ลูกติดเต้า ไม่เอาขวด ทำไงดี? เมื่อ คุณแม่มีความจำเป็นต้องเลิกเต้า

ลูกติดเต้า ไม่เอาขวด แต่แม่ต้องกลับไปทำงานแล้ว จะทำยังไงดี? เรารวมเคล็ดลับการหย่านมแม่ เลิกเต้า และเทคนิคให้นมลูกด้วยขวดนมมาให้ค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

สำหรับคุณแม่ที่ทำงานประจำ แน่นอนว่าหลังการลาคลอดย่อมมีความจำเป็นต้องกลับไปทำงาน ซึ่งกรณีเป็นคุณแม่ที่ให้นมลูกน้อยเองตั้งแต่แรกเกิด ก็อาจประสบปัญหา ลูกติดเต้า ไม่เอาขวด เป็นเรื่องปกติค่ะ แต่คุณแม่หลายคนก็กังวลเพราะดูเหมือนการเปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมขวดจะทำให้ลูกร้องงอแงเหลือเกิน เห็นลูกร้องไห้ ใจแม่ก็จะขาดเป็นธรรมดา เอาเป็นว่าเรามาดูวิธีปรับพฤติกรรม ลูกติดเต้า ให้ยอมรับการดูดนมจากขวดกันค่ะ

ควรให้ลูกน้อย หย่านมแม่ เมื่อไหร่ ?

เนื่องจาก นมแม่ เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ปกติแล้วคุณแม่จึงควรให้ลูกน้อยได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ เสริมอาหารมื้อหลักตามช่วงวัยอื่นๆ เข้าไป ควบคู่กับการกินนมแม่ด้วยโดยแนะนำว่าควรให้ลูกกินนมแม่ไปจนกระทั่งอายุ 2 ขวบ หรือนานกว่านั้นหากเป็นไปได้

โดยกรณีคุณแม่มีความจำเป็นต้องกลับไปทำงาน ทำให้ไม่สามารถให้นมลูกน้อยได้ตามปกติ แต่ก็ยังสามารถปั๊มนมเพื่อเก็บสำรองเอาไว้ เพื่อให้ผู้ดูแลทำหน้าที่ป้อนนมให้ลูกน้อยแทน ไม่จำเป็นต้องหย่านมนะคะ แต่แนะนำว่าให้ฝึกลูกกินนมจากขวดควบคู่ไปกับการดูดเต้าก่อนคุณแม่ออกจากบ้าน หรือหลังกลับจากทำงาน ก็จะช่วยทำให้ลูกคุ้นเคยกับการกินนมจากขวด รู้สึกดีกับความผูกพันใกล้ชิดขณะกินนมแม่ และยังช่วยไม่ให้ลูกติดเต้าได้ด้วยค่ะ

อย่างไรก็ตาม ทารกแต่ละคนอาจหย่านมในช่วงอายุที่แตกต่างกัน คุณแม่แต่ละคนก็อาจมีเหตุผลและความจำเป็นเช่นกันที่จะให้ลูกเลิกเต้า โดยปัจจัยหลักที่ทำให้คุณแม่อาจต้องเริ่มให้ลูกน้อยหย่านม มีดังนี้

  • ลูกน้อยเริ่มสนใจอาหารชนิดอื่นมากกว่านมแม่ หรือมีสิ่งดึงดูดความสนใจไป
  • คุณแม่มีความจำเป็นต้องเลิกเต้า เพราะต้องกลับไปทำงาน ทำให้ไม่สามารถให้นมลูกน้อยได้ แต่ก็ยังสามารถปั๊มนมเพื่อเก็บสำรองเอาไว้ เพื่อให้ผู้ดูแลทำหน้าที่ป้อนนมให้ลูกน้อยแทน
  • คุณแม่มีน้ำนมไม่เพียงพอ
  • คุณแม่รู้สึกเจ็บหัวนม หัวนมแตก หรือเจ็บหน้าอกขณะให้นม ซึ่งมักเกิดจากลูกน้อยดูดนมผิดวิธี
  • เคยมีประวัติแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนด อาจต้องงดให้นมลูกน้อยก่อนวางแผนตั้งครรภ์ครั้งต่อไป กรณีนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ด้วยค่ะ

