อาการไอเกิดได้กับเด็กในทุกช่วงวัยนะคะ แต่ก็เป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ๆ ซึ่งทำให้คุณแม่รู้สึกเป็นกังวล เพราะการที่ลูกไอเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการติดเชื้อ ไวรัส หรือภูมิแพ้ รวมถึงรูปแบบการไอที่หลากหลาย ทั้งไอกรน ไอแห้ง ไอเสียงหวีด ดังนั้น การรู้จักต้นตอและลักษณะของการไอแต่ละแบบจะช่วยให้คุณแม่สามารถดูแลและบรรเทาอาการไอในเบื้องต้นให้ลูกได้อย่างเหมาะสม มาดูกันค่ะว่า ลูกไอไม่หยุด ทำไงดี ไอแบบไหน มีอันตราย และเมื่อไรควรพาลูกไปหาหมอ
ทำไมลูกน้อยไอ สาเหตุอาการไอในเด็ก
“การไอ” เป็นกลไกที่ร่างกายพยายามกำจัดสิ่งกีดขวางระบบทางเดินหายใจของเราออกไปค่ะ เช่น น้ำมูก เสมหะ และวัตถุแปลกปลอมต่าง ๆ ซึ่งมักไม่เกิดอันตราย ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ และมักหายได้เอง โดยสาเหตุทั่วไปที่ทำให้ลูกมีอาการไอ คือ
- การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน สามารถแพร่กระจายเชื้อให้คนใกล้ชิดได้ เช่น เชื้อไวรัส ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อวัณโรค ที่จมูก หลอดลม โพรงไซนัส ปอด ทำให้เกิดอาการไอ คออักเสบ
- มีสิ่งแปลกปลอมในหลอดลม ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งอาหาร หรือของเล่นชิ้นเล็ก ๆ การได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ หรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองอย่างควันบุหรี่ ควันไฟ อาจเป็นสาเหตุของอาการไอได้เช่นกัน
- ภูมิแพ้ เช่น แพ้ละอองเกสร แพ้ฝุ่น แพ้ขนสัตว์
- โรคหอบหืด ซึ่งทำให้หลอดลมของลูกหดเกร็ง และระคายเคือง
- ภาวะกรดไหลย้อน มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ทำให้ระคายเคืองและมีอาการไอ
- การเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคไอกรน โรคหัวใจบางชนิด หรือเกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยา
ลูกไอแบบไหน ทำความเข้าใจลักษณะอาการไอของลูก
อย่างที่บอกไปตอนต้นค่ะว่าการไอของเด็กนั้นมีหลายรูปแบบ การทำความเข้าใจการไอแต่ละแบบจะช่วยให้คุณแม่สามารถดูแลและรับมือได้ดีขึ้นในเบื้องต้นค่ะ ซึ่งการไอที่อาจเกิดขึ้นได้กับลูกมีลักษณะต่าง ๆ กัน ได้แก่
-
ไอเสียงก้อง
เกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนมีอาการบวม เนื่องจากภาวะกล่องเสียงและหลอดลมอักเสบ เพราะทางเดินหายใจของลูกน้อยมีขนาดเล็ก โดยเฉพาะในลูกน้อยวัยต่ำกว่า 3 ปีที่มีทางเดินหายใจแคบ พอบวมขึ้นก็ทำให้หายใจลำบาก
-
ไอแบบมีเสียงหวีด
เหตุเพราะทางเดินหายใจส่วนล่างตีบตัน หรือปอดอักเสบ ส่งผลให้ลูกน้อยไอแบบมีเสียงหวีดขณะหายใจออก มักเกิดขึ้นในกรณีลูกมีภาวะเป็นโรคหอบหืดและโรคหลอดลมอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม อาการไอแบบมีเสียงหวีดสามารถเกิดจากการมีวัตถุแปลกปลอมอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนล่างได้เช่นกัน
-
ไอกรน
เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส ในระบบทางเดินหายใจ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่อาการจะรุนแรงมากในทารกอายุต่ำกว่า 1 ปีที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน โดยลูกจะไอติดต่อกันโดยไม่ได้หายใจเป็นพัก ๆ พอหยุดไอจะมีการหายใจเข้าแล้วเกิดเสียงดัง “วู้บ” และอาจมีอาการอื่น ๆ อย่างน้ำมูกไหล จาม หรือมีไข้ต่ำร่วมด้วย
-
ไอมากโดยเฉพาะตอนกลางคืน
หากลูกน้อยมีอาการหวัด อาจมีอาการไอรุนแรงขึ้นได้ในเวลากลางคืน เพราะน้ำมูกและเสมหะจากจมูกไหลลงสู่ช่องคอ ลูกน้อยจึงไอขณะนอนหลับ นอกจากนี้โรคหืดก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอในตอนกลางคืนได้เช่นกัน เพราะทางเดินหายใจลูกน้อยจะไวต่อสิ่งกระตุ้นในช่วงเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน
-
มีไข้และไอ
โดยเพาะกรณีที่ลูกไอร่วมกับมีไข้สูงกว่า 38-39 องศาเซลเซียส อาจเกิดจากภาวะปอดบวม ถ้าลูกร่างกายอ่อนแอและมีอาการหายใจหอบแบบเร็วมาก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
-
ไอและคลื่นไส้อาเจียน
ช่วงที่ลูกการไออย่างหนักอาจกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกบริเวณโคนลิ้นและคอหอยทำให้เกิดอาการอาเจียนได้ รวมถึงการไอจากโรคไข้หวัด หรือโรคหอบหืดที่รุนแรง จนน้ำมูกและเสมหะไหลลงสู่ช่องท้องในปริมาณมากก็สามารถทำให้ลูกเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนได้
-
ลูกไอไม่หยุด ไอเรื้อรัง
หากลูกได้รับเชื้อไวรัสจนเป็นไข้หวัด อาจทำให้เกิดอาการ ลูกไอไม่หยุด ไอเรื้อรัง นานหลายสัปดาห์ได้ค่ะ โดยเฉพาะหากลูกป่วยเป็นไข้หวัดบ่อย ๆ รวมทั้งสาเหตุจากโรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ การติดเชื้อในโพรงจมูกและทางเดินหายใจ ก็อาจทำให้ลูกไอไม่หยุดได้เช่นกัน
ลูกไอไม่หยุด ทำไงดี วิธีบรรเทาอาการไอให้ลูกน้อย
อาการไอเรื้อรัง หรือ ลูกไอไม่หยุด อาจส่งผลรบกวนไปถึงการนอนของตัวเขาเอง รวมถึงคนรอบข้างและการใช้ชีวิตประจำวันได้ ยิ่งหากไอติดต่อกันยาวตลอดทั้งวัน แม้ในเวลานอนหลับก็ยังไอ ย่อมสร้างความกังวลใจให้คุณแม่แน่นอน ซึ่งงวิธีเบื้องต้นที่จะช่วยบรรเทาอาการไอให้ลูกที่ขอแนะนำคุณแม่มีดังนี้ค่ะ
- เพิ่มความชื้นในอากาศ โดยใช้เครื่องทำความชื้นภายในห้องนอนตอนกลางคืน จะช่วยให้เยื่อบุในจมูกและหลอดลมชุ่มชื้น ลดอาการระคายเคืองได้ค่ะ
- อาบน้ำอุ่น หรือให้ลูกน้อยอยู่ในห้องน้ำที่เปิดน้ำอุ่นประมาณ 2-3 นาที ไอน้ำจะช่วยละลายเสมหะและบรรเทาอาการไอได้
- ดื่มน้ำมากๆ โดยเน้นให้ลูกน้อยดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำในอุณหภูมิปกติ ช่วยให้เสมหะเหลวและขับออกมาได้ง่ายขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำเย็นกับลูก เพราะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิจะกระตุ้นให้หลอดลมหดตัว และเกิดอาการไอ
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่มีสิ่งกระตุ้น มีอากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงให้ห่างไกลสถานที่ที่มีสารเคมี ควันบุหรี่ ควันรถ ฝุ่นละออง และสารเคมี
