ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่มักเผชิญกับอาการปวดบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นปวดหลัง ปวดขา หรือปวดข้อมือ แม้กระทั่งอาการปวดก้นกบ ซึ่งอาจสร้างความเจ็บปวด และความกังวลให้กับคุณแม่เป็นอย่างมาก หลายคนอาจสงสัยว่าอาการ ปวดก้นกบ ตอนท้องอันตรายไหม และจะมีวิธีบรรเทาอาการปวดหรือเปล่า วันนี้ theAsianparent จะพาไปดูกันว่าปวดก้นกบตอนท้องเกิดจากอะไร และมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง ไปดูกัน
ก้นกบอยู่ตรงไหน
ก้นกบ หรือกระดูกก้นกบ (Coccyx หรือ Tailbone) เป็นกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ที่อยู่บริเวณส่วนปลายสุดของกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นกระดูกส่วนที่เชื่อมติดกับกระดูกกระเบนเหน็บ (Sacrum) โดยกระดูกก้นกบนั้น มีหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกายเวลาที่เรานั่ง หากมีอาการกระดูกก้นกบอักเสบ หรือกระดูกก้นกบแตกหักร้าว ก็จะทำให้รู้สึกเจ็บก้นกบเวลานั่งนั่นเอง นอกจากนี้ ก้นกบยังเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นบริเวณอุ้งเชิงกราน หากคุณแม่มีอาการปวดก้นกบมาก ๆ หรือกระดูกก้นกบอักเสบ ก็อาจทำให้มีอาการปวดเวลาถ่ายอุจจาระได้อีกด้วย
ปวดก้นกบ ตอนท้อง มีสาเหตุมาจากอะไร
ปวดก้นกบตอนท้อง เป็นอาการที่คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะเจอกันอยู่บ่อย ๆ ซึ่งอาการปวดก้นกบตอนท้องนั้น เป็นผลมาจากฮอร์โมนรีแลกซิน ที่ร่างกายมีการสร้างขึ้นในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมีส่วนทำให้เอ็น และข้อต่ออุ้งเชิงกรานเกิดการนิ่มตัว ก้นและสะโพกของแม่ท้องมีการขยายตัวออก และมีไขมันหนาขึ้น รวมถึงเส้นประสาทบริเวณผิวก็มีการยืดขยายออกเช่นกัน ถ้าข้อต่อยืดขยาย หรือเคลื่อนไหวมากเกินไป ก็จะทำให้ปวด และเมื่อทารกโตขึ้น น้ำหนักครรภ์จะกดให้อุ้งเชิงกรานแบะออกจากกระดูกก้นกบ ซึ่งก็จะทำให้เกิดอาการปวดได้
อาการปวดก้นกบ
วิธีสังเกตอาการปวดก้นกบง่าย ๆ คุณแม่อาจใช้วิธีสังเกตอาการดังต่อไปนี้
- มีอาการปวดอย่างรุนแรงเมื่อนั่งลง
- มีอาการเจ็บกระดูกก้นกบเมื่อเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืน
- มีอาการปวดมากเมื่อถูกสัมผัส หรือถูกกดทับบริเวณก้นกบ
- ปวดหรือเจ็บกระดูกก้นกบมากขึ้น เมื่อมีอาการท้องผูก และจะรู้สึกดีมากขึ้นหลังจากมีการเคลื่อนไหวของลำไส้ หรือถ่ายอุจจาระ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้องอ่อนเจ็บเสียวบริเวณก้นกบ ยิ่งท้องแก่ ยิ่งปวดก้นกบมาก แบบนี้ปกติไหม
ปวดก้นกบ ตอนท้อง อันตรายไหม
อาการปวดก้นกบตอนท้องนั้น เป็นอาการปกติที่มักจะเกิดขึ้นกับคนท้องแทบจะทุกคน ซึ่งอาการปวดก้นกบนี้จะค่อย ๆ หายไปเองหลังจากคลอดแล้ว อย่างไรก็ตาม อาการปวดที่เกิดขึ้นนี้ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อทั้งคุณแม่ท้องและลูกน้อยในครรภ์ เพียงแต่อาจจะทำให้คุณแม่ท้องรู้สึกไม่สบายตัวจากอาการปวดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะตอนนั่ง ลุกยืน เดิน หรือจะทำอะไรก็รู้สึกเจ็บเสียวไปหมด
วิธีบรรเทาอาการปวดก้นกบตอนท้อง
สำหรับคุณแม่ท้องที่มีอาการปวดก้นกบ เรามีวิธีบรรเทาอาการปวดง่าย ๆ ทำได้ไม่ยากมาฝากค่ะ มาดูกันว่ามีวิธีบรรเทาอาการอย่างไรบ้าง
1. เปลี่ยนท่านอน
อาการปวดก้นกบนั้นเกิดจากการที่บริเวณก้นกบถูกกดทับมากเกินไป คุณแม่จึงควรเปลี่ยนท่านอนใหม่ โดยเลือกท่านอนที่ช่วยให้ไม่กระทบต่อบริเวณก้นกบมากนัก ซึ่งท่านอนที่แพทย์แนะนำนั้น คือ ท่านอนตะแคงซ้ายนั่นเอง ส่วนการนอนตะแคงขวานั้น แพทย์อาจไม่ค่อยแนะนำมากเท่าไหร่ ดังนั้นคุณแม่ควรหันมานอนตะแคงซ้ายเพื่อช่วยป้องกัน และบรรเทาอาการปวดก้นกบนะคะ
2. ประคบร้อน
อย่างที่ทราบกันว่าการประคบร้อน ช่วยบรรเทาอาการปวดได้เป็นอย่างดี คุณแม่สามารถใช้กระเป๋าน้ำร้อนเพื่อช่วยลดอาการปวดก้นกบได้ โดยการนำกระเป๋าน้ำร้อนมาประคบไว้บริเวณก้นกบประมาณครึ่งชั่วโมง อาการปวดก็จะค่อย ๆ ทุเลาลงได้ค่ะ ซึ่งคุณแม่ควรระมัดระวังไม่ให้น้ำร้อนมากเกินไปนะคะ ควรใช้น้ำที่มีอุณหภูมิเหมาะสม ไม่ร้อนจนเกินไป เพราะอาจทำให้แสบร้อนได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องปวดหลัง เกิดจากสาเหตุใดและมีวิธีแก้อย่างไร ?
