นอนไม่เป็นเวลา นอนไม่เพียงพอ มักเป็นเรื่องที่พ่อแม่ที่มีลูกเล็กต้องเผชิญ โดยเฉพาะเมื่อ ทารกง่วงแต่ไม่ยอมนอน ยิ่งอาจทำให้พ่อแม่สับสน หงุดหงิด ที่ลูกฝืนไม่ยอมหลับ ไม่ว่าจะตบก้น ใส่เปล นั่งเก้าอี้โยก ใส่รถเข็นพาเดิน เปิดเพลงกล่อมเด็กคลอจบไปหลายเพล์ลิสต์ ลูกน้อยก็ไม่มีทีท่าจะยอมหลับลงง่าย
ทารกไม่ยอมนอน ผลกระทบไม่ได้เกิดแค่กับลูกน้อยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการพักผ่อนของพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู ที่ต้องตื่นดูแลทารกในเวลากลางคืนด้วย เพราะเมื่อทารกง่วงจนหาวบ่อยหรือขยี้ตา แต่กลับร้องไห้งอแงหรือกระสับกระส่าย ไม่ยอมหลับ พ่อแม่มักรู้สึกหมดหนทาง ไม่รู้จะรับมืออย่างไร เพราะตนเองก็เหนื่อยล้าจากภาระที่ต้องดูแลตลอดทั้งวัน การนอนที่ไม่เพียงพออาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกในระยะยาว ทั้งด้านสมอง อารมณ์ และสุขภาพร่างกาย ทั้งยังทำให้พ่อแม่อ่อนล้าเกินกว่าจะใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทความนี้จะช่วยไขความลับว่า ทำไมทารกง่วงแต่ไม่ยอมนอน รวมถึงแนวทางการรับมืออย่างได้ผล เพื่อช่วยให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ค่ะ
ทารกง่วงแต่ไม่ยอมนอน เพราะอะไร?
สาเหตุที่ ทารกง่วงแต่ไม่ยอมนอน มีหลายประการด้วยกัน พ่อแม่อาจต้องสังเกตพฤติกรรมและกิจวัตรของลูกในระหว่างวันที่มักมีผลต่อการนอนในเวลากลางคืนของลูกโดยตรง อย่างไรก็ตาม ก่อนจะหาสาเหตุว่าทำไมทารกง่วงแต่ไม่ยอมนอน เรามาทำความเข้าใจเรื่องธรรมชาติการนอนของทารกกันก่อนค่ะ
ช่วง 1-2 เดือนแรกของชีวิตเจ้าตัวน้อย สมองส่วนควบคุมการนอนยังพัฒนาไม่เต็มที่เด็กยังแยกกลางวัน-กลางคืนไม่ได้ ทำให้ทารกอาจนอนไม่เป็นเวลา ผนวกกับต้องตื่นมากินนมบ่อยๆ เพราะนมแม่ย่อยง่าย และกระเพาะของลูกน้อยยังจุนมได้เพียงนิดหน่อย จึงทำให้ทารกแรกเกิดหิวจนต้องตื่นมากินนมบ่อยๆ
เพราะฉะนั้น ช่วง 3 เดือนแรกของชีวิต จึงเป็นเวลาที่ทารกปรับตัวให้เข้ากับเวลาของโลกใบใหญ่ที่มีกลางวันกลางคืน แต่หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าทารกง่วงแต่ไม่ยอมนอน อาจมีสาเหตุที่พบบ่อยหลายประการ ดังนี้
1.ทารกหิวกลางดึก
บ่อยครั้งการให้นมก่อนนอนทันทีอาจทำให้เด็กเชื่อมโยงการกินกับการนอนหลับ โดยเฉพาะถ้าลูกหลับคาขวดหรืออกแม่ ซึ่งอาจไม่เป็นปัญหาในช่วงหัวค่ำ แต่จะกลายเป็นปัญหาเมื่อลูกตื่นมากลางดึกและต้องการกินอีกครั้งเพื่อหลับต่อ
แนะนำให้ปรับเวลาการให้นมก่อนนอน โดยให้นมก่อนทำกิจวัตรอื่นๆ เช่น เปลี่ยนผ้าอ้อม และพาลูกเข้านอนตอนที่ยังตื่นอยู่ นอกจากนี้ ควรเลี่ยงการให้นมในห้องนอน เพื่อให้ลูกรับรู้ว่าห้องนอนคือที่สำหรับการนอน ไม่ใช่การกิน
หากลูกยังคงตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง อาจเป็นเพราะลูกหิวจริงๆ แนะนำให้เพิ่มปริมาณอาหารก่อนนอน เช่น ให้นมถี่ขึ้นในช่วงเย็น (ทุก 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน) เพื่อให้ลูกอิ่มและหลับได้นานขึ้น ตัวอย่างเช่น หากเวลานอนคือ 20.00 น. ให้ป้อนนมเวลา 17.00 น., 18.00 น. และอีกครั้งก่อนเข้านอน
อีกทางเลือกหนึ่งคือ วิธี Dream Feed ปลุกลูกขึ้นมากินนมในช่วงที่คุณพ่อคุณแม่กำลังจะเข้านอน เช่น ถ้าลูกเข้านอนเวลา 20.00 น. คุณอาจปลุกลูกมากินนมเวลา 22.00 น. ก่อนที่ตัวเองจะเข้านอน วิธีนี้ช่วยให้ลูกไม่ตื่นกลางดึกเพราะความหิว และช่วยให้ทั้งพ่อแม่พักผ่อนได้เต็มที่มากขึ้น

2. ทารกไม่ได้รับรู้ความต่างระหว่างกลางวัน-กลางคืน
ร่างกายของคนเราจะตอบสนองต่อกลางวันและกลางคืนแตกต่างกัน กล่าวคือ กลางคืนร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ที่ทำให้รู้สึกง่วงนอน แต่แสงสว่างในเวลากลางวัน ทำให้ร่างกายผลิตเมลาโทนินน้อยลง
เมลาโทนินช่วย ควบคุมวัฏจักรกลางวันและกลางคืนหรือการตื่นและหลับของมนุษย์ หากระหว่างวันทารกไม่ได้สัมผัสแสงสว่างเท่าที่ควร อาจทำให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายไม่ได้พัฒนาอย่างเต็มที่ ซึ่งโดยทั่วไปนาฬิกาชีวภาพนี้จะเริ่มพัฒนาเมื่อทารกอายุประมาณ 11 สัปดาห์
การให้ลูกได้รับแสงแดดเพียงพอในเวลากลางวัน และหลีกเลี่ยงแสงในเวลากลางคืน ช่วยให้ทารกปรับตัวเข้ากับกลางวันกลางคืนได้เร็ว แต่หากร่างกายไม่มีโอกาสรับรู้ความแตกต่างระหว่างกลางวันกลางคืน ก็อาจทำให้ทารกไม่ยอมนอนกลางคืน แม้ว่าจะง่วงแค่ไหนก็ตาม
3. ทารกไวต่อสภาพแวดล้อม
สำหรับเด็กที่มีประสาทสัมผัสไว อาจนอนหลับยากกว่าเด็กทั่วไป แม้เพียงเส้นด้ายเล็กๆ ใต้ตะเข็บเสื้อ ก็อาจทำให้รู้สึกรำคาญจนนอนไม่หลับ หรือเสียงเครื่องปรับอากาศในห้อง อาจทำให้สะดุ้งตื่นทุกที ในระหว่างวันทารกอาจเพิกเฉยต่อความรู้สึกเหล่านี้ได้เมื่อทำกิจกรรมเพลินๆ แต่มักละเลยความรู้สึกเหล่านี้ได้ยากในเวลากลางคืน เรื่องอุณหภูมิในห้องนอนลูกก็สำคัญ หากร้อนหรือเย็นเกินไปก็อาจทำให้ทารกไม่ยอมนอนได้
4. ทารกตื่นเต้นเกินไป
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ทารกไม่ยอมนอนอาจมาจากการที่ลูกมีพลังงานเหลือล้นในช่วงเย็น จากกิจกรรมที่กระตุ้นให้ตื่นตัว เช่น การเล่นสนุก หรือเล่นน้ำในอ่าง ทำให้ลูกไม่อยากเข้านอน เพราะกลัวว่าการนอนจะทำให้พลาดความสนุกที่เกิดขึ้น ยิ่งเล่นเยอะ ยิ่งสนุกมาก ทำให้เกิดภาวะตื่นตัว และแม้จะง่วงเกินไปแต่ก็ข่มตาให้หลับได้ยาก
กุมารแพทย์อธิบายว่า เมื่อเด็กง่วงเกินไป ทำให้ร่างกายไม่อาจผ่อนคลายได้ตามปกติ ส่งผลเป็นการต่อต้านการนอนหรือสะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อยขึ้น พ่อแม่ควรปรับกิจกรรมช่วงเย็นให้เป็นกิจกรรมเบาๆ ที่ไม่ทำให้เด็กตื่นตัวมากนัก เช่น การนวด การร้องเพลงกล่อม การอ่านนิทาน หรือการห่อตัวสำหรับทารก นอกจากนี้ ควรเลี่ยงการให้เด็กดูจอทีวีก่อนนอนอย่างน้อย 30 นาที และเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ควรงดดูหน้าจอโดยเด็ดขาด
ผลกระทบที่ตามมา หากทารกไม่ยอมนอน
การนอนหลับมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของทารก เนื่องจากในระหว่างที่หลับ ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเจริญเติบโตของร่างกายและการพัฒนาสมอง หากทารกนอนไม่เพียงพอ อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตที่ช้าลง รวมถึงการพัฒนาในด้านระบบประสาทที่อาจไม่สมบูรณ์ เช่น การเชื่อมโยงเซลล์สมองที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และความจำในระยะยาว
เมื่อนอนไม่เพียงพอ ทารกอาจมีอารมณ์แปรปรวน งอแง และไม่มีสมาธิ ส่งผลให้ลูกไม่สามารถเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มที่ในระหว่างวัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะทางภาษา การเคลื่อนไหว หรือการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง การอดนอนยังอาจทำให้ทารกเกิดความเหนื่อยล้า ส่งผลต่อการจดจำสิ่งใหม่และความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง
สำหรับพ่อแม่หรือผู้ดูแล ที่ต้องตื่นมาดูแลลูกกลางดึกบ่อยครั้ง ส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอจนเกิดความอ่อนเพลียในระยะยาว ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเครียดหรือส่งผลต่อสุขภาพกายและใจ และอาจลดทอนคุณภาพในการเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยอีกด้วย

วิธีรับมือลูกแต่ละวัย ง่วงแค่ไหนก็หลับได้
การนอนในแต่ละวันของทารกแรกเกิดอาจแตกต่างกันไปตั้งแต่ 8 ชั่วโมงจนถึง 16-18 ชั่วโมง ลูกไม่ยอมนอน ในวัยแรกเกิด เนื่องจากเด็กในวัยนี้ต้องตื่นมากินนมกลางดึก หรือตื่นเพราะสภาพแวดล้อม เช่น อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป ทำให้ไม่สบายตัว
วิธีช่วยลูกนอนหลับ สร้างสภาพแวดล้อมที่สงบและเหมาะสม เช่น การเปิดไฟสลัวๆ หรือห่มผ้าที่ช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่น
การให้นมตอนกลางคืนจะลดลง และทารกอาจนอนหลับได้นานขึ้น บางคนอาจนอนติดต่อกัน 8 ชั่วโมงในตอนกลางคืน และเมื่ออายุครบ 4 เดือน การนอนในตอนกลางคืนอาจนานกว่ากลางวันถึงสองเท่า
วิธีช่วยลูกนอนหลับ สร้างกิจวัตรก่อนนอน (Bedtime Routine) ที่ชัดเจน เช่น การอาบน้ำ อ่านนิทาน หรือเปิดเพลงกล่อมเบาๆ
เมื่ออายุ 6 เดือนถึง 1 ปี เด็กหลายคนไม่จำเป็นต้องให้นมตอนกลางคืนอีกต่อไป และบางคนสามารถนอนหลับต่อเนื่องได้นานถึง 12 ชั่วโมง แต่ปัญหาฟันซี่แรกที่กำลังขึ้นหรือความหิวอาจทำให้เด็กบางคนตื่นกลางดึกได้
วิธีช่วยลูกนอนหลับ ใช้เทคนิคการปลอบโยนในช่วงที่เด็กตื่นกลางดึก เช่น การพูดปลอบเบาๆ หรือการลูบหลัง งดให้นมในเวลากลางคืน
หลังอายุครบ 1 ปี เด็กส่วนใหญ่จะนอนหลับประมาณ 12-15 ชั่วโมงต่อวัน รวมเวลานอนตอนกลางวันด้วย
วิธีช่วยลูกนอนหลับ จัดตารางเวลานอนที่สม่ำเสมอในทุกวัน เช่น การกำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงกัน
สุดท้ายแล้ว เด็กแต่ละคนมีลักษณะและความต้องการในการนอนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรกที่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว พ่อแม่ควรสังเกตพฤติกรรมและสัญญาณต่างๆ ของลูก เพื่อปรับวิธีการเลี้ยงดูและช่วยสร้างกิจวัตรการนอนที่เหมาะสม ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ลูกหลับง่ายขึ้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันอีกด้วย
ที่มา : NHS UK. , Parents
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!