โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นโรคที่หลายคนมองข้าม เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ที่จริงแล้ว โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเป็นภัยเงียบที่ต้องระวัง เพราะเป็นแล้วอาจถึงตายได้หากไม่ระวัง มาทำความรู้จักกับ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และห่างไกลโรคนี้กันค่ะ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากอะไร?
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease : CAD) เป็นโรคที่เกิดจากการเกาะของคราบไขมัน ที่อยู่ในหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเกิดจากการสะสมของคอเลสเตอรอล และสารต่าง ๆ ในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเกิดการอุดตัน และตีบ จนทำให้กระแสเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ ผู้ที่ป่วยจะมีอาการหายใจไม่ออก หายใจติดขัด เจ็บหน้าอก หรือ อาจส่งผลรุนแรง ถึงขั้นหัวใจวายได้ เพราะเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ประวัติส่วนตัว
- ประวัติครอบครัว หากครอบครัวมีประวัติการเป็นโรค ไม่ว่าจะเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง ก็มีโอกาสที่เราจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้เช่นกัน
- อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ก็อาจเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้
- เพศ ผู้ชายมีโอกาสการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ มากกว่าผู้หญิงทั่วไป ยกเว้นแต่ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จะมีโอกาสเป็นโรคเท่า ๆ กับผู้ชาย
2. ปัจจัยด้านสุขภาพ
- คอเลสเตอรอล ไขมันอิ่มตัวมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่คอเลสเตอรอลในเลือด อาจมีผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
- ความดันโลหิตสูง ภาวะความดันโลหิตสูง จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย มีความหนาตัวขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- น้ำตาลในเลือดสูง ระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้หลอดเลือดในร่างกายเกิดการเสื่อมสภาพ ทั้งหลอดเลือดเล็ก และใหญ่ ซึ่งทำให้เซลล์เยื่อบุภายในทำงานผิดปกติ และทำให้หลอดเลือดแดงแข็ง อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายจึงเสื่อม และถูกทำลายลง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
- ไขมันในเลือดผิดปกติ ระดับไขมันในเลือด มีผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงตีบตัน
อ่านเพิ่มเติม โรคไขมันในเลือดสูง โรคร้ายที่เป็นได้ไม่ทันตั้งตัว ต้นเหตุของหลายโรคร้าย!
3. ปัจจัยด้านพฤติกรรม
- น้ำหนักเกินเกณฑ์ หากมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน และมีดัชนีมวลกายที่มากขึ้น อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
- ความเครียด เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด โดยเฉพาะภาวะความเครียดเรื้อรัง รวมถึงภาวะด้านอารมณ์อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
- ขาดการออกกำลังกาย การขาดการออกกำลังกาย จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด มากกว่าปกติถึง 1.5 เท่า
- การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นประจำ หรือ ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือด มากกว่าคนปกติทั่วไปถึง 2.4 เท่า
- การรับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ปัจจุบันคนเรารับประทานอาหารที่มีรสหวาน อาหารที่มีไขมัน และแคลอรีสูง หากรับประทานผัก และผลไม้ไม่เพียงพอ ทำให้เพิ่มปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้ร่างกายไม่สามารถส่งกระแสเลือด และออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจได้ ซึ่งทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้
-
เจ็บหน้าอก
อาการเจ็บหน้าอก เป็นสัญญาณหนึ่งของการเกิดโรค ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกแน่นหน้าอก บริเวณกลางอก หรือ ด้านซ้ายของหน้าอก ไปจนถึงแขน คอ กราม ใบหน้า หรือ ช่องท้อง โดยสาเหตุมักเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงมากขึ้น เช่น การออกกำลังกาย ความเครียด เป็นต้น
-
หายใจติดขัด
ผู้ป่วยอาจมีอาการหายใจติดขัด เหนื่อย หอบ อาจเกิดจากการได้รับเลือดไม่เพียงพอ ทำให้เลือดไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง
-
หัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลว อาจเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อหัวใจเกิดอาการอ่อนแรง จนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ได้ ผู้ป่วยจะเกิดอาการหายใจติดขัด จากภาวะน้ำท่วมปอด หากมีอาการน้ำท่วมปอดรุนแรง อาจอันตรายถึงชีวิตของผู้ป่วยได้
-
หัวใจวาย
ผู้ป่วยมักมีอาการแน่นหน้าอก และปวดบริเวณไหล่หรือแขน ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย และอันตรายถึงชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะความดันตก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้เกิดอาการหมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
1. ลดความเสี่ยงการเกิดโรค
แพทย์จะให้คำแนะนำในการปรับ เปลี่ยน พฤติกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงของโรค เช่น เลิกสูบบุหรี่ คุมอาหาร ออกกำลังกาย ลดความเครียด เป็นต้น
- งดสูบบุหรี่
- ลดน้ำหนักที่เกินเกณฑ์
- ควบคุมความเครียด
- หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป และ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
2. การรักษาด้วยการใช้ยา
หากอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยา ซึ่งมีหน้าที่ลดความดันเลือดหรือขยายหลอดเลือด เพื่อให้การไหลเวียนและสูบฉีดเลือดได้ ยาที่ใช้ มีดังนี้
- กลุ่มยาคอเลสเตอรอล ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด โดยเฉพาะไขมันร้าย ซึ่งจะจับตัวสะสมในหลอดเลือดหัวใจ
- ยากลุ่มเบต้าล็อกเกอร์ ใช้รักษาความดันโลหิตสูง และช่วยป้องกันอาการเจ็บหน้าอก โดยการปิดกั้นฮอร์โมนในร่างกาย จะช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ และลดความดันโลหิต แถมยังช่วยฟื้นฟูการไหลเวียนของเลือด ลดความเสี่ยงภาวะหัวใจวาย
- ยาขยายหลอดเลือด ทั้งในรูปแบบเม็ด สเปรย์ หรือ แผ่นติดผิวหนัง ซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิต และอาการปวดบริเวณหัวใจ
- ยาปิดกั้นแคลเซียม ใช้ในกรณีที่ต้องการลดความดันโลหิต โดยการสร้างความผ่อนคลายให้กับกล้ามเนื้อผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดกว้างขึ้น แต่อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว
- ยาขับปัสสาวะ ช่วยขับน้ำ และ เกลือแร่ส่วนเกินออกจากร่างกายผ่านการปัสสาวะ
- ยาต้านเกล็ดเลือด
- ยาลดความดันโลหิต และ ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหลอดเลือดหัวใจ
- เจ็บหน้าอก เพราะการอุดตันของหลอดเลือดทำให้เลือดไม่ไปสูบฉีดเลือดส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะการออกกำลังกาย หรือ ทำกิจกรรมที่ต้องใช้งานร่างกายหนัก จึงทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก
- หัวใจวาย คราบไขมันและลิ่มเลือด ที่สะสมในร่างกาย ทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน และทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย ทำให้ไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจ และส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้
- หัวใจล้มเหลว หากผู้ป่วยเกิดภาวะที่หัวใจวายจากการขาดเลือด หัวใจจะไม่สามารถทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ทำให้เกิดน้ำท่วมปอด หายใจติดขัด และหัวใจล้มเหลวในที่สุด
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะทำงานผิดปกติ และทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงผิดปกติ เร็วขึ้นผิดปกติ หรือ สั่นพริ้ว ได้ ความผิดปกตินี้อาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที เพราะหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้
การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- งดการสูบบุหรี่
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- พยายามอย่าให้เครียดจนเกินไป
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก ๆ ปี
- ลดอาหารที่ทำให้เกิดคอเลสเตอรอลสูง
- ลดอาหารที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เรา ๆ ควรระวัง ดังนั้นใครที่กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยง หรือ มีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ควรรีบลด และ เลิกพฤติกรรมดังกล่าว และหมั่นดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นตามมา และสำหรับใครที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรค ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพในทุก ๆ ปี เพื่อป้องกันการเกิดโรค
ที่มาข้อมูล : pobpad bumrungrad
บทความที่น่าสนใจ :
โรคหัวใจ เกิดจากสาเหตุอะไร โรคหัวใจมีอาการอะไรบ้าง โรคหัวใจมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง
โรคเบาหวาน เกิดจากอะไร ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นเบาหวานคืออะไร?
โรคลิ้นหัวใจตีบ ในเด็ก หากเข้าใจ ไม่ยากเกินรับมือ