เคยเป็นไหม ? มดลูกบีบตัวบ่อย เป็นอาการที่เกิดกับคุณแม่ใกล้คลอด ในช่วงเดือนที่ 7-9 หรือไตรมาสสุดท้าย หลายท่านสงสัยว่าหากมีอาการแบบนี้เป็นเรื่องผิดปกติหรืออันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ ถ้าการที่มดลูกบีบรัดตัวเป็นจังหวะบ่อยเกินไป ร่วมกับหน้าท้องแข็ง คุณแม่ควรทำอย่างไรบ้าง
มดลูกบีบตัวบ่อย เกิดจากอะไร ?
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับอาการ มดลูกบีบตัวบ่อย เสียก่อน ว่ามีลักษณะอย่างไร ซึ่งการที่มดลูกบีบตัว เกิดจากกล้ามเนื้อของมดลูก หดรัดตัว บีบตัว เป็นจังหวะนาน 30-60 วินาที ร่วมกับอาการท้องแข็งนาน 10 นาที และจะมีอาการร่วมกันอย่างนี้ วันละ 4-5 ครั้งต่อวัน ดังนั้น หากคุณแม่รู้สึกว่า ท้องแข็ง ให้สังเกตว่ามดลูกบีบตัวไหม แล้วนานเท่าไหร่ หากมีมูกเลือดปน ออกจากปากช่องคลอดด้วย ควรไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปากมดลูกเปิด อาการปากมดลูกเปิด เป็นอย่างไร นานแค่ไหนกว่าจะคลอด
คุณแม่ท้องจะทราบได้อย่างไรว่า มดลูกบีบตัว
ก่อนอื่นเรามาสังเกตอาการเบื้องต้นกันค่ะ ว่าคุณแม่จะทราบได้อย่างไรบ้าง
- คุณแม่ท้องจะปวดท้องน้อย ซึ่งเป็นตำแหน่งของมดลูก ลองคลำดูจะรู้สึกปวดตุ้บ ๆ เจ็บไม่มาก
- บริเวณขาหนีบเจ็บหรือไม่ คุณแม่ลองสังเกตช่วงบริเวณเชิงกรานลงไปยังขาหนีบว่า ปวด ๆ หาย ๆ หรือเปล่า
- มดลูกบีบตัวบ่อย แต่จะไม่ถี่มาก แรก ๆ อาจจะรู้สึกสงสัยและรำคาญจนคุณแม่อาจวิตกว่า จะคลอดหรือเปล่า
- บางครั้งอาจปวดไม่มาก แค่รู้สึกหน่วง ๆ แต่รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว
- อาการมดลูกบีบตัวบ่อยจะสังเกตได้ง่ายในเวลากลางคืน เนื่องจากปัสสาวะเต็มกระเพาะและร่างกายไม่ได้ดื่มน้ำ
วิดีโอจาก : แม่ แอนด์ ลูก สตอรี่
อาการท้องแข็งคือหนึ่งในสาเหตุ มดลูกบีบตัว
อาการมดลูกบีบตัว สามารถเกิดขึ้นได้จากอีกหนึ่งสาเหตุคือ อาการ “ท้องแข็ง” ซึ่งคุณแม่จะรู้สึกปวดท้องน้อย แถว ๆ มดลูกบริเวณหัวหน่าวอวัยวะเพศ จึงทำให้รู้สึกถึงการบีบตัวของมดลูกที่รัดตัวจนแข็งเป็นก้อนกลม ซึ่งหากชะล่าใจ คิดว่าเป็นอาการปกติ อาจส่งผลให้มดลูกขยายตัว ปากมดลูกเปิด อันเป็นสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนดได้ ซึ่งอาการท้องแข็งมาจากสาเหตุดังนี้
- คุณแม่ท้องกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ เนื่องจากคนท้องฉี่บ่อยจนไม่อยากเข้าห้องน้ำ
- เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- มีการร่วมเพศกับสามีรุนแรงเกินไป
- คุณแม่ขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ทำงานหนัก ออกกำลังกายหนักเกินไป
อาการท้องแข็งจนมดลูกหดตัวบ่อย ๆ อาจทำให้คุณแม่เกิดภาวะแท้งลูกหรือคลอดก่อนกำหนดได้ คุณแม่ต้องสังเกตตัวเองว่า อาการท้องแข็งเกิดมาจากเหตุผลข้างต้น เพราะเวลาพลิกตัวหรือลูกดิ้น ก็อาจทำให้มีหน้าท้องแข็งตัวบ่อย ๆ ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวบวกกับมดลูกบีบตัวทุกครึ่งชั่วโมง ยาวนานไปถึง 3-4 ชั่วโมง ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ค่ะ
วิธีลดอาการเจ็บปวดเมื่ออยู่ในภาวะมดลูกบีบตัว
