โรคแทรกซ้อนแม่ท้องต้องระวัง รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยถึง โรคแทรกซ้อนแม่ท้องต้องระวัง ว่า คนท้องจำนวนไม่น้อย เมื่อตั้งครรภ์มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น ทั้งโรคแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรง จนถึงโรคแทรกซ้อนแม่ท้องต้องระวัง เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต สำหรับโรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยและเสี่ยงต่อสุขภาพของแม่และลูกในท้อง มีดังนี้
โรคแทรกซ้อนอันตรายเสี่ยงตายทั้งแม่ทั้งลูก
1. ท้องนอกมดลูก
คนท้องจำนวนไม่น้อยที่ไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิแล้วไปฝังอยู่ท่อนำไข่ บางคนไปฝังในรังไข่ หรือบางคนก็ในช่องท้อง แต่กรณีที่พบบ่อยที่สุดคือท้องในท่อนำไข่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ส่วนมากเด็กโตไปได้ระยะหนึ่งก็มักจะเสียชีวิต สาเหตุที่พบบ่อยคือ คนท้องเคยมีประวัติปีกมดลูกอักเสบ เคยทำแท้งบ่อย ๆ การขูดมดลูกอาจจะมีการอักเสบติดเชื้อ ทำให้ท่อนำไข่หรือมดลูกไม่เรียบ ไข่เดินทางไปสู่มดลูกได้ช้า การฝังตัวเกิดได้ไม่ดี จึงเกิดฝังตัวนอกมดลูก
2. ภาวะรกเกาะต่ำ
แม่ท้องบางรายรกเกาะต่ำลงมาที่ปากมดลูก ขวางทารกทำให้ลูกเคลื่อนลงมาไม่ได้ ถ้าเด็กตัวใหญ่ขึ้น รกที่เกาะอยู่แผ่นใหญ่ขึ้น พอขยายตัวอาจทำให้เกิดรอยเผยอระหว่างตัวรกกับปากมดลูกได้ เป็นเหตุให้แม่ท้องมีเลือดออก ถ้าเลือดออกมากอาจทำให้เด็กและแม่เสียชีวิตได้ มักเกิดกับแม่ที่เคยคลอดลูกหลาย ๆ คน หรือว่าเคยขูดมดลูกมาก่อน
3. แท้งบุตร
การแท้งลูกหรือแท้งบุตร คือการตั้งครรภ์นั้นสิ้นสุดลงก่อนเวลาอันควร หรือจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ก่อน 20-28 สัปดาห์ ส่วนมากเด็กจะไม่สามารถมีชีวิตได้เพราะว่าตัวเล็กเกินไป เป็นไปได้ทั้งการแท้งเอง เกิดจากไข่ที่ไม่สมบูรณ์ หรือว่าแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคเลือดบางชนิด ก็ทำให้แท้งได้ บางรายก็หาสาเหตุชัดๆ ไม่ได้ เช่น อาจจะเกิดจากภาวะเครียด อดนอน ทำงานหนัก หรือแม่บางคนก็ตั้งใจทำแท้ง
บทความที่น่าสนใจ : คนท้องเครียดอันตราย เสี่ยงแท้งไหม? มาดูวิธีคลายเครียดของแม่ท้อง
4. ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
ตามธรรมชาติรกจะเกาะที่ยอดมดลูก จะหลุดจากมดลูกคลอดตามทารกออกมา แต่คนท้องบางคนรกที่เกาะมดลูกอยู่หลุดออกมาก่อน โดยที่เด็กยังไม่คลอด ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงทารกขาดไปทันที หากช่วยไม่ทันจะทำให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ดังนั้น แม่ท้องต้องระวังอย่าให้เกิดอุบัติเหตุ ที่กระทบกระเทือนหน้าท้อง แต่บางราย ก็เกิดจากแม่เป็นความดันโลหิตสูง
5. ตกเลือดหลังคลอด
ภายหลังจากการคลอดลูก มดลูกจะบีบตัว ทำให้มีเลือดไหลออกมา ซึ่งการคลอดปกตินั้น จะทำให้แม่เสียเลือดประมาณ 200 – 300 ซีซี หากแม่มีเลือดออกมาก ๆ ก็จะทำให้ช็อคหรือเสียชีวิต ทางการแพทย์หมายความว่า ภายหลังจากคลอดเด็กแล้ว รกคลอดไปแล้ว แม่มีการเสียเลือดมากกว่าครึ่งลิตรหรือมากกว่า 500 ซีซี สาเหตุเกิดจากการที่มดลูกบีบตัวได้ไม่ดี ทำให้มดลูกแข็งตัวได้ไม่ดี เลือดจึงไหลไม่หยุด ส่วนมากพบในคนที่อายุมาก คลอดลูกบ่อย หรือคลอดลูกยาก ถ้ามดลูกบีบรัดตัวอยู่นาน อาจเพราะลูกตัวโต หรือเด็กมีท่าผิดปกติ จึงไม่คลอดเสียที พอบีบไม่ออก บีบนาน ๆ มดลูกก็ล้าหดรัดตัวไม่ดี หรือบางคนอาจได้รับยาคลายกล้ามเนื้อมดลูกบางอย่าง ทำให้มดลูกหดรัดตัวได้ไม่ดีเช่นกัน การฉีกขาดของช่องทางคลอด ฝีเย็บอาจจะมีการฉีกขาดทำให้เลือดออกมาก บางคนปากมดลูกมีการฉีกขาด บางคนมดลูกฉีกขาดหรือแตกจากการคลอด อาจเกิดจากทารกตัวใหญ่ หรือผู้ทำคลอดตัดฝีเย็บไม่ดี แผลใหญ่มากเด็กคลอดไปแล้ว แต่รกคลอดไม่หมด ยังค้างอยู่บางส่วน รกที่ค้างอยู่ทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี ทำให้เสียเลือดได้
6. โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