ทั้งนี้ คุณแม่ที่มีปัญหาน้ำนมไม่พอ หรือเจ็บหัวนม ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ลูกหย่านมนะคะ เพราะหากได้รับการรักษาและดูแลอย่างถูกต้องจะสามารถกลับมาให้นมลูกได้ตามปกติค่ะ โดยในช่วงรักษาตัวก็ปั๊มนมให้ลูกดูดจากขวดไปก่อนค่ะ อย่างไรก็ตาม มีหลายบ้านเลยค่ะที่ คุณแม่มีความจำเป็นต้องเลิกเต้า ทั้งแบบชั่วคราวเพราะเจ็บหัวนม หรือถึงช่วงวัยที่ลูกควรเลิกเต้าได้แล้ว กลับพบปัญหาว่า ลูกติดเต้า ไม่เอาขวด แล้วจะทำยังไงดี มาไขข้อข้องใจเรื่องนี้ไปพร้อมกันค่ะ

เปิดเหตุผลที่ ลูกติดเต้า ไม่เอาขวด

ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยค่ะ หากลูกน้อยที่ดูดนมจากเต้าคุณแม่มาตั้งแต่แรกเกิดจะติดเต้า และไม่ยอมรับการกินนมจากขวด ซึ่งเราจะมาเปิดสาเหตุและปัจจัยที่ส่งผลให้ ลูกติดเต้า ดังนี้

ทำไม? ลูกติดเต้า ไม่เอาขวด

ความใกล้ชิด  การดูดนมจากเต้าคุณแม่เป็นมากกว่าการกินอาหารค่ะ แต่คือการสร้างความผูกพันและความอบอุ่นระหว่างแม่กับลูกด้วย
รสชาติและกลิ่น นมแม่มีรสชาติและกลิ่นที่แตกต่างจากนมผง (กรณีนมขวดเป็นนมผง ไม่ใช่นมแม่) ทำให้ลูกน้อยคุ้นเคยและชอบมากกว่า
ความรู้สึก การดูดนมจากเต้าทำให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลาย

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

วิธีรับมือเมื่อ ลูกติดเต้า ไม่เอาขวด

อันดับแรกที่คุณแม่ต้องใส่ใจคือ เลิกเต้าแบบค่อยเป็นค่อยไปค่ะ เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินของลูกน้อยต้องใช้เวลาและความอดทน การใจร้อน รีบเร่ง หรือบังคับลูกมากเกินไปไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อจิตใจลูก และไม่ได้การันตีว่าการเลิกเต้าจะประสบความสำเร็จค่ะ

  • ฝึกตั้งแต่เนิ่นๆ

กรณีที่คุณแม่สามารถลาคลอดได้ 3 เดือน และต้องกลับไปทำงาน สามารถฝึกลูกน้อยให้คุ้นเคยกับการดูดนมจากขวดได้เมื่อทารกมีอายุเข้าสู่เดือนที่ 2 ค่ะ ไม่ควรเริ่มเร็วเกินไปในช่วง 1 เดือนแรกนะคะ เนื่องจากอาจทำให้ลูกสับสนระหว่างจุกนมและหัวนมแม่ได้ หลังเดือนแรกลูกน้อยจะเริ่มปรับตัวได้มากขึ้นและไม่สับสนค่ะ ทั้งนี้ ควรฝึกลูกดูดนมจากขวดวันละ 1-2 ครั้ง เวลาคุณแม่กลับไปทำงานลูกน้อยจะสามารถดูดนมจากขวดได้ค่ะ

  • ลูกติดเต้า ไม่เอาขวด เริ่มจากให้ดูดจุกนมหลอก

ก่อนจะให้ลูกดูดนมจากขวด ลองฝึกให้ดูดจุกนมหลอกก่อนค่ะ เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับความรู้สึกในการดูดที่แตกต่างจากเต้านมคุณแม่

