โหลดฟรี! Checklist 70 ของใช้เด็กแรกเกิด เตรียมพร้อมต้อนรับเบบี๋

แน่ใจหรือ? ว่าเตรียมของใช้จำเป็นสำหรับลูกน้อยแรกเกิดครบแล้ว theAsianparent ได้รวบรวม Checklist ของใช้เด็กแรกเกิด ที่จำเป็นโดยแบ่งเป็น 8 หมวดไว้ให้แล้ว โหลดฟรีได้เลย!

การเตรียม ของใช้เด็กแรกเกิด ช่างเป็นภารกิจอันน่าตื่นเต้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ได้ช่วยกันเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อต้อนรับลูกน้อย แต่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ อาจยังไม่รู้ว่า ลูกน้อยแรกเกิดจำเป็นต้องใช้อะไรบ้าง อะไรที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนคลอด ทั้งของใช้เด็กอ่อนและของใช้คุณแม่หลังคลอด เพื่อจะได้ไม่ฉุกละหุกหาซื้อในภายหลัง theAsianparent ได้รวบรวม Checklist ของใช้เด็กแรกเกิด ที่จำเป็นโดยแบ่งเป็นหมวดๆ ไว้ให้แล้วค่ะ

 

Checklist ของใช้เด็กแรกเกิด เตรียมพร้อมต้อนรับเบบี๋

  • ของใช้เด็กแรกเกิด หมวดเสื้อผ้าและอุปกรณ์แต่งตัว

โหลดฟรี! Checklist 70 ของใช้เด็กแรกเกิด เตรียมพร้อมต้อนรับเบบี๋

 

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณแม่จะเห็นชุดเด็กอ่อนน่ารักๆ เต็มไปหมด ทำเอาอยากได้ไปหมดเช่นกัน แต่การเลือกเสื้อผ้าเด็กอ่อน ไม่ได้ดูแค่ความน่ารัก แต่จะต้องเลือกที่สวมใส่ง่ายใส่แล้วสบายตัว เหมาะกับสภาพอากาศบ้านเราค่ะ หากที่บ้านเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา อาจเลือกเป็นชุดบอดี้สูท ก็สวมใส่ง่ายเช่นกัน

    • เสื้อป้าย หรือ เสื้อผูกหน้า เนื้อนิ่มๆ ระบายความร้อนได้ดี (สำหรับนอนพัดลม)
    • กางเกงขาสั้น หรือขาสามส่วน (สำหรับนอนพัดลม) กลางวันอาจใส่แค่เสื้อกับผ้าอ้อมก็ได้
    • ชุดบอดี้สูทแขนสั้น ขาสั้น ใส่ตอนกลางวัน (สำหรับนอนห้องแอร์)
    • ชุดบอดี้สูทแขนยาว ขายาว ใส่ตอนกลางคืน (สำหรับนอนห้องแอร์)
    • ชุดออกข้างนอก ช่วง 3 เดือนแรกไม่แนะนำให้ออกไปเที่ยวนอกบ้าน เพราะข้างนอกมีเชื้อโรค ฝุ่น ควัน มลพิษมากมาย ในขณะที่ทารกแรกเกิดยังมีภูมิต้านทานต่ำ เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย ส่วนมากจึงแค่ออกไปหาหมอตามนัดเท่านั้น
    • หมวกสำหรับทารกแรกเกิด อาจพิจาณาใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ หากลูกไม่ได้อยู่ในที่ที่จะทำให้ศีรษะเย็นเกินไป ก็ไม่ต้องใส่หมวกก็ได้
    • ถุงมือ ถุงเท้า อาจไม่จำเป็น หากตัดเล็บลูกน้อยให้สั้นอยู่เสมอ และการปล่อยให้ลูกได้มีอิสระในการใช้นิ้วมือนิ้วเท้านั้นดีต่อพัฒนาการของลูกน้อยมากกว่า
    • ผ้าห่อตัว เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัย เมื่อถูกห่อหุ้ม เหมือนอยู่ในท้องแม่ ผ้าห่อตัวเด็กช่วยให้ลูกน้อยหลับง่าย และหลับได้นานขึ้น อาจใช้เพียง 1-3 เดือนแรก หากลูกเริ่มพลิกตัวได้แล้วก็สามารถเลิกห่อตัวได้
    • ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็กแรกเกิด newborn แบบเทป 1 ห่อ จำเป็นและสะดวกอย่างมาก แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อตุน เพราะจะได้เพิ่มจากญาติๆ และเพื่อนๆ ที่มาเยี่ยม จนใช้ไม่ทันค่ะ
    • ผ้าอ้อมสาลู 1 โหล 30×30 นิ้ว หรือ 36×36 นิ้ว ใช้ห่อตัว ใช้พาดบ่า ใช้เช็ดน้ำลาย ใช้เป็นผ้าอเนกประสงค์ได้เลย
    • หวีแปรงขนนุ่ม ลูกน้อยยังมีแค่เส้นผมอ่อนๆ บางๆ ควรเลือกซื้อหวีเด็กแบบที่เป็นหวีแปรงขนนุ่ม เพื่อแปรงผมลูกน้อยอย่างอ่อนโยน
    • กรรไกรตัดเล็บทารก หมดยุคตัดเล็บเข้าเนื้อลูกแล้วค่ะ แนะนำให้ใช้กรรไกรตัดเล็บไฟฟ้า ปลอดภัย ลูกไม่เจ็บตัว
    • ตู้เสื้อผ้าเด็ก นอกจากจัดเก็บเสื้อผ้าลูกน้อยอย่างเป็นระเบียบแล้ว ควรเลือกตู้เสื้อผ้าเด็กที่ แข็งแรง และปลอดภัยต่อการใช้งาน
    • ชั้นวางของใช้ลูก สำหรับวางของใช้ต่างๆ ของลูกน้อย เพื่อสะดวกต่อการหยิบใช้งานและจัดเก็บ
    • ตะกร้าผ้า สำหรับใส่ผ้าอ้อม เสื้อผ้าเด็ก และสัมภาระต่างๆ พกพาได้ง่าย

บทความที่เกี่ยวข้อง : ผ้าอ้อมผ้า กับ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ผ้าอ้อมแบบไหนดี และตอบโจทย์พ่อแม่ได้ดีที่สุด

 

  • ของใช้เด็กแรกเกิด หมวดดูแลร่างกาย

โหลดฟรี! Checklist 70 ของใช้เด็กแรกเกิด เตรียมพร้อมต้อนรับเบบี๋

 

การเลือกอุปกรณ์อาบน้ำก็มีหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง ทั้งในเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยของลูกน้อย ตั้งแต่การอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย ไปจนถึงการดูแลหลังอาบน้ำ

    • อ่างอาบน้ำทารก เมื่อก่อนอาจจะมีเพียงอ่างอาบน้ำพลาสติกให้เลือกหลายรูปแบบ แต่ปัจจุบันพัฒนาไปถึงขั้น อ่างอาบน้ำทารกที่นุ่มจนไข่ตกไม่แตกอีกด้วย 
    • เก้าอี้อาบน้ำเด็ก เป็นอุปกรณ์ที่เหมือนไม่จำเป็น แต่พอได้ใช้แล้วกลับพบว่า ชีวิตดีขึ้น อาบน้ำลูกได้ง่ายขึ้นไม่ต้องกลัวลื่นหลุดมือ
    • สบู่เหลวและแชมพู แนะนำแบบขวดปั๊ม ทั้งอาบและสระในขวดเดียว ควรเลือกสูตรอ่อนโยนใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิดขึ้นไป
    • ฟองน้ำธรรมชาติ ฟองน้ำแบบธรรมชาติจะมีความอ่อนนุ่ม และอ่อนโยนต่อผิวลูกน้อยมากกว่าฟองน้ำอาบน้ำทารกแบบธรรมดา คุ้มค่ากับราคาที่จ่าย
    • ผ้าขนหนูเช็ดตัว ผ้าเช็ดตัวทารก ควรเลือกที่เนื้อผ้านุ่มนวล ไม่ระคายเคืองผิว ซับน้ำได้ดี และแห้งไว
    • ผ้าก๊อซสำหรับทำความสะอาดช่องปากทารก แม้ลูกน้อยจะยังไม่มีฟัน แต่คุณแม่ควรใช้ผ้าเช็ดฟันเด็กทารกทำความสะอาดช่องปาก เช็ดคราบนม เช็ดลิ้น เช็ดเหงือกให้ลูกน้อยทุกวัน
    • สำลีก้าน ใช้ทำความสะอาดหู / สะดือทารก
    • สำลีก้อนผ่านการฆ่าเชื้อ ใช้เช็ดตา (ใช้ 1-3 เดือนแรก)
    • แอลกอฮอล์ 70% สำหรับเช็ดสะดือทารก ใช้ทุกครั้งหลังอาบน้ำ จนกว่าสะดือจะแห้งสนิท
    • เบบี้ออยล์ สำหรับหยดในอ่างอาบน้ำขณะอาบน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวลูกน้อย
    • ทิชชู่เปียก ทิชชู่เปียกสูตรสำหรับเด็กช้เช็ดก้นลูกน้อยเวลาปัสสาวะ หรืออุจจาระ หรือใช้เช็ดอเนกประสงค์

 

  • ของใช้เด็กแรกเกิด หมวดทำความสะอาดของใช้

โหลดฟรี! Checklist 70 ของใช้เด็กแรกเกิด เตรียมพร้อมต้อนรับเบบี๋

 

ความสะอาดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากลูกน้อยแรกเกิดนั้นยังมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่ำ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องมั่นใจว่าของใช้ทุกอย่างสะอาดและปลอดภัยสำหรับลูกน้อย

    • น้ำยาซักผ้าเด็ก ควรเลือกน้ำยาซักผ้าเด็กสูตรสำหรับเด็กแรกเกิด ที่ผ่านการทดสอบทางผิวหนัง เพื่อให้มั่นใจว่าอ่อนโยนต่อลูกน้อย ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ระคายเคืองผิว
    • น้ำยาปรับผ้านุ่มเด็ก ผ้านุ่มๆ กลิ่นหอมอ่อนๆ ช่วยให้ลูกน้อยอารมณ์ดีไปทั้งวัน ควรเลือกน้ำยาปรับผ้านุ่มเด็กสูตรที่อ่อนโยนต่อทารก อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอมอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ระคายเคืองผิว คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกแบบไม่มีน้ำหอม หรือหอมจากธรรมชาติ ที่ผ่านการทดสอบทางผิวหนัง
    • น้ำยาล้างขวดนม ใช้สำหรับล้างขวดนม และจุกนม ควรเลือกสูตรอ่อนโยน ใช้สารสกัดจากธรรมชาติ ล้างสะอาดหมดจด ปราศจากสารตกค้าง
    • แปรงล้างขวดนม แปรงแบบหัวเป็นฟองน้ำจะขจัดคราบได้ทั่วถึงทุกซอกทุกมุมมากกว่าหัวเป็นขนแปรง ส่วนหัวแบบขนแปรงสามารถขจัดคราบนมได้ดีกว่า แต่อาจสร้างรอยขีดข่วน ซึ่งอาจก่อแบคทีเรียภายในขวดได้ 
    • เครื่องนึ่ง / อบ UV ฆ่าเชื้อขวดนม เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียอาจก่อตัวภายในขวดนมได้ การล้างขวดนมอาจไม่เพียงพอในการฆ่าเชื้อ จึงควรมีเครื่องนึ่งขวดนม หรือเครื่องอบฆ่าเชื้อขวดนมไว้ใช้งานหลังจากล้างขวดนมอีกขั้นตอนหนึ่ง
    • ที่ตากขวดนม หลังจากที่นึ่งขวดนมแล้ว ควรมีที่สำหรับตากขวดนมและจุกนมให้แห้งด้วย หรือหากเลือกใช้เป็นเครื่องที่อบแห้งในตัว ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อที่ตากขวดนมค่ะ เมื่อขวดนมแห้งแล้วควรเก็บให้มิดชิดในกล่องเก็บขวดนม เพื่อป้องกันฝุ่นและเชื้อโรค
    • กะละมังซักผ้าเด็ก 2 ใบ ใช้สำหรับแยกซักเฉพาะเสื้อผ้าเด็กและผ้าอ้อมเด็กเท่านั้น ไม่ควรใช้ปนกับของผู้ใหญ่

 

  • ของใช้เด็กแรกเกิด หมวดอุปกรณ์การนอน

โหลดฟรี! Checklist 70 ของใช้เด็กแรกเกิด เตรียมพร้อมต้อนรับเบบี๋

 

ทารกแรกเกิดใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอน และตื่นมากินนมทุก 2-3 ชั่วโมง เครื่องนอนที่ดีช่วยให้ลูกหลับง่าย และปลอดภัยขณะนอนหลับ

    • เบาะนอน ควรเลือกเบาะนอนทารกที่ระบายอากาศได้ดี ไม่นิ่มยวบ สามารถหายใจผ่านได้ ป้องกัน SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรือโรคไหลตายในทารก
    • ผ้าห่ม ควรเลือกผ้าห่มสำหรับเด็กที่เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี ผิวสัมผัสนุ่ม ไม่เป็นขน ใช้ห่ม รวมถึงใช้ทับหน้าอกลูกน้อยกันสะดุ้งได้
    • ผ้ารองกันฉี่ จำเป็นอย่างมากในการรองนอน เมื่อลูกปัสสาวะหรืออุจจาระ จะไม่ซึมลงไปถึงเบาะนอนของลูกน้อย ควรมีแผ่นรองฉี่ 2 ผืนสำหรับใช้สลับกัน
    • เปลเด็ก พร้อมเบาะเปลี่ยนผ้าอ้อม หากคุณพ่อคุณแม่เลือกใช้เปลนอนสำหรับทารก ควรเลือกที่มีเบาะสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมด้วย จะช่วยให้การเปลี่ยนผ้าอ้อมสะดวกขึ้น คุณแม่ไม่เมื่อย
    • เบาะกันกรดไหลย้อน หลังจากลูกกินนมแล้ว ควรจับเรอทุกครั้ง ซึ่งบางครั้งลูกไม่เรอ แต่หากให้ลูกนอนทันที อาจเกิดกรดไหลย้อนได้ ที่นอนกันกรดไหลย้อน ออกแบบมาเพื่อให้ได้องศาในการเอนตัวที่เหมาะสม
    • หมอนหลุม ทารกอาจไม่จำเป็นต้องใช้หมอนเด็ก ลูกน้อยสามารถนอนไปกับเบาะได้เลย แต่หากคุณพ่อคุณแม่เลือกใช้หมอนหลุม แนะนำแบบหายใจผ่านได้ เพื่อป้องกัน SIDS

 

  • หมวดอุปกรณ์ให้นม

โหลดฟรี! Checklist 70 ของใช้เด็กแรกเกิด เตรียมพร้อมต้อนรับเบบี๋

 

คุณแม่ทราบดีกว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นดีที่สุด อีกทั้งยังช่วยประหยัดได้ในระยะยาว คุณแม่จึงควรเตรียมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้นมลูก ดังนี้

    • เครื่องปั๊มนม ควรเลือกเครื่องปั๊มนมที่ตอบโจทย์ความต้องการของคุณแม่มากที่สุด เช่น หากต้องการแบบพกพาไปปั๊มที่ทำงานหรือนอกบ้านได้ ควรเลือกแบบมีแบตเตอรี่ในตัว หากต้องการแบบปั๊มไปด้วยทำงานไปด้วยได้ เลือกแบบแฮนด์ฟรี เลือกขนาดกรวยปั๊มที่เหมาะกับเต้านม แรงดูดนุ่ม ลึก ปั๊มเกลี้ยงเต้า ไม่เจ็บไม่ทำให้เต้านมอักเสบ แนะนำว่า ชอบรุ่นไหน ควรไปทดลองใช้ก่อนตัดสินใจซื้อค่ะ
    • ขวดนมขนาด 4 ออนซ์ สำหรับใส่สต็อกน้ำนมที่ปั๊มเก็บไว้ให้ลูกน้อยกิน ควรเลือกขวดนมแบบ BPA Free เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
    • ถุงเก็บน้ำนม ควรเลือกถุงเก็บน้ำนมแม่แบบซิปล็อกอย่างน้อย 2 ชั้น เพื่อป้องกันน้ำนมรั่วซึม เลือกถุงเนื้อเหนียว เพื่อป้องกันถุงแตก นมรั่ว มีแถบเขียนด้านบน สำหรับเขียนบอกวันเวลาที่ปั๊นนมเก็บไว้ และมีขีดบอกปริมาณน้ำนมที่ถุง
    • แผ่นซับน้ำนม เวลาที่ลูกน้อยดูดนมข้างหนึ่ง น้ำนมก็จะไหลออกจากเต้านมอีกข้างหนึ่งด้วย หากคุณแม่ไม่ได้ปั๊มนมอีกข้างเก็บไปพร้อมกัน แนะนำใช้แผ่นซับน้ำนมเพื่อป้องกันคราบน้ำนมเลอะเสื้อผ้า
    • ปากกาสำหรับเขียนถุงเก็บน้ำนม ควรเลือกแบบ Non Toxic Pen เพื่อความปลอดภัย หมดห่วงเรื่องสารเคมี
    • หมอนรองให้นม จำเป็นอย่างมาก เพราะช่วยหนุนตัวลูกน้อยให้อยู่ในระดับพอดีกับเต้านม ขณะคุณแม่ให้นมน้องสามารถดูดนมได้ง่าย แม่ไม่ต้องก้ม ไม่เมื่อยปวดหลัง เมื่อต้องให้นมเป็นเวลานาน

 

  • หมวดของใช้คุณแม่

    โหลดฟรี! Checklist 70 ของใช้เด็กแรกเกิด เตรียมพร้อมต้อนรับเบบี๋

    • เสื้อในให้นม บราให้นมลูก เพื่อความสะดวกในการเปิดให้นมลูก เป็นไอเท็มที่แม่ให้นมต้องมีเตรียมไว้ แต่ควรเผื่อไซส์สักหน่อยเพื่อรองรับเต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้น
    • ชุดให้นม / เสื้อให้นม ชุดสำหรับแม่ลูกอ่อนที่จะมีซิปรูดเปิดได้เมื่อต้องการให้นม หรือสามารถแหวกเปิดให้นมลูกได้อย่างสะดวก
    • ผ้าคลุมให้นม ช่วยให้การให้นมลูกนอกบ้านเป็นเรื่องง่าย ลูกหิวเมื่อไหร่คลุมปุ๊บ กินนมได้ปั๊บ ลูกไม่งอแง
    • ผ้าอนามัยแบบห่วง (ใช้หลังคลอด) ผ้าอนามัยหลังคลอด คุณแม่จะต้องใช้ผ้าอนามัยแบบห่วง ซึ่งจะมีสายคาดเอวให้สวมปรับให้กระชับกับสรีระได้ ผ้าอนามัยแบบนี้จะมีความหนานุ่ม และยาวกว่าผ้าอนามัยแบบปกติ ซึมซับได้ดีโดยที่ไม่ต้องใส่กางเกงใน
    • ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอด หลังคลอดคุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่ลุกเดินให้เร็วที่สุด เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ช่วยให้แผลผ่าคลอดหายเร็ว ไม่เป็นพังผืด ลดโอกาสเกิดคีลอยด์หรือแผลเป็นนูน การใช้ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอดจะช่วยให้คุณแม่เคลื่อนไหวสะดวก ไม่กระเทือนแผลผ่าคลอด ทำให้เจ็บแผลหน้าท้องน้อยลง
    • ครีม/เจลทาแผลผ่าคลอด เพื่อป้องกันแผลผ่าคลอดกลายเป็นแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ คุณแม่ควรทาครีมหรือเจลลดรอยแผลผ่าคลอดเป็นประจำและสม่ำเสมอ
    • ครีมทาหัวนมแตก ในช่วงแรกคุณแม่มือใหม่หัดเข้าเต้า และคุณลูกมือใหม่หัดดูด อาจยังไม่เข้าที่เข้าทาง ลูกอาจอมไม่ลึกถึงลานนม ทำให้เจ็บหัวนม หัวนมแตก คุณแม่สามารถให้ครีมทาหัวนมแตก หรือใช้น้ำนมทาบริเวณที่เจ็บเพื่อสมานแผลได้
    • กระเป๋าเก็บอุณหภูมิ กระเป๋าเก็บความเย็นใช้สำหรับเก็บน้ำนมที่ปั๊มแล้ว โดยจะมีเจลเก็บความเย็นแถมมาพร้อมกระเป๋า เหมาะกับคุณแม่ที่ต้องปั๊มนมที่ทำงาน หรือปั๊มนมนอกสถานที่ สามารพกพาสะดวก ควรเลือกที่สามารถเก็บได้ทั้งขวดนม ถุงใส่นมแม่ และเครื่องปั๊มนมในใบเดียว
    • เครื่องอุ่นนม ก่อนนำนมสต็อกให้ลูกน้อยกิน ควรนำลงมาจากช่องแช่แข็งทิ้งไว้หนึ่งคืน เพื่อละลายน้ำแข็ง และก่อนให้ลูกน้อยกินสามารถนำมาแกว่งในน้ำอุ่น หรือใช้เครื่องอุ่นนมเพื่อความสะดวก

 

  • หมวดเดินทาง

    โหลดฟรี! Checklist 70 ของใช้เด็กแรกเกิด เตรียมพร้อมต้อนรับเบบี๋

    • รถเข็นเด็ก มีให้เลือกหลายรุ่น หลายราคา ควรพิจารณาฟังก์ชั่นที่ต้องการในราคาที่จ่ายไหว โดยเลือกรถเข็นเด็กที่นำ้หนักเบา สามารถกางออกง่ายด้วยมือเดียว ในขณะที่อุ้มลูกไปด้วยได้ มีเบาะที่รองรับศีรษะและคอของเด็กแรกเกิดให้กระชับไม่โงนเงน ล้อแข็งแรง เลี้ยวง่าย เข็นได้นิ่ง ไม่สั่นสะเทือนง่าย  สามารถเข็นได้ 2 ด้าน เพื่อสามารถมองหน้าลูกน้อยได้ขณะเข็น มีหลังคาที่สามารถปิดลงมากันแสงเวลาลูกหลับได้ มีที่กั้นป้องกันลูกตกรถเข็น และยังใช้สำหรับหนีบพัดลมติดรถเข็นได้ เวลาที่อากาศร้อน
    • คาร์ซีท ควรให้ลูกนั่งคาร์ซีทตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาล โดยเลือกที่เหมาะกับวัยแรกเกิด เลือกให้เหมาะกับรถที่ใช้ มีป้ายรองรับมาตรฐานคาร์ซีท และติดตั้งให้ถูกต้องตามวัย เพื่อความปลอดภัย โดยเด็กแรกเกิด-3 ปีควรติดตั้งแบบหันหน้าเข้าหาเบาะ
    • เป้อุ้มเด็ก ช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่น เหมือนแม่อุ้มตลอดเวลา เหมาะกับเวลาคุณแม่ซื้อของหรือหยิบจับทำอย่างอื่นไปด้วยได้ และสามารถพาลูกได้ด้วยกันได้ทุกที่ ควรเลือกแบบที่มี Hip seat ช่วยให้ลูกน้อยนั่งอย่างสบาย 
    • กระเป๋าแม่ลูกอ่อน สำหรับใส่ของใช้เด็กเวลาออกนอกบ้าน เช่น เสื้อผ้าสำรอง ผ้าอ้อมสำเร็จรูป แผ่นรองเปลี่ยนผ้าอ้อม ผ้าคลุมให้นม ทิชชู่ ทิชชู่เปียก ครีมทาผื่นผ้าอ้อม ขวดนม (หากไม่ได้ให้ดูดจากเต้า)

 

  • หมวดดูแลสุขภาพ

    โหลดฟรี! Checklist 70 ของใช้เด็กแรกเกิด เตรียมพร้อมต้อนรับเบบี๋

    • ปรอทวัดไข้/เครื่องวัดอุณหภูมิ ควรเลือกปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล หรือเครื่องวัดอุณหภูมิแบบยิงหน้าผาก ที่สามารถวัดไข้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ควรมีเตรียมไว้พร้อมใช้ในยามฉุกเฉิน
    • ครีมทาผดผื่นสำหรับเด็ก ลูกน้อยมีผิวบอบบาง อาจเกิดผดผื่นได้ง่าย ควรมียาทาแก้คันเตรียมไว้ใช้ทาเมื่อเกิดผดผื่น ควรเลือกแบบออร์แกนิค หรือสารสกัดจากธรรมชาติ ที่ปลอดภัยต่อลูกน้อย
    • ครีมทาผื่นผ้าอ้อม / ปิโตรเลียมเจล ควรมีไว้ใช้ทาให้ลูกน้อยทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนผ้าอ้อม เพื่อป้องกันผื่นผ้าอ้อม
    • มหาหิงคุ์แบบลูกกลิ้งใช้ทาท้องหลังอาบน้ำ กลิ่นหอมระเหยช่วยของมหาหิงคุ์ช่วยป้องกันลูกน้อยท้องอืดได้
    • โลชั่นบำรุงผิวเด็ก จำเป็นมากๆ ที่จะต้องบำรุงผิวลูกน้อยให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอตั้งแต่แรกเกิด ควรเลือกโลชั่นถนอมผิวเด็กสูตรอ่อนโยนใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิด
    • ยากันยุงสำหรับเด็ก แม่ทุกคนไม่อยากให้ลูกมีแม้แต่รอยยุงกัด อีกทั้งโรคที่มาจากยุง ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ล้วนแต่รุนแรงทั้งสิ้น ทางที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้ลูกถูกยุงกัด ควรเลือกยากันยุงเด็กที่ไม่มีสาร DEET และเลือกสูตรที่สามารถใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิด
    • ยาทาลดรอยยุงกัด บางทีลูกก็ถูกยุงหรือแมลงกัดต่อยโดยไม่รู้ตัว หากพบรอยยุงกัดหรือแมลงกัดให้รีบทายาทันที จะช่วยลดอาการคัน บวม แดงได้ หรืออ่านเพิ่มเติม 4 วิธี รักษารอยยุงกัดให้เจ้าตัวน้อย ด้วยวิธีธรรมชาติ
    • แผ่นเจลลดไข้ นอกจากเช็ดตัว และทานยาลดไข้แล้ว แผ่นเจลลดไข้ทารกยังช่วยลดอุณหภูมิร่างกายให้ลูกสบายตัวขึ้น
    • ยาลดไข้เด็ก กรณีลูกไม่สบายมีไข้ ควรเช็ดตัวและพาลูกไปหาคุณหมอ ห้ามใช้ยาลดไข้เองในเด็กแรกเกิดถึง 3 เดือน สำหรับเด็ก 3 เดือนขึ้นไปควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง อ่านเพิ่มเติม ยาลดไข้เด็กแต่ละช่วงวัย แตกต่างกันอย่างไร?
    • ที่ดูดน้ำมูก หากลูกน้อยมีอาการคัดจมูก แน่นจมูก หายใจไม่ออก สามารถใช้ที่ดูดน้ำมูก ดูดน้ำมูกออก เพื่อให้ลูกหายใจได้ง่ายขึ้น
    • ไซริงจ์ มักจะมาพร้อมในกล่องยาน้ำ ใช้สำหรับตวงยาน้ำมีหน่วยเป็น ml.

ตอนนี้คุณแม่ได้ทราบแล้วนะคะว่า ของใช้เด็กแรกเกิด มีอะไรบ้างที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนคลอดลูก เพื่อความสะดวกในการไปช้อปปิ้ง คุณแม่สามารถดาวน์โหลดฟรี ! Checklist ของใช้เด็กแรกเกิด ด้านล่างนี้ จาก theAsianparent ไปใช้ได้เลยค่ะ

แจกฟรี Checklist ของใช้เด็กแรกเกิด

ดาวน์โหลดเลย!

โหลดฟรี! Checklist 70 ของใช้เด็กแรกเกิด เตรียมพร้อมต้อนรับเบบี๋

 

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ :

ฤกษ์คลอด 2567 ฤกษ์ผ่าคลอด ฤกษ์คลอดบุตร ปีมังกรทอง เสริมดวงสิริมงคลให้แม่และลูกน้อย

10 สัญญาณเตือนก่อนคลอด คุณแม่ใกล้คลอดมีอาการอย่างไรบ้าง มาดูกัน!

ตารางอาหารทารกแรกเกิด – 1 ปี ลูกน้อยควรกินเท่าไหร่ใน 1 วัน

ตารางการนอนของทารก กลางวัน/กลางคืน ทารกควรนอนกี่ชั่วโมงถึงดี

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!