คนท้องบางคนเป็นความดันโลหิตสูงอยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์ บางคนความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้บ่อย คุณแม่จะมีอาการบวม ตรวจปัสสาวะเจอไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ ถ้าอาการรุนแร จะชัก อาจจะมีเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตได้ สมัยก่อนเรียกโรคนี้ว่า ครรภ์เป็นพิษ ส่วนลูกในครรภ์ ถ้าแม่มีอาการรุนแรงมาก เช่น ชัก เด็กมักตายในท้อง หรือถ้าแม่มีอาการนาน ๆ จะมีผลกับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ ลูกตัวเล็ก ถ้าควบคุมอาการได้ดี ส่วนมากเด็กจะเจริญเติบโตได้ปกติ
โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ พบบ่อย แม่ท้องที่อายุน้อย หรืออายุมาก มักเจอในท้องแรก ท้องหลังไม่ค่อยเจอ เจอได้บ่อยในครรภ์แฝด คนเป็นเบาหวาน หรือมีประวัติคนในครอบครัวที่แม่เคยโรคนี้ขณะตั้งครรภ์ สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับกรรมพันธุ์ หรือเกี่ยวกับอาหารการกิน หรืออาจจะเกี่ยวกับฮอร์โมนที่สร้างจากรก หรือจากตัวเด็กที่ทำให้ความดันขึ้น เมื่อคลอดเสร็จแล้วส่วนใหญ่แม่ก็จะหายเป็นปกติ
บทความที่น่าสนใจ : ความดันโลหิตสูง อาการที่อาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ ต้องระวังให้ดี
7. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
แม่บางคนเป็นเบาหวานอยู่แล้วก่อนที่จะท้อง แต่คนท้องบางคนท้องแล้วจึงเป็นเบาหวาน พบว่าการตั้งครรภ์กระตุ้นให้เป็น ซึ่งเด็กในท้องหรือรกที่อยู่ในมดลูกสามารถสร้างฮอร์โมนหรือสารเคมีที่ไปยับยั้งการทำงานของอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือด แม่ที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีอาจชักหรือช็อค เกิดการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ หมอมักพบในคนที่ท้องแรก แม่อายุมาก แม่ท้องอ้วน มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน หรือว่าตัวแม่เองมีโรคอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง
8. การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
เมื่อตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายตัวไปดันกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสาวะได้ไม่ดี มีการคั่งค้างนาน เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น แม่ท้องอย่ากลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ ต้องดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้มีการขับปัสาวะ เป็นการชำระล้างทำความสะอาดระบบทางเดินปัสสาวะ
9. โรคโลหิตจาง
สาเหตุคือโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก กับโรคเลือดจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย แม่จึงต้องป้องกันตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ด้วยการตรวจเช็คร่างกายว่ามีโลหิตจางหรือไม่ ถ้าขาดธาตุเหล็ก ควรรับประทานอาหารเสริมให้ร่างกายเป็นปกติก่อนจึงตั้งครรภ์ ส่วนโรคโลหิตจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย สามารถตรวจคัดกรองได้ว่าลูกจะเสี่ยงไหม โดยการตรวจเลือดของพ่อแม่ว่าเป็นพาหะหรือไม่
10. ไทรอยด์เป็นพิษ
ก่อนท้องอาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ แต่การตั้งครรภ์ไม่ได้กระตุ้นให้เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ แม่ที่เป็นโรคนี้แล้วรักษาไม่ดีจะทำให้ลูกเกิดปัญหาตัวเล็ก ไม่แข็งแรงได้ คนที่เป็นรุนแรงอาจทำให้แท้ง หรือบางคนแม่อาจจะช็อค เป็นอันตรายได้
วิธีป้องกันโรคแทรกซ้อนของแม่ท้องที่ดีที่สุด คือการตรวจร่างกายก่อนวางแผนมีลูก และรีบไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด หลังจากทราบว่าท้อง เพื่อให้คุณหมอได้ติดตามอาการ วินิจฉัยความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคแทรกซ้อนแม่ท้องต้องระวัง และนอกจากนี้ คุณแม่จะต้องระวังเรื่องของอาหารการกินและพฤิตกรรมที่อาจส่งผลต่อความเสี่ยงต่าง ๆ ด้วย เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์นั่นเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้อง ร้องไห้ แม่เครียดเสี่ยงแท้ง ลูกในท้องโตช้า คลอดออกมาลูกซึมเศร้า
คนท้อง-เด็กเล็ก เป็นสุกใส ระวังโรคแทรกซ้อน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต!
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ อะไรบ้างที่คนท้องไม่ควรกิน
ที่มา : Mahidol