คุณแม่ที่มีอาการมดลูกบีบตัวเป็นระยะ ๆ เมื่อไปหาคุณหมดและปรึกษาอาการดังกล่าวแล้ว พบว่าไม่มีอะไรน่ากังวลถึงการคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นคุณแม่หมออาจจะแนะนำให้คุณแม่เปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เนื่องจากการเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 และใกล้คลอด ท้องเริ่มใหญ่ขึ้น ไปเบียดตัวกับมดลูกมากขึ้นจนมดลูกอึดอัด เรามาดูว่า จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดเหล่านี้
1. ปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน
ก่อนหน้านี้เราเคยได้รับคำแนะนำมาว่า คุณแม่สามารถเดิน ออกกำลังกายได้ แต่อย่าลืมว่า ร่างกายของคุณแม่ท้องแต่ละท่านนั้น มีภาวะแตกต่างกัน บางคนแข็งแรงทำงานได้จนถึงวันคลอด แต่กับบางคน ต้องอยู่นิ่ง ๆ เคลื่อนไหวได้ไม่เยอะ ดังนั้น หากคุณแม่เคยทำงานหนัก ลองลดกิจกรรมต่าง ๆ ให้น้อยลง พักผ่อนให้มากขึ้น
2. นอนหลับให้เยอะขึ้น
ว่ากันว่า ยิ่งแม่ท้องออกกำลังกายมากจะคลอดง่าย อย่างที่บอกไว้ว่าใช้ไม่ได้กับคุณแม่ท้องทุกคน แต่อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่กำลังจะเตรียมตัวคลอดบุตรใน 1-2 เดือนข้างหน้า ควรนอนหลับเยอะ ๆ กลางวันหาเวลางีบบ้าง ช่วงกลางคืนพยายามนอนให้มากที่สุดในท่วงท่าที่สบาย ๆ หาหมอนมารองปลายเท้า มานอนก่ายในท่าที่สบายไม่ทับท้องตัวเอง จะทำให้หลับนานขึ้นค่ะ
3. ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ
ช่วงเวลากลางคืนคือช่วงที่ร่างกายขาดน้ำ และเป็นเวลาที่คุณแม่ท้องไม่สามารถลุกไปปัสสาวะได้ จึงทำให้กระเพาะปัสสาวะเต็ม สาเหตุนี้จะส่งผลให้มดลูกบีบตัวได้ค่ะ ดังนั้นช่วงเวลากลางวัน จึงควรดื่มน้ำ เยอะ ๆ ตลอดทั้งวัน เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้นในร่างกายไปใช้ช่วงนอนหลับ
4. หัดนั่งสมาธิบ่อย ๆ
การนั่งสมาธิจะช่วยให้คุณแม่กำหนดลมหายใจได้ดี ควรนั่งในท่าสบาย ๆ บนเก้าอี้ หรือบนเตียงก็ได้ค่ะ หลังพิงพนัก ปล่อยตัวตามสบาย แล้วหายใจเข้า-ออก ลึก ๆ ยาว ๆ อย่าหายใจสั้น ๆ นะคะ ซึ่งการหายใจยาว ๆ จะทำให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้น รับออกซิเจนได้เต็มปอด ซึ่งวิธีนี้ส่งผลทำให้คุณแม่คลอดง่ายอีกด้วย ลองไปทำกันดูค่ะ
เจ็บเพราะ “มดลูกบีบตัวบ่อย” และเจ็บเพราะ “ใกล้คลอด”
เมื่อมีอาการมดลูกบีบตัวเป็นระยะ ๆ แถมเจ็บหน่วง ๆ คุณแม่จะตั้งคำถามทันทีเลยว่า “นี่ฉันกำลังเจ็บท้องคลอดหรือเปล่า” เนื่องจากช่วงเวลาใกล้คลอด 9 เดือน คุณแม่ท้องจะเจ็บมดลูกมากขึ้น
1. มดลูกบีบตัวหรือเจ็บท้องหลอก
คุณแม่จะมีความรู้สึกว่ามดลูกบีบตัวมากขึ้น เจ็บเป็นช่วง ๆ แต่ไม่ถี่ติด ๆ กัน ปวดไม่มาก อาการแบบนี้เกิดจากปากมดลูกเริ่มขยาย อ่อนตัวเพื่อง่ายต่อการคลอด แต่จริง ๆ แล้ว คุณแม่ยังไม่ถึงเวลาที่จะคลอดค่ะ อาการนี้ เขาเรียกว่า “เจ็บท้องหลอก” โดยจะรู้สึกปวดตุ้บ ๆ เป็นระยะ ๆ บางคนปวดแรงขึ้นและนานขึ้น แต่พอไปหาคุณหมอแล้วก็ยังไม่ถึงเวลาคลอดค่ะ
2. มดลูกบีบตัวเพราะใกล้คลอด
