ปัญหา ลูกไม่ยอมกินข้าว เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านกังวลใจ กลัวลูกจะตัวเล็กกว่าเพื่อน ขาดสารอาหาร ไม่แข็งแรง เพราะในวัย 1 ขวบปีขึ้นไป จะเริ่มกินอาหารเป็นหลัก เพราะให้พลังงานและสารอาหารที่สำคัญสำหรับพัฒนาการในด้านต่างๆ ของลูก และนมจะเริ่มเป็นอาหารเสริมให้ลูก การที่ลูกไม่ยอมกินข้าวอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกได้ ดังนั้น การหาสาเหตุและวิธีแก้ไขจึงเป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อลูกอายุครบ 1 ขวบ จะเริ่มมีพัฒนาการด้านการรับประทานอาหารมากขึ้น อาจมีการเลือกกินหรือปฏิเสธบางชนิด จึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กเกือบทุกคนค่ะ
ทำไมลูกไม่ยอมกินข้าว แม่จะทำอย่างไรดี ?
ลูกไม่ยอมกินข้าว เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเลือกกิน การเลี่ยงอาหารใหม่ แพ้อาหาร โรคกลัวอาหาร ปัญหาสุขภาพ และสาเหตุอื่น ๆ คุณแม่ลองสังเกตและค้นหาสาเหตุจากปัจจัยต่อไปนี้ว่า เพราะอะไรลูกจึงไม่ยอมกินข้าวดังนี้
โดยทั่วไปแล้ว ปัญหาการเลือกกินมักจะเริ่มต้นในช่วงที่เด็กเริ่มมีพัฒนาการเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น หรือเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีในการกินอาหาร เช่น เคยอาเจียนหลังจากกินอาหารบางชนิด การที่เด็กไม่เคยลองกินอาหารที่มีรสชาติหรือเนื้อสัมผัสใหม่ ๆ ก็อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการเลือกกินได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ เด็กที่เลือกกินบางคนอาจมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีพัฒนาการตามปกติ หากได้รับสารอาหารครบถ้วนจากอาหารที่ตนเองชอบก็เป็นได้ค่ะ
-
โรคกลัวอาหาร หรือที่เรียกว่า Cibophobia
เป็นภาวะที่เด็กมีความกลัวหรือวิตกกังวลอย่างมากต่ออาหารหรือการกินอาหาร อาการนี้มักแสดงออกด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดหรือทุกชนิด ไม่ยอมรับที่จะกิน หรือแม้แต่ความวิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อเห็นอาหาร สาเหตุก็มีหลายปัจจัยที่ทำให้เด็กกลัว เช่น เคยสำลักอาหาร เคยกินอาหารแล้วป่วย มีความวิตกกังวลสูง หรือ เป็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า รวมถึง โรคกรดไหลย้อน หรือโรคภูมิแพ้ โรคกลัวอาหารนี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของเด็กอย่างรุนแรงได้ หากปล่อยปละละเลย
-
อาการแพ้อาหาร
เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยมากในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วงวัยทารกและวัยเตาะแตะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กได้ เด็กเล็กประมาณ 8% มีโอกาสที่จะแพ้อาหารบางชนิด โดยอาหารที่เด็กๆ มักแพ้และพบได้บ่อย คือ นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ถั่วต่างๆ และอาหารทะเล เมื่อเด็กแพ้อาหารเหล่านี้ ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรวดเร็ว ทำให้มีอาการต่างๆ เช่น ท้องร่วง อาเจียน ผื่นคัน หรือมีอาการทางเดินหายใจ อาการแพ้อาหาร คือ ภาวะที่ร่างกายรับอาหารบางอย่างไม่ได้ (Food Intolerance) ซึ่งเกิดจากระบบย่อยอาหาร ไม่สามารถย่อยอาหารชนิดนั้นได้ อาการแพ้อาหารในเด็กเล็กเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญ การสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด และการปรึกษาแพทย์เมื่อสงสัยว่าลูกน้อยแพ้อาหาร จะช่วยให้เราสามารถดูแลลูกน้อยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
-
ปฏิเสธไม่ยอมรับอาหารแปลกใหม่
เป็นปัญหาที่พ่อแม่หลายคนต้องเจอ คือ ลูกน้อยมักจะเลือกกินอาหารเดิมๆ และไม่ยอมลองอาหารใหม่ๆ ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กวัยหัดกิน การที่ลูกน้อยไม่ยอมกินข้าว หรืออาหารที่หลากหลายเพราะ อาจรู้สึกปลอดภัยและชอบสิ่งที่คุ้นเคย การลองกินอาหารใหม่ๆ อาจทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นใจ มีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่แตกต่างจากอาหารที่เคยกินทำให้เด็กไม่ชอบ การให้ลูกกินอาหารใหม่ๆ มากเกินไป อาจทำให้รู้สึกอิ่มเร็วและไม่ยอมกินต่อ รวมถึงบรรยากาศในการกินที่ไม่ดี หรือมีการบังคับ อาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่ดีต่ออาหารนั้นได้ คุณแม่ต้องค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ ให้ลูกกิน หรือชิมทีละน้อยๆ ก่อน และสร้างบรรยากาศให้สบายๆ ไม่บังคับและกดดัน
-
ปัญหาสุขภาพ
มีผลกระทบทำให้เด็กไม่ยอมกินข้าวได้อย่างมาก เด็กบางคนอาจมีปัญหาในการดูด เคี้ยว หรือกลืนอาหาร ทำให้การกินอาหารได้น้อยลง หรือรู้สึกไม่สบายตัวเมื่อกินอาหาร นอกจากนี้ อาการเจ็บป่วยบางชนิด เช่น ท้องผูก หรืออาการป่วยเรื้อรัง ก็อาจทำให้เด็กไม่อยากกินอาหารได้เช่นกัน หากเด็กมีปัญหาการกินที่เกิดจากปัญหาสุขภาพควรพาไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย ตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไปค่ะ
-
สาเหตุอื่น ๆ
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อาจมีปัญหาอื่นๆ ที่เด็กไม่ยอมกินข้าว กินน้อย หรือเลือกกิน ได้อีก เช่น
- ไม่ชอบกลิ่นหรือรสชาติบางอย่างของอาหารบางชนิด
- ไม่ชอบอาหารที่บดละเอียด เพราะเด็กบางคนอาจชอบอาหารที่จัดวางในจาน มีกลิ่น มีสีสันและเนื้อสัมผัสตามที่เด็กต้องการ
- ไม่สัมผัสของช้อนหรือส้อมเมื่อโดนเข้าปาก
- รู้สึกสึกพะอืดพะอมเมื่อเห็นอาหารปริมาณมาก ควรเริ่มให้เด็กกินอาหารน้อย ๆ แล้วค่อยเติมให้ เมื่อเด็กต้องการเพิ่ม
- สิ่งต่างๆ รอบตัวดึงความสนใจการกินอาหารของเด็ก เช่น เสียงโทรทัศน์ หรือเด็กเล่นกันในบ้าน เสียงทีวี เป็นต้น