- กินอาหารที่ดีและมีการออกกำลังกาย ลูกน้อยต้องได้กินอาหารที่เป็นประโยชน์และเหมาะสม เด็กโตควรหลีกเลี่ยงอาหารแห้ง กรอบ อาหารทอด หรืออบกรอบ และควรพาลูกออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที รวมถึงลูกควรได้รับการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- น้ำผึ้งช่วยได้ หากลูกน้อยมีอายุมากกว่า 1 ปี คุณแม่สามารถกินน้ำผึ้งปริมาณ 1 ช้อนชาเพื่อบรรเทาอาการไอในเบื้องต้นได้นะคะ
- สารเมนทอล ก่อนเข้านอนลองทาผลิตภัณฑ์ที่มีสารเมนทอลบริเวณหน้าอกลูก เพื่อให้ลูกน้อยหายใจได้สะดวกขึ้น แต่ควรเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและทารกโดยเฉพาะค่ะ
- ล้างจมูกให้ลูก ช่วยลดการอักเสบและระคายเคืองในจมูก
ลูกไอไม่หยุด ทำไงดี สัญญาณที่บอกว่าต้องไปพบแพทย์
โดยปกติเมื่อเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ลูกน้อยจะมีอาการไอตามหลังการติดเชื้อได้หลายสัปดาห์ แล้วจะหายสนิทจนหยุดไอภายใน 1 เดือน แต่ถ้ามีอาการไอเรื้อรัง ลูกไอไม่หยุด นานมากกว่า 1 เดือน คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องค่ะ นอกจากนี้อาจพิจารณาปัจจัยแวดล้อม หรือลักษณะการไออื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น
- ลูกน้อยอายุต่ำกว่า 4 เดือน ไอแบบแห้ง ๆ โดยมีสาเหตุมาจากไข้หวัดติดต่อกันนานกว่า 5-7 วัน
- ลูกไอไม่หยุด ไอเรื้อรังนานเกินกว่า 2 สัปดาห์โดยไม่ได้เป็นหวัด หรือมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงร่วมด้วย
- มีวัตถุแปลกปลอมติดอยู่ในช่องคอของลูก
- หายใจมีเสียงหวีด และหายใจหรือพูดลำบาก
- มีน้ำลายไหลหรือกลืนอาหารลำบาก
นอกจากนี้ หากพบอาการรุนแรงต่อไปนี้ ควรโทรเรียกรถพยาบาลหรือขอความช่วยเหลืออย่างฉุกเฉินทันที
- ลูกร้องคราง
- ไอและมีไข้สูง ไอเป็นเลือด ป่วยและอ่อนล้ามาก
- มีอาการสำลักและอาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
- ริมฝีปาก นิ้วมือ หรือตัวเขียว
- หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงหวีดอย่างรวดเร็ว หายใจแบบดูเหนื่อย ใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องในการหายใจ ลูกรู้สึกเจ็บหน้าอกเมื่อสูดหายใจเข้าลึก ๆ หรือหน้าอกบุ๋มขณะหายใจ
แม้อาการไอในเด็กเล็กเริ่มต้นจากการเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้โดยทั่วไป แต่หากปล่อยให้ ลูกไอไม่หยุด และอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย การพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของลูกน้อยนะคะ
ที่มา : www.samitivejhospitals.com , www.pobpad.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก พ่อแม่ควรระวัง! โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบบ่อย
ลูกไม่สบาย 7 สัญญาณเตือนว่าลูกน้อยของคุณกำลังป่วย และวิธีรับมือ
ลูกฉี่รดที่นอน เรื่องปกติไหม บ่อยแค่ไหนน่ากังวล
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!