3. ระวังการพลิกตัว
เมื่อคุณแม่พลิกตัวนั้น อาจต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหากพลิกตัวไม่ดี ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดบริเวณก้นกบได้ และอาจทำให้เกิดความรุนแรงมากกว่าเดิม โดยวิธีการพลิกตัวที่ถูกต้อง คุณแม่จะต้องงอเข่าทั้งสองข้างในขณะที่นอนตะแคง แล้วค่อย ๆ ยกสะโพกให้ลอยขึ้นจากพื้น แล้วพลิกไปอีกข้างหนึ่ง เพียงเท่านี้ ก็ไม่ทำให้เกิดอาการปวดก้นกบได้แล้วค่ะ
4. บริหารกล้ามเนื้อสะโพก
การบริหารกล้ามเนื้อสะโพกบ่อย ๆ จะช่วยป้องกันและลดอาการอักเสบซึ่งทำให้ปวดก้นกบลงได้ และยังช่วยให้อุ้งเชิงกรานขยายพร้อมสำหรับการคลอดมากขึ้นอีกด้วย โดยวิธีการบริหารกล้ามเนื้อสะโพกนั้น สามารถทำได้โดย
- วิธีที่ 1 การยกก้น : เริ่มด้วยการนอนหงาย ชันเข่าทั้งสองข้างขึ้น มือวางแนบลำตัว จากนั้นเกร็งกล้ามเนื้อสะโพก แล้วค่อย ๆ ยกสูงค้างไว้ นับ 1-5 แล้วกลับสู่ท่าเริ่มต้น
- วิธีที่ 2 การเกร็งสะโพก : คุกเข่าบนเบาะข้างเตียงหรือเก้าอี้ เกร็งสะโพก ยกขาเหยียดตรงไปด้านหลัง แล้วนับ 1-5 และวางขาลงสลับทำกับอีกข้าง
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องปวดซี่โครง อันตรายไหม วิธีป้องกันปวดซี่โครงทำอย่างไร?
วิธีป้องกันอาการปวดก้นกบ
แม้ว่าอาการปวดก้นกบจะเกิดจากฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลง และน้ำหนักตัวของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น แต่คุณแม่ก็สามารถใช้วิธีการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการปวดก้นกบ ดังต่อไปนี้
- นอนตะแคงซ้าย
- หลีกเลี่ยงการนั่งเป็นเวลานาน ๆ
- เลือกที่นั่ง หรือเก้าอี้ที่มีเบาะรอง
- หากมีอาการปวดก้นกบอย่างรุนแรง คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี
- งดทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการถูกกระแทกบริเวณก้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกดทับของกระดูกก้นกบมากเกินไป
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ หากคุณแม่กำลังปวดก้นกบอยู่ อย่าลืมนำวิธีข้างต้นไปลองใช้กันได้นะคะ รับรองว่าจะช่วยลดอาการปวดได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้หากคุณแม่มีอาการปวดก้นกบอยู่ ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ เพราะอาการนี้จะค่อย ๆ หายไปเมื่อคุณแม่คลอดลูกแล้วนั่นเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องปวดสะโพกร้าวลงขา เป็นสัญญาณอันตรายหรือไม่ ?
คนท้องปวดท้องน้อย เจ็บท้องน้อย เป็นอันตรายกับลูกในครรภ์หรือไม่?
คนท้องปวดหลังมาก อันตรายไหม? บริหารร่างกายแก้ปวดหลังอย่างไรดี
ที่มา : doctor.or.th, konthong.com, easydoc.in.th, harachairthailand.com