- เด็ก ๆ กินขนม หรือของว่างจนอิ่ม เมื่อถึงเวลาอาหารจึงไม่รู้สึกหิว
- จะเลือกกินแต่อาหารที่ชอบซ้ำ ๆ อาจเป็นอาการต่อต้านจากการที่โดนคุณพ่อคุณแม่บังคับให้กิน และคิดว่าการกินคือช่วงเวลาที่ไม่มีความสุข
6 เทคนิค พร้อมรับมือกับปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว
ปัญหา ลูกไม่ยอมกินข้าว เป็นสิ่งที่พ่อแม่อย่างเราแก้ไขได้ แต่ต้องใจเย็น การแก้ปัญหาต้องค่อยๆ ปรับให้ลูก ไม่บังคับหรือกดดัน กระตุ้นเด็ก และการสร้างสุขลักษณะการกินกับลูก เพื่อให้ลูกพร้อมที่จะกินอาหารด้วยตัวเอง
-
การจัดเวลาของว่างและขนมเพื่อกระตุ้นให้ลูกกินข้าว
ของว่างหรือขนมต้องแบ่งเวลาให้ชัดเจน โดยให้เว้นห่างจากอาหารมื้อหลักประมาณ 1 ชั่วโมง และเน้นขนมหรือของว่างที่มีประโยชน์ มีรสชาติหวาน มัน เค็ม อย่างพอดี และถ้ายังไม่ถึงเวลาที่กำหนดไว้ให้กิน หรือเกินจากเวลาที่ตั้งไว้แล้วก็ต้องงด ไม่ให้เด็กกินขนมในช่วงใกล้มื้ออาหาร เพราะจะทำให้อิ่มและไม่ยอมกินข้าวเมื่อถึงเวลา และควรเก็บขนมหรือของว่างให้ห่างจากเด็ก ป้องกันไม่ให้ลูกมาหยิบขนมกินเอง แต่ยังสามารถเลือกวางผลไม้น้ำตาลให้ลูกแทนได้ค่ะ
-
ฝึกให้ลูกโฟกัสกับอาหารที่อยู่ตรงหน้า
หลายๆ บ้านมักใช้การ์ตูน เปิดทีวี เปิดแท็บเล็ตหรือของเล่นเพื่อหลอกล่อ เป็นข้ออ้างหรือข้อแลกเปลี่ยนให้ลูกยอมกินข้าว ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดและอาจทำให้ลูกติดหน้าจอ และถูกดึงดูดความสนใจไปจากอาหารที่อยู่ตรงหน้า คุณพ่อคุณแม่ต้องงดกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้ลูกหันมาโฟกัสกับอาหารที่อยู่ตรงหน้า สร้างบรรยากาศพูดคุยเกี่ยวกับอาหารที่จะกิน ให้ลูกได้ลองสังเกตุสี รูปร่างและสัมผัสอาหารด้วยมือ เพื่อเพิ่มความสนใจ วิธีนี้จะทำให้ลูกหันมาสนใจอาหาร มีสมาธิ และอยากลองกินอาหารที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้นเป็นการฝึกพัฒนาการเรื่องทักษะการเรียนรู้ของลูกไปพร้อมๆ กัน
-
กินอาหารแบบเดียวกับคนอื่นๆ
เป็นการฝึกให้ลูกไม่เลือกกินอาหาร โดยทำเป็นเมนูอาหารแบบเดียว ไม่ต้องทำเมนูพิเศษ หรือแตกต่างจากสมาชิกคนอื่น ๆ แต่อาจปรับรสชาติให้อ่อนลง เพื่อให้ลูกกินได้ อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่ได้เป็นแบบอย่างในการกินให้ลูกได้หิว
รวมไปถึงอาจต้องคอยสังเกตว่าลูกๆ ชอบอาหารประเภทใด แบบไหนเป็นพิเศษ เพื่อเลือกทำเมนูใหม่ ๆ ให้ลูกได้กินอย่างหลากหลาย ได้รู้จักหน้าตาอาหาร รู้จักส่วนผสมที่หลากหลาย อีกทั้งยังได้สารอาหารครบถ้วน ลดปัญหาลูกกินยากหรือเลือกกินและกินแต่อาหารซ้ำๆ ได้ เช่น หากลูกชอบกินของทอด ครั้งต่อไปเปลี่ยนลองหาผักสีอื่นๆ ที่ปกติลูกไม่กินมาชุบแป้งทอดดูบ้างให้ดูมีสีสันน่ากินมากขึ้น หรือหากลูกชอบกินซุปใสหรือซดน้ำแกง ลองเพิ่มเมนูทำแกงจืดผักอื่นๆ ทำซุปข้นให้เขาลองกินบ้าง เป็นต้น
-
หัดชมเชยเมื่อลูกกินข้าวหรืออาหารได้ดี
การชมเชยลูกเมื่อลูกกินข้าวได้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ลูกรู้สึกดีและอยากจะกินข้าวมากขึ้น เป็นการสร้างกำลังใจและจะทำให้ลูกรู้สึกภูมิใจในตัวเองและอยากทำต่อไป รวมถึงเด็กจะสัมผัสได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจและรักเขา และควรพูดชมเชยเจาะจงไปเลยเมื่อลูกกินอาหารชนิดใดได้ดี เช่น ลูกเก่งมากเลยที่ลองกินผัก การชมเชยบ่อยๆ จะสร้างความมั่นใจให้กับลูกและเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีในการกิน
-
กำหนดระยะเวลาในการกิน เพื่อให้ลูกกินข้าวหมดมื้อ
การกำหนดเวลาในการกินข้าวจะช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้ที่จะบริหารเวลาในการกิน และทำให้เขารู้สึกว่าการกินข้าวเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำเสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนด การกำหนดเวลาในการกินข้าวในแต่ละมื้อควรให้ชัดเจน เช่น มื้อละ 30 นาที เมื่อหมดเวลาที่กำหนดแล้ว ควรเก็บจานทันที ไม่ว่าลูกจะกินหมดหรือไม่ วิธีนี้จะช่วยลดพฤติกรรมการเลือกกิน หรือการกินเล่นๆ ของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี และลูกจะมีวินัยในเรื่องการรักษาเวลาอีกด้วย
-
ชวนลูกเข้าครัวให้มีส่วนร่วมในการทำอาหาร
การที่เราให้ลูกได้เข้าครัวร่วมทำอาหารกับคุณพ่อคุณแม่ จะเป็นการกระตุ้นให้ลูกอยากกินอาหารมากขึ้น เพราะการที่ลูกได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนแรก จะทำให้ลูกรู้สึกเป็นเจ้าของอาหารจานนั้นๆ และอยากลองชิมผลงานของตัวเอง อีกอย่างเป็นการฝึกให้ลูกได้รู้วัตถุดิบต่างๆ ในครัว และการให้ช่วยล้างผัก หยิบจานก็เป็นอะไรที่เพิ่มทักษะในการเรียนรู้ได้มาก ลูกจะรู้สึกภูมิใจ และยอมกินอาหารโดยไม่ต้องถูกบังคับ
การกินอาหารเป็นกิจกรรมสำคัญของครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา หัวใจหลักของการฝึกเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลูกกินยากหรือลูกไม่ยอมกินข้าวให้ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องใจเย็น และมีความพยายามค่อย ๆ ฝึกลูกอย่างสม่ำเสมอ เริ่มฝึกวินัยตั้งแต่ยังเล็ก ที่สำคัญไม่ควรตามใจหรือใช้อาหารเป็นสิ่งต่อรองให้รางวัลหรือทำโทษ และไม่ควรแสดงออกให้เด็ก ๆ รู้ว่ากำลังกังวล หรือมีอาการหงุดหงิดกับพฤติกรรมการกินของเขานะคะ เมื่อเรารู้สาเหตุและวิธีปรับแก้ไขเรื่องลูกไม่ยอมกินข้าวกันแล้ว มาเริ่มฝึกลูกๆ กันเลยค่ะ
ที่มา : Pobpad , Nestle Good Food, Good Life
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เทคนิด! จัดตารางเวลาให้ลูกวัย 0 – 10 ปี ส่าหรับพ่อแม่ยุคใหม่ ส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย
ลูกชอบเล่นนอกบ้านทั้งวัน ดีหรือไม่ดี การเล่นนอกบ้านมีประโยชน์อย่างไร ?
ทำไงดีลูกไม่ยอมกินผักผลไม้ วิธีสร้างนิสัยการกินที่ดี เริ่มได้ที่พ่อแม่