คุณแม่ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ มักจะมีอาการเจ็บมดลูกที่บีบตัวบ่อย เลยคิดว่า นี่คือสัญญาณใกล้คลอดแน่ ๆ แต่หลายครั้งที่อาการนี้ไม่ใช่การคลอดก่อนกำหนด หากคุณแม่แน่ใจว่า มดลูกบีบตัวบ่อยเกินไป ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบคุณหมอด่วนเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ หากเป็นสัญญาณคลอดก่อนกำหนด จะได้รักษาชีวิตของทารกน้อยไว้ได้ทัน
บทความที่เกี่ยวข้อง: ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์
สัญญาณบอกว่า คุณแม่ท้องควรไปพบแพทย์
1. คุณแม่อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์
หากคุณแม่มีอายุครรภ์ยังไม่ถึง 37 สัปดาห์หรือ 9 เดือน มีอาการมดลูกบีบตัวบ่อย เป็นจังหวะสม่ำเสมอ มีความเจ็บปวดที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ให้เตรียมจับเวลาและจดบันทึกอาการดังนี้ค่ะ
- หากคุณแม่รู้สึกปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องน้อยคล้ายกับตอนมีประจำเดือน
- เกิดการบีบตัวของมดลูกเป็นจังหวะใน 30-60 วินาที แล้วหยุด จากนั้นรู้สึกมีอาการเช่นนี้ 6 ครั้งใน 1 ชั่วโมง หรือทุก ๆ 10 นาที
- มีมูกเลือดออกมาจากช่องคลอด อย่าลืมสังเกตกางเกงในดูนะคะ
- มีตกขาวมากกว่าปกติ และมีสีเปลี่ยนไป เช่น ตกขาวสีน้ำตาล หรือปนเลือด
- บริเวณกระดูกเชิงกรานมีความรู้สึก ตุ่ย ๆ เหมือนมีก้อนบางอย่างดันออกมา
- แถวบั้นเอว บริเวณหลังล่าง มีอาการปวดแบบรำคาญ ไม่สบายตัว ปวดกล้ามเนื้อและรู้สึกมีอาการมดลุกบีบตัวร่วมด้วย
2. คุณแม่อายุครรภ์มากกว่า 37 สัปดาห์
หากคุณแม่มีอายุครรภ์มากกว่า 9 เดือน 1 สัปดาห์หรือเกิน 37 สัปดาห์ ลองสังเกตอาการกันว่า เจ็บเพราะมดลูกบีบตัวแบบไหนควรรับไปพบแพทย์
- เมื่อคุณแม่รู้สึกเจ็บจากอาการมดลูกบีบตัวนานเกิน 1 นาที หรือตั้งแต่ 30-90 วินาที
- รู้สึกว่ามดลูกบีบตัวและปวดบ่อยมากขึ้น มากกว่า 4-5 ครั้งต่อวัน หรือทุก 5 นาที
- มีน้ำเดิน หรือเกิดจากถุงน้ำคร่ำแตก อาการนี้สามารถเป็นได้โดยไม่รู้ตัว
- ปวดท้องอย่างรุนแรง เตรียมตัวคลอดได้เลยค่ะ
ช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์หมั่นสังเกต ความผิดปกติและอาการหลาย ๆ อย่าง เพราะยิ่งใกล้คลอดมากเท่าไหร่ ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายยิ่งเพิ่มขึ้น อาจทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ได้เหมือนเดิม อีกทั้งต้องระวังเรื่องอาหารการกิน และการพักผ่อน ที่ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากท้องที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วและคุณก็สามารถคลอดก่อนกำหนดได้ตลอดเวลาค่ะ อย่างไรก็ตาม การสังเกตความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของตนเองจะนำมาซึ่งความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คลอดลูกในน้ำดีอย่างไร คลอดธรรมชาติที่ลดความเจ็บปวดของคุณแม่
มะเร็งปากมดลูก ภัยร้ายใกล้ตัวของผู้หญิง อันตรายถ้าไม่รีบตรวจ?
ลูกกลับหัว รู้สึกยังไง แม่จะรู้สึกแบบไหนถ้าหนูกลับหัวแล้ว
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมดลูกบีบตัวบ่อย ได้ที่นี่ !
มดลูกบีบตัว บ่อย ๆ เกิดจากอะไรคะ แล้วจะเป็นอันตรายรึเปล่าคะ
ที่มา : samitivejhospitals , amarinbabyandkids