลุกลามไปยังพื้นที่ส่วนกลางและห้องชุดเพื่อนบ้าน ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ดั่งที่เคยเห็นเป็นข่าวมาหลายครั้ง และเจ้าของร่วมต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งในห้องชุดเพื่อนบ้านและพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งแม้ว่าจะทำประกันห้องชุด แต่ส่วนใหญ่แล้วความคุ้มครองจะครอบคลุมเฉพาะห้องชุดตัวเองเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงห้องชุดข้างเคียงและพื้นที่ส่วนกลาง เท่ากับว่าเจ้าของร่วมต้นเพลิงต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง เป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว (เจ้าของร่วมควรศึกษากรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่ตนเองได้ทำไว้ด้วยว่าความครอบคลุมเป็นอย่างไร ครอบคลุมเฉพาะห้องชุดตัวเองหรือว่าพื้นที่ใกล้เคียง)
กรณีที่เกิดเหตุและมีสปริงเกอร์ดับเพลิงในห้องชุดที่ทำงานได้ตามปกติ น้ำที่ออกมาช่วยดับไฟ อาจบรรเทาความเสียหายได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีความเสียหายไม่น้อย และต้องขึ้นอยู่กับไฟที่ลุกนั้นด้วยว่ามากน้อยเพียงใด และในจุดที่เพลิงลุกไหม้นั้นมีสิ่งที่จะยิ่งกระตุ้นให้เพลิงลุกไหม้หนักขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากเพลิงลุกไหม้ค่อนข้างมาก ก็ยิ่งเสียหายมาก
ดังนั้น การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ภายในห้องชุด โดยเฉพาะปลั๊กพ่วง ควรให้ความสำคัญกับการเลือกของที่ได้มาตรฐาน และสอดคล้องกับการอยู่อาศัยและลักษณะการใช้งาน ถ้าอยู่อาศัยคนเดียว การใช้งานอาจจะไม่มาก แต่ถ้าอยู่กัน 2-3 คนพ่อแม่ลูก มีจำนวนปลั๊กที่ต้องเสียบมากแน่นอน ก็ควรเลือกใช้ปลั๊กพ่วงที่รองรับการใช้งานจำนวนมากได้ เพราะหากเกิดเหตุร้ายแล้ว ไม่อาจเรียกคืนความเสียหายเหล่านั้นกลับมาได้เลย
นอกจากนี้ เจ้าของร่วมยังควรให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมโครงการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ป้องกันภัยในห้องชุดที่นิติบุคคลอาคารชุดนั้นๆ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีด้วย เพื่อความปลอดภัยในการอยู่อาศัยทั้งของตัวเองและคนรอบข้าง
ขอบคุณ ข่าวอสังหาฯ-บทความจาก DDproperty.com เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
แปลงบ้านให้ประหยัดพลังงาน เพิ่มความเย็น ลดค่าใช้จ่าย
ควรรู้! ก่อนต่อเติมบ้าน เพื่อไม่ให้สายเกินแก้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!