ลูกเป็นผื่นคัน ทำยังไงดี
ผิวของลูกน้อย ถือเป็นผิวที่บอบบาง บางครั้งอาจสร้างความกังวลให้กับเหล่าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ โดยเฉพาะเรื่องภูมิแพ้และผื่นต่าง ๆ ลูกเป็นผื่นคัน ทำยังไงดี ผื่นคันเรื้อรังมีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง ถ้าลูกเป็นผื่นคัน จะต้องรักษาอย่างไร มาดูไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้ได้เลย
น้องอุ่น (นามสมมติ) อายุ 8 เดือน มีผื่นแดงที่บริเวณขาหนีบ มาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ คุณแม่คิดว่าเป็นผื่นผ้าอ้อม (Nappy rash) จึงทาครีมที่ใช้ทาผื่นผ้าอ้อมวันละหลายรอบ แต่ก็ไม่ดีขึ้น ไปปรึกษาคนรู้จัก ได้รับคำแนะนำว่า อาจเป็นผื่นแพ้อาหาร ให้ลองทายาสเตียรอยด์ และงดอาหาร top 8 คุณแม่จึงทำตาม ปรากฏว่า ยิ่งทายาและงดอาหาร ผื่นกลับยิ่งลามมากขึ้นกว่าเดิม จึงตัดสินใจมาพบหมอ
เมื่อได้ทำการตรวจร่างกาย หมอก็ให้การวินิจฉัยว่า น้องอุ่นเป็นผื่นจากการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ดังนั้น การทาครีมที่ใช้ทาผื่นผ้าอ้อมจึงไม่ช่วยอะไร ยิ่งทายาสเตียรอยด์อาการจึงยิ่งแย่ลง และการงดอาหารไม่ได้มีประโยชน์แต่อย่างใด การทายารักษาเชื้อรา และลดความอับชื้นต่างหาก จึงจะเป็นการรักษาถูกต้อง
เรามาดูกันดีกว่านะคะว่า ผื่นของทารกเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง และมีความแตกต่างกันอย่างไรค่ะ
สาเหตุของผื่นคันเรื้อรังของทารกที่พบบ่อย
อาการ : เป็นผื่นใหญ่ สีแดงที่เกิดในบริเวณที่ผิวทารกสัมผัสกับผ้าอ้อม คือ ด้านในต้นขา อวัยวะเพศ และก้น โดยไม่มีผื่นในบริเวณซอกลึก เช่น ขาหนีบ หากมีอาการมาก อาจกลายเป็นรอยคล้ายแผลถลอก ในบางครั้งผื่นผ้าอ้อม (Nappy rash) อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อนได้ จะทำให้อาการผื่นดูรุนแรงขึ้น
การรักษา : ดูแลผิวบริเวณที่ทารกใส่ผ้าอ้อมให้แห้งอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป หากจำเป็นต้องใช้ก็ควรเปลี่ยนให้บ่อย และใช้ผ้าอ้อมชนิดที่ดูดซับได้ดี ทาผลิตภัณฑ์เคลือบผิว หากมีการอักเสบมาก อาจทายาสเตียรอยด์ชนิดอ่อน ในบางครั้งอาจต้องทายาต้านเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา หากมีอาการติดเชื้อดังกล่าวแทรกซ้อน
อาการ : ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มสีแดง หรือตุ่มหนอง และมีลักษณะเฉพาะคือ มีผื่นเล็ก ๆ กระจายรอบผื่นใหญ่ มีอาการคันมาก มักพบบริเวณผิวหนังในที่ซ่อนเร้น อับชื้น เช่น ขาหนีบ ร่องก้น รักแร้
การรักษา : ดูแลผิวตามซอกพับต่าง ๆ ให้แห้ง ไม่อับชื้น ทายาต้านเชื้อรา หรือหากมีอาการมาก อาจต้องใช้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน
อาการ : เป็นผื่นสีแดง มีขุย รูปร่างกลม ขอบเขตของผื่นชัดเจน เป็นวง โดยที่ตรงกลางผื่นเป็นผิวปกติ อาจพบเพียง 1 วง หรือหลาย ๆ วงก็ได้ ตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ขาหนีบ ลำตัว แขน ขา มือ เท้า หนังศีรษะ
การรักษา : ยาต้านเชื้อราชนิดทา แต่หากมีอาการผื่นหลายที่ หรือไม่ตอบสนองต่อการทายา ก็อาจต้องใช้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน
- ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
อาการ : เป็นผื่นเรื้อรังที่มีหลายปัจจัยเป็นตัวกระตุ้น อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมที่มีผิวแห้ง มีการป้องกันผิวหนังผิดปกติ มีความไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น อากาศเย็นจัด และสารก่อภูมิแพ้ เช่น อาหาร ผู้ป่วยมักมีอาการภูมิแพ้อื่น ๆ ร่วมด้วย ลักษณะและตำแหน่งของผื่นจะต่างกันตามช่วงอายุของผู้ป่วย เช่น ทารก จะเป็นผื่นแดงที่หน้า คอ และด้านนอกของแขนขา ส่วนเด็กโตจะเป็นผื่นที่ข้อพับแขน ขา จะไม่พบผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) ที่บริเวณขาหนีบและรักแร้ โดยหากมีผื่นที่ 2 ตำแหน่งนี้ อาจมีสาเหตุจากโรคผิวหนังชนิดอื่น
การรักษา : หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) รักษาผิวให้ชุ่มชื้นโดยทาครีมหรือโลชั่นให้ความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ทายาต้านการอักเสบ เช่น สเตียรอยด์ รับประทานยาแก้แพ้ลดอาการคัน
จะเห็นได้ว่าผื่นคันที่เรื้อรังในทารกมีได้หลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละสาเหตุก็จะมีแนวทางการดูแลรักษาที่แตกต่างกันไป ดังนั้นหากลูกมีอาการผื่นคันที่ยืดเยื้อเรื้อรัง หรือลุกลามมากขึ้น ควรจะมาพบคุณหมอเพื่อจะได้รับการตรวจวินิจฉัยและหาสาเหตุให้ชัดเจน ดีกว่าที่จะทายาเองไปเรื่อย ๆ หรือทำสิ่งที่อาจไม่มีประโยชน์ เช่น งดอาหารต่าง ๆ ทั้งที่ลูกไม่ได้แพ้ เพราะอาจทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที และอาการยิ่งแย่ลงได้นะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
5 เคล็ดลับ แก้ปัญหา “ผิวแพ้ง่ายของลูกน้อย” วิธีทำให้ผิวลูกเนียนนุ่ม ไม่มีผดผื่นคัน
ไขข้อข้องใจ ลูกเป็นผื่นแพ้ เพราะสารเคมีในผ้าอ้อมจริงหรือไม่ ? คุณหมอใหม่มีคำตอบ
ผื่นผ้าอ้อม ของลูกน้อย…ที่ไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยของแม่
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!