เทคนิคฝึก ลูกติดเต้า ให้ดูดนมจากขวด

เลือกจุกนมที่คล้ายหัวนมแม่ เป็นจุกนิ่ม มีผิวสัมผัสยืดหยุ่น น้ำนมไหลช้าที่สุดเหมือนการดูดจากหัวนมแม่ คือเป็นจุกแบบ Slow flow หรือขนาด S หรือ SS
ลองให้ลูกทำความรู้จักกับจุกนม เช่น ให้อมเล่น หรือกัดเล่น
เลือกช่วงเวลาให้ดี ให้ขวดนมในช่วงที่ลูกอารมณ์ดี ไม่หิวมาก เช่น ช่วงที่ดูดนมจากเต้าไปแล้ว
ใช้นมแม่ปั๊มใหม่ เริ่มด้วยนมแม่ปั๊มใหม่ๆ อุ่นๆ ในปริมาณที่ไม่มาก
ให้ลูกชิมนมจากจุกนมก่อน โดยอาจแตะนมแม่ตรงจุกนมให้ลูกชิม เพื่อให้ลูกได้รับรู้รสของนมว่าเหมือนนมแม่
อย่าหมดความพยายาม ถ้าลูกยังไม่ยอมกิน อาจทดลองใหม่ในมื้อถัดไปหรือวันถัดไป

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

  • เปลี่ยนคนป้อนนม

ปรับพฤติกรรมลูกติดเต้าโดยลองให้คนอื่น เช่น คุณพ่อ หรือคนในครอบครัว ช่วยป้อนนมขวดให้ลูกน้อย เนื่องจากลูกมักจะติดกลิ่นของแม่ จึงเรียกร้องการดูดจากเต้า ไม่ยอมดูดจากขวด โดยในบางครั้ง อาจต้องให้แม่ออกจากบ้านไปก่อนเพื่อให้ลูกไม่ได้กลิ่นของแม่ อาจจะทำให้ลูกยอมรับขวดนมได้ง่ายขึ้นค่ะ

  • เปลี่ยนชนิดจุกนมและเพิ่มความน่าสนใจให้ขวดนม

บางครั้งลูกน้อยอาจไม่ชอบขวดนมหรือจุกนมที่ใช้อยู่ คุณแม่สามารถลองเปลี่ยนจุกนมอันใหม่ หรือเพิ่มความน่าสนใจให้กับขวดนมโดยลองใส่ของเล่นเล็กๆ น้อยๆ ที่ลูกน้อยชอบติดกับขวดนม เพื่อดึงดูดความสนใจก็ได้ค่ะ

  • ท่าทางการอุ้มเพิ่มความใกล้ชิด

ขณะป้อนนมขวด ให้คุณแม่อุ้มลูกน้อยแนบอกเหมือนตอนให้นมแม่ เพื่อสร้างความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • ลดความถี่

คุณแม่ลองลดความถี่การให้นมจากเต้าจากปกติเหลือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยสัปดาห์แรกลดการให้นมลง 1 ครั้ง สัปดาห์ต่อมาลดการให้นมลง 2 ครั้ง แล้วลดจำนวนครั้งลงต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกน้อยค่อยๆ ปรับตัวและเรียนรู้การดื่มนมจากขวด ทั้งยังช่วยให้ร่างกายของคุณแม่ลดการผลิตน้ำนมลงอย่างเป็นธรรมชาติ โดยเต้านมไม่คัดตึงหรืออักเสบด้วย

  • ลดเวลา

ปรับลดเวลาการให้นมจากเต้าคุณแม่ลงจากเดิม เช่น เคยให้นม 10 นาที ลดลงเหลือ 5 นาที แล้วให้ลูกน้อยกินอาหารอื่นๆ และดื่มนมจากขวดเพิ่มแทน

  • เลื่อนเวลา

นอกจากการลดความถี่ และลดเวลาแล้ว ให้คุณแม่ลองเลื่อนเวลาในการให้นม เช่น เคยให้นมช่วงเย็น ก็เลื่อนไปเป็นก่อนนอน และพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของลูกด้วยกิจกรรมอื่นๆ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เหมาะสำหรับลูกน้อยที่โตพอจะรับฟังเหตุผลของคุณพ่อคุณแม่ได้แล้วค่ะ

 

7 เทคนิคการป้อนนมขวดให้ลูกน้อย

เมื่อสามารถปรับพฤติกรรมลูกให้ยอมรับการกินนมจากขวดได้แล้ว การให้นมลูกผ่านการดูดจากขวดนมนั้น เทคนิคการให้นมมีความสำคัญนะคะ หากคุณแม่ให้นมจากขวดไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้ลูกสำลักนม หรือทำให้น้ำนมไหลเข้าหูจนหูอักเสบได้ ดังนั้น มาดูเทคนิคดีๆ ที่เรานำมาฝากกันค่ะ

  1. จัดท่าทางการนั่งหรืออุ้มลูกให้สบายสำหรับคนให้นม และปลอดภัยสำหรับลูก โดยให้ศีรษะของทารกสูง 45 องศา
  2. อุ่นน้ำนมให้มีความอุ่นเล็กน้อย ใกล้เคียงกับน้ำนมแม่ แต่หากลูกน้อยอยู่ในช่วงวัยที่ฟันกำลังจะขึ้นอาจใช้นมที่เย็นเล็กน้อยค่ะ
  3. วางขวดนมในแนวระนาบ (paced bottle feeding) จับขวดนมป้อนในแนวราบกับปากของลูก หรือยกสูงขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น หากดูดถูกวิธีน้ำนมจะไหลเข้าคอและหลอดอาหาร ไม่สำลัก
  4. ให้น้ำนมเติมเต็มบริเวณจุกนมที่ลูกดูด ค่อยๆ เติมน้ำนมให้เต็มส่วนปลายของจุกยาง ทำให้น้ำนมไหลในอัตราเร็วที่เหมาะสม ใกล้เคียงกับที่ทารกทานจากเต้า มีเวลาให้เด็กได้พัก โดยการกดก้นขวดนมลง ป้องกันไม่ให้ลูกดูดลมเข้าท้องมากเกินไป ลดความเสี่ยงภาวะท้องอืด
  5. จับลูกเรอบ่อยๆ อาจทุก 1 ออนซ์ หรือครึ่งทางของการให้นม หมั่นสังเกตเสมอว่าลูกน้อยต้องการเวลาพักไหม เนื่องจากการดูดนมจากขวดลูกจะเหนื่อยกว่าดูดจากเต้า ถ้าเหนื่อยให้พักก่อน และหลังให้นมไม่ควรจับลูกนอนราบทันที เพราะอาจทำให้ลูกสำลัก หรือเป็นกรดไหลย้อนได้
  6. ให้เวลาระหว่างให้นมเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข โดยสร้างบรรยากาศแห่งความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกระหว่างให้นม เช่น มองตาลูก พูดคุยกับลูก ให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย
  7. ถ้าลูกแหวะนม ให้จับหน้าลูกตะแคงเพื่อลดโอกาสสำลักลงปอด

 

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อให้ลูกกินนมขวด

  • ไม่จับลูกนอนราบขณะให้นม
  • ไม่หนุนขวดนมด้วยผ้า หรืออุปกรณ์อื่น
  • ไม่จับขวดนมในแนวตั้งมากจนเกินไป
  • ไม่ทิ้งลูกไว้ตามลำพัง

ในการเปลี่ยนให้ลูกเลิกนมจากเต้ามาเป็นนมขวดนั้นเป็นการปรับพฤติกรรมเด็กอย่างหนึ่ง ซึ่งคุณแม่จำเป็นต้องใจเย็นและมีความอดทนนะคะ ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป ลูกจะสามารถเลิกเต้าได้เอง อย่างไรก็ตาม ให้คุณแม่หมั่นสังเกตอาการของลูกด้วยนะคะ หากกินนมขวดแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อาเจียน ร้องงอแงตลอดเวลา ถ่ายเหลว ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและทำการรักษาค่ะ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ที่มา : hd.co.th , www.siriwanmedicalclinic.com , www.pobpad.com , www.drnoithefamily.com

 

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ปั๊มนมเป็นเลือด อันตรายมั้ย ลูกกินได้หรือเปล่า

ดูดจุกหลอก ท้องอืดไหม ลูกดูดนิ้ว ต่างกับดูดจุกยังไง แบบไหนดีกว่ากัน

ผลเสียของการไม่ เลิกนมมื้อดึก พร้อมวิธีให้ลูกเลิกเต้าตอนกลางคืน

บทความโดย

จันทนา